วิธีลงทะเบียน รับเงินว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และวิธีคำนวณอัตราเงินทดแทน กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัย และผู้รับผลกระทบจากโควิด-19


สืบเนื่องจาก สํานักงานประกันสังคม ให้สิทธิคนทำงานที่เป็นผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม มาตรา 33 สามารถ ลงทะเบียนคนว่างงาน กับประสังคมผ่านทางออนไลน์ เพื่อขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากผลกระทบเหตุการณ์ ไวรัสโควิด-19 ระบาด

และต่อไปนี้ คือ สรุปรายละเอียดทั้งหมดที่ผู้ประกันตนต้องรู้ หรืออาจสงสัย ไม่ว่าจะเป็น ลงทะเบียนที่ไหน รับสิทธิเมื่อไร ไม่ได้รับสิทธิเพราะอะไร และวิธีคำนวณอัตราเงินทดแทนว่าจะได้รับเท่า เป็นต้น ฯลฯ โดยแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ดังนี้:

  • หมวด เงื่อนไขการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม
  • หมวด วิธีคำนวณเงินว่างงานประกันสังคม
  • หมวด วิธีขอทบทวนสิทธิประกันสังคม (ใส่ข้อมูลผิด, ไม่พบข้อมูล, ฯลฯ)

ไปเริ่มกันเลย!

หมวด เงื่อนไขการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม

คนทำงานผู้ประกันตนที่ ลงทะเบียนว่างงานกับทางประกันสังคมผ่านทางออนไลน์ จะมีโอกาสได้รับเงินเยียวยาในกรณีที่เป็น ผู้ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย โดยคำว่า เหตุสุดวิสัย ในกรณีนี้มี 3 ความหมายหลัก ๆ ดังต่อไปนี้:

  • นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากมีลูกจ้างสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำงานตามปกติได้
  • หน่วยงานภาครัฐสั่งหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19
  • นายจ้างไม่ให้ทำงาน โดยให้ลูกจ้างกักตัวดูอาการ 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19
    เหตุสุดวิสัยแบบไหนที่จะไม่ได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม

ต่อไปนี้เป็น 5 สาเหตุหลัก ๆ ที่จะไม่ได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม

  • ลูกจ้างยังทำงานอยู่ แต่ถูกปรับลดเงินเดือน จะถือว่าลูกจ้างยังไม่ได้ว่างงาน
  • ลูกจ้างยินยอมลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
  • สถานประกอบการหยุดชั่วคราว ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ลูกจ้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
  • นายจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ถูกสั่งปิดโดยรัฐ กรณีนี้ลูกจ้างรับเงินจากประกันสังคมไม่ได้ เพราะไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง แต่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน
  • นายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่

ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมจากเหตุสุดวิสัยที่ไหน?

กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ หัวข้อ ‘กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน)’ อ่านวิธีทำแบบ Step-by-step ที่นี่  

นายจ้างต้องกรอกแบบฟอร์มยืนยันการหยุดงานของลูกจ้างด้วย ที่นี่

หากไม่สะดวกกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ที่นี่

กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนแล้วส่งทางไปรษณีย์ หรืออีเมล หรือแฟกซ์ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่

ผู้ประกันตนจะต้องลงทะเบียนว่างงานภายในระยะเวลาเท่าไร

ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โควิด-19 และเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิ สามารถลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกับทางประกันสังคมได้ภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์

ใครลงทะเบียนรับเงินทดแทนว่างงาน ‘ด้วยเหตุสุดวิสัย’ ได้?

  • ผู้มีสิทธิลงทะเบียนกับ ประกันสังคม เพื่อขอรับเงินทดแทนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  • เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33
  • ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • ส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน หรือถูกรัฐสั่งให้กักตัว
  • หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จะไม่สามารถรับเงินทดแทนได้

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ลงทะเบียนรับเงินว่างงานได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ไม่คุ้มครองกรณีว่างงานเหมือนประกันสังคม มาตรา 33 โดยประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 จะคุ้มครองกรณีต่อไปนี้เท่านั้น

มาตรา 39 คุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และเสียชีวิต

มาตรา 40 ขึ้นอยู่กับทางเลือก มี 3 ทางเลือก ได้แก่

ทางเลือกที่ 1 คุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ

ทางเลือกที่ 2 คุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 คุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร



หมวด วิธีคำนวณเงินว่างงานประกันสังคม

วิธีคำนวณเงินทดแทนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย

ผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 62% ของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยคิดจากฐานค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน โดย ค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน จะคำนวณจากค่าจ้าง 3 เดือน ภายใน 15 เดือน

ในกรณีที่แต่ละเดือนได้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน จะใช้วิธีนำค่าจ้าง 3 เดือนล่าสุดมารวมกันและ หาร 90 วัน เพื่อหาค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน

ตัวอย่างวิธีคำนวณ

  • นาย ก. รับค่าจ้าง 3 เดือนล่าสุดจำนวน 9,000 บาท, 9,500 บาท, และ 10,300 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 28,800 บาท หรือ เฉลี่ยวันละ 320 บาท
  • นาย ก. จะได้เงินทดแทน 62% ของ 320 บาท เท่ากับวันละ 198.40 บาท ตลอดระยะเวลาที่นานจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน
  • สำหรับผู้ที่มี เงินเดือนเท่ากันทุกเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน ให้นำจำนวนเงินเดือนรวม 3 เดือนและหาร 90 วัน เพื่อหาค่าเฉลี่ยรายได้ต่อวัน และนำจำนวนรายได้ต่อวันไปคูณกับ 62%
  • และกรณีผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไป จะได้เงินทดแทนอัตราเดียวกัน คือ วันละ 310 บาท ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน

ประกันสังคมมีหลักคิดการจ่ายเงินทดแทนอย่างไร จ่ายกี่บาท จ่ายกี่วัน

ประกันสังคมจะคำนวณเงินทดแทนเป็นรายวัน และจ่ายตามจำนวนวันที่ผู้ประกันตนแจ้งหยุดงานไว้ตอนลงทะเบียน ได้แก่ วันที่เริ่มหยุดงานจนถึงวันที่สิ้นสุดการหยุดงาน ซึ่งนายจ้างจะต้องลงวันที่ให้ตรงกับลูกจ้างด้วย

ตัวอย่าง

  • ผู้ประกันตนมีค่าจ้าง 9,600 บาท ต่อเดือน เฉลี่ย 320 บาทต่อวัน รับเงินทดแทนวันละ 320 บาท
  • ผู้ประกันตนลงทะเบียนว่าหยุดงาน 60 วัน จะได้รับเงินทดแทน 320 บาท x 60 วัน เท่ากับรวม 19,200 บาท
  • ประกันสังคมจะทยอยจ่ายตามรอบการจ่ายเงินของส่วนกลางซึ่งอาจมีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละรอบ แต่เบ็ดเสร็จแล้วจะได้ครบ 19,200 บาท ในที่สุด
  • แต่ในกรณีที่รัฐยังไม่อนุญาตให้สถานประกอบการเปิดทำการ สามารถลงทะเบียนยื่นเรื่องการว่างงานได้อีกครั้ง โดยครั้งนี้จะได้รับเงินไม่เกิน 30 วัน เพราะการรับเงินทดแทนการว่างงานจะได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน

เหตุใด พนักงาน 2 คน มีเงินเดือนเท่ากัน แต่ได้รับเงินไม่เท่ากัน

มี 2 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่

1. คนใดคนหนึ่งอาจมีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากฐานเงินเดือน อาทิ ค่าคอมมิชชั่น เบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน ฯลฯ อันส่งผลให้รายได้รวมสูงกว่า และส่งเงินสมทบมากกว่า

2. วันที่ยื่นเรื่อง และวันที่วินิจฉัยไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการคาบเกี่ยวระหว่างรอบคำนวณเงินรายวัน และรอบการจ่ายเงินออกของทางประกันสังคม แต่ที่สุดแล้ว ยอดรวมจะได้เท่ากับสิทธิที่จะต้องได้รับในที่สุด

เหตุใด ผู้ประกันตนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเสียที

กรณีมีคุณสมบัติที่น่าจะได้รับสิทธิเงินทดแทนประกันสังคมจากเหตสุดวิสัยจริง ๆ และลงทะเบียนไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติเงินเสียที อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • มีผู้ลงทะเบียนจำนวนมากส่งผลให้การตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ล่าช้า
  • นายจ้างยังไม่กรอกแบบฟอร์มยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง หากนายจ้างยังไม่ลงทะเบียนรับรองการหยุดงานจากเหตุสุดวิสัยของลูกจ้าง ลูกจ้างก็จะยังไม่สามารถรับเงินชดเชยได้
  • ลูกจ้างและนายจ้างแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน หรือแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น ระบุสาเหตุการว่างงานไม่ถูกต้อง, พิมพ์ชื่อ, พิมพ์เลขบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การตรวจสอบ และพิจารณาอนุมัติมีความล่าช้าได้เช่นกัน

วิธีตรวจสอบว่าได้รับการอนุมัติเงินทดแทนหรือไม่?

ผู้ประกันตนจะได้รับข้อความแจ้งผลการอนุมัติทางอีเมลที่กรอกไว้ในระบบ e-form หรือ สามารถเช็กยอดเงินที่จะได้รับ และวันที่อนุมัติสิทธิ์ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ของประกันสังคม ได้แก่

1. แอปพลิเคชั่น SSO Connect เลือกหัวข้อ ‘การเบิกสิทธิประโยชน์’

2. เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ลงทะเบียน หรือ ล็อกอินเมนู ผู้ประกันตน และตรวจสอบสถานะที่หัวข้อ ‘การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน’

3. ติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่และ/จังหวัดที่ผู้ประกันตนได้ยื่นเรื่องไว้ โดย เช็กข้อมูลประกันสังคมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่นี่

หมวด วิธีขอทบทวนสิทธิประกันสังคม

เหตุใด ผลการตรวจสอบจึงรายงานว่า ‘ไม่พบข้อมูล’

เมื่อลงทะเบียนขอรับเงินทดแทนว่างงานจากเหตุสุดวิสัยแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อเข้าตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์ประกันสังคม หรือทางแอปพลิเคชั่น SSO Connect แต่กลับปรากฏสถานะ ‘ไม่พบข้อมูล’ หรือ ไม่ปรากฏวันจ่ายเงิน แปลว่าเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลระหว่างลูกจ้างและนายจ้างแจ้ง ดังนี้

1. นายจ้าง และลูกจ้าง แจ้งข้อมูลคนละช่องทาง อาทิ ลูกจ้างแจ้งข้อมูลผ่านแฟกซ์, อีเมล์, หรือไลน์ของสำนักงานประกันสังคม แต่นายจ้างแจ้งข้อมูลผ่านระบบ e-form ในเว็บไซต์

2. นายจ้าง และลูกจ้าง แจ้งข้อมูลคนละช่อง และคนละพื้นที่ อาทิ ลูกจ้างแจ้งข้อมูลผ่านระบบ e-form ในเว็บไซต์ ระบุ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 2 แต่นายจ้างแจ้งข้อมูลผ่านแฟกซ์, อีเมล์ม ไลน์ของสำนักงานประกันสังคม ระบุ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรัง

3. นายจ้างและลูกจ้างแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน อาทิ ลูกจ้างแจ้งสาเหตุว่างงานเพราะรัฐสั่งปิด แต่นายจ้างแจ้งสาเหตุว่าปิดกิจการเอง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ

เหล่านี้เป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาพิจารณา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จก่อน

วิธีปฏิบัติเมื่อกรอกข้อมูลในระบบ e-form ผิดพลาด

หากกรอกข้อมูลผิดจะไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้ประกันตนจะต้องกรอกข้อมูลที่ถูกต้องและกดส่งใหม่ โดยทางสำนักงานประกันสังคมจะใช้ข้อมูลล่าสุดที่กรอกเข้ามา และหากมีเอกสารเจ้าหน้าที่ต้องการเอกสารใด ๆ เพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังผู้ประกันตน

หากยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมแล้ว จะต้องกลับไปกรอก e-form หรือไม่

หากผู้ประกันตนยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมแล้ว หรือแม้แต่ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ แฟกซ์ หรือ อีเมล์ ก็ถือว่าการยื่นของลงทะเบียนรับเงินทดแทนว่างงานในครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ต้อง กลับไปกรอก e-form ซ้ำอีก และหากมีเอกสารเจ้าหน้าที่ต้องการเอกสารใด ๆ เพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังผู้ประกันตน

ช่องทางการติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม

สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์โควิด 19 สำนักงานประกันสังคม โทร. 029562513-4 (ในวัน-เวลาราชการ)

สำนักงานประกันสังคมที่ยื่นเรื่องไว้

เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Live Chat ประกันสังคม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดขั้นตอนลงทะเบียน ประกันสังคม มาตรา 33 รับเงิน 8,000 บาท จากประกันสังคม 
ประกันสังคมตอบ 16 คำถามผู้ประกันตน ที่ถูกถามบ่อยที่สุดในช่วงวิกฤต โควิด-19