ประวัติ Kevin Plank แบรนด์ชุดกีฬา Under Armour

Kevin Plank เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1972 ที่เมือง Kensington รัฐ Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 5 คน พ่อเป็นนักพัฒนาที่ดินชื่อดังได้เสียชีวิตลงเมื่อตอนเขาเป็นวัยรุ่น ทำให้แม่ต้องกลายมาเป็นเสาหลักของบ้านแทน เขาจึงต้องช่วยเหลือครอบครัวด้วยการทำงานหนักส่งเสียตัวเองเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ช่วงมัธยมปลายเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียนเนื่องจากปัญหาทะเลาะวิวาท รวมถึงการเมาแล้วขับ จนเกือบต้องเลิกเรียนกลางคันอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดได้ปรับปรุงตัวและด้วยพรสวรรค์ทางด้านกีฬา ทำให้เขาเข้าร่วมในทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย และเคยเป็นถึงกัปตันทีม

Kevin Plank จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก University of Maryland และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก Robert H. Smith School of Business

จากจุดเล็ก ๆ ของปัญหา เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล

แม้จะซ้อมกีฬาอย่างหนัก แต่ก็ยังมีความพยายามในการหางานพิเศษทำอยู่เสมอโดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์กับการเป็น Cupid’s Valentine ที่คอยส่งดอกไม้ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถหาเงินได้มากถึง 17,000 เหรียญสหรัฐฯ และได้กลายเป็นเงินทุนในการทำธุรกิจของเขาในเวลาต่อมา

จากการฝึกซ้อมกีฬาและต้องเจอกับปัญหาเสื้อที่เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อต้องคอยเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ รวมไปถึงการสังเกตเห็นว่าเพื่อนในทีมประสบกับปัญหาแบบเดียวกัน จึงกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาตัดสินใจที่จะทำเสื้อกีฬาขึ้นมาเองเพื่อจัดการกับปัญหานี้

เขาได้ทดลองหาผ้าที่มีคุณสมบัติช่วยระบายเหงื่อ แห้งเร็ว เนื้อผ้าเบาใส่สบาย จนค้นพบว่าเส้น Microfibers ตอบโจทย์ที่สุด เมื่อนำมาให้เพื่อนในทีมใส่ทุกคนต่างพอใจ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ

หลังจากเรียนจบเขาได้ก่อตั้งบริษัท Under Armour ตอนแรกที่เริ่มต้นกิจการจากห้องใต้ดินของย่า ต่อมาได้เช่าตึกแถวเพื่อเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้า

เสื้อกีฬา Under Armour รุ่น Heat Gear ตัวแรกถูกผลิตในปี 1996 ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นสบายในสภาพอากาศที่ร้อน ปีต่อมาได้ผลิตรุ่น Cold Gear ถูกออกแบบมาให้เข้ากับการสวมใส่ในสภาพอากาศหนาว

ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจเขาเคยถังแตกถึงขนาดไม่มีแม้เงินจ่ายค่าผ่านทางเพียงแค่ 2 เหรียญฯ และพยายามหาวิธีทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักภายใต้งบประมาณที่จำกัดที่สุด หนึ่งในการการตลาดที่เขาใช้ในช่วงแรกคือการส่งชุดกีฬาไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนเริ่มมีการสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากโฆษณาทางทีวี รวมถึงการปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1996 จนปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 20 ปีที่ Under Armour ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำตีตื้นขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจาก Nike ซึ่งนอกจากเสื้อกีฬาแล้ว ยังมีรองเท้ากีฬาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน รวมถึงเครื่องแต่งกายที่รองรับประเภทของกีฬาชนิดต่าง ๆ อีกด้วย

สรุปกุญแจความสำเร็จของ Kevin Plank แห่ง Under Armour

จงพุ่งชนกับปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา

เมื่อเจอกับปัญหาหลายคนมักเริ่มกังวล ยิ่งโฟกัสมากเท่าไหร่ทำให้จมอยู่กับปัญหาจนมองไม่เห็นทางแก้ไข วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้าและมองปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แม้ฟังดูยากแต่ดีกว่าเลี่ยงให้ผ่านพ้นไปเพราะนั่นอาจพาไปสู่จุดที่ยากจะแก้ไข

ยิ่งพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใกล้ความสำเร็จมากเท่านั้น

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างล้วนมีข้อแลกเปลี่ยน อยากสำเร็จต้องแลกกับการเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าเส้นทางที่เลือกจะเป็นอย่างไร หากใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและพยายาม ก็ไม่มีสิ่งใดที่ยากเกินเอื้อมอีกต่อไป ซึ่งผลที่ได้ย่อมคุ้มค่าและสวยงามเสมอ

มีจุดยืนที่ชัดเจน

ในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามขอให้มีจุดยืนที่ชัดเจน รู้ว่าวัตถุประสงค์ของสินค้าทำมาเพื่ออะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ไม่ไขว่เขวไปตามความคาดหวังของคนอื่น ปรับแต่งจนไม่เหลือคุณค่าที่มีในตอนต้น ท้ายที่สุดอาจต้องเจอกับความล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย

อย่าเฝ้าตำหนิสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

ข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หากอยู่ภายใต้การควบคุมย่อมแก้ไขได้ง่ายกว่าสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม สถานการณ์บางอย่างอาจนำไปสู่การปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นและลงมือแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด ถือเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป

Tips ที่นักธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเอง

ทุกปัญหาย่อมนำไปสู่โอกาสที่ดีเสมอ

การจมปลักอยู่กับปัญหาไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ แต่หากมอง ปัญหา คือ โอกาสและบททดสอบ มันอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญหากคุณเอาชนะมันได้ การมองเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น ตั้งคำถามกับสิ่งที่คนทั่วไปไม่คิดจะถาม อาจสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน

มองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กิจการและการเข้าถึงลูกค้า

เมื่อรากฐานธุรกิจเริ่มแข็งแรง สิ่งที่นักธุรกิจต้องเร่งทำทันทีคือการขยายกิจการ เพิ่มกลุ่มสินค้า หาตลาดใหม่ และขยายกิจการให้ไกลออกไป อย่าเฉยชินกับ Comfort zone ทางธุรกิจ จริงอยู่ที่การทำธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ แม้แต่การลองตลาดใหม่ ๆ ก็มีความเสี่ยง แต่สิ่งที่เสี่ยงยิ่งกว่าการลองทำอะไรใหม่ ๆ คือ การอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย เพราะปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก หากคุณหยุดอยู่เฉย ๆ คุณจะถอยหลังทันที