14/12/62 The Standard รายงาน ที่ประชุม คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน หรือ เฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน ในช่วงปี 2561-2562 หรือ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2562 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
เว็บไซต์ The Standard รายงานต่อว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมิน 3 ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 โดยสรุปดังนี้
ต้นทุนของผู้ประกอบการ
ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าหากค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1.6% จะส่งผลให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 0.3% ในปี 2563 โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พึ่งพากลุ่ม แรงงานไร้ฝีมือ อย่างเข้มข้น หรือ Labor-intensive ได้แก่ เกษตรกรรม สิ่งทอ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น ฯลฯ จะได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัดที่สุด
โดยรายงานจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2560 เผยว่า สถานประกอบการที่มีการจ้างงานแบบ Labor-intensive มีสัดส่วนพนักงานแรงงานสูงถึง 82% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
ผลกระทบเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
การปรับตัวขึ้นของค่าจ้างมักส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2 กรณี ได้แก่ การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค และกำลังซื้อส่วนเพิ่มของผู้บริโภคจากรายได้ที่สูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้น 0.05% จากเหตุการณ์นี้
ผลกระทบเรื่องอัตรา GDP
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณ 0.01% ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาผู้ประกอบการ SMEs
ข้อมูลอ้างอิง
https: //thestandard.co/minimum-wage-2563/