ถอด 5 บทเรียนจาก Jeff Bezos : เกือบล้มละลาย สู่อีคอมเมิร์ซเบอร์ 1 ของโลก

เจฟ เบโซ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง แอมาซอน (Amazon) เว็บไซต์ ‘ออนไลน์มาร์เก็ตเพลส’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของฉายา ‘The everything store’ ปัจจุบันมีมูลค่ากิจการกว่า 900,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตัว เจฟ เบโซ แม้จะถือหุ้นเพียง 12% แต่นั่นก็ทำให้เขามี สินทรัพย์สุทธิสูงถึง 108,000 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ของโลก สลับกันไปมาระหว่าง บิล เกตส์ แห่ง ไมโครซอฟต์

วันนี้ หลายคนอาจเห็นภาพความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของ แอมาซอน และคาดเดากันว่า เจฟ เบโซ คือนักธุรกิจที่ เก่งเหนือคนธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจฟ เบซอส คือ คนธรรมดา ที่กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง และล้มเหลวมามากกว่าใคร และเคยล้มเหลวจนเกือบจะต้องเลิกกิจการมาแล้ว

ตัวอย่างความล้มเหลวของ เจฟ เบโซ

  • ขาดทุนย่อยยับกับผลิตภัณฑ์ FIRE Smartphone มูลค่าความเสียหาย 170 ล้านดอลลาร์
  • เจ๊งไม่เป็นท่ากับการลงทุนใน LivingSocial เว็บไซต์แนวเดลีดีล มูลค่าความเสียหาย 175 ล้านดอลลาร์
  • ลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์กับเว็บไซต์ Drugstore.com แล้วไม่เวิร์คจนต้องขายทิ้งในราคาขาดทุน

เจฟ เบซอส ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน และแต่ละครั้งก็เป็นเงินมหาศาล แต่เขายังมองในแง่บวกผ่าน จดหมายผู้ถือหุ้น ปี 2013 ว่า

“Failure comes part and parcel with invention […] It’s not optional. We believe in failing early and iterating until we get it right. Amazon is the best place in the world to fail.”

แปลว่า “ความล้มเหลวเป็นของคู่กันกับนวัตกรรม […] เราเชื่อในความกล้าทดลอง และการทำผิดพลาดแต่เนิ่น ๆ คือการเรียนรู้และลองใหม่จนสำเร็จ — แอมาซอน คือ สถานที่ที่ดีที่สุดที่คุณจะลองแล้วล้มได้”



ถอด 5 บทเรียนที่ได้จาก Jeff Bezos

1. Find your big goal : ตั้งเป้าหมายใหญ่แล้วค่อย ๆ ลงมือทำอย่างอดทน

บางสื่อเคยเล่ากันว่า ความปรารถนาสูงสุดของ เจฟ เบโซ คือ การเป็นนักประดิษฐ์ และ การเดินทางสู่อวกาศ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล และทางเลือกสู่จุดนั้นมีหลายทาง และเขาเลือกที่จะหาเงินผ่านการมีธุรกิจ โดยธุรกิจดังกล่าวต้องเป็น ธุรกิจระดับโลก พร้อมกับตั้งชื่อธุรกิจว่า แอมาซอน ตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติระดับโลก

แต่หลังจากคิดได้ก็ใช่ว่าจะเริ่มได้ทันที

เจฟ เบโซ ต้องเพียรสะสมประสบการณ์และเงินทุนผ่านการทำงานประจำอยู่เกือบสิบปี เริ่มตั้งแต่บริษัท New York City ต่อด้วยบริษัท Banker Trust และ D.E. Shaw & Co อันเป็นที่สุดท้ายที่เขาได้เงินเดือนสูงลิ่ว

เจฟ เบโซ ทำงานที่ บริษัท D.E. Shaw & Co ระหว่างปี 1990 – 1994 จึงตัดสินใจลาออกมาทำโครงการ แอมาซอน ด้วยเงินเก็บส่วนตัวจำนวน 10,000 ดอลลาร์ และเงินกู้อีก 84,000 ดอลลาร์ โดยออฟฟิศแรกของเขา คือ โรงรถหลังบ้าน!

คนรอบข้างอาจมองว่า เจฟ เบโซ บ้าไปแล้ว และเขาก็ไม่ถือสาว่าเป็นคำดูถูก เพราะเขาเองก็บอกกับสมาชิกในครอบครัวว่า โครงการ แอมาซอน มีโอกาสเจ๊งถึง 70% — แม้วันนี้ เขาก็ยังพูดเสมอว่า

“เมื่อถึงวันหนึ่ง แอมาซอน ก็ต้องล้มละลาย […] ไม่มีธุรกิจใดอยู่ค้ำฟ้า”

2. Stick With Your Plan : ยึดมั่นในแผนการอย่างเด็ดเดียว

แอมาซอน เปิดตัววันที่ 5 กรกฏาคม 1994 — แม้จะมียอดขายเข้ามาจำนวนมาก แต่บริษัทไม่มีกำไร โดยในปี 2002 บริษัทมีหนี้สินจำนวน 2.2 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่มีเงินสดในมือเพียง 738 ล้านดอลลาร์

แอมาซอน เผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งถูกบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายหนังสือพยายามล้มบริษัทด้วยการฟ้องร้องเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยกล่าวหาว่า แอมาซอน อ้างตัวเป็นร้านหนังสือโดยที่ไม่มีสต็อกหนังสือ ฯลฯ รวมไปถึงปัญหาการเงินจนเข้าสู่สภาวะเสี่ยงล้มละลาย การเผชิญกับวิกฤต Dot-com bubble ฟองสบู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตแตกสลาย

แอมาซอน ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทอยู่รอด อาทิ การหาแหล่งเงินทุนนอกประเทศ และการไล่คนออกถึง 14% เพื่อลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อให้บริษัทยืนระยะได้ไปจนถึงเป้าหมายใหญ่ที่เขามีในใจ

วันนี้ — ปี 2019 แอมาซอน จากบริษัทที่เกือบเจ๊ง สู่การมียอดขาย 279,000 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 57% และ 240% ตามลำดับเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว

นี่คือผลลัพธ์จากความ เชื่อมั่นในอนาคต และ การฟันฝ่าอุปสรรค ในวันที่ ‘เวลา จังหวะ และ โอกาส’ ยังมาไม่ถึงไปให้ได้

3. Focus On Delight, Not Disruption : ทิ้งคำว่า ‘ดิสรัปต์’ และเอาเวลาไปทำให้ลูกค้า ‘แฮปปี้’

ครั้งหนึ่ง ‘Disrupt’ กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่าง พร่ำเพรื่อ ในวงการสตาร์ทอัพ จน เจฟ เบซอส ได้ออกมาให้แง่คิดผ่านนิตยสาร University of Toronto’s Rotman Management ในปี 2016 ว่า

“Disruption is just a consequence of customers liking the ‘new way.’ The mindset we use, is, ‘How can we delight customers?’ We don’t seek to disrupt, we seek to delight. If you invent something completely new and radical and customers don’t care about it, it’s not disruptive.”

แปลว่า “Disrupt เป็นเพียงผลพลอยได้ของการที่ ลูกค้า ชอบ ‘รูปแบบหรือวิธีการบริโภคแบบใหม่’ จากคุณ เราจะไม่มัวหาวิธี Disrupt แต่เราจะมองหาวิธี Delight (ทำให้ถูกใจ) ลูกค้า ของเราเป็นหลัก เพราะสุดท้าย หากคุณคิดค้น นวัตกรรม เพื่อหวังจะ Disrupt ตลาด แต่ลูกค้าไม่เล่นด้วย… ก็เกมโอเวอร์”

ย้อนกลับไปตอนที่ แอมาซอน เปิดตัวใหม่ ๆ นักเคราะห์ต่างพากันไม่เชื่อว่า ผู้คนจะซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์ แต่ แอมาซอน ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ลูกค้าทั่วโลกกำลังรอที่จะซื้อหนังสือผ่านออนไลน์ เพียงแต่ไม่มีใครยอมสร้างระบบนี้ขึ้นมา เพราะมัวแต่ ‘ไม่เชื่อ’

ต่อมาในปี 2007 — แอมาซอน เปิดตัว Amazon Kindle E-book นักวิเคราะห์ก็ไม่เชื่อว่าคนจะอ่าน E-book แต่ในเวลาเพียง 3 ปี E-book ก็สร้างยอดขาย หนังสือเล่ม ในเว็บไซต์ แอมาซอน ที่เปิดขายมากว่า 14 ปี และตามมาด้วยการปิดกิจการของธุรกิจหนังสือเก่าแก่อย่าง Borders Group และการเร่งปรับตัวตามเกือบไม่ทันของ Barnes & Noble

4. Let Criticism Bounce Off : ไม่สนใจต่อคำดูถูก

การเป็นผู้ริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ต้องอดทนต่อคำวิจารณ์เป็นอย่างมาก โดย เจฟ เบซอส เคยเล่าผ่านสื่อ Harvard Business Review ปี 2013 ว่า :

“I know for sure that long-term orientation is essential for invention because you’re going to have a lot of failures along the way. […] Inventing and pioneering requires a willingness to be misunderstood for long periods of time. I think some of the things that we have undertaken could not be done in two to three years, like Kindle, Amazon Web Services and Amazon Prime.”

แปลว่า “การมองระยะยาวสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะคุณจะต้องทดลองและล้มเหลวเป็นจำนวนมากตลอดเส้นทางของคุณ รวมไปถึงการ ไม่ได้รับความเข้าใจ (ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่) เป็นเวลายาวนาน และ หลาย ๆ สิ่งที่เราทำไม่ได้ประสบความเร็จภายใน 2-3 ปี อาทิ Kindle, Amazon Web Services, และ Amazon Prime”

5. Be Bold : ต้องบ้าและกล้าสตรอง

อย่างที่เล่าไปว่าเกือบทุกโครงการที่ เจฟ เบซอส คิดและลงมือนั้นแทบไม่มีใครเข้าใจในตอนแรก และล้วนคิดว่าเขาเป็นคนบ้า ดังนั้นการจะประสบความสำเร็จ นอกจากวิสัยทัศน์ แผนธุรกิจ และความเข้าใจลูกค้าแล้ว ที่เหลือก็คือเรื่องของใจล้วน ๆ — หัวใจของคุณนั้น สตรอง เพียงพอที่จะต่อสู้บนเส้นทางนี้ด้วยตัวคนเดียวหรือไม่

สรุป

นี่ 5 บทเรียนจาก เจฟ เบโซ ที่สกัดมาได้ในวันนี้ คุณคงจะเห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำให้เขาก้าวจาก ธุรกิจที่เกือบล้มละลาย สู่ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระดับโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย และที่สำคัญไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขาเก่งเหนือคนธรรมดา เขาเคยทำผิดพลาด เขาต้องเรียนรู้ และเขาต้อง ‘กล้าหาญ และ อดทนเพื่อความสำเร็จ’



อ้างอิง

https: //www.investors.com/news/management/leaders-and-success/jeff-bezos-big-mistakes-made-rich/