6 คำถาม ถามใจตัวเองว่าพร้อมเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวหรือไม่

6-power-questions-start-business

ผมได้ยินคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะผ่านทางเว็บบอร์ด ผ่านทางวงสนทนา และผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คบอกว่าอยากเป็นนายตัวเองมาก โดยหนึ่งในเหตุผลที่พบบ่อย เบื่อเงินน้อย เบื่อกฎระเบียบ ฯลฯ ไม่แปลกครับ เพราะเหตุผลที่ผมลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวก็เพราะผมเบื่อ แต่ความเบื่อนั้นมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เพราะอยากเป็นนายตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงาน และมีเงินใช้เยอะๆ –

หลังจากผมทำงานประจำมาสิบปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมายทั้ง การจัดซื้อ การนำเข้า การบริหารทีม ฯลฯ แต่ผมพบว่าความก้าวหน้าและความท้าทายกลับชะลอตัวลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีแรกของการทำงาน ในขณะเดียวกัน ตลอดหลายปีที่ผมทำงานประจำ ผมทดลองขายของออนไลน์คู่กันไปซึ่งไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งช่วงปีที่ 7-8 ของการทำงานประจำ ผมเริ่มได้รับผลลัพธ์ในฝั่งงานส่วนตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือจุดที่ผมเริ่มเกิดการเปรียบเทียบ

ผลลัพธ์ที่ได้จากฝั่งของงานส่วนตัวนั่นคือการขายของออนไลน์ที่เริ่มเท่ากับและมากกว่าเงินเดือนด้วยเวลาทำงานที่น้อยกว่าทำให้ผมตีความว่าเรามีความสามารถมากกว่าที่คิด และหากเราเอาความสามารถและเวลาไปทุ่มให้กับงานส่วนตัว เราจะสร้างคุณค่าพร้อมกับทำเงินได้อย่างที่ควรจะได้รับ นั่นคือจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมควรจะหันมาทำธุรกิจส่วนตัวจริงๆ คีย์เวิร์ดคือ ‘คุณค่าที่เราสามารถสร้างให้กับตลาดและตัวเอง

แม้ช่วงที่สร้างฐานงานส่วนตัวระหว่างทำงานประจำจะดูมั่นคงดี แต่เมื่อออกมาลุยเต็มตัวแล้วพบว่าการทำธุรกิจเต็มเวลาไม่ได้ง่าย และผมเชื่อว่าหากใครสักคนจะก้าวออกมาทำธุรกิจส่วนตัวโดยอาศัยเพียงความ อยาก ได้แก่ ‘อยากรวย – อยากสบาย’ แล้วละก็ อาจจะไปได้ไม่ไกลแน่ๆ – คนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการต้องรู้จักตั้งคำถามกับตัวเอง การตั้งคำถามจะนำไปสู่การหาคำตอบที่อยู่ลึกในใจว่าคุณพร้อมหรือไม่สำหรับการเป็น ‘นายตัวเอง

ต่อไปนี้คือ 6 คำถาม ถามใจตัวเองว่าพร้อมเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวหรือไม่ (โดยไม่ได้นับเรื่องเงินทุน)

1. ทำไม? คุณจึงอยากทำธุรกิจ…

คือคำถามขั้นพื้นฐาน และคำตอบนั้นไม่ใช่เพราะอยากรวย! ธุรกิจใหม่ไม่ได้ทำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีภายในข้ามคืน คุณต้องลุยกับมันไปเป็นปีๆ กว่าจะถึงจุดที่คุณเข้าขั้น ‘สั่งเมนู ไม่ดูราคา’ ดังนั้นหากคุณอยากทำธุรกิจเพราะเอารายได้เป็นตัวตั้งอันดับแรก คุณมีโอกาสที่จะยอมแพ้ตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรก เพราะคุณรู้สึกว่าทำไปก็ไม่เห็นจะได้เงินมากมายอย่างที่คิด

ผมทำธุรกิจ Information business และวันที่ผมตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทำแนวนี้เพราะผมชอบการเผยแพร่ข้อมูลที่ตัวเองรู้ และผมเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้จะทำประโยชน์ให้คนได้มาก ผมมองเห็นภาพคนที่ได้ความรู้ไปพัฒนาชีวิตและมีความสุขจากการที่พ้นจากความไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ เมื่อภาพในใจที่จะทำธุรกิจ Information business นั้นชัด มันก็มีพลังที่จะขับเคลื่อนผมไปข้างหน้าแม้ในช่วงที่ยังไม่ทำเงินมากก็ตาม

มีบางช่วงที่ตลาดเงียบ ยอดขายตกต่ำ สินค้าขายไม่ได้ แต่ที่เราสามารถยืนหยัดอยู่ได้เพราะความเชื่อในธุรกิจเป็นกำลังสำคัญ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำอยู่จะแก้ปัญหาและสร้างคุณค่าให้ผู้อื่นได้จริงๆ ที่เหลือก็คือหาทางทำอย่างไรให้สินค้าเหมาะสมและเข้าถึงตลาดได้ — แล้วเหตุผลที่คุณอยากทำธุรกิจคืออะไร?

2. คุณรับมือกับความล้มเหลวได้หรือไม่?

ความล้มเหลวเป็นเรื่องเจ็บปวด และดูเหมือนสังคมจะไม่ได้ปลูกฝังทัศนคติของความล้มเหลวไว้ในแง่บวก – เมื่อก่อน ผมทดลองขายของออนไลน์ ซื้อของมาขายไม่ได้ก็ได้แต่คิดว่าตัวเองไม่มีบุญทางนี้ แถมยังถูกคนรอบข้างติเตียนว่าโง่เขลาไม่เอาถ่าน ทำอะไรก็เจ๊ง…

ความล้มเหลวไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่อย่างที่บอกว่าสังคมปลูกฝังความล้มเหลวไว้เป็นเรื่องต้องห้าม นักเรียนที่สอบที่โหล่คือคนโง่ คนตกงานคือขี้แพ้ คนทำธุรกิจเจ๊งคือไม่เก่ง แต่ในโลกของ ‘นายตัวเองที่แท้จริง’ ทุกอย่างคือการทดลอง และทุกการทดลองคือประสบการณ์

เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสุดๆ ในวันนี้ ผ่านความล้มเหลวมากมาย ผมเองก็เช่นกัน.. ผมลองทำธุรกิจออนไลน์มาหลายแนว 80% คือเจ๊ง 20% คือเวิร์ค แต่ที่เวิร์คนั้นพลิกสถานการณ์ทั้งหมดมาเป็นบวก แต่ความเข้าใจเรื่องนี้ในช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก หากคุณไม่เข้าใจธรรมชาติในข้อนี้ คุณจะโทษตัวเอง และคุณจะยิ่งหมดกำลังใจในวันที่ถูกทับถม – ความจริงที่โหดร้ายคือคนพร้อมจะทับถมคนทำตามฝันมากกว่าที่จะสนับสนุน และหนึ่งในนั้นอาจเป็นคนในครอบครัวคุณเสียด้วยซ้ำ

คำถามที่คุณต้องตอบตัวเองคือ จะก้าวมาเป็นนายตัวเอง คุณพร้อมรับมือกับความล้มเหลวหรือไม่? และเมื่อล้มเหลวแล้วยังคิดจะกลับไปเป็นนายตัวเองหรือไม่?

3. คุณทำเงินอย่างไร?

Passion สำคัญ และ Money ก็สำคัญ หลายคนอยากเติมเต็มความฝันด้วยการเปิดร้านกาแฟ หรือร้านดอกไม้เพื่อได้อยู่กับสิ่งที่รักทุกวัน แต่สิ่งๆ นั้นมันทำเงินต่อเนื่องและเติบโตได้หรือไม่ บางครั้งเราอาจแค่คิดว่า เป็นนายตัวเองกับกิจการเล็กๆ ที่ไม่ต้องขยับขยายก็ได้ แต่ชีวิตจริงไม่ได้สวยงามแบบนั้น หากคุณไม่แข่งขัน คู่แข่งจะผลักคุณออกไปจากตลาด – ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่รักนั้นต้องทำเงิน และต้องทำเงินได้มากด้วย

ผมชอบเล่าสิ่งที่รู้ ผมจึงเริ่มเขียนลงเว็บบอร์ดและเว็บบล็อก ตอนนั้นยังไม่มีรายได้เพราะผมอยู่ได้ด้วยเงินเดือน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ฐานผู้อ่านเริ่มเติบโต งานประจำก็ยุ่ง งานเขียนบล็อกก็ยุ่ง หากเขียนบล็อกที่เราชอบอย่างเดียว เราจะเอาอะไรกิน? –

แนวทางทำเงินจากบล็อกมีหลายวิธี ได้แก่ ลงโฆษณา ขายสินค้า Physical, ขายสินค้า Digital – ผมอยากขายสินค้าของตัวเอง อยากขายอะไรที่ไม่ต้องมีสต็อก จึงขายความรู้ (Infopreneur) ด้วยการแพ็กเกจความรู้เป็นหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ (อีบุ๊ค) ขายได้ แต่ไม่พอที่จะทำเป็นธุรกิจ ผมจึงขยายผลิตภัณฑ์ออกไปหลายๆ ไอเทม แต่คนเดียวก็มีขีดจำกัด สุดท้ายแนวทางที่จะ Scale ธุรกิจได้คือการให้ Infopreneur คนอื่นๆ มาร่วมทำสินค้ากับเรา แล้วใช้พลังของ Platform ที่เรามีในการขาย ปิดจ็อบ นี่คือธุรกิจที่เรารัก และขยายตัวได้

แล้วสิ่งที่คุณรักล่ะ… คุณจะทำเงินจากมันอย่างไร และที่สำคัญต้องขยายธุรกิจได้ทั่วประเทศ หรือทั่วโลก

4. ใครคือลูกค้าของคุณ?

สองข้อคิดธุรกิจที่ผมพกติดตัวเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ…
1. ถ้าคุณกำหนดให้ทุกคนคือลูกค้า จะไม่มีใครเป็นลูกค้าของคุณเลย – ข้อคิดที่สรุปใจความจาก Tim Ferriss
2. ขายใคร? – ประโยคสั้นๆ โดยตรงจากคุณต็อบ เถ้าแก่น้อย

คุณไม่สามารถให้คนทั้งโลกเป็นลูกค้าของคุณได้ และในขณะเดียวกันการที่คุณมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนสุดๆ เพียง 1 แสนคน จากคน 7 พันล้านคนก็เหลือเฝือในการทำเงินมหาศาลจากกลุ่มเป้าหมายนี้ – ปัญหาของนักธุรกิจใหม่คือ มีไอเดียสินค้าที่น่าสนใจ บางครั้งเกริ่นไปทางสื่อต่างๆ เพื่อถามความเห็นก็มีคนมาสนับสนุน แต่เมื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกมาจริงๆ กลับไม่มีใครซื้อ เหตุการณ์แบบนี้เกิดบ่อย และผมก็เคยประสบ ประสบการณ์นี้คล้ายหลักคิดของ สตีฟ จ็อบส์ ว่าด้วย “Customers don’t know what they want”

สำหรับผม การทำผลิตภัณฑ์ Information products สักชิ้น ผมเริ่มจากถามตัวเองก่อนว่านี่คือ “เนื้อหาที่ฉันอยากรู้ หรือ เคยอยากรู้หรือไม่” และ “ถ้าฉันรู้มันจะทำให้ชีวิตฉันดีขึ้นหรือไม่” สุดท้าย “ฉันยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลาในการเรียนรู้สิ่งนี้หรือไม่” — หากคำตอบคือ “ใช่” แล้วคนที่เป็นอย่างผมคนนี้นี่จะเป็นคนประมาณไหน แต่งตัวอย่างไร ทำอาชีพอะไร ฯลฯ เป็นต้น

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายยังสัมพันธ์ไปถึงการกำหนด ข้อความที่คุณจะสื่อสารไปยังว่าที่ลูกค้า การคัดกรองว่าใครที่ใช่และไม่ใช่ลูกค้าของคุณ รวมไปถึงการกำหนดคีย์เวิร์ดในโฆษณาอย่าง Facebook advert, และ Google Adword อีกด้วย!

แล้วคุณล่ะ… ถ้าคุณคิดว่าคุณกำลังมีไอเดียธุรกิจที่ใช่ แล้วหน้าตาลูกค้าของคุณเป็นอย่างไร?

5. คุณพร้อมจะทำงานหนักไปอีก 5 ปีหรือไม่?

ลืมเรื่อง Work Life Balance หรือ Slow Life ไปได้เลย — ถ้าคุณต้องการแบบนั้น ผมคิดว่ายังมีโอกาสหาได้มากกว่าในการทำงานประจำที่มีวันหยุดและชั่วโมงทำงานชัดเจน แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจใหม่ ธุรกิจที่กำลังเติบโต พวกเขาต้องทำงานหนัก บางคนกินนอนในสำนักงาน ทำงาน 7 วัน ไม่หยุดต่อเนื่องเป็นปีครับ

ผมมักแนะนำคนที่สนใจทำ Information business เสมอว่าคุณต้องจับเนื้อหาในสิ่งที่ รักและรู้ มาทำ Info-product เพราะว่าคุณจะต้องอยู่กับเนื้อหานั้นๆ เขียน พูด สอน ในเรื่องนั้นไปอีกหลายปี หากไม่รัก คุณจะเป็นทุกข์มาก และนอกจากนั้น การเริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงทำการตลาด สร้างฐานแฟนคลับ ฯลฯ เป็นงานต่อเนื่องที่เราต้องทำทุกวัน

ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อแรก… “ทำไมคุณจึงอยากทำธุรกิจ?” คุณสอบผ่านก้าวแรกหากคำตอบไม่ใช่เพราะ อยากรวยง่าย รวยเร็วโดยไม่ต้องทำงาน – คำถามถามใจตัวเองต่อมาคื เมื่อคุณจะก้าวมาทำธุรกิจ คุณพร้อมทำงานหนักไปอีก 5 ปีรวดหรือไม่?

6. คุณพร้อมจะเป็นเจ้าคนนายคนหรือไม่?

เจ้าคนนายคนที่เป็นตำแหน่งงานในราชการหรือบริษัทเอกชนคนละเรื่องการเจ้าคนนายคนในธุรกิจส่วนตัว – หากคุณอยากลาออกเพราะเบื่อคน เบื่อนาย การเป็นนายตัวเองคุณจะต้องเป็นทั้งหุ้นส่วนและหัวหน้าของผู้บริหารและพนักงานหลายชีวิตที่คุณไม่สามารถลาออกจากบริษัทตัวเองเพื่อหนีหน้าพวกเขา!

การทำธุรกิจ นอกจากการมีสินค้าและบริการที่ดี มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดในช่วงแรกและเติบโตต่อไปคือ ‘การบริหารคน’ คนคือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ขับเคลื่อนกิจการไปข้างหน้า และคุณในฐานะผู้นำต้องรู้จักพูด รู้จักใช้คนที่แตกต่างในความสามารถและอุปนิสัยให้พาบริษัทเดินหน้าไปได้

หากเมื่อครั้งคุณทำอาชีพส่วนตัวเสริมงานประจำ คุณทำคนเดียว วันหนึ่งที่คุณจะต้องมีทีมงานหลักสิบหลักร้อย คุณพร้อมที่จะเป็นผู้นำและจัดการกับเรื่องคนหรือไม่?

สรุป…

การตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเองก่อนเริ่มต้นทำความฝัน ไม่ได้มีไว้เพื่อจะทำให้คุณหมดกำลังใจ แต่เพื่อหาเหตุผลที่คุณจะเริ่มต้นอย่างมั่นคงและลดความเสี่ยงเมื่อออกเดินทางไปแล้ว – คำถามจะนำไปสู่การค้นคว้าข้อมูลที่จำเป็น และส่งต่อไปยังคำตอบเพื่อจะบอกคุณว่า สิ่งที่คุณเลือกเดินมันน่าจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค