ประวัติ Lei Jun แห่ง Xiaomi

สมรภูมิการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะล้ำหน้ามากขึ้นเรื่อยๆอย่างสมาร์ทโฟน ที่หลายค่ายยักษ์ใหญ่ต่างงัดเอาทีเด็ดมาสู้กันแบบหมัดต่อหมัดไม่มีใครยอมใคร แม้ว่าจะดุเดือดแค่ไหนแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับแบรนด์น้องใหม่อย่าง Xiaomi ที่กล้ากระโดดเข้ามาร่วมในศึกนี้ จนเป็นที่กล่าวขานในเรื่องของสมาร์ทโฟนราคาประหยัดและคุณภาพดี แม้แต่ Lei Jun ที่เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เขาทำอย่างไรจนมาได้ไกลถึงขนาดนี้

แรงบันดาลใจจากการอ่านกับเป้าหมายที่ชัดเจน

Lei Jun เกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1969 สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงชีวิตในวัยเด็กเขาเติบโตที่เมืองWuhanใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรม จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Wuhan University ในปี 1991ช่วงเวลาขณะเรียนที่มหาวิทยาลัย เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Steve Jobs จนเกิดแรงบันดาลใจและใฝ่ฝันว่าสักวันจะสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จเหมือนกับ Jobs ให้ได้
เส้นทางก้าวสู่บริษัทสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีน

ในปี 1992 หลังจากเรียนจบ เขาทำงานในฐานะวิศวกรของบริษัท Kingsoft Corp. ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์คล้ายกับ Microsoft ผลิตภัณฑ์มีทั้ง antivirus software, เกม และธุรกิจด้าน E-commerce ด้วยทักษะและความสามารถที่โดดเด่นทำให้เขาดำรงตำแหน่ง CEO ในปี 1998

ในปี 2000 ก่อตั้งเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ Joyo.com ใช้เวลาเพียง 4 ปีก็ได้รับความสนใจจาก Amazon.com และถูกซื้อกิจการไปในมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นนักลงทุนตัวยงในบริษัท Startupต่างๆ จนในปี 2007 เขาได้นำ Kingsoft ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งแรก ซึ่งเพิ่มทุนเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

Xiaomi Corp. ถือกำเนิดขึ้นในปี 2010 ร่วมกับพาร์ทเนอร์อีก 7 คน ด้วยเงินทุนสนับสนุนจาก Qualcomm และ Digital Sky Technologies นับเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่มีระบบปฏิบัติการที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเอง โดยมีพื้นฐานจากระบบ Android เรียกว่า MIUI (Mi User Interface) ในช่วงแรกมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเพียงปีละรุ่น เช่น Mi-1 ในปี 2011 และไม่มีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ชื่อว่าเป็นสมาร์ทโฟนสเปคสูง ราคาถูก

หลังจากเปิดตัวเพียงแค่ 5 ปี การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Xiaomi ทำให้เขาติดอันดับที่ 87 ของมหาเศรษฐีโลก ปี 2014 สามารถขายสมาร์ทโฟนได้ถึง 2.1 ล้านเครื่องภายในเวลาเพียงแค่ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับโทรศัพท์มือถือที่ขายบน Platformออนไลน์ได้มากที่สุด ใช้เวลาเพียง 7 ปี ในการสร้างยอดขาย 1แสนล้านหยวน ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอันดับ 5 ของโลกที่ผลิตมือถือมากที่สุด และเป็นอันดับ 4 ของโลกในด้านยอดขาย นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว Xiaomi ยังจำหน่าย Smart gadget และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆอีกด้วย

กุญแจแห่งความสำเร็จ

1. มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จอย่างแรงกล้า

การเปิดตัวสินค้าและการนำเสนอภาพลักษณ์ของ Lei Jun แม้จะเหมือนกับบุคคลที่เขายึดถือเป็นแบบอย่าง จนได้รับฉายาว่า Steve Jobs แห่งแดนมังกร นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เพราะความมุ่งมั่นที่อยากมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลก บวกกับความสามารถและประสบการณ์ที่สะสม จนช่วยผลักดันความฝันให้กลายเป็นจริงได้อย่างน่าทึ่ง

2. รู้จักตนเองเป็นอย่างดี ในขณะที่เรียนรู้จากคู่แข่งเช่นกัน

การที่ Lei Jun เลือกที่จะลงสนามแข่งในบ้านเกิดของตัวเองก่อน นั่นเป็นเพราะเขารู้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะจำนวนประชากรนับพันล้านคน และรู้ด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นแรงงาน หากไม่เจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศก็เท่ากับว่าเสียโอกาส ที่สำคัญคือสินค้าของ Xiaomi มีราคาที่เหมาะสมกับรายได้ และมีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับแบรนด์ชั้นนำ เมื่อเห็นแบบนี้แล้วมีหรือที่จะไม่ซื้อกัน จึงทำให้ยอดขายถล่มทลายอย่างที่เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั่นเอง

3. กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีย่อมส่งผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน

นอกจากการพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพสูง เน้นการทำราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งแล้ว การเลือกช่องทางออนไลน์สำหรับจัดจำหน่ายเป็นแนวคิดที่ดี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของการโฆษณาเป็นจำนวนมาก การที่ไม่เก็บสต็อกสินค้านาน เน้นขายออกเร็ว ไม่มีโกดังในการเก็บสินค้า และจ้างโรงงานผลิต เป็นการไม่แบกรับภาระต้นทุนและไม่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดแล้วจำหน่ายไม่หมดได้

4. รู้ว่าลูกค้าคือใคร และเจาะกลุ่มได้ตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเติบโตออกสู่ตลาดต่างประเทศ การมุ่งเน้นขยายตลาดไปยังประเทศที่มีความต้องการใกล้เคียงกับจีนอย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้นๆของโลก ไม่บุกตลาดที่มีเจ้าถิ่นถือครองอยู่อย่างในสหรัฐอเมริกา เพราะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของตนตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มใด เป็นการอ่านเกมที่เฉียบขาดและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ไกลในอนาคต

ข้อคิดที่คุณสามารถนำไปปรับใช้

วิสัยทัศน์ที่มีต่อธุรกิจย่อมนำไปสู่โอกาสได้เสมอ

สิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้บางทีอาจจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยและใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับการแข่งขันที่ดุเดือดในวงการธุรกิจ อยู่ก่อนไม่ได้การันตีว่าจะคงอยู่เสมอไป มาทีหลังไม่ได้หมายความว่าจะสู้ไม่ได้ การมีวิสัยทัศน์ที่ดีจะช่วยพาไปยังจุดหมายที่ดีในอนาคต ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และวางแผนก่อนที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

Lei Jun ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่มีความมุ่งมั่น ความกล้า และรู้ว่าตนเองต้องการอะไร สิ่งที่เขาทำแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการทำธุรกิจที่ถึงแม้ในตอนแรกจะเป็นเพียงผู้ท้าชิงหน้าใหม่ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามังกรตัวนี้มีความเก่งกาจ สามารถทะยานขึ้นสูงเสียดฟ้าได้อย่างน่าเกรงขามสมคำร่ำลือจริงๆ