กองทุน Public Investment Fund หรือ PIF โดยรัฐบาลซาอุดิอาระเบียประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 2 ของโลกกลับมาจับตา Elon Musk อีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวประกาศอยากนำบริษัท Tesla ออกจากตลาดหุ้นครั้งล่าสุด หลังการเจรจาลงทุนก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จ
แหล่งข่าว Bloomberg รายงานว่า หลายเดือนก่อน กองทุน Public Investment Fund แห่ง ซาอุดิอาระเบีย หรือ PIF มีความสนใจลงทุนในบริษัท Tesla และพยายามเจรจากับ Elon Musk, CEO ของบริษัท, แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากทางบริษัทฯ อ้างว่าไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนในเวลานั้น — PIF จึงต้องซื้อหุ้นบริษัทฯ ผ่านทางตลาดหุ้นจำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5% — ก่อนที่ล่าสุด Elon Musk จะประกาศทาง Twitter ว่าต้องการนำบริษัทฯ ออกจากตลาดหุ้น การเจรจาจึงถูกนำกลับมาอีกครั้ง แต่ทั้งสองฝั่งต่างปฏิเสธการให้ข้อมูลต่อสื่อทุกกรณี
ตามข้อความ Tweet ของ Elon Musk เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา ว่ากำลัง พิจารณานำ Tesla ออกจากตลาดหุ้น พร้อมเขียนสั้น ๆ “…แหล่งเงินทุนพร้อม”… สร้างแรงกระเพื่อมให้ตลาดและส่งผลให้หุ้น Tesla ปรับตัวขึ้น 11% ภายในวันเดียว การพิจารณานำบริษัทออกจากตลาดหุ้นในครั้งนี้เพื่อยุติปัญหาการแทรกแทรงทางอ้อมของนักลงทุนรายย่อยและนักเก็งกำไรที่มีพฤติกรรมกดดันผลงานระยะสั้นของบริษัท เพื่อให้บริษัทได้สามารถโฟกัสเป้าหมายระยะยาวอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี การนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นเป็นงานท้าทายสำหรับ Elon Musk เนื่องจากเขาเสนอซื้อบริษัทตัวเองคืนจากตลาดที่ราคา 420 เหรียญต่อหุ้น หรือประมาณกว่า 80,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเขามีหุ้นในบริษัท 20% เท่ากับ Elon Musk ต้องการเงินมากกว่า 50,000 ล้านเหรียญ อัพเดทเป็น มากกว่า 60,000 ล้านเหรียญ ในการทำดีลนี้ให้สำเร็จ
แม้ Elon Musk จะประกาศใน Twitter ว่า แหล่งเงินทุนพร้อม แต่จากการตรวจสอบโดยสื่อสหรัฐฯ พบว่าก่อนหน้านี้ Softbank และ Tesla เคยมีการพูดคุยเรื่องเงินทุนในการนำบริษัทฯ ออกจากตลาดหุ้น แต่ตกลงผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ในขณะที่ข้อมูลการเจรจากับ กองทุน PIF ก็ถูกปิดเป็นความลับ ทำให้ SEC หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของสหรัฐฯ กำลังจับตาดูความเคลื่อนไหว CEO ของ Tesla อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเคยมีประวัติถูกนักลงทุนฟ้องเรื่องการแทรกแทรงราคาหุ้นบริษัทฯ
ส่วนความสนใจที่กองทุน PIF มีต่อ Tesla ก็เป็นที่จับตามอง ในฐานะที่กองทุนดังกล่าวก่อตั้งโดยรัฐบาล ซาอุดิอาระเบีย ประเทศผลิตน้ำมันอันดับ 2 ของโลกและมีรายได้หลักจากน้ำมันสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมากในบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าย่อมมีนัยยะสำคัญ โดยนักวิเคราะห์มองว่าอาจเพื่อต้องการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง พาหนะพลังงานไฟฟ้า และ พลังงานน้ำมัน