ทำไม MSN ถึงเจ๊ง?

ไม่มีใครไม่รู้จัก MSN แม้วันนี้จะหยุดให้บริการไปแล้ว แต่คนรุ่นเก่าและใหม่ก็ยังคงคิดถึงเสน่ห์ของโปรแกรมแชท Instant Messenger ของ MSN — ว่าแต่ทำไม MSN ถึงเจ๊ง?

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอีเมล์รายใหญ่หลัก ๆ มีเพียง 2 ราย ได้แก่ Yahoo และ Hotmail ซึ่ง Hotmail เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และผู้ใช้ Hotmail แทบทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์กับโปรแกรม MSN Messenger

ประสบการณ์ที่จำกันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรีบกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานเพื่อ Sign in เข้า MSN Messenger และเฝ้ารอคนที่คุณแอบชอบขึ้นสถานะ Online รวมไปถึงการตั้ง Status ในชื่อ การขึ้น Status เพลงที่กำลังฟังเพื่อหวังให้คนที่แอบชอบได้มาเห็น 

เรื่องราวสุดคลาสสิกเหล่านี้กลายเป็นตำนานไปพร้อมกับการปิดตัวของ MSN เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2014 คิดเป็นระยะเวลาปฏิบัติการ 15 ปีของโปรแกรมนี้ และบทความนี้จะมาเล่าความเป็นมาของโปรแกรมสุดคลาสสิกของโลก และสาเหตุที่ MSN ต้องตัดสินใจปิดให้บริการ

จุดเริ่มต้นของ MSN

MSN คืออะไร? MSN มีชื่อเรียกเต็มว่า MSN Messenger ย่อมาจาก Microsoft Network Messenger หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Window Live Messenger โดย Microsoft — MSN คือ โปรแกรมรับส่งข้อความออนไลน์แบบทันที หรือ Instant messenger

ก่อนหน้าที่ MSN จะให้บริการ โลกออนไลน์มีผู้ให้บริการ Instant messenger รายใหญ่ชื่อว่า AIM หรือ AOL Instant Messenger โดยบริษัท AOL (American Online) เปิดให้บริการในปี 1997 ซึ่งได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อ Microsoft เห็นว่าโมเดล Instant messenger กำลังมาจึงได้พัฒนา Instant messenger ของตนเองในนาม MSN Messenger และเปิดตัวในปี 1999 โดยขณะนั้น Microsoft มีฐานผู้ใช้งาน Hotmail ถึง 40 ล้านบัญชีที่พร้อมจะผันเป็นผู้ใช้ MSN ทันที

การเติบโตของ MSN

MSN ในช่วงเริ่มต้นมีหน้าตาที่ไม่ต่างจาก AIM มากนัก แต่ Microsoft มีการพัฒนาปรับเรื่อง User experience อย่างรวดเร็วโดยอาศัยฐานข้อมูลและความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้งานมาพัฒนาโดยเริ่มจากการทำให้ หน้าต่างแชทเปลี่ยนสีได้ ต่อมาคือสร้าง Emoticon ต่าง ๆ

ตามมาด้วยการแสดงสถานะ เช่น Online, Busy, Away ฯลฯ การให้เขียนสถานะบอกความรู้สึกและอารมณ์ การแชร์เพลงที่กำลังฟัง การสะกิดเรียกคนที่อยากคุยด้วย (สั่นหน้าจออีกฝ่าย) และการเล่นเกมส์ออนไลน์กับเพื่อน

เหล่านี้ล้วนเป็นที่ถูกใจวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งาน MSN ในสมัยนั้นทำให้ MSN Messenger ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนแซงหน้า AIM

– โดยในปี 1999 ที่เปิดตัว MSN มีผู้ใช้งานประมาณ 30 ล้านบัญชีเศษ ๆ

– ปี 2004 MSN มีผู้ใช้งานประมาณ 115 ล้านบัญชี ในขณะที่ AIM มีผู้ใช้งานเหลือเพียง 36 ล้านบัญชี

– ปี 2011 คือช่วงรุ่งเรืองสุดขีดของ MSN มีผู้ใช้งานประมาณ 330 ล้านบัญชี ในขณะที่ AIM มีผู้ใช้งานเหลือเพียง 11 ล้านบัญชี หรือเท่ากับเหลือส่วนแบ่งเพียง 0.73% ของตลาด Instant messenger

User interface ของ AIM
User interface ของ AIM
User interface ของ MSN
User interface ของ MSN

จุดจบของ MSN

ณ จุดสูงสุดของ MSN ในปี 2011 คือจุดเริ่มต้นสู่ความถดถอย เพราะนั่นคือปีเดียวกับที่ Facebook เปิดตัว Facebook Messenger โดยในขณะนั้น Facebook มีผู้ใช้งานประมาณ 845 ล้านบัญชีที่พร้อมจะหันไปใช้ Facebook Messenger ทันที

นอกจากนั้น MSN ยังถูกตีขนาบด้วยคู่แข่งรายใหญ่ ได้แก่ WhatsApp ซึ่งภายหลังถูกซื้อโดย Facebook เช่นกัน และอีกรายคือ BlackBerry ซึ่งแม้ปัจจุบันจะหมดความนิยมไปแล้ว แต่ในตอนนั้น Black Berry เป็นหนึ่งในโปรแกรม Mobile instant messenger ยอดนิยมทั้งวัยรุ่นและคนทำงาน

แม้ Microsoft จะพยายามต่อสู้อย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยการต้องรับศึกษาหลายทาง ประกอบกับความได้เปรียบของคู่แข่งแต่ละรายที่เชี่ยวชาญสาย Mobile instant messenger ในจังหวะที่คนหันไปเล่น Mobile app พอดี Microsoft ตัดสินใจเข้าซื้อ Skype — Instant messenger หน้าใหม่อีกเจ้าที่เติบโตเร็วพอจะแข่งขันได้ โดยมีฐานผู้ใช้งาน 170 ล้านบัญชี Microsoft ซื้อกิจการไปในราคา 8500 ล้านเหรียญ

หลังจากนั้นได้ค่อย ๆ ทำการรวมระบบไปถึงการโอนย้ายผู้ใช้งานของ MSN เข้าไปอยู่กับ Skype เพื่อเป็นทองแผ่นเดียวกัน เป็นอันปิดฉาก MSN Messenger ณ เดือน ตุลาคม 2014 รวมระยะเวลาให้บริการ 15 ปีเต็ม

—– —– —–

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.whoishostingthis.com/blog/2014/10/22/instant-messengers/
https://en.wikipedia.org/wiki/AIM_(software)#Protocol
https://www.theverge.com/2014/8/29/6082199/msn-messenger-shutting-down-15-years-history
https://th.wikipedia.org/wiki/
http://longtunman.com/5357
https://www.statista.com/statistics/264810/number-of-monthly-active-facebook-users-worldwide/