ประวัติ Jan Koum แห่ง WhatsApp

มีชายคนหนึ่งเติบโตมาอย่างยากลำบาก เนื่องจากประเทศบ้านเกิดมีปัญหาทางการเมืองอย่างรุนแรง และเมื่อตัดสินใจหนีความลำบากอพยพไปสู่ประเทศอื่นเพื่อหวังจะพบกับชีวิตใหม่ แต่กลายเป็นว่าชีวิตในประเทศใหม่กลับยิ่งแร้นแค้นยิ่งกว่าประเทศบ้านเกิดเสียอีก จึงต้องพยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดโดยได้รับเพียงความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐเท่านั้น ซ้ำร้ายญาติคนเดียวที่เหลืออยู่ต้องมาด่วนจากไป ทิ้งให้ต้องเผชิญชีวิตอยู่เพียงลำพังในวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น

นี่คือชีวิตจริงของชายหนุ่มที่ชื่อ Jan Koum ผู้ให้กำเนิดแอพแชทยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกอย่าง WhatsApp โดยเขาต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไปพร้อม ๆกับพัฒนา WhatsApp ไปด้วย กระทั่งแอพนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และท้ายที่สุดก็ถูกขายไปด้วยมูลค่ามหาศาลถึงกว่า 19,000 ล้านเหรียญ ในบทความนี้เราจะพาไปย้อนดูจุดกำเนิดและเส้นทางความสำเร็จจากชายผู้ได้ชื่อว่าเปลี่ยนตนเองจากก้อนดินสู่ดวงดาว “Jan Koum” กันครับ

ต้นร้าย: ประเทศบ้านเกิดมีความวุ่นวายทำให้ชีวิตต้องยากจนแร้นแค้นอย่างที่สุด

Jan Koum เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1976 ในชนบทเล็ก ๆ ใกล้กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน พ่อของเขาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างส่วนแม่เป็นแม่บ้าน

ประเทศยูเครนในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง มีการปะท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีชีวิตที่ยากลำบาก นั่นทำให้ Jan Koumและแม่ตัดสินใจอพยพมาอยู่ที่เมืองเมาท์เทนวิว ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1992 แต่พ่อของเขาไม่ได้อพยพมาด้วย ในขณะนั้นเขามีอายุได้ 16 ปี

แม้จะย้ายมาที่อเมริกา แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างไร เขาและแม่ต้องพักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนท์ขนาด 2 ห้องนอนเล็ก ๆ ที่รัฐจัดหาให้และเพื่อความอยู่รอดเขาต้องดิ้นรนหางานทำในร้านขายของชำโดยทำหน้าที่เก็บกวาดร้านในขณะที่แม่ของเขาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

ภายหลังแม่ของเขาตรวจพบว่ากำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งจึงไม่สามารถออกไปทำงานได้ พวกเขาจึงต้องประทังชีวิตด้วยเบี้ยเลี้ยงซึ่งเป็นสวัสดิการของรัฐและต้องไปรับแจกแสตมป์อาหารที่แจกครอบครัวที่ยากจนมากเพื่อนำไปซื้อหาอาหาร หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งแม่ของเขาก็เสียชีวิตลงในปี 2000 ขณะที่พ่อเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1997

ปลายดี: ฝ่าฟันความยากลำบากจากความใฝ่รู้ของตนเอง

แม้เขาจะมีชีวิตที่ยากลำบากเพียงใดแต่เขาก็ยังคงขยันใฝ่หาความรู้ให้กับตนเองเสมอ โดยในวัย 18 ปี เขาศึกษาเรียนรู้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองจากหนังสือมือสองที่เขาซื้อมาจากร้าน

ในวัย 19 ปี เขาเข้าศึกษาที่ San Jose University และสมัครเข้าทำงานในช่วงกลางคืนกับบริษัท Ernst & Young ในตำแหน่ง Security Tester ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้รู้จักกับ “Brian Acton” ผู้ที่จะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทผู้แสนดีของเขา คอยช่วยเหลือเขาหลังการเสียชีวิตของแม่

ในปี 1997 เมื่อเขาอายุได้ 21 ปี Brian Acton ชักชวนให้เขาไปทำงานที่ Yahoo ด้วยกัน เขาจึงตัดสินใจเข้าทำงานที่ Yahoo ในตำแหน่ง Infrastructure Engineer หลังเข้าทำงานได้ 2 อาทิตย์ วันหนึ่งServer ตัวหนึ่งของ Yahoo เกิดมีปัญหา เขาจึงถูกตามตัวมาซ่อมอย่างเร่งด่วนในขณะที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในคลาส ต่อมาเขาจึงตัดสินในหยุดเรียนและเข้าทำงานเต็มเวลา หลังจากทำงานกับ Yahoo อยู่ 9 ปี เขาตัดสินใจลาออกในปี 2007

กำเนิด WhatsApp : แอพแชตที่โด่งดังที่สุดในโลก

ในปี 2009 เขาซื้อโทรศัพท์ไอโฟน ด้วยความช่างสังเกตเขาสังเกตเห็นการเติบโตของแอพพลิเคชั่นบนมือถือ นั่นทำให้เขารู้ในทันทีว่านับจากนี้แอพพลิเคชั่นบนมือถือจะยิ่งเติบโตและทำรายได้อย่างมหาศาลและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำแอพพลิเคชั่นที่จะแสดงสเตตัสด้านหลังเบอร์ในหน้าสมุดโทรศัพท์ และเขาสามารถเขียนโค้ดเหล่านี้ได้เขาจึงคุยกับ Alex Fisherman ผู้ซึ่งพาเขาไปรู้จักกับ Solomennikov นักพัฒนาแอพของไอโฟน

WhatsApp จึงถูกจดทะเบียนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2009 และถูกปล่อยครั้งให้ใช้ครั้งแรกในเดือน พฤษภาคมปีเดียวกัน แต่ก็ยังพบข้อผิดพลาดอยู่ เขาได้พวกเพื่อน ๆช่วยกันทดสอบและหาข้อผิดพลาด ในระหว่างนี้เขาปรึกษากับ Acton และระบายความท้อแท้ของเขาและก็เป็น Acton นี่เองที่เป็นกำลังใจให้เขาสู้ต่อ ในปีนั้น Apple ปล่อยฟีเจอร์ Push Notification ทำให้ WhatsApp ได้รับประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ จากความช่างสังเกตของเขา เขาพบว่าผู้ใช้บริการ WhatsApp จะใช้มันเสมือนเป็นแอพแชท เขาจึงรีบพัฒนาต่อทันทีและเมื่อ WhatsApp 2.0 ที่รองรับการแชทถูกปล่อยออกมา ปรากฏว่ามีผู้ใช้งานถล่มทลายถึง 250,000 คน เขาจึงชักชวนให้ Acton มาช่วยกันพัฒนา

WhatsApp มีข้อดีเหนือกว่า sms และ mms ในเวลานั้นตรงที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อความหากันที่ไหนก็ได้โดยผ่านอินเทอร์เน็ต และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม รวมทั้งใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก

หนึ่งในนโยบายหลักของ WhatsApp ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้งานคือไม่รับลงโฆษณา แต่นั้นก็ทำให้การระดมทุนค่อนข้างยาก และมีเพียง “Sequoia” ที่เสนอตัวเป็นที่ปรึกษาเพราะทึ่งในนโยบายนี้ ในท้ายที่สุดก็มอบทุนสนับสนุนให้ 8 ล้านเหรียญ

จากการเติบโตของผู้ใช้งานกว่า 450 ล้านคนทำให้ Mark Zuckerber เจ้าของ Facebook ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp ในราคา 1.9 หมื่นล้านเหรียญในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014

กุญแจแห่งความสำเร็จของ WhatsApp

1. ความช่างสังเกตเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองข้าม

จุดเริ่มต้นของธุรกิจที่พลิกโฉมโลกส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความช่างสังเกตทั้งสิ้น เพราะจุดเล็ก ๆ และช่องว่างที่คนทั่วไปมองไม่เห็นนี่แหละคือบ่อเงินบ่อทองที่รอให้คุณเข้าไปขุดมัน

2. Back to basic: อะไรที่ใช้ง่ายก็เป็นที่นิยม

สินค้าที่เลิศหรูอลังการแต่ใช้งานยากมันจะเป็นกระแสอยู่ไม่นาน ท้ายที่สุดแล้วลูกค้าจะพยามยามมองหาสิ่งที่ใช้งานง่ายและตอบโจทย์การใช้งานที่สุด เพราะนี่คือธรรมชาติที่ไม่ชอบความยุ่งยากของมนุษย์

3.ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

อุดมการณ์บางอย่างคือสิ่งที่ลูกค้าชอบและภักดีต่อสินค้าของเรา อย่าเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์เพื่อหวังเพิ่มผลกำไร เพราะคุณจะสูญเสียความเชื่อใจจากลูกค้าไปตลอดกาล เชื่อเถิดว่าสิ่งที่คุณได้มันไม่คุ้มค่าเสียเลย

แนวคิดที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจและชีวิต

1. จงใฝ่รู้ให้มากและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ความรู้และวิทยาการไม่เคยหยุดนิ่ง หมั่นแสวงหาความรู้และอัพเดตข้อมูลของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ ผู้ที่ไม่ยอมตามโลกนอกจากจะเป็นคนล้าหลัง คุณยังกัดเซาะทำลายธุรกิจของตนจากความไม่รู้

2. อย่ายอมแพ้ต่อปัญหามองว่ามันคือความท้ายทายในชีวิต

การเริ่มทำธุรกิจคุณก็ต้องยอมรับว่าปัญหาคือสิ่งที่คุณเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แทนที่จะมองว่ามันคือปัญหา ลองเปลี่ยนเป็นมองว่ามันคือความท้าทายดูสิ แล้วคุณจะจัดการรับมือมันได้อย่างสบาย

ความยากลำบากคือแรงผลักดันให้เราเดินหน้า จงเตรียมความพร้อมให้ตัวเองในทุกด้านเพื่อต่อสู้กับความลำบากนั้น อดทนฝ่าฟันให้ถึงที่สุดแล้วความสำเร็จจะตามมาเองดังเช่น Jan Koum เจ้าของ WhatsApp