เจ้าของ Application BeNeat แชร์ประสบการณ์ ปั้น Startup ไทยอย่างไรโดยไม่ระดมทุน

2-3 ปีที่ผ่านมา Startup เป็นแนวทางทำธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นอันมาก เพราะภาพลักษณ์ความสำเร็จของนักธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอายุน้อย มีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชมในสังคม และมีนักลงทุนให้เงินจำนวนมากโดยไม่ต้องกู้ธนาคารเหมือนในอดีต ทำให้ Startup เป็นที่ใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่

แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจ Startup เจ๊งกว่า 90% ที่เหลืออยู่ได้ ที่กลายเป็นตัวท็อปจริง ๆ เหลือไม่มาก และวันนี้เรามีเรื่องราวสุดเลอค่าจากนักธุรกิจสตาร์ทอัพคนไทยที่ผ่านบททดสอบไปได้และขยายธุรกิจแบบ Organic growth คือใช้กำไรและเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทโดยไม่ได้อาศัยการระดมทุนเหมือน Startup ทั่วไป ไปฟังประสบการณ์ว่าเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรกัน

1. CEOblog: โปรดแนะนำตัว และผลงานต่าง ๆ แก่ผู้อ่านครับ

BeNeat:

ผมชื่อ คมคิด ชัชราภรณ์ หรือ ต้น เจ้าของเว็บไซต์ และแฟนเพจ START IT UP แหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ และแนวทางการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล

ขอเล่าเท้าย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ผมจะมาเปิดเว็บไซต์ START IT UP ผมเคยทำสตาร์ทอัพตัวหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จชื่อ Letzwap มันเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้คนสามารถนำของที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแลกกันได้ อย่างไรก็ตามการที่ Letzwap ไม่มีโมเดลธุรกิจ หรือรูปแบบการหารายได้ที่ชัดเจนทำให้ผมล้มเลิกไป

ความล้มเหลวการทำสตาร์ทอัพตัวแรก เป็นแรงผลักดันให้ผมค้นหาคำตอบว่าอะไร คือ Key Success ของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ผมเลยไปขุดค้นเรื่องราวของสตาร์ทอัพชื่อดังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Airbnb, Pinterest, Instagram และ Whatsapp ผมอยากรู้เหลือเกินว่าเรื่องราวของคนทำสตาร์ทอัพ เขาเคยล้มเหลวหรือไม่ หรือเขาสามารถสร้างสำเร็จได้ภายในชั่วข้ามคืน และไม่เคยผิดพลาดเลย

ปรากฏว่าคนทำสตาร์ทอัพเหล่านั้น เจอความล้มเหลวรุนแรงมากกว่าที่ผมคิด โดยเฉพาะ Airbnb ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ผมชอบมาก (เพราะผมเป็น Host Airbnb) พวกเขาไปเสนอไอเดีย “ถ้ามีห้องว่าง ก็สามารถให้คนแปลกหน้าเข้ามาพักด้วยได้” มันเป็นไอเดียที่นักลงทุนทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าทำเลย ไอ้บ้าหน้าไหนจะยอมให้คนแปลกหน้าเข้ามาบ้านตัวเอง

ผู้ก่อตั้ง Airbnb พยายามอยู่นาน จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด พวกเขาเล่าว่านักลงทุนเหล่านั้นไม่เคยมีประสบการณ์ให้คนแปลกหน้าเข้ามาพักด้วย พวกเขาจึงมองไม่เห็นความเป็นไปได้ ซึ่งนั่นคือโอกาสยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ

เรื่องราวของสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผม ผมเลยรู้สึกน่าเสียดายถ้าไม่มีคนมาอ่านเรื่องราวของสตาร์ทอัพเหล่านี้ ผมจึงเปิดเว็บไซต์ START IT UP ขึ้นมาเพื่อส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้คน รวมถึงแนวทางการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพว่า ทำอย่างไรที่เราจะลดความเสี่ยงอันมหาศาลของธุรกิจสตาร์ทอัพได้

2. CEOblog: แชร์ไฮไลท์ปัญหาและอุปสรรคเด่น ๆ ที่ต้องเล่าทุกครั้งที่พูดเรื่องการทำ Startup และสิ่งที่ตกผลึกได้ก่อนจะมาเริ่มทำ BeNeat

BeNeat:

สิ่งที่ผมต้องเล่าทุกครั้งในการทำ สตาร์ทอัพ คือ เริ่มต้นที่ปัญหา ทดสอบไอเดียให้ไว และไม่ต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ

อย่างที่ผมได้เกริ่นไปสตาร์ทอัพตัวแรกของผมชื่อ Letzwap ซึ่งเป็นแอพตัวแรกที่ผมลงแรงกับเวลาทำอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้คนสามารถแลกของกันผ่านแอพได้ ผมใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 8 เดือน หลังจากปล่อยออกไป 4 เดือน ผมมองไม่เห็นทางว่าเราจะสร้างรายได้จากแอพตัวนี้ได้อย่างไร ผมจึงยุติการให้บริการ

สิ่งที่ผมตกผลึกจากความผิดพลาดครั้งนี้ได้แก่

1. การทำธุรกิจแบบ Outside-In หรือ การเริ่มต้นจากปัญหาก่อน จากนั้นค่อยกลับมาพัฒนา Product เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

ประเด็นนี้ผมมองข้ามไป ผมไม่ได้มองว่าผู้คนมีปัญหาในการแลกของหรือไม่ และคนที่ประสบปัญหาเรื่องการแลกของมีมากแค่ไหน สิ่งเดียวที่เรามี คือ Passion ที่จะทำมัน สุดท้าย Letzwap กลายเป็นการทำธุรกิจแบบ Inside-Out คือ สร้าง Product ขึ้นมาก่อน แล้วออกไปถามผู้คนว่าพวกเขาอยากใช้หรือไม่

ผมจำได้ตอนที่ผมส่งแอพไปให้เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักลอง มันเป็นช่วงเวลาที่อึดอัดมากสำหรับผม พวกเขาไม่ได้อยากใช้มัน พวกเขาไม่รู้ว่าแอพตัวนี้ช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นอย่างไร เพราะพวกเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องการแลกของนั่นเอง

2. มองสตาร์ทอัพให้ออกว่ามัน คือ การทำธุรกิจ

ผมให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนแลกของกันได้สะดวก โดยละเลยด้านธุรกิจ ดังนั้น Letzwap จึงไม่มีโมเดลธุรกิจที่จะสร้างรายได้เลี้ยงดูผู้ก่อตั้งได้ แนวทางที่ผมคิด คือ พอคนใช้จำนวนมากค่อยหารายได้จากการโฆษณา ซึ่งในความเป็นจริงมันยากมาก เพราะคนที่มีปัญหาเรื่องการแลกของไม่ได้มีจำนวนมหาศาลขนาดนั้น
ดังนั้นหากจะเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพสักตัว นอกจากปัญหาแล้ว เราต้องวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าปัญหาที่เราสนใจนั้นมีคนเจ็บปวดกับปัญหานั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะมันบอกได้ถึงขนาดของตลาด และรายได้ที่ธุรกิจของเราสามารถทำได้ครับ

3. ผู้คนมีปัญหา แต่พวกเขาก็มีทางออกที่หลากหลาย ‘ทำไมเขาต้องใช้ Product ของคุณ’

ในช่วงที่พัฒนา Letzwap ผมโฟกัสไปที่แอพแลกของในต่างประเทศ เพื่อหาข้อแตกต่าง สิ่งที่ผมมองข้ามไป คือ ผู้คนมีเครื่องมือที่ช่วยแลกของที่เรียบง่ายอยู่แล้ว นั่นคือ Facebook Groups หรือกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาบน Facebook เพื่อแลกของกัน เวลามีคนโพสต์ของแลกในกลุ่ม จะมีคนมาคอมเม้นต์ต่อท้ายเพื่อเสนอของที่แลก ถ้าเจ้าของโพสต์ถูกใจของแลกตัวไหนก็ Inbox ไปดีลกันต่อเองจบ

พอเทียบกับ Letzwap กลายเป็นว่าแอพที่ผมทำดูใช้งานยุ่งยากทันที เพราะผู้ใช้ต้องมาสมัครสมาชิก โพสต์ของที่ต้องการแลก รอยืนยันการแลกระหว่างคนทั้งสองฝ่าย แลกเสร็จก็ต้องมากดยืนยันว่าได้รับของแล้ว

สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องตอบให้ได้ว่า ‘ทำไมเขาต้องใช้ Product ของคุณ‘ นั่นคือคุณค่าที่ธุรกิจส่งมอบให้ Product เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการส่งมอบประสบการณ์เหล่านั้น ประสบการณ์อาจเกิดขึ้นได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ สิ่งที่ธุรกิจต้องทำ คือ มองภาพให้กว้างและครอบคลุมนั่นคือการมองแบบ Bird Eye View

4. การรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ มันช้าเกินไป

8 เดือน คือ เวลาที่ผมใช้พัฒนา Letzwap ที่นานเพราะผมมัวแต่กลัวว่าถ้าปล่อยออกไปแล้ว ผู้ใช้คงอยากได้นู่นได้นี่เพิ่ม คือ เราคิดเผื่อด้วยตัวเราเอง ดังนั้นแอพจึงไม่ได้จบแค่การแลกของ แต่ยังมีแชท การติดตามข่าวสาร และระบบแจ้งเตือนต่าง ๆ สุดท้ายมีไม่กี่ฟีเจอร์ที่มีคนใช้งานจริง ส่วนอีกหลายฟีเจอร์นั้นแทบไม่มีคนใช้ครับ

5. เงินทุน และทีม คือ สิ่งสำคัญ

เนื่องจาก Letzwap ไม่มีโมเดลทำเงิน (เราลุยด้วย Passion ล้วน ๆ) สิ่งที่ผมเจอ คือ ทุกคนต่างมีภาระต้องใช้เงินครับ พอธุรกิจไม่ทำเงินและไม่มีเงินทุนมาหล่อเลี้ยง ทีมที่เคยมีก็เริ่มแตก ทุกคนแยกย้ายกลับเข้างานประจำ สุดท้ายเหลือผมคนเดียวที่เดินหน้าต่อ เพื่อให้ Letzwap สามารถปล่อยออกไปตามที่ตั้งใจไว้

ปัญหาต่อมาที่ผมเจอ คือ การเดินหน้าต่อเพียงลำพังมันยากมาก ไหนเราจะต้องแก้ข้อผิดพลาดของแอพ ทำการตลาดโปรโมทแอพ เขียนบทความลงเว็บไซต์ และบล็อก ดูแลเพจ Facebook และต่าง ๆ นานา สุดท้ายมันทำให้ผมหมดกำลังใจที่จะทำต่อและเลิกล้มในที่สุดครับ

สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อผิดพลาดในการทำ Letzwap ผมเก็บนำมาเป็นบทเรียน เพื่อที่ว่าหากต้องทำสตาร์ทอัพอีกสักตัวในอนาคต ผมจะไม่ยอมเดินไปตามทางที่ผมเคยผิดพลาดมาแล้ว ข้อผิดพลาด และประสบการณ์เหล่านี้ช่วยให้ผมทำธุรกิจสตาร์ทอัพตัวต่อไปได้ชัดเจนมากขึ้น

3. CEOblog: BeNeat คืออะไร ‘ได้แนวคิด’ หรือ ‘ต้นแบบ’ มาจากอะไร, และอุปสรรคในช่วงปีแรก 

BeNeat: คือ แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้คนสองกลุ่ม

  • กลุ่มแรก คือ คนที่ต้องการผู้ช่วยทำความสะอาดในเวลาที่ต้องการ 
  • กลุ่มที่สอง คือ คนในสังคมที่มีเวลาว่าง อยากใช้ทักษะการทำความสะอาดเพื่อช่วยเหลือผู้คน และสร้างรายได้ในเวลาที่ตนเองสะดวก

ในช่วงแรก BeNeat ได้แนวคิดจากแพลตฟอร์ม On-demand Service ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Handy และ Book a Tiger คือ บริการจองแม่บ้านออนไลน์ เรานำแนวคิดนี้มาผสมผสานกับแนวคิด และประสบการณ์ที่เราได้รับจากการเป็น Host ในแพลตฟอร์ม Airbnb สุดท้ายเราได้แนวทางของตัวเองที่แตกต่างจากเจ้าของแนวคิดตั้งต้น

อุปสรรคในช่วงปีแรก

1. การเปลี่ยน Mindset และพฤติกรรมของผู้คน

1.1) ผู้คนมักคิดว่าอาชีพแม่บ้าน เป็นอาชีพของคนไม่มีทางเลือก

แต่จริง ๆ แล้วอาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่รายได้ดี และมีเกียรติ 70% ของคนที่มาเป็นผู้ให้บริการในแพลตฟอร์ม BeNeat จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลายคนเป็นเจ้าของธุรกิจ

สิ่งที่ BeNeat ต้องตีโจทย์ให้แตก คือ การสร้างตัวตนของผู้ให้บริการ (แม่บ้าน) ขึ้นมาบนโลกออกไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้ว่า แม่บ้านที่มาให้บริการนั้นเป็นใคร เพราะในฝั่งแม่บ้านเรามีการฝึกอบรมความเป็นมืออาชีพ การวางตัว และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการให้ในแพลตฟอร์ม BeNeat

การปรับ Mindset ของคนทั้งสองฝั่งให้เข้ากันได้ สุดท้าย คือ เราต้องการให้เกิดมิตรภาพระหว่างผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการภายในแพลตฟอร์ม ที่ส่งเสริม และเกื้อกูลกัน

1.2) ผู้อยู่อาศัยทั่วไปมักคุ้นเคยกับการจ้างแม่บ้านเป็นรายวัน

แต่แม่บ้านในแพลตฟอร์ม BeNeat คิดบริการเป็นรายชั่วโมง เราไม่สามารถเจาะตลาด Mass ทันที ดังนั้นเราเริ่มทำตลาดกับกลุ่มที่เป็น Airbnb Host ก่อน เพราะเข้าใจเรื่องการทำความสะอาดเป็นรายชั่วโมง มีทักษะการใช้เทคโนโลยี และสามารถจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต หรือเดบิตได้

2. การตั้งราคา Pricing Model

เนื่องจากแม่บ้าน BeNeat ให้บริการเป็นรายชั่วโมง ปัญหาที่ตามมาคือ “ชั่วโมงละเท่าไหร่” และ “ที่พักของฉันต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง” นี่คือโจทย์ในช่วงแรกที่เราลองผิดลองถูกกัน เพื่อให้ได้ Pricing Model ที่เหมาะสม ในราคาที่ผู้ใช้บริการยอมรับได้ และรายได้ที่ทางฝั่งแม่บ้านพอใจ และ Pricing Model ในแต่ละเมืองก็ต้องแตกต่างกัน เพราะค่าครองชีพแต่ละที่ไม่ทำกัน ปัญหาสองข้อนี้เราต้องทำการบ้าน และปรับเปลี่ยนพอสมควรกว่าจะได้ Pricing Model แบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

3. นักพัฒนาไม่เพียงพอ

ปัญหาพื้นฐานสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ นักพัฒนาหรือ Developer ไม่เพียงพอ ในช่วงแรกที่ทดสอบไอเดีย BeNeat ตัว Product เรามีเพียงเว็บไซต์สำหรับการจอง และแอพมือถือ Android สำหรับให้แม่บ้านกดรับงาน

แต่พอธุรกิจผ่านการพิสูจน์ไอเดีย และเริ่มมีผู้ใช้งานมากขึ้น เรามีการพัฒนาแอพ Android ให้ผู้ใช้จองแม่บ้านได้ แต่สำหรับ iOS เราขาดนักพัฒนาส่วนนี้ ทำให้ผู้ใช้มือถือ iOS ต้องรอไปก่อน หรือจองผ่านเว็บไซต์แทน ตรงนี้เป็นค่าเสียโอกาสครับ

4. ตลาดที่โฟกัสตอนแรกเล็กเกินไป

ในช่วงเมษายน 2016 BeNeat เข้ารอบ Dtac Accelerate 20 ทีมที่ได้ไป Pitch แต่ก็ตกรอบ สิ่งหนึ่งที่กรรมการให้ข้อคิดเห็นคือ “ขนาดของตลาด” ซึ่งตอนนั้นเราโฟกัสไปที่กลุ่ม Host Airbnb ซึ่งขนาดตลาดเล็กไป ข้อคิดเห็นนี้ทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง และปรับธุรกิจเพื่อเข้าสู่ตลาดผู้อยู่อาศัยทั่วไปซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า

4. CEOblog: BeNeat ทำการตลาดเพื่อขยาย ‘ผู้ใช้งาน’ และ ‘ผู้ให้บริการ’ อย่างไร

BeNeat:

ในช่วงเริ่มต้น เราทำการทดสอบไอเดียกับกลุ่ม Host Airbnb ซึ่งเราถือว่าเป็นกลุ่ม Early Adopter เราใช้เชียงใหม่เป็นเมืองแรกที่ทดสอบให้บริการ พอเราเห็นว่าธุรกิจนี้ Work เราจึงทดสอบไอเดียเรื่องการทำซ้ำ โดยทดสอบให้บริการในกรุงเทพ ปัจจุบันเราให้บริการใน 3 เมือง กรุงเทพ และปริมณฑล เชียงใหม่ และภูเก็ต

ทางฝั่งผู้ใช้งาน เราเจาะกลุ่ม Host Airbnb เป็นหลักก่อน ด้วยความที่เราเป็นเจ้าของกลุ่ม Airbnb Host Thailand บน Facebook และเราจึงลองเสนอบริการให้กับคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ก่อนที่จะขยายฐานลูกค้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยทั่วไป ลูกค้าของ BeNeat มีทั้งชาวต่างชาติ และคนไทย การขยายฐานลูกค้าจะเป็นวิธีการบอกต่อ การเขียนบทความลงบล็อก และทำโฆษณาบน Facebook กับ Google Ads
ฝั่งผู้ให้บริการ แรก ๆ เราใช้วิธีประกาศหางานบน Facebook หลังจากที่เริ่มออกสื่อหลายเจ้า คนที่มาสมัครส่วนใหญ่รู้จากสื่อ นอกจากนี้ยังมาจากการแนะนำบอกต่อจากแม่บ้านภายในแพลตฟอร์ม BeNeat เองด้วย

5. CEOblog: ปัจจุบันธุรกิจ BeNeat เป็นอย่างไรบ้าง?

BeNeat:

ปัจจุบันเราให้บริการไปประมาณ 6,000 ครั้ง ใน 3 เมือง คือ เชียงใหม่ กรุงเทพและปริมณฑล และภูเก็ต

ในแง่ของฐานผู้ใช้งาน:
มีจำนวนผู้ใช้งานประมาณ 1,200 คน คิดเป็นชาวไทย 90% และชาวต่างชาติ 10%

จำนวนผู้ให้บริการ:
ปัจจุบันมีผู้มาสมัครกว่า 1,000 คน แต่ผู้ให้บริการภายในแพลตฟอร์มประมาณ 200 คน ที่เราไม่รับทุกคน เพราะ 1) ผู้สมัครจำเป็นต้องผ่านกระบวนการคัดกรองของ BeNeat ก่อน จึงจะสามารถให้บริการได้ และ 2) ทรัพยากรที่มีจำกัด (ทีมคัดกรองแม่บ้าน)

พื้นที่ให้บริการ:
เชียงใหม่ กรุงเทพและปริมณฑล และภูเก็ต (มีแผนที่จะขยายไปยังพัทยา และหัวหินภายในปีนี้)

6. CEOblog: BeNeat สร้าง Impact ต่อชีวิตผู้คนอย่างไรบ้าง?

BeNeat:

ตั้งแต่ทำ BeNeat มามีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจ และอยากแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน นั่นคือเรื่องราวของป้ารี หรือคุณอารี จีบหีด ครับ

BeNeat ได้มีโอกาสลงบทความในหนังสือพิมพ์ ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีงาน สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้ารีได้รู้จักกับ BeNeat ครับ

ขอเล่าย้อนกลับไปในอดีต ป้ารีเคยทำงานประจำกับบริษัทญี่ปุ่นทางด้านการวางแผน และควบคุมแผนการผลิต Import-Export และฝ่ายจัดซื้อ แต่โชคร้ายแกประสบอุบัติเหตุ ทำให้หน้าเบี้ยว และต้องออกจากงาน

ต่อมาป้ารีได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทในเครือของหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ทำให้รู้จัก BeNeat จากคอลัมส์ในหนังพิมพ์เดลินิวส์ ด้วยความที่เป็นคนรักการทำความสะอาด ชอบอาสาทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถู ขัดห้องน้ำที่วัดมากว่า 20 ปี ป้ารีสนใจ และอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการในแพลตฟอร์ม BeNeat จึงโทรมาสอบถาม และเล่าเรื่องราวของตนเองให้กับทีมงาน BeNeat ฟัง

รายได้ของป้ารีกับงานในเครือของหนังสือพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท แต่มีภาระต้องดูแลแม่ที่ป่วย และพี่ชายที่เป็นอัมพฤกษ์

ในตอนนั้น BeNeat มีแม่บ้านที่ทดสอบให้บริการในกรุงเทพเพียง 1 คน เรายังไม่ทำตลาดที่กรุงเทพอย่างจริงจัง แต่ในเมื่อมีคนตอบรับไอเดียนี้ ทางผู้ร่วมก่อตั้ง BeNeat จึงตัดสินใจบินไปกรุงเทพ เพื่อสร้างผู้ให้บริการชุดแรกของ BeNeat ที่มี DNA และ Mindset การให้บริการในแบบฉบับของ BeNeat ซึ่งป้ารีเป็นหนึ่งในนั้นครับ

ป้ารีลองเป็นผู้ให้บริการทำความสะอาดกับ BeNeat ได้ 1 เดือน ก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำเต็มตัว เพราะรายได้ดีกว่างานเดิม และสามารถเลือกรับงานในเวลาที่สะดวกได้ จากแต่ก่อนที่มีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้ป้ารีรายได้เกือบ 40,000 บาทต่อเดือน ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมมากครับ

สิ่งที่ทีม BeNeat ทุกคนภูมิใจ คือ เราไม่เพียงช่วยให้ผู้คนสามารถหาแม่บ้านคุณภาพได้ง่ายแล้ว แต่ยังช่วยให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาเป็นผู้ประกอบการ มีรายได้ และเป็นนายตัวเอง ผมไม่รู้จะบรรยายอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เรากำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองครับ

7. CEOblog แผนงานในอนาคตของ BeNeat เป็นอย่างไร?

BeNeat:

ในแง่ของธุรกิจ การขยายไปให้บริการครอบคลุมหัวเมืองในประเทศในปี 2017 เรามีแผนให้บริการที่พัทยา และหัวหิน ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปล่อยเช่าที่พักผ่าน Airbnb จำนวนมาก และปี 2018 เราต้องการจะขยายออกไปให้บริการในกลุ่มประเทศ AEC มัน คือ เป้าหมาย และความท้าทายของ BeNeat ที่เราตั้งใจไว้แต่แรกครับ

ปัจจุบันเราต้องการทีมพัฒนาเพิ่มในส่วนของ Product เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาฟีเจอร์ที่จะรองรับการสร้าง Community รวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกิดขึ้นภายในแพลตฟอร์ม BeNeat ระหว่างผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ

8. CEOblog: สิ่งที่อยากฝากแก่ คนรุ่นใหม่ ที่อยากทำ Startup

BeNeat:

เราทำสตาร์ทอัพเพื่อส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้กับผู้คนครับ คุณค่าที่ว่า คือ การแก้ปัญหา ดังนั้นจงเริ่มต้นที่ปัญหา ดูว่าผู้คนมีปัญหาอะไร ปัญหานั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นธุรกิจหรือไม่ และตัวคุณเองมี Passion และทักษะที่พร้อมจะแก้ปัญหานั้นมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้นการทำสตาร์ทอัพจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแส แต่ต้องเกิดจากความต้องการ และจุดมุ่งหมายส่วนตัวของเราเองที่อยากช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คน

สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่มีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ 9 ใน 10 ของสตาร์ทอัพนั้นล้มเหลว เพื่อลดความเสี่ยง แนวคิด Lean Startup และ MVP คือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยคุณได้ในการทดสอบไอเดียอย่างรวดเร็ว ภายใต้ขอจำกัดต่าง ๆ ที่เรามี ธุรกิจไม่จำเป็นต้องพร้อมถึงจะเริ่ม แต่คุณสามารถเริ่มได้ทันทีด้วยแนวคิดดังกล่าว กระบวนการในธุรกิจหลายอย่างสามารถเริ่มแบบ Manual ได้ เพราะเทคโนโลยี คือ ตัวช่วยในการ Scale กับการทำงานให้เป็น Automation

อย่าลืมว่าสตาร์ทอัพ คือ การทำธุรกิจ คุณจำเป็นต้องมีเงินมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด เงินจากนักลงทุนไม่ใช่ทางออกของธุรกิจที่จะอยู่รอดด้วยเงินของคนอื่น หากแต่ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองระยะหนึ่งแล้ว มันแสดงให้นักลงทุนเห็นถึงความมั่นใจมากขึ้นว่าธุรกิจนี้น่าลงทุน

ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง การทำธุรกิจสตาร์ทอัพคุณควรหาจุดมุ่งหมายของคุณให้พบ ในช่วงแรกที่ทำ BeNeat มุมมองของผมกับทีม คือ การช่วยให้ผู้คนได้แม่บ้านคุณภาพในเวลาที่ต้องการ พอทำไปทำมาเราเริ่มเห็นสิ่งยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเองครับ นั่นคือการสร้างโอกาสให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะฝั่งผู้ให้บริการ หรือแม่บ้าน

เราทลายกำแพง ให้ผู้คนทั่วไปมีโอกาสรับงานและสร้างรายได้จากทักษะที่พวกเขามี จากที่เมื่อก่อนโอกาสเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก คุณต้องไปสังกัดบริษัทรับทำความสะอาด จึงจะสามารถเดินเข้าไปทำความสะอาดในบ้านผู้คนได้ สิ่งที่เราสร้าง คือ Trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นทั้งทางฝั่งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ

สุดท้าย คือ คุณจำเป็นต้องมีทีม ทีม คือ คนที่มีความเชื่อ และการมองโลกคล้ายคลึงกันกับคุณ อยากร่วมหัวจมท้ายเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ให้สำเร็จ หรือคนที่จะมาร่วมทำความฝันของคุณให้เป็นจริง ยิ่งมีคนที่เก่งคนละด้านกับคุณยิ่งดี เพราะสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีในการ Scale หากคุณเป็นนักธุรกิจ คุณจำเป็นต้องมี นักพัฒนา หรือคนที่ช่วยทำให้ความฝันเป็นจริงได้ หากคุณเป็นนักพัฒนา คุณจำเป็นต้องมีนักธุรกิจมาช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้ สุดท้าย คือ การมี Passion และมุมมองร่วมกันในการแก้ปัญหา และทำให้เป้าหมายของธุรกิจนั้นบรรลุผล


สำหรับผู้สนใจใช้บริการ BeNeat

ฝั่งผู้ให้บริการ

1. การคัดเลือกผู้ให้บริการ (แม่บ้าน) ในแพลตฟอร์ม

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ BeNeat ที่เน้นคุณภาพของผู้ให้บริการ แม่บ้านทุกคนที่สมัครเข้ามาให้บริการในแพลตฟอร์ม BeNeat จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถให้บริการตรงตามความคาดหวังของเราได้ ดังนี้

  • ต้องเป็นคนไทย 100%
  • ผ่านการสัมภาษณ์ เพื่อดูทัศนคติ และความใส่ใจในการให้บริการ รวมถึงแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ
  • ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
  • ผ่านการฝึกอบรม ในเรื่องของการวางตัว การใช้เทคโนโลยี และทักษะการทำความสะอาด

2. การสร้างแนวทางการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้ให้บริการ

นอกจากหน้าที่ในการคัดเลือกผู้ให้บริการที่มีคุณภาพแล้ว BeNeat ยังมีหน้าที่ในการพัฒนาเครื่องมือที่เชื่อมโยงผู้ให้บริการเข้ากับแพลตฟอร์ม

แม่บ้านทุกคนในแพลตฟอร์ม BeNeat ไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่พวกเขาเหล่านี้ คือ ผู้ประกอบการ สามารถเลือกรับงานได้อิสระผ่านแอพมือถือชื่อ BeNeat Professional โดยแต่ละคนจะมีโปรไฟล์ คะแนนรีวิว และความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ องค์ประกอบเหล่านี้ คือ การสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม

  • การเลือกรับงานได้อย่างอิสระ BeNeat ส่งเสริมการเป็นนายตนเอง โดยแม่บ้านสามารถเลือกรับงานได้ตามความสะดวกของแต่ละคน เช่น บางคนอาจว่างรับงานเฉพาะวันหยุดวันเสาร์–อาทิตย์ หรือบางคนว่างรับงานวันธรรมดาแต่เป็นช่วงเย็น เป็นต้น
  • โปรไฟล์ ช่วยให้ผู้ใช้บริการทราบถึงความเป็นมาของแม่บ้านแต่ละคน รวมถึงบุคลิกและนิสัยใจคอซึ่งมีความแตกต่างกัน บางคนอาจจะเป็นพนักงานออฟฟิศ แม่บ้านโรงแรม เจ้าของธุรกิจมาให้บริการก็มี
  • คะแนนรีวิว และความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ ส่วนนี้เป็นแนวทางในการรักษาคุณภาพในการให้บริการ แน่นอนว่าการได้คะแนนรีวิวที่ดี และความคิดเห็นเชิงบวก ย่อมช่วยให้มีโอกาสได้รับงานในอนาคตเพิ่มมากขึ้น ส่วนการได้คะแนน หรือความคิดเห็นที่ไม่ดี จะกระตุ้นให้ผู้ให้บริการปรับปรุงคุณภาพของตนให้ดีขึ้น

ฝั่งผู้ใช้บริการ

1. การเป็นผู้ช่วยค้นหาแม่บ้านคุณภาพได้สะดวก

สิ่งที่ BeNeat นำเสนอในบทความนี้ตั้งแต่ต้น เป็นการปูให้ผู้ใช้บริการเห็นว่า BeNeat ไม่ใช่บริษัทรับทำความสะอาด หรือจัดหาแม่บ้าน แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกลุ่มคนที่ต้องการหาผู้ช่วยทำความสะอาดที่พัก กับกลุ่มคนที่มีทักษะทำความสะอาดต้องการหารายได้ในช่วงเวลาที่ตนสะดวก

การที่ BeNeat มีกระบวนการคัดเลือกผู้ให้บริการ ก็เพื่อให้ทางฝั่งลูกค้า หรือผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการทำความสะอาดที่มีคุณภาพ และปลอดภัย

ในฐานะผู้ช่วย สิ่งที่ BeNeat อำนวยความสะดวกให้ ได้แก่:

การช่วยผู้ใช้ค้นหาแม่บ้านคุณภาพผ่านทาง

  • เว็บไซต์ beneat.co
  • แอพมือถือ BeNeat บน Android
  • แอพมือถือ iPhone ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

การมี Call Center (092-757-2999) ช่วยรับเรื่องช่วยประสานงานต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนวันและเวลาทำความสะอาด การเปลี่ยนแม่บ้านเมื่อเกิดเหตุแม่บ้านที่ผู้ใช้บริการเลือกไม่สามารถไปให้บริการได้ การยกเลิก และขอคืนเงิน เป็นต้น

2. การรับประกันความเสียหาย และความพึงพอใจ

นอกจากการช่วยค้นหาแม่บ้านคุณภาพแล้ว BeNeat ยังมีการรับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างแม่บ้านทำความสะอาด เช่น ของตกแตก ในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท การกำหนดนโยบายให้ประกันจะช่วยให้กลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่ายในแพลตฟอร์มเกิดความสบายใจในการให้และใช้บริการซึ่งกันและกัน

นอกจากเรื่องประกันความเสียหายแล้ว BeNeat ยังมีการรับประกันความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการเช่นกัน เช่น ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่พอใจคุณภาพการทำความสะอาดของแม่บ้าน สามารถติดต่อ Call Center เข้ามาเพื่อให้ BeNeat ช่วยประสานแม่บ้านคนใหม่เข้าไปแก้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ฝั่ง BeNeat

การเป็นแพลตฟอร์มหรือตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างคนทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน สุดท้าย คือ การนำไปสู่การสร้าง Community หรือชุมชม BeNeat ให้เกิดขึ้น คือ ผู้คนได้ผู้ช่วยทำความสะอาดที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ส่วนคนอีกฝ่ายมีโอกาสสร้างรายได้จากทักษะทำความสะอาดที่ตนเองมีในเวลาที่สะดวกได้ ผ่านเครื่องมือ BeNeat ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้

ทางฝั่งผู้ให้บริการเองมีหลายคนที่ BeNeat ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในแง่ของรายได้ และอิสระในการทำงาน เพราะในยุคดิจิทัลโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน ไว้มีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

ปัจจุบัน BeNeat รองรับการให้บริการที่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ และภูเก็ต และมีแผนที่จะขยายเพิ่มไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เช่น พัทยา ระยอง และหัวหิน ภายในปี 2017 รายละเอียดการจองแม่บ้าน และราคาค่าบริการสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บ https://beneat.co