แกะรอย เซินเจิ้น จากเมืองแห่งการก็อปปี้ สู่ว่าที่ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย

Shenzhen (เซินเจิ้น หรือที่คนไทยนิยมออกเสียงกันว่า เสิ่นเจิ้น) คือเมืองแห่งเทคโนโลยีของจีน แต่พอคนไทยได้ยินชื่อนี้ทีไรก็จะนึกถึงแหล่งช็อปปิ้งของก็อปปี้ ที่ก็อปปี้ตั้งแต่นาฬิกา กระเป๋ายันเครื่องใช้ไฟฟ้า และใช้คำว่า เซินเจิ้น แทนคำว่าก็อปปี้ไปเลยก็มี เช่น หลุยส์เซินเจิ้น หมายถึงกระเป๋าหลุยส์ก็อปปี้ แม้ว่ากระเป๋าใบนั้นอาจจะไม่ได้ผลิตมาจากเซินเจิ้นก็ตาม (บางทีก็มาจากกว่างโจว)

ต้องบอกว่านั่นคือภาพในอดีตที่คนไทยรู้จักเซินเจิ้นเพียงมุมเดียว จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับที่ชาวต่างชาติ มองกรุงเทพฯหรือประเทศไทยเพียงด้านเดียวแล้วเหมารวมยังไงยังงั้น

แท้จริงแล้วเดิมที เซินเจิ้นนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงที่ยากจน มีประชากรเพียง 300,000 คนเท่านั้น แต่เมื่อประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง มีความคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านชาวประมงนี้ให้กลายเป็นเศรษฐกิจพิเศษ จึงเริ่มวางรากฐานในการพัฒนาเมืองที่ล้อมรอบไว้ด้วย โดยเริ่มจากจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลาง เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษี

นับจากปี 1979 ที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จนถึงวันนี้ 37 ปี เซินเจิ้นได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองที่มีความเจริญเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจีน เป็นรองเพียง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว เท่านั้น จากหมู่บ้านชาวประมงที่มีตึกสูงที่สุดเพียงแค่ 5 ชั้น บัดนี้เซินเจิ้นมีตึกสูงเสียดฟ้า 119 ชั้น เป็นอันดับที่ 4 ของโลก คือตึก ผิงอัน อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ เซ็นเตอร์ รองจาก ตึก  เบิร์จ คาลิฟา ในนครดูไบ (อันดับที่3) และ ตึกสกายซิตี้ เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน(อันดับที่2) และ ตึกคิงดอมทาวเวอร์ เจดดะห์,ซาอุดิอาระเบีย (อันดับที่1)

จากเมืองที่มีพื้นที่ 2,220 ตารางกิโลเมตร มีการถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่ขึ้นเป็น 3,000 ตารางกิโลเมตร จากประชากร 3 แสนคน เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน จากเมืองที่มี GDP น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 1979 กลายเป็น 3.74 ล้านล้านบาทในปี 2017

ในบรรดา 9 เมืองใหญ่บริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลของจีน อันได้แก่ นครกว่างโจว, เมืองเซินเจิ้น, เมืองฝอซาน, เมืองจูไห่, เมืองตงกว่าน, เมืองจงซาน, เมืองเจียงเหมิน, บางส่วนของเมืองจ้าวชิ่ง และบางส่วนของเมืองหุ้ยโจว เซินเจิ้น นับว่าเป็นเมืองที่มีภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ และบริษัทสัญชาติจีนที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อาทิ

  • Tencent ของมหาเศรษฐี โพนี่ หม่า
  • Huawei แบรนด์สมาร์ทโฟนยักษใหญ่ของจีน
  • DJI แบรนด์โดรนที่ครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกกว่า 70%
  • ZTE แบรนด์สมาร์ทโฟน
  • BYD แบรนด์แท็กซี่-รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีน
  • Ping An Bank, China Merchants Banks

เป็นต้น ฯลฯ นอกจากนี้ แม้แต่ Apple ก็กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการจัดตั้งศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาในเซินเจิ้นด้วยเช่นกัน

เหตุใดจึงได้รับฉายา เมืองแห่งการก็อปปี้

การวางรากฐานของเมืองเซินเจิ้น ถูกกำหนดให้เป็นเมืองแห่งการผลิต และการระดมนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาตั้งโรงงานของสินค้าสารพัดอย่าง โดยเน้นไปที่นาฬิกา เสื้อผ้ากระเป๋า และสินค้าเทคโนโลยี นอกจากจะเป็นการจัดตั้งโรงงานของบริษัทข้ามชาติแล้ว ยังเป็นการตั้งโรงงานขึ้นเพื่อรับผลิตตามออเดอร์จากต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้นโรงงานในเซินเจิ้นจึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไปได้อย่างรวดเร็ว

เพราะสินค้าที่ส่งขายไปทั่วโลกในหมวดดังกล่าว ล้วนสั่งผลิตจากเซินเจิ้น ด้วยกำลังการผลิตมหาศาล ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสินค้าเทคโนโลยีล่าสุดถูกสั่งผลิตที่จีน จะมีสินค้ายี่ห้อของจีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกันวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกในเมืองเซินเจิ้นทันที และเมื่อแหล่งช็อปปิ้งในเซินเจิ้นมีเพียงไม่กี่ที่ และทุกที่ก็พร้อมใจจำหน่ายสินค้าเฮาส์แบรนด์ (หรือส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์เดิมที่ก็อปปี้มา)

เมื่อมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่เซินเจิ้น ก็จะมีจุดหมายเดียวที่ไกด์จพาไป นั่นก็คือแหล่งจำหน่ายสินค้าก็อปปี้นั่นเอง นานวันเข้า ภาพจำของ เซินเจิ้น ในใจของนักท่องเที่ยวจึงถูกประทับลงไปว่า เป็นมหานครแห่งสินค้าก็อปปี้ไปโดยปริยาย ไม่ต่างจากที่ฝรั่งมองกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของธุรกิจโลกีย์ เพราะเมื่อฝรั่งก้าวลงจากเครื่องบินที่แรกที่ไกด์เถื่อนหรือแท็กซี่จะพาไป ไม่ใช่โรงแรม แต่เป็นสถานบันเทิงยามราตรี นานวันเข้าภาพจำของนักท่องเที่ยวก็บอกกันปากต่อปาก จนยากที่จะลบภาพเหล่านี้ได้ และเซินเจิ้นก็เช่นกัน

พลิกมุมใหม่ มองให้รอบด้าน เซินเจิ้นเปลี่ยนไปแล้ว

ด้วยเป็นมหานครแห่งการผลิตของโลก เซินเจิ้นได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างรวดเร็ว จนมีสินค้านวัตกรรมใหม่ๆมากมาย จากวันที่เคยก็อปปี้เทคโนโลยีของต่างชาติ วันนี้ เซินเจิ้น สร้างสรรค์เทคโนโลยีของตนเองได้แล้ว และกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของ Hardware Startup ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์, โดรน,อุปกรณ์ Wearable ต่างๆ, IoT หรือ Internet Of Things (ที่นี่คือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Tencent ตัวพ่อเทคโนโลยีในด้าน IoT เลยทีเดียว) , และยังมีเทคโนโลยีสินค้าอิเลคทรอนิกส์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

ผู้คนในเมืองเซินเจิ้น แทบจะไม่ใช้เงินสดกันแล้ว ไม่ว่าจะขึ้นรถเมล์หรือแท็กซี่ หรือซื้อของข้างทางต่างใช้โทรศัพท์มือถือในการจ่ายเงินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ หรือรถเมล์และรถสาธารณะทั้งหมด ต่างก็ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% แล้ว ท้องถนนจึงเงียบสงบแทบจะไม่มีเสียงเร่งเครื่องและมลภาวะเลย

เซินเจิ้นมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่วิ่งจากเซินเจิ้นไปกว่างโจวใช้เวลาเพียง ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ยังมีคำกล่าวที่ว่าหากจะดุว่าเมืองใดมีความเจริญหรือมั่งคั่งมากน้อยเพียงใด ให้ดูที่เส้นขอบฟ้า หรือ Sky Line ของเมืองนั้น ๆ ว่ามีตึกสูงมากน้อยแค่ไหน และค่าเฉลี่ยของความสูงนั้นเป็นเท่าไหร่ หากมองไปที่เส้นขอบฟ้าของเซินเจิ้นในวันนี้ จะเห็นว่าเต็มไปด้วยตึกระฟ้า ไม่ต่างจากมหานครใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ก หรือลอนดอนเลย ตอนนี้เซินเจิ้นมีตึกที่สูงเกิน 200 เมตรทั้งหมด ถึง 11 ตึกด้วยกันแล้ว เรียกว่ามากกว่ามหานครใดๆในโลกเลยทีเดียว

Huawei วิ่งแซงหน้า Apple ประกาศให้โลกรู้ว่าจีนมาแล้ว

Huawei มีฐานที่มั่นอยู่ในเซินเจิ้น เทคโนโลยีของ หัวเหว่ย ถูกคิดค้นวิจัยและพัฒนาที่นี่ ด้วยศักยภาพของ หัวเหว่ย ไม่ได้มีเพียงโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนเท่านั้น หัวเหว่ยยังมีเทคโลยีอิเล็กทรอนิกส์อีกมากมาย ทั้งชิปเซ็ต แผงวงจร แผงควบคุม หน่วยประมวลผล ชิปสำหรับกล้องวงจรปิด ชิปสำหรับสมาร์ททีวี ชิปสำหรับอุปกรณ์ IoT มีบริการคลาวด์เซอร์วิส และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้าในอันดับโลกตอนนี้เป็นรองเพียง ซัมซุงเท่านั้น

ล่าสุดเพิ่งจะทำยอดขายแซงหน้า Apple ให้หล่นไปอยู่ในอันดับ 3 โดย หัวเหว่ยรั้งเป็นอันดับ 2 และทำท่าว่าจะอยู่ยาวเลยทีเดียว การพัฒนาของหัวเหว่ยนั้นไม่เคยหยุดยั้ง มีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามากถึง 16 แห่งทั่วโลก ระดมนักวิจัยจากทั่วโลกมาช่วยผลักดันเทคโนโลยีของหัวเหว่ยออกสู่ตลาดโลก ทำให้วันนี้ หัวเหว่ยสามารถ ปักธง ประกาศศักดิ์ดาอันดับ 2 ของโลกเทคโนโลยีได้สำเร็จ

DJI ประกาศศักดิ์ศรีพญามังกร โบยบินสู่ท้องฟ้าทั่วโลก

DJI (Da-Jiang Innovations Science and Technology) (ต้าเจียงอินโนเวชั่น)  ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% ทั่วโลก เพิ่งทำรายได้สูงถึง 2.7พันล้านดอลลาร์ ในปี 2017 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน DJI มีพนักงานกว่า 10,000 คน มีสำนักงานกระจายไปยัง เมืองหลัก 6 ประเทศ 17 แห่ง ได้แก่ จีน 4แห้ง, อเมริกา 5 แห่ง , ญี่ปุ่น 2 แห่ง , ออสเตรเลีย 1 แก่ง

DJI ผลิต โดรน หลากหลายขนาด เพื่อหลากหลายจุดประสงค์ในการใช้งาน ทั้งงานภาพถ่ายทางอากาศ งานเพื่อเชิงพาณิชย์ หรืองานถ่ายภาพยนตร์ที่ต้องการภาพความละเอียดสูง แม้กระทั่งงานด้านการเกษตร ที่เมื่อ DJI เริ่มบุตลาดด้านนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม

Tencent เจ้าพ่อเทคโนโลยี นาทีนี้ WechatPay คือกระเป๋าเงินของคนจีน

Tencent กลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีของจีนเรียบร้อยแล้ว โพนี่ หม่า กลายเป็นชายผู้มั่งคั่งที่สุดในจีน จากแอปพลิเคชั่นยอดนิยม Wechat ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่บน Wechat ตั้งแต่คนจีนลืมตาตื่น ไปจนหลับตานอน ทุก ๆ การเคลื่อนไหว

คนจีนต้องผูกทุกสิ่งทุกอย่างเข้ากับ Wechat จะสั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ ดูหนัง ฟังเพลง คุยกับเพื่อน หรือจ่ายเงินร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องใช้ Wechat ทั้งสิ้น ทุกวันนี้ คนจีนลืมกระเป๋าสตางค์ได้ แต่ห้ามลืมพกโทรศัพท์มือถือ (ทุกวันนี้คนจีน 900ล้านคน ใช้ Wechat Pay ในการจ่ายเงินซื้อของในชีวิตประจำวัน)

นอกจากนี้ Tencent ยังขยายการลงทุนไปทั่วทุกอุตสาหกรรมในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น Didi Chuxing แอปเรียกรถแท็กซี่ของจีน ที่เป็นสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก , Mobike สตาร์ทอัพรถจักรยานให้เช่า อันดับ 1 ของจีน , Meituan แอปส่งอาหารอันดับ 1 ของจีน ฯลฯ

นี่เพียงบางส่วนของเซินเจิ้น ยังมีอีกมากมายที่เกิดขึ้นที่นี่ แม้จะเริ่มจากการก็อปปี้ แต่หากได้มีการพัฒนาและต่อยอดแล้ว หลังจากนี้ เซินเจิ้นจะกลายเป็นมหานครแห่งเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติของจีนนั้นไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ

ก้าวสู่การเป็น ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย

หากอเมริกามี ซิลิคอนวัลย์ ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทเทคโนโลยี อย่าง Google Facebook หรือ Apple เซินเจิ้นก็เป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเอเชียเช่นกัน ขณะนี้ เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางการเงินเป็นอันดับที่ 22 ของโลก เป็นเขตการคาเสรีที่ดำเนินนโยบายด้านนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุด เป็นแหล่งการเรียนการสอนด้านการเงินการคลังชึ้นสูง และ ด้านการผลิตและเทคดนโลยีชั้นสูง จึงเป็นเมืองที่สามารถผลิตนักการเงินการธนาคาร และวิศวกร จำนวนมากเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

เพราะหัวใจหลักของการพัฒนาชาติคือการศึกษา เซินเจิ้นนอกจากจะเป็นเมืองเทคโนโลยีในฉากหน้าแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งการศึกษาชั้นนำอีกด้วย เนื่องจากผู้คนในเมืองนี้ มีฐานะค่อนข้างดี และค่าครองชีพที่เซินเจิ้นถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ของจีน เซินเจิ้น จึงเต็มไปด้วย โรงเรียน และศูนย์การศึกษาชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก มาเปิดสอนที่นี่

ทำให้คนจีนภูมิใจ กับ Made in China

การที่ภาครัฐจะผลักดันให้ เซินเจิ้น เป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย ก็เพื่อให้ต่างชาติยอมรับในสินค้าที่ตีตรา Made in China และให้คนในชาติได้ภูมิใจกับคำนี้ โดยไม่ต้องปกปิด หลอกตัวเองหรือผู้อื่นด้วยคำว่า Made in PRC (ที่ PRC ย่อมาจาก People’s Republic of China) อีกต่อไป เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเทียบเท่าหรือมากกว่ามาตรฐานระดับโลก ก็จะสามารถยกระดับแบรนด์จีน และสินค้าที่ผลิตในจีน หรือ Made in China ให้มีมูลค่าเพิ่มได้อีกมหาศาล

การวางยุทธศาตร์ในการพัฒนานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมั่นคงและต่อเนื่อง ใช้เวลาสร้างรากฐานอย่างยาวนาน เพื่อให้ออกดอกผลในวันนี้ วันที่ เซินเจิ้น ไม่ใช่เมืองก็อปปี้โชว์อีกต่อไป แต่กลายเป็นมหานครแห่งการผลิต และมหานครแห่งเทคโนโลยีของโลก

 

Source:

http://technode.com/2017/12/11/shenzhen-book-excerpt/