ประวัติ Ray Kroc ผู้พลิก McDonald’s จากฟาสต์ฟู้ดท้องถิ่น สู่อาณาจักรแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในโลกของธุรกิจการเป็นผู้ริเริ่มไม่ได้การันตีว่าจะเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้ก่อนใคร กระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายนั่นซับซ้อนมากกว่าแค่การผลิตสินค้าและจำหน่าย ไหนจะคู่แข่ง ทิศทางตลาด และสิ่งต่างๆที่นอกเหนือการควบคุม สำหรับบางคนขอแค่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่คงไม่ใช่กับ Ray Kroc ชายที่มีความทะเยอทะยานและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่าคนทั่วไป จนกลายมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจระดับโลก จนชื่อของเขาได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเขาบอกอะไรแก่เราบ้าง

วัยเด็กที่เริ่มฉายแววสัญชาตญาณนักขาย

Raymond Albert Kroc หรือที่รู้จักกันในนาม Ray Kroc เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1902 รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา พ่อของเขาทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับโทรเลข แม่ของเขาเป็นแม่บ้านและหารายได้เสริมจากการสอนเปียโนให้แก่เด็กและผู้ใหญ่ในละแวกนั้น Kroc จึงได้เรียนรู้การเล่นเปียโนจากแม่ของเขา

ช่วงวัยเด็กเขาเป็นคนที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและความมั่นใจออกมาให้เห็นเด่นชัด เป็นคนที่ฉลาดและขยัน อีกความสามารถหนึ่งคือการเชี่ยวชาญในการโต้วาที ถือเป็นสิ่งเดียวที่เขาชอบที่โรงเรียน พร้อมทักษะในการพูดชักชวนผู้อื่นให้คล้อยตามอย่างง่ายดาย

ขณะศึกษาอยู่ระดับมัธยมสัญชาตญาณนักขายก็เริ่มฉายแววขึ้นจากการหารายได้พิเศษที่ร้านขายของชำไปจนถึงขายน้ำมะนาวหน้าบ้าน เมื่ออายุ 14 เขากับเพื่อนได้ขายแผ่นเพลงภายใต้ชื่อ Ray Kroc Music Emporium โดยที่เขาเล่นเปียโน แต่ก็ต้องยกเลิกภายในเวลาไม่กี่เดือน จากนั้นได้ทำงานขายน้ำอัดลมที่ร้านของลุง เป็นการเพิ่มพูนความชำนาญด้านการขาย เขาได้เรียนรู้ว่ารอยยิ้มบวกกับความกระตือรือร้นช่วยให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากกว่าการตั้งใจขายอย่างจริงจัง

เริ่มต้นอาชีพนักขาย แต่ทว่ากลับไปได้ไม่สวยอย่างที่คิด

ตอนอายุ 17 ปีหลังจากตัดสินใจออกไปผจญโลกแห่งความเป็นจริง เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นเปียโนตามไนท์คลับและเป็นดีเจสถานีวิทยุท้องถิ่น จากนั้นได้ทำงานหลากหลายตั้งแต่ขายเครื่องประดับผู้หญิงไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ จนอายุ 21 เขาได้งานที่มั่นคงเป็นครั้งแรกในฐานะพนักงานขายถ้วยกระดาษ ด้วยการเอาใจใส่ต่อลูกค้าและทำงานหนักทำให้เขาเป็นหนึ่งในยอดนักขายของบริษัท

ในปี 1938 ขณะที่ขายถ้วยกระดาษ เขาได้พบกับ Earl Prince ซึ่งคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Multimixer คือเครื่องทำมิลค์เชค และหลังจากทำงานอยู่ 16 ปีกับ Lily Tulip Paper Cup Company เขารู้สึกว่ายังไม่มีสิ่งใดที่จะพาไปสู่โอกาสที่เขามองหามาตลอด เมื่อมองเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของเครื่องMultimixer จึงตัดสินใจลาออกจากงานและเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียว ในขณะนั้นเขามีอายุ 37 ปี ช่วงต้นของธุรกิจดำเนินไปได้ดี เขาขายได้ถึง 8,000 เครื่องต่อปี แต่ต้องประสบกับปัญหายอดขายที่ลดลง เนื่องจากร้านอาหารที่เขาขายสินค้าให้มีระบบการจัดการที่แย่จึงทำให้กิจการไม่ค่อยดีนัก

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ กับการค้นพบ McDonald’s

ในขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เขาต้องประหลาดใจเมื่อพบว่ามีร้านอาหารแห่งหนึ่งใน San Bernardino ยังคงสั่งเครื่องทำมิลค์เชคของเขาถึง 8 เครื่อง ด้วยความอยากรู้จึงทำให้เขารีบเดินทางจนไปเจอกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ชื่อ McDonald’s เป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์เล็กๆที่ได้รับความนิยมอย่างมากภายใต้การให้บริการที่รวดเร็ว

เมื่อมองเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ เขาไม่รีรอที่จะพูดคุยกับสองพี่น้องแมคโดนัลล์ให้เปิดสาขาของร้านไปทั่วประเทศ ซึ่งพวกเขาไม่แสดงความสนใจในตอนแรกเนื่องจากยึดมั่นในอุดมการณ์และไม่อยากรับภาระหนักในการขยายกิจการ แต่ด้วยความพยายามอย่างถึงที่สุดแม้ว่าขณะนั้นเขามีอายุ 52 ปีแล้วก็ตามแถมยังป่วยด้วยโรคเบาหวานและโรคข้ออักเสบ

ภายหลังเขาได้ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับสองพี่น้องเพื่อเข้ามาบริหารงานในการขยายสาขา และจากนั้นก็ซื้อกิจการมาบริหารต่อ ด้วยหัวคิดทางธุรกิจที่หลักแหลมและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เขานำเอารูปแบบของแฟรนไชส์มาจัดการธุรกิจ พัฒนาตั้งแต่ระบบการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า การขายและการบริการ จนในที่สุดสามารถขยายสาขาออกไปได้ทั่วประเทศและกลายเป็นเบอร์หนึ่งของแฟรนไชส์ธุรกิจอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กุญแจสู่ความสำเร็จ

1. ความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้

ผลพวงมาจากนิสัยส่วนตัวบวกกับพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย หล่อหลอมให้เขากลายมาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความปรารถนา เมื่อเล็งเห็นว่าสิ่งนั้นมีศักยภาพมากพอในการเติบโตและคุ้มค่าแก่การลงทุน

2. มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น

ไม่ว่าจะทำอะไรหรือกำลังเผชิญกับอะไร เขาพยายามที่จะมองหาโอกาสที่อาจจะซ่อนอยู่เสมอ และด้วยความเชื่อส่วนตัวของเขาที่คิดว่าโอกาสดีๆอาจผ่านมาแค่ครั้งเดียว จึงไม่แปลกใจเลยว่าแม้อายุจะมากแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการตัดสินใจทำธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตเขาไปตลอดกาล

3. กล้าได้กล้าเสีย ไม่ลังเลเมื่อมองเห็นโอกาส

ไม่ลังเล ไม่รีรอ ตัดสินใจรวดเร็ว เมื่อคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้เขามาได้ไกลจากเซลล์แมนตกอับจนกลายมาเป็นผู้ปลุกปั้น McDonald’s ให้ประสบความสำเร็จได้

แนวคิดที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจและชีวิต

1. ใส่ใจในความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ

แม้จะมีสินค้าหรือบริการที่โดดเด่นในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ธุรกิจ แต่อย่าลืมว่าเมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนไม่ว่าจะเพื่อความอยู่รอดหรือก้าวสู่ความสำเร็จไปอีกขั้น ความคิดสร้างสรรค์จะถูกดึงมาใช้เป็นอันดับแรก ผู้นำที่ดีต้องเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้า มองหานวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยต้องสอดคล้องกับภาพลักษณ์องค์กร คู่ค้าทางธุรกิจ และลูกค้า

2. พนักงานคือหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

การทำงานที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากในการขับเคลื่อนทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาการไม่ลงรอยกันเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง ต้องหาแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันวางระบบโครงสร้างให้แข็งแกร่งเพื่อป้องกันการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด

แม้ Ray Kroc ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งกิจการ แต่ชายผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงขับเคลื่อนนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการมีวิสัยทัศน์ที่ดีและมองหาโอกาสอยู่เสมอนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่หนทางแห่งความสำเร็จ