ทำไมใครก็พูดแต่เรื่องออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์ หรือแม้แต่การใช้ Facebook ขายของออนไลน์ มากมายเต็มไปหมด
ความนิยมนี้ คือ การทำธุรกิจจริง ๆ หรือเปล่า คนที่อยากเริ่มธุรกิจทำไมต้องใช้ออนไลน์ทั้งนั้น ทำไมธุรกิจทุกวันนี้เน้น Online marketing จริงจังมากมาย หากอยากเริ่มต้นธุรกิจต้องทำอย่างไร เปิดเพจขึ้นมา โพสต์รูปสวย ๆ ทำ Content ให้กับเพจ แล้ว Boot Post ขายของ เท่านี้ เพียงพอหรือหรือยังสำหรับการเริ่มต้น
คำตอบ คือ ไม่พอ!
ยังมีเรื่องมากมายที่เป็นส่วนสำคัญในธุรกิจ ที่เรายังไม่รู้ และผมว่าบางคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเริ่มธุรกิจ แม้ว่าผมเองจะเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่กี่ปี ล้มลุก คลุกคลานมาตลอด จึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้คนที่อยากเริ่มธุรกิจได้อ่าน และทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ลึกขึ้น
จริง ๆ แล้ว Online marketing เป็นแค่เครื่องมือ “ขยาย” บางอย่างในธุรกิจของเรา เช่น
- ขยายการรับรู้ – ทำให้คนรู้จักคุณหรือสินค้าของคุณมากขึ้น
- ขยายความต้องการ – เพิ่มความอยากได้สินค้าของคุณให้เกิดขึ้น
- ขยายยอดขาย – เพิ่มยอดขายให้มากขึ้น
- ขยายธุรกิจ – ขยายสาขา ทำให้คนรู้จักมากขึ้น
ดูเหมือนจะเป็นเกือบทุกอย่า่งของธุรกิจเลยนะ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย
ธุรกิจมีอีกหลายเรื่อง ก่อนที่จะขยาย คุณต้องคิดทำธุรกิจ ทำอย่างไร ขายอะไร ขายให้ใคร ขายที่ไหน ขายเท่าไหร่ มีกลยุทธ์การตลาดและการขายอย่างไรบ้าง เป็นพื้นฐานมาก่อนที่จะใช้ Online แทรกเข้าไปในขั้นตอนต่าง ๆ ในธุรกิจของเรา
แนวคิดพื้นฐานของคนทำธุรกิจ
- ขายอะไร
- ขายให้ใคร
- ทำอย่างไร
- คุ้มไหมที่จะทำ
นี่คือ 4 อย่างที่คุณต้องรู้ และวางแผนก่อนที่จะเริ่มธุรกิจทั้งหมด
1. ขายอะไร
โมเดลธุรกิจโดยทั่วไปที่นิยมทำคือการขายสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้า
คำถามที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้คือ สินค้าของคุณทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นอย่างไรบ้าง เช่น คุณขายเครื่องปรับอากาศที่ทำให้อากาศเย็นสบายขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ไม่ต้องทนร้อน เหงื่อออก หงุดหงิด เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สินค้าของคุณต้องสนองต่อความต้องการของมนุษย์ ตามทฤษฎีของ มาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of need)
ตอบสนองตั้งแต่ความต้องการพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และยารักษาโรค ก้าวขึ้นไปตอบสนองความต้องการปลอดภัยและมั่นคง ได้รับการยอมรับ ความรักหรือการเป็นเจ้าของ การยอมรับนับถือ หากสินค้าของคุณสนองความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ที่เรียกว่า “คุณค่าของชีวิต” (ตามทฏษฎีของ มาสโลว์) ได้ สินค้าของคุณจะไม่มีเพดานเรื่องราคา
ไม่ว่าจะขายอะไรก็ตาม ก็ชี้ชัดลงไปว่า “คุณประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ” คืออะไร สินค้าแก้ปัญหา หรือช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น สะดวก สบายขึ้น อย่างไร? [แนวคิด การเลือกหาสินค้าราคาถูกมาขายต่ออ่านที่นี่]
2. ขายให้ใคร
หลายคนมักพลาดที่ผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วบอกว่า “ลูกค้าของเราคือทุกคน” ใคร ๆ ก็สามารถซื้อสินค้าเราไปใช้ได้ (คือประมาณว่าอยากขายให้ทุกคนนั่นแหละ มาซื้อสินค้าเราเถอะ!)
Tim Ferris นักธุรกิจระดับโลก และเจ้าของหนังสือขายดีตลาดกาล The 4 Hour Work Week บอกเอาไว้ว่า “หากคุณบอกว่าทุกคนคือลูกค้าของเรา คุณจะไม่ได้ลูกค้าซักรายเดียว”
เราไม่สามารถทำให้ทุกคนรักเราได้ บางคนเกลียดเรา บางคนเฉย ๆ บางคนเท่านั้นที่รักเรา และความรักเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยไม่ถูกบังคับ
ลูกค้าก็เช่นเดียวกัน…
เราไม่สามารถ หรือมีศักยภาพ เวลา หรือมีเงินทุนมากพอ ที่จะสร้างสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนทั้งหมดได้ ถึงแม้เราจะใส่ฟังก์ชั่น ความสามารถหรือจุดเด่นสินค้าเข้าไปมากมาย พวกเขาอาจบอกว่าไม่คุ้มที่จะใช้บางฟังก์ชั่นที่คุณพยายามสร้างมันขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนหลากหลายกลุ่ม
ดังนั้นสินค้าของคุณต้องชี้ชัดว่า “เหมาะกับใคร?” ไม่ใช้ “ดีที่สุด” เพราะคำว่าเหมาะสมเราสามารถโฟกัสที่จะสร้างมันขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง สำหรับบางคนเท่านั้น
2.1 ลูกค้าคือใคร
ชี้ชัดให้แน่ใจว่าลูกค้าเป็นใครกันแน่
- ชาย หรือ หญิง
- ช่วงอายุเท่าไหร่
- ทำงานหรือมีอาชีพอะไร
- อาศัยอยู่ที่ไหน
- มีความชอบหรือไลฟ์สไตล์แบบไหน
- อื่น ๆ
เพราะปัจจัยเหล่านี้ คือ ข้อมูลสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถสร้างสินค้าที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาจริง ๆ ไม่ใช่สร้างสินค้าที่มีฟังก์ชั่นหรือจุดเด่นมากมาย แต่ขายไม่ได้ เพราะใช้เวลามากเกินไป ใช้เงินทุนมากเกินไป ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนามากเกินไป
กำหนดให้ชัดเจน เช่น…
ลูกค้า คือ ผู้หญิง อายุ 25-45ปี ทำงานประจำหรือเจ้าของธุรกิจ เป็นคนรักสุขภาพชอบออกกำลังกาย อาศัยอยู่ย่านทองหล่อ ใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว สินค้าที่คุณขายคือ “สลัดผัก” โดยใช้แอปพลิเคชันมือถือสำหรับสั่งซื้อสลัดผักหลากเมนูที่มีบริการส่งถึงที่ ย่านทองหล่อ เป็นต้น
นี่คือตัวอย่าง “ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม” ที่ชัดเจนมาก และคุณอาจะสามารถกำหนดให้ลึกลงไปอีกได้
2.2 เข้าถึงลูกค้าอย่างไร
เมื่อคุณมีสินค้า กลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนแล้ว คุณจะทำอย่างไรให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของคุณได้
ไม่มีใครรู้จักคุณ สินค้าของคุณ และชัวร์แน่นอน ไม่มีใครซื้อสินค้าของคุณ
การเข้าถึงลูกค้ามีหลาหลายวิธี นั่นคือ กลยุทธ์การตลาด เพื่อให้คนรู้จัก อยากรู้ ติดตาม อยากซื้อ และกลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้
ตัวอย่าง เช่น
อยากให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิง อายุ 25-45 ย่านทองหล่อที่เป็นคนรักสุขภาพดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของคุณ ดังนั้นต้องทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เห็น และอยากซื้อ “สลัด” ที่คุณขาย
- ลงโฆษณาตามสถานที่สำคัญที่กลุ่มคนเหล่านี้ไปรวมตัวกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานออกกำลังกาย
- ซื้อโฆษณาป้ายริมทาง
- ติดต่อกับสถานออกกำลังเพื่อเป็นพันธมิตรกัน
- สร้างแฟนเพจ บน Facebook สร้างเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ ใช้ Facebook Ads แล้ว Taget กลุ่มลูกค้าตามเพศ ช่วงอายุ ความสนใจ และตำแหน่งที่ตั้ง (วิธีกำหนดเป้าหมายโฆษณาใน Facebook)
- มีหน้าร้านในย่านทองหล่อสำหรับคนที่อยู่ใกล้เคียงสามารถเข้ามาสั่งซื้อสลัดของคุณได้ง่าย ๆ
2.3 เก็บลูกค้าไว้อย่างไร
การเดินทางของลูกค้ากว่าจะเข้ามาซื้อที่ร้าน ผ่านเครื่องมือโฆษณาต่าง ๆ นั้น ใช้เวลาและงบประมาณพอสมควร เมื่อมีลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของคุณแล้ว เขาสั่งซื้อสลัดจากคุณไหม สั่งเมื่อไหร่ เป็นเงินเท่าไหร่ สั่งประจำ หรือสั่งแค่ครั้งเดียว แล้วคนที่เดินเข้ามาซื้อที่หน้าร้าน เคยสั่งผ่านแอปพลิเคชันไหม
แล้วคุณจะติดต่อ ส่งข่าวสาร และเก็บลูกค้าเหล่านี้ไว้อย่างไร?
ขั้นแรก เก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อติดต่อ
การเก็บลูกค้าเอาไว้ ทำให้คุณสามารถติดต่อลูกค้าเก่าได้ หากเปรียบต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่เท่ากับ 100% การทำให้ลูกค้าเก่าซื้อซ้ำมีต้นทุนเพียง 10% เท่านั้น
อ่านบทความ : “เข้าให้ถึงใจลูกค้า” 48 เคล็ดลับเพื่อปิดการขาย ไม่ต้องอาย งานขายได้เงิน!
ปัจจุบันช่องทางการติดต่อลูกค้าง่าย และเร็วกว่าอดีตมาก เมื่อก่อนเราอาจจะต้องขอชื่อ ที่อยู่ ลูกค้า เพื่อส่งจดหมายไปหา อาจใช้เวลานานถึง 7-14 วัน กว่าที่ลูกค้าจะได้รับข่าวสารนั้น ๆ แต่ตอนนี้เราสามารถติดต่อลูกค้าได้หลากหลายช่องทาง โดยใช้เครื่องมือบางอย่างที่มีอยู่ ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก เช่น
หากลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว
คุณสามารถส่งข้อความอัพเดทโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษ ไปที่มือถือของลูกค้าได้ทันที โดยเลือกส่งตามเวลา หรือพฤติกรรมบางที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปแล้ว เปิดแอปฯขึ้นมา คุณสามารถเสนอส่วนลดสำหรับการสั่งซื้อครั้งแรกเป็นจำนวน xxx บาท หรือ เมื่อลูกค้าดาวน์โหลดแอปฯ เปิดแอปฯ แต่ยังไมซื้อสินค้า ปิดแอปฯ และผ่านไป 3วัน ยังไม่เปิดแอปฯขึ้นมาเพื่อสั่งซื้อสินค้า คุณสามารถส่งข่าวสาร โปรโมชั่น เพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้ เป็นต้น
หากลูกค้าซื้อบ่อย เป็นประจำ
คุณสามารถเสนอขายสินค้าแบบสมาชิกที่มีราคาถูกลง แค่คุณภาพสินค้าและบริการยังเท่าเดิม หรือสามารถเพิ่มบริการบางอย่างเข้ามาจูงใจลูกค้า เช่น หากลูกค้ามารับสลัดที่หน้าร้าน หลังเลิกงานหรือก่อนไปทำงาน ลูกค้าจะได้ส่วนลดเป็นเงิน xxx บาท นอกจากจะช่วยให้คุณประหยัดต้นทุนในการขนส่งแล้ว ลูกค้ายังสะดวกในการไปรับสินค้าของคุณ ที่หน้าร้าน (นั่น หมายถึงร้านของคุณต้องอยู่ในทำเล ทีกลุ่มลูกค้าจะต้องผ่านทุกวัน เช่น ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น)
หากลูกค้าไม่ได้ดาวน์โหลดแอปฯ
แต่เข้ามาซื้อหน้าร้าน หรือการจูงใจให้ดาวน์โหลดฯ ไม่ได้ผล คุณสามารถเก็บลูกค้าไว้ด้วยการใช้เครื่องมือออนไลน์ อย่าง Facebook Fanpage ที่สามารถเข้าไปกด Like, Check in สถานที่, แชร์เพจ, เขียนความเห็นของลูกค้า เพื่อรับส่วนลดต่าง ๆ ในร้านค้าได้ หรือใช้ Line@ เมื่อเพิ่มเป็นเพื่อนจะได้รับส่วนลด เป็น แล้วค่อยใช้เครื่องมือเหล่านั้นส่งข่าวสารไปบอกเพื่อจูงใจให้โหลดแอปพลิเคชันอีกครั้ง
อ่านบทความ : เปลี่ยนจากแค่คนรู้จัก เป็นรักและบอกต่อ
3. ทำอย่างไร
กิจกรรมหลักที่ธุรกิจต้องทำคืออะไร
หากคุณต้องมีสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า ไม่ว่าโมเดลธุรกิจของคุณเป็นอย่างไร ขายอะไร ให้ใครก็ตาม นี่คือขั้นตอนการลงมือทำ สร้างสินค้าที่คุณจะขาย 1).สร้างสินค้าอย่างไร 2). ใช้อะไรบ้างเพื่อการสร้าง 3). ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานนี้
3.1 สร้างสินค้าอย่างไร
จากโมเดลตัวอย่าง ร้านสลัด ย่านทองหล่อ ที่จูงใจผู้หญิงรักสุขภาพ และใช้เทคโนโลยีเป็น ให้มาเป็นลูกค้า สินค้าแท้จริง ไม่ใช่ “แอปปลิเคชัน” แต่คือ “สลัดผัก” ต่างหาก ส่วนแอปฯเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาดและการขายบางส่วนเท่านั้น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “แอปพลิเคชัน” ไม่ใช่ส่วนสำคัญ เพราะมันคือหัวใจการเก็บลูกค้าเอาไว้ ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องสร้าง คือ
- สลัดผัก หลากเมนู คือ สินค้าที่จะขาย
- แอปพลิเคชัน คือ เครื่องการตลาด การขาย และการเก็บฐานข้อมูลลูกค้า
- หน้าร้านขายสลัด คือ เครื่องมือในการเข้าถึงลูกค้าอย่างหนึ่ง
ทั้งหมดแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่าย ต่อการจัดการ แบ่งงบประมาณ และกำลังไปในส่วนนั้น ๆ
3.2 ใช้อะไรในการสร้าง
คุณจะสร้างสินค้าหรือบริการของคุณอย่างไร มันต้องมีวัตถุดิบหรือส่วนประกอบอะไรบ้าง?
- สลัดผัด คือ อาหาร ที่ประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งผักสด และน้ำสลัด เครื่องมือในการเก็บรักษา ปรุง และภาชนะ บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สินค้าให้กับลูกค้า คุณจะซื้อหรือปลูกเอง
- ปลูกเอง มีความรู้แล้วใช่ไหม เคยปลูกมาก่อนแล้ว ต้องใช้อะไร ปลูกที่ไหน ขนส่งมาที่หน้าร้านยังไง?
- ซื้อมา หาซื้อได้ที่ไหน ซื้อจากใครบ้าง ห่างไกลแค่ไหน การขนส่งสะดวกไหม ทันเวลา วัตถุดิบเหล่านั้นไม่เสีย
- แอปพลิเคชัน คือ โปรแกรมที่จับต้องไม่ได้ ต้องมีฟังก์ชั่นความสามารถอะไรบ้าง หน้าตาเป็นอย่างไร ต้องใช้อะไรในสร้าง โค้ดโปรแกรม กราฟฟริก และเซิร์ฟเวอร์สำหรับแอปพลิเคชัน ?
- หน้าร้าน อยู่ที่ไหน ใช้ทำอะไรบ้าง มีคนอยู่หน้าร้านกี่คน มีเครื่องใช้ไม้สอยอะไรบ้าง ทำเองหรือจ้างผู้รับเหมา
3.3 ใครเป็นคนสร้างสินค้าให้คุณ
สินค้าต้องมีต้นทุนการผลิต เรื่องสำคัญก่อนนั้น คือ ‘ใคร’ จะเป็นคนผลิตสินค้านั้น ๆ ให้ คุณสร้างเองทั้งหมด หรือจ้างคนอื่นมาทำให้ จ้างประจำ หรือจบเป็นโปรเจคไป และที่สำคัญคนเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญและความสามารถที่จะทำงานให้เสร็จตามความต้องการ ทันเวลาไหม
หลักการ “ผ่อนแรง” ช่วยให้คุณไม่ต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด เพราะมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ แม้จะได้ เราก็มีเวลาไม่พอสำหรับงานบางอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจที่คุณต้องรีบผลักดันมันออกมาสู่ตลาดให้เร็วที่สุด มีฟังก์ชั่นที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขอแค่ใช้งานได้ เหมาะกับกลุ่มลูกค้า หลังจากนั้นค่อยมาปรับปรุงเพิ่มเติมว่า ต้องเพิ่มหรือลด อะไรในสินค้าทีถูกวางจำหน่ายไปแล้ว โดยฟังเสียงจากลูกค้าเป็นหลัก ตามหลักการที่อ้างอิงจากหนังสือ The Lean Startup โดย Eric Ries
ดังนั้น คุณต้องหาคนเก่ง และมีความเชียวชาญมาช่วย
- สลัดผัก วัตถุดิบปลูกเอง ใครปลูก คุณปลูกเอง หาช่วยมาช่วยปลูก จ้างเกษตรกรมืออาชีพปลูกให้ วัตถุดิบบางอย่างต้องซื้อ ไปซื้อที่ไหน กับใคร
- แอปพลิเคชัน ใครทำ ทำเองหรือจ้างทำ หากจ้างทำใครทำ บริษัทรับเขียนแอปพลิเคชันหรือฟรีแล้นซ์
- หน้าร้านขายสลัด จ้างผู้รับเหมาบริษัทอะไร เขามีความเชียวชาญจริงไหม ทำงานเสร็จทันเวลาไหม ตรวจสอบและเปรียบเทียบหลาย ๆ แห่งเพื่อความมั่นใจ
นั่นคือเรื่องสินค้า และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้สินค้าถูกขายออกให้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
4. คุ้มไหมที่จะทำ
เรื่องนี้ทำไมจึงเป็นเรื่องท้ายสุดที่ธุรกิจต้องคำนึงถึง
ก็เพราะว่า “เงินทุน” ไม่ใช่เรื่องแรกที่นักลงทุน หรือหุ้นส่วนที่คุณจะชวนมาทำธุรกิจสนใจ เพราะไอเดียตั้งแต่ข้อ 1-3 สำคัญกว่า แต่เงินทุนทำให้ไอเดียและกลยุทธ์นั้นเกิดขึ้นจริงได้
Bill Gross นักธุรกิจ และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของโลก ได้พูดเอาไว้ในงานสัมมนา TED เมื่อปี 2015 ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจที่เรียกตัวเองว่า Tech Startup ประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ใช่เงิน แต่เป็น “ช่วงเวลา” ที่สินค้านั้นเปิดตัวออกมาอย่างเหมาะเจาะ ถูกเวลาที่คนกำลังต้องการพอดี (อ่านบทความ: กูรูบอกเลย “Startups สำเร็จได้” ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างเดียว)
แต่เงินทุนคือปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับการทำธุรกิจ เพราะคำถามที่จะทำให้ไอเดียธุรกิจของคุณเกิดขึ้นจริง คือ “มันคุ่มไหมที่จะทำ”
และเราสามารถตอบคำถามนี้ได้ ด้วยการใช้สูตรคำนวณง่าย ๆ
ต้นทุน – ยอดขาย = กำไร
ถ้ากำไรมีตัวเลขที่เป็นบวก และมากพอ ที่จะนำไปลงทุนขยายธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคตได้ ก็ตอบได้คร่าว ๆ แล้วว่าธุรกิจนี้ “คุ้มที่จะทำ” แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องนำมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ให้ดีก่อนเริ่มต้นสร้างธุรกิจจริง ๆ ขึ้นมา
4.1 ต้นทุน ข้อ 1-3
ย้อนกลับไปดูทั้งหมดตั้งแต่ ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 ทั้งหมกมันต้องใช้เงินทุนทั้งหมดเท่าไหร่ หมายถึง
- เงินทุนที่จ่ายครั้งเดียวแล้วจบงาน เช่น ค่าทำร้านค้า เป็นต้น
- เงินทุน ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
- เงินทุนที่คาดว่าจะต้องจ่าย เช่น ค่าโฆษณาออนไลน์ และออฟไลน์ ค่าพัฒนาเว็บไซต์ เป็นต้น
รวมเป็นเงินเท่าไหร่ แยกรายการออกมาว่าแต่ละรายการต้องใช้อะไรบ้าง เท่าไหร่ มันจะทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว เรามีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อเริ่มธุรกิจเป็นเงินเท่าไหร่ และระหว่างที่ธุรกิจกำลังเติบโต แต่ยังไม่ทำกำไร คุณต้องมีเงินทุน หมุนเวียนเป็นเงินเท่าไหร่
4.2 รายได้จากธุรกิจ
แน่นอนที่สุด รายได้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับธุรกิจ หากธุรกิจคุณก่อตั้งขึ้นมาโดยที่ยังไม่มีโมเดลรายได้ นั่นหมายถึงคุณต้องเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก ถึงมากที่สุด เพื่อสร้างรายได้จากวิธีอื่น ที่ไม่ใช่ขายสินค้า เช่น Facebook ไม่ได้มีโมเดลรายได้มาตั้งแต่แรกที่ก่อตั้งขึ้นมาแต่มาคิดโมเดลรายได้ตอนหลัง โดยยึดความต้องการของผู้ใช้ชอบและบอกต่อเพื่อสร้างผู้ใช้รายใหม่ให้เพิ่มขึ้น และเก็บเงินค่าโฆษณาจากผู้ที่ต้องการขายสินค้าและเผยแพร่โฆษณาในเฟซบุ๊คแทนแต่นั้นต้องจูงใจให้ผู้ลงทุนเข้าใจ และให้เงินลงทุนมาสร้างธุรกิจ และหวังว่าอนาคตจะทำเงิน
โมเดลธุรกิจที่ยกตัวอย่าง คือ ร้านสลัด ที่ใช้แอปพลิเคชันมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสั่งซื้อสลัดได้ง่าย โดยมีบริการจัดส่งถึงบ้าน
ดังนั้นโมเดลการสร้างรายได้ มีมาตั้งแต่เริ่มต้น คือ “ขายสลัด”
ซึ่งเราสามารถขายได้หลากหลาย เช่น
- ขายสลัดเป็นกล่อง ๆ
- ขายเป็นชุด มีหลากหลายเมนู
- ขายแบบสมาชิก แบบจ่ายรายเดือน
เหล่านี้ สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณได้ และ ความคาดหวังยอดขาย คือ ข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจของคุณ “คุ้มไหมที่จะทำ” เพื่อนำโมเดลนี้เสนอต่อนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนชีวิต ครอบครัว นักลงทุนอิสระ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
สรุป
หากลองสังเกตดู จาก 4 ขั้นตอนแนวคิดสำหรับธุรกิจนี้ มีการใช้ Online เป็น “เครื่องมือ” ในบางขั้นตอนเท่านั้น ซึ่งช่วยให้ในขั้นตอนต่าง ๆ “ขยายใหญ่ขึ้น” และ “ขยายมากขึ้น” เท่านั้น ไม่ใช่ใจความหลัก ๆ ของธุรกิจด้วยซ้ำไป
ผมได้ชี้ให้เห็นถาพรวมของธุรกิจทั้งหมดแล้ว ว่าจะต้องมีอะไรบ้างเพื่อเริ่มธุรกิจ และยังไม่พูดเรื่องที่สำคัญ คือ “การบริหารธุรกิจให้อยู่รอด” เลยแม้แต่น้อย
เพราะการบริหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่มีหลากหลาย ซับซ้อน ซ้ำยังต้องใช้ความอดทนในการฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เข้ามาด้วย
วันนี้…ถ้าคุณเปิดเพจบน Facebook ถือว่าเป็นธุรกิจหรือยัง นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น “เพื่อหาเงิน” แต่ยัง ไม่เป็นธุรกิจอย่างเป็นระบบ
คุณอาจหาเงินได้เยอะ จากการใช้ Facebook เพื่อขายของ
แต่นั้น ไม่ใช่หัวใจการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบอย่างยั่งยืน
แต่หากวันนี้คุณมองภาพออก การใช้ออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ โดยใช้มันอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างที่มันควรจะเป็น การใช้แค่ Facebook หรือเว็บไซต์ ก็สามารถสร้างยอดขาย ที่เติบโตอย่างยั่งยืนให้คุณได้แน่นอน
อ่านบทความนี้ หากคุณใช้ Facebook เพื่อขายของ