จากกรณีที่สังคมสงสัยว่านายจ้างและลูกจ้างผู้ประตนส่งเงินให้แก่ สำนักงานประกันสังคม จำนวนนับ ‘ล้านล้านบาท’ แล้วเหตุใดจึงจ่ายเงินทดแทนผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ไวรัสโควิด-19 ระบาด ล่าช้า ทางสำนักงานประกันสังคมจึงได้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ประชาชนแล้วดังนี้
วันที่ 3 พค 2563 นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ชี้แจงโดยสรุปได้ดังนี้
เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 มีจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,032,841 ล้านบาท โดยได้แบ่งเป็นเงินลงทุนใน หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงกว่า 1.6 ล้านล้านบาท สัดส่วน 82% และ หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องปานกลาง และสูง กว่า 3.6 แสนล้านบาท สัดส่วน 18%
# | ประเภทกองทุน | ประเภทการลงทุน | จำนวน (ล้านบาท) |
1 | หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง | พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน, หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น | 1,671,176 |
2 | หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องปานกลาง และสูง | หุ้นสามัญ, หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ, หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, โครงสร้างพื้นฐาน, ทองคำ เป็นต้น | 361,665 |
3 | กองทุนสำรองสำหรับคนว่างงาน | 160,000 |
การลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จะอยู่ในกลุ่ม หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องปานกลาง และสูง และต่อไปนี้ คือ 10 อันดับหุ้นที่กองทุนประกันสังคมถือครองอยู่
# | ชื่อบริษัท/หุ้น | จำนวน (ล้านบาท) | สัดส่วนที่ถือในกองทุน |
1 | บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) | 15,707 | 2.80% |
2 | บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) | 13,000 | 4.07% |
3 | บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) | 8,885 | 1.15% |
4 | บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) | 8,006 | 1.39% |
5 | บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) | 7,639 | 3.51% |
6 | บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) | 6,666 | 3.15% |
7 | บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) | 4,351 | 2.14% |
8 | บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) | 3,702 | 14.84% |
9 | กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) | 3,653 | 2.34% |
10 | บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) | 2,944 | 2.38% |
การลงทุนเหล่านี้ อยู่ภายใต้ระเบียบของ คณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดให้กองทุนจะต้องมีสัดส่วน หลักทรัพย์มั่นคง ไม่น้อยกว่า 60% ดังนั้นการลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล จะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคงสูง และสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับกองทุน
ประกันสังคม สำรองเงินสำหรับทดแทนลูกจ้างผู้ประกันตนเท่าไร
ส่วน กองทุนว่างงาน เป็นกองทุนที่สำรองเงินไว้สำหรับช่วยเหลือเยียวยา และทดแทนแก่ผู้ประกันตนเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ อาทิ เหตการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งชั่วคราวและถาวรจนสูญเสียรายได้ เป็นต้น โดย กองทุนว่างงาน ได้สำรองเงินจำนวน 160,000 ล้านบาท
ส่วนจำนวนผู้จะมาใช้สิทธิทดแทนกรณี ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากเหตุการณ์ โควิด-19 คาดว่าจะมีประมาณ 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายทดแทนประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาท
หากพิจารณาจากตัวเลขของเงินใน กองทุนว่างงาน เทียบกับจำนวนผู้จะมาใช้สิทธิทดแทนฯ จึงเห็นว่ามีจำนวนเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน โดยทางประกันสังคมเริ่มทยอยจ่ายเงินกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากเหตุการณ์ โควิด-19 ให้ผู้ประกันตนกลุ่มแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมย 2563 ที่ผ่านมา
สรุปภาพรวมการจ่ายเงินทดแทนจากประกันสังคม ไตรมาส 2 ปี 2563
- ข้อมูลประกันสังคม ณ วันอาทิตย์ที่ 3 พค 2563 มีจำนวนผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิจำนวน 1,177,841 ราย
- ประกันสังคมสั่งจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วทั้งสิ้น 426,358 ราย
- อยู่ระหว่างดำเนินการ 243,974 ราย
- อยู่ระหว่างติดตามนายจ้าง และสถานประกอบการ ประมาณ 50,000 เศษ ให้เข้ามารับรองสิทธิลูกจ้างจำนวน 507,509 ราย
- ประมาณ 20% เป็นสถานประกอบการที่เปิดทำการปกติและจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ประมาณการลูกจ้างจำนวนกว่า 100,000 คน
- มีประมาณ 10% เป็นสถานประกอบการที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ประมาณการลูกจ้างจำนวนกว่า 200,000 คน
- คงเหลือจำนวนลูกจ้างที่คาดว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน โดยทางประกันสังคมกำลังเร่งให้นายจ้างดำเนินการรับรอง สั่งจ่ายในกลุ่มนี้อีกกว่า 200,000 ราย
สรุปเงื่อนไขรับเงินทดแทนการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เหตุการณ์โควิด-19
คนทำงานผู้ประกันตนที่ ลงทะเบียนว่างงานกับทางประกันสังคมผ่านทางออนไลน์ จะมีโอกาสได้รับเงินเยียวยาในกรณีที่เป็น ผู้ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย โดยคำว่า เหตุสุดวิสัย ในกรณีนี้มี 3 ความหมายหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากมีลูกจ้างสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำงานตามปกติได้
- หน่วยงานภาครัฐสั่งหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19
- นายจ้างไม่ให้ทำงาน โดยให้ลูกจ้างกักตัวดูอาการ 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19
5 สาเหตุหลัก ๆ ที่จะไม่ได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม
- ลูกจ้างยังทำงานอยู่ แต่ถูกปรับลดเงินเดือน จะถือว่าลูกจ้างยังไม่ได้ว่างงาน
- ลูกจ้างยินยอมลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
- สถานประกอบการหยุดชั่วคราว ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ลูกจ้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
- นายจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ถูกสั่งปิดโดยรัฐ กรณีนี้ลูกจ้างรับเงินจากประกันสังคมไม่ได้ เพราะไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง แต่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน
- นายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่
อ่านรายละเอียดเต็ม ๆ เกี่ยวกับ เงื่อนไขและวิธีขอรับสิทธิเงินทดแทนว่างงานช่วง โควิด-19 ที่นี่