ขนาย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้า สหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลให้การส่งออกไทยปีนี้ ติดลบ 1.5-2% และสะท้อนไปยังการจ้างแรงงาน ที่เริ่มชะลอตัวลง เพราะภาคอุตสาหกรรม ทยอยลดกำลังการผลิตลง
สิ่งที่ต้องจับตามองคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปีหน้า ที่จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบประมาณ 524,000 คน ในเดือน เม.ย. 2563 อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ ส่งออก การผลิต การบริการค้าปลีกและค้าส่ง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัวลง โดยมีการลดการรับแรงงานใหม่ และมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ ทำให้การจ้างงานลดลง
“ผลกระทบที่เริ่มเห็นสัญญาณคือ การทยอยปิดโรงงานและการเลิกจ้างงาน เมื่อเดือน ก.ย. โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร ที่ปิดกิจการและบางโรงงานลดการจ้างแรงงานใหม่ และจากนี้ไปก็จะเห็นภาพการเลิกจ้างแรงงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงงานที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก อาทิ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร โดยสัญญาณการเลิกจ้าง จะเริ่มจากมาตรการขนาดเบา ไปจนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การไม่รับพนักงานคนใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง, การใช้หุ่นยนต์, การเลิกใช้บริการเอาต์ซอร์ซ ที่เกี่ยวกับแรงงาน, การลดค่าล่วงเวลา” – นาย ธนิต โสรัตน์ กล่าว
ปัจจุบัน แรงงานไทยมีประมาณ 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วย การส่งออก การลงทุน และการบริโภคซึ่งกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวโดยพร้อมกัน และมีเพียง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตในปี 2562 ประกอบการผู้ประกอบการที่กำลังหันมาสนใจการใช้เทคโนโลยีแทนคน ยิ่งกดดันการจ้างงานปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2563 เป็นต้นไป