วันที่ 9 กันยายน 2562 นาย ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษก กรมสรรพสามิต เผยว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานใหม่อีกเท่าตัว มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 – 30 ก.ย.2564 โดยคาดการณ์ว่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีในครั้งนี้จะแยกอัตราการจัดเก็บตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ซึ่งเครื่องดื่มบางชนิดอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อย หรือไม่ได้รับผลกระทบเลย ในขณะที่บางชนิดอาจได้รับผลกระทบมากตามตารางดังต่อไปนี้
- ปริมาณน้ำตาล 6 – 8 กรัม เก็บภาษีตามเดิม ที่ 10 สตางค์ต่อลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 8 – 10 กรัม เก็บภาษีตามเดิม ที่ 30 สตางค์ต่อลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 10 – 14 กรัม จากเดิม 50 สตางค์ เป็น 1 บาทต่อลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 14 – 18 กรัม จากเดิม 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร
- ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมขึ้นไป จากเดิม 1 บาท เป็น 5 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการน้ำอัดลมทำการปรับสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายภาษีน้ำตาลนี้ก็อาจส่งผลให้เสียภาษีน้ำตาลในอัตราต่ำเช่นเดิม ดั่งกรณีของ บริษัท โคคาโคล่า ที่เปิดตัวเครื่องดื่ม Sprite No Sugar ไปเมื่อเดือน เมษายน 2562 เป็นต้น
ส่วนกลุ่ม เครื่องดื่มหวานดัดแปลง ต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มผสมสารช่วยย่อยอาหาร, เครื่องดื่มบำรุงสมองหรือ ที่เรียกว่า ‘Functional drink’ และ น้ำผักน้ำผลไม้ มีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจะมีภาระต้นทุนภาษีความหวานเพิ่มขึ้น ขวดละ 5-15 สตางค์ หลังการกรมสรรพสามิตปรับเกณฑ์ให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ ใช้ผักและผลไม้จริงในสัดส่วนที่เหมาะสมมากขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบว่าผู้ผลิตบางรายโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพจากผักและผลไม้ แต่กลับใช้น้ำองุ่นขาวเป็นส่วนผสมหลัก และใส่สารปรุงแต่ง เช่น คอลลาเจน เพื่อให้ปริมาณกากใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์ เข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แต่ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค
สำหรับนโยบายจัดเก็บภาษีความหวานจะมีการจัดเก็บในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี ซึ่งจะปรับขึ้นภาษีรอบใหญ่อีกครั้งในช่วงวันที่ 1 ต.ค.2564 – 30 ก.ย.2566
นอกจากนั้น กรมสรรพสามิตยังมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีสุขภาพรายการอื่น ๆ ในอนาคต อาทิ ภาษีความเค็มและไขมัน, เบียร์แอลกอฮอล์ 0%, และยาเส้น
เนื่องจากพบว่าการบริโภคสิ่งเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจสร้างภาระทางการคลัง จากค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มขึ้น และประกอบกับ กรมสรรพสามิต มีเป้าการจัดเก็บภาษีจากเป้าหมายเดิมที่ 580,000 ล้านบาท ไปเป็น 642,000 ล้านบาทอีกด้วย