ทำไม Ray Dalio จึงกล่าวว่า เงินสดคือขยะ และหุ้นจึงขยะยิ่งกว่า

เป็นที่ทราบดีโดยทั่วไปว่า การถือเงินสดไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉย ๆ ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า 1% นอกจากเงินในบัญชีจะไม่งอกเงยแล้ว ยังเสื่อมมูลค่าลงไปเพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า ผู้คนจึงมักมองหาช่องทางการลงทุนที่จะทำให้เงินนั้นงอกเงย และหนึ่งในนั้นคงไม่พ้นตลาดหุ้น

แต่แล้วคนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะรู้สึกแปลกใจว่า ทำไม คุณ Ray Dalio นักลงทุนชื่อดังจึงออกมาบอกว่า “Of course cash is still trash… equities are trashier” หรือแปลเป็นไทย คือ แน่นอนว่าเงินสดคือขยะ แต่หุ้นนั้นเป็นขยะยิ่งกว่า ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร วันนี้ ส่องโลกการลงทุน กับ CEO Channels จะพาไปพบคำตอบ

คุณอาจสนใจ




Ray Dalio คือใคร

Ray Dalio เป็นนักลงทุนที่มากประสบการณ์ และเป็นเจ้าของบริษัทบริหารสินทรัพย์ Bridgewater Associates ก่อตั้งในปี 1975

Ray Dalio จึงมีประสบการณ์ในโลกการลงทุนจวบจนวันนี้ ปี 2022 เท่ากับ 47 ปี ในขณะที่ตัวเขามีอายุ 72 ปี ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น คือ งานเขียนหนังสือ Principles และ The Changing World Order

Bloomberg Billionaire Index เดือน มิถุนายน ปี 2022 รายงานว่า Ray Dalio มีความมั่งคั่งสุทธิประมาณ 16,100 ล้านดอลล่าร์ หรือมั่งคั่งอันดับที่ 105 ของโลก

โดยวลี เงินสดคือขยะ แต่หุ้นนั้นเป็นขยะยิ่งกว่า มาจากบทสัมภาษณ์ผ่านทาง CNBC Television เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2022 โดยเขาพูดถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ และผลกระทบที่จะเกิดกับตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมถึงเผยแนวทางการปรับกลยุทธ์การลงทุนของเขาในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เกริ่นสั้น ๆ ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐ

ณ เวลานี้ หลายคนน่าจะทราบข่าวกันแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2022 สหรัฐได้ประกาศตัวเลข CPI – Consumer Price Index หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภค พุ่งสูงขึ้นมาเป็น +8.6% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ +8.3%

ในขณะที่เดือนนี้เมื่อปีที่แล้ว CPI อยู่ที่ 3.7% เท่านั้น ตัวเลขปีนี้ยังนับว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปี และอาจส่งผลให้ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า FED อาจตัดสินใจเร่งขึ้นอัตรดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า ด้วยอัตราเงินเฟ้อเดือน พฤษภาคม 2022 ที่ 7.1% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี

ทำไม Ray Dalio มองว่า เงินสดคือขยะ ในช่วงเงินเฟ้อรุนแรง

ด้วยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงถึง 8.6% และหากจะยังสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เงินสดในมือของประชาชนจะสูญเสียทั้งอำนาจในการซื้อสินค้า และการลงทุน

อุปมาให้เห็นภาพอย่างง่าย

หากคุณมีเงินสด 100 บาท เมื่อเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อ 8.6% อำนาจการใช้จ่ายในมือจะลดลงเหลือ 91.4 บาท อาจฟังดูไม่มากหากกับเงินจำนวนน้อย แต่จะเริ่มน่ากลัวสำหรับคนที่ถือครองเงินสดจำนวนมหาศาล เช่น เงินสด 100 ล้านบาท จะเท่ากับมูลค่าจะหายไปถึง 8,600,000 บาท

ด้วยเหตุนี้ คนที่มีเงินสดเย็น ๆ จึงจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ทำให้กองเงินนี้งอกเงย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่สูญเสียมูลค่าลงไปกว่านี้ กรณีหลังเรียกว่า Store of value

ทำไม Ray Dalio มองว่า หุ้นเป็นขยะยิ่งกว่า ในช่วงเงินเฟ้อรุนแรง

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ใช้ต่อสู้กับเงินเฟ้อ คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบ 2 ฝั่งพร้อมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฝั่งที่ 1 คือ ประชาชนผู้ถือครองเงินสดในบัญชีธนาคาร พวกเขาจะได้อัตราดอกเบี้ยตอบแทนสูงขึ้นจากการถือเงินสด ฝั่งนี้เป็นผลกระทบในแง่บวก

ฝั่งที่ 2 คือ ผู้ประกอบการ พวกเขาจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยของเงินสดที่กู้มาดำเนินธุรกิจในอัตราที่สูงขึ้น ฝั่งนี้เป็นผลกระทบในแง่ลบ

เมื่อผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนด้านหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากรัฐบาล ผลประกอบการของเขาก็จะตกต่ำลง นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ชอบ และเกิดการเทขายหุ้นตามมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภาพรวมตกต่ำลงตามไปด้วย

สุดท้าย ผลกระทบก็วนกลับไปหาประชาชนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย

ประชาชนทั่วไปที่แบ่งเงินจากการทำงานของตนไปวางในตลาดหุ้น พวกเขาจะได้ผลตอบแทนน้อยลง หรืออาจจะขาดทุนจากการลงทุน เมื่อตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตกต่ำจากการขึ้นดอกเบี้ยของรัฐบาล

Ray Dalio บอกกับ CNBC Television ว่า ต่อให้ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเป็น 3% หรือ 4% ก็ยังเอาชนะเงินเฟ้อที่สูงถึง 8% ไม่ได้อยู่ดี

กล่าวคือ นอกจากขึ้นดอกเบี้ยก็ยังเอาชนะเงินเฟ้อไม่ได้แล้ว ภาคธุรกิจก็ย่ำแย่เพราะต้นทุนดอกเบี้ย ภาคประชาชนก็ย่ำแย่เพราะขาดทุนจากตลาดหุ้น และแย่ซ้ำไปอีกเพราะเงินสดในธนาคารก็เสื่อมค่า

ด้วยเหตุนี้ Ray Dalio ผู้มีภาระที่ต้องการบริหารเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของนักลงทุนในมือของเขา จึงมองเห็นว่า ทั้งเงินสด และ หุ้น ล้วนเป็นขยะทั้งสิ้นสำหรับเขา ณ เวลานี้

สภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ ควรลงทุนในอะไรดี

Ray Dalio ไม่ได้ปฏิเสธการลงทุนในธุรกิจโดยสิ้นเชิง แต่เขาเลือกปรับกลยุทธ์การลงทุนไปสู่การเสาะหาและลงทุนในธุรกิจที่เขาเรียกว่า ‘Real-Return Assets

ได้แก่ หุ้นในกิจการที่มีผลตอบแทนชัดเจน อันเกิดจากกิจการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน เช่น กิจการพลังงานที่มีรายได้จากการขายพลังงานที่คนต้องใช้ทุกวัน หรือ กิจการอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้จากค่าเช่าที่คนต้องจ่ายทุกเดือน เป็นต้น

ส่วนกิจการที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นว่ามันจะเติบโตอนาคต ธุรกิจไฮเทคต่าง ๆ และสินทรัพย์ประเภท ETF หรือ Exchange-Traded Fund ต่าง ๆ เป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่เขาขอหลีกเลียงไปก่อน

และนี่คือเหตุว่า ทำไม Ray Dalio นักบริหารการลงทุนที่มีประสบการณ์ในวงการมาทั้งชีวิต จึงกล่าวว่า เงินสดคือขยะ และหุ้นเป็นขยะยิ่งกว่า

คุณอาจสนใจ

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.businessinsider.in/stock-market/news/billionaire-investor-ray-dalio-says-cash-is-still-trash-but-stocks-are-even-worse-as-the-fed-struggles-with-inflation/articleshow/91773265.cms