ถ้าคุณคิดว่า iPhone X แพง เราขอแนะนำให้รู้จักมือถือยุค 80 กับความแพงที่แท้จริง

ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ ๆ มักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ถูกใจ ทั้งรูปลักษณ์การออกแบบ ทั้งสเปค และราคา ครั้งนี้ก็เช่นกัน ก็จะมีทั้งเสียงชื่นชม และก่นด่า และสิ่งที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ เรื่องของราคา ที่ iPhone X (หรือไอโฟนเท็น) เริ่มต้นที่ $999 และไปจบที่ $1149 ซึ่งตีเป็นเงินไทยตัวเลขกลม ๆ คือ 38,000 และ 43,000 บาท แต่คาดว่าในช่วงเปิดตัวและยังไม่มีของเข้าในไทยนี้ ราคาอาจจะโดดขึ้นไปถึง 50,000 บาทเลยทีเดียว เพราะมีเหล่าสาวก Apple จำนวนมากต้องการครอบครองก่อนใคร และยอมที่จะจ่ายได้ไม่อั้น

มือถือราคาครึ่งแสน!!

ทันทีที่เปิดราคาออกมาในงาน เสียงก็เงียบกริบทันที แม้แต่ฝรั่งเองก็ยังคิดว่า มือถือราคา 1,000 เหรียญสหรัฐนี้มันน่าจะแพงเกินไป แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร จะเปรียบเทียบด้วยสเปค หรือฟังก์ชัน แต่ iPhone ก็คือ iPhone โดนด่าว่าแพงทุกครั้งที่เปิดตัว แต่คนก็ยังแย่งกันซื้ออยู่ดี ซึ่งถ้าคุณกำลังคิดว่า ราคาเกือบครึ่งแสนของ iPhone X ในวันนี้ “แพง” เพราะเอาไปเทียบกับราคารถจักรยายนต์ หรือทีวี LED หรือราคาทองแล้วล่ะก็ วันนี้เราจะพาคุณย้อนกลับไปดูมือถือยุค ’80 และคุณจะเห็นว่า ความแพงที่แท้จริงเป็นอย่างไร

Say hello to the past.

DynaTAC 8000X
Image credit: DynaTAC 8000X

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ประมาณปี 1984 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกได้เปิดตัวขึ้นที่สหรัฐอเมิรกา ภายใต้แบรนด์ Motorola รุ่น DynaTAC 8000X ในราคา 3,995 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเทียบค่าเงินสมัยนั้น (25บาท/ดอลล่าร์) ก็จะมีมูลค่าประมาณ 99,875 บาท  สำหรับประเทศไทยนั้น เราเรียกโทรศัพท์รุ่นนี้ว่า รุ่น “กระดูกหมา” แต่ช้าก่อน Motorola ในตำนานรุ่นนี้ แม้จะเป็นมือถือรุ่นแรกของโลก แต่กลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรุ่นที่ 2

โดย TOT ที่เป็นเจ้าของคลื่น 470 Mhz ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือ Ericcson รุ่น Hotline 470Mhz ด้วยรูปลักษณ์กระเป๋าหิ้ว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่ารุ่นกระติกน้ำ ด้วยแบตเตอรี่ขนาดมหึมา และเสาอากาศยาวสูง แลดูเหมือนคุณต้องพกเอาโทรศัพท์บ้านที่ผูกติดกับแบเตอรี่รถยนต์ไปด้วย แต่อย่าเพิ่งขำกันไป เพราะราคาเปิดตัวของโทรศัทพ์รุ่นนี้คือ 120,000 บาท (อ่านว่า หนึ่งแสนสองหมื่นบาท) ซึ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกที่เปิดตัวในประเทศไทย และทำโฆษณาอย่างหนัก มีทั้งนักธุรกิจใส่สูทถือแทนกระเป๋าเจมส์บอนด์(กระเป๋าเอกสาร) และสามารถถือลุยเข้าป่าลุยน้ำลุยฝนได้

Hotline 470Mhz
Image credit: Hotline 470Mhz

ความแพงที่น่าสะพรึงของจริง

หากยังนึกไม่ออกว่า เงิน 120,000 บาท สมัยนั้น มีมูลค่ามากขนาดไหน ลองเทียบกับทองคำดู ในปี 1984 ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ บาทละ 4,500 บาท หมายความว่าคุณต้องขายทองถึง 26 บาท เพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ในขณะที่รถยนต์ Daihatsu Mira รถอีโค่คาร์ในตำนาน ราคา ณ ขณะนั้น คือ 175,000 บาท เรียกว่าเพิ่มอีกนิดเดียวก็ซื้อรถเก๋งเล็ก ๆ ได้คันนึงเลย

Daihatsu Mira 1984
Image credit: Daihatsu Mira 1984

และถ้าหากเทียบว่าต้องเอาทอง 26 บาท ไปแลกกับมือถือรุ่นนี้ ณ วันนี้ที่ราคาทองบาทละ 20,850 บาท จะเท่ากับว่าต้องใช้เงินถึง 542,000 บาท เลยทีเดียว (ซึ่งก็เทียบเท่ารถอีโค่คาร์ 1 คันพอดี)

ส่วน Motorola DynaTAC 8000X ที่เข้ามาทำตลาดในภายหลัง ก็ขายดิบขายดี เพราะราคาปรับลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 85,000 บาทเท่านั้น  (ก็ยังเทียบเท่าทองประมาณ 19 บาท) หลังจากนั้นก็เริ่มมีโทรศัพท์แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากขึ้นเรื่อย เช่น Nokia ทำให้การแข่งขันเริ่มสูงขึ้น แข่งกันเล็กแข่งกันบาง และในที่สุดก็แข่งกันถูก จนราคาเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้น โทรศัพท์มือถือในตำนานทั้ง 2 รุ่น ก็ยืนหยัดและมีผู้ใช้งานอยู่นานหลายปีเลยทีเดียว

ทำไมเสี่ยยุค ’80 ถึงใจกล้า ซื้อโทรศัพท์ราคาพอ ๆ กับรถยนต์ได้?

จากจุดนี้เราจะมาเริ่มวิเคราะห์กันถึงสินค้าที่เป็น Luxury Mass คือดูแพง หรูหรา ฟุ่มเฟือย แพงไม่มีเหตุผล แต่กลับ “ขายดี” ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น คนชั้นกลางอายุ 28-35 ปี เป็นคนรุ่นที่ต้องทำงานหนัก ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ คนเหล่านี้คือคน ยุค Baby Boomer คาบเกี่ยวกับ Gen X ที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า ต้องทำงานหนักเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ จึงเป็นเจนเนอเรชั่นที่มีความอดทนสูงมาก และหลายคนเมื่อประสบความสำเร็จถึงจุดหนึ่ง ก็ย่อมต้องการได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งสังคมของคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นวงไม่กว้างนัก เป็นสังคมในวงธุรกิจ วงแชร์ ประกอบกับ เทคโนโลยีสมัยนั้นก็ยังไม่เจริญนัก เงินจึงไม่ค่อยมีที่ให้ไป ถ้ารวยแล้วไม่ไปติดเที่ยวติดผู้หญิงหรือติดการพนันแล้ว เงินก็จะเหลือมาก คนเหล่านี้จึงชอบที่จะจับจ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหรา เสริมฐานะ สร้างบารมีให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ BMW ซึ่งซีรีย์ 3 ในยุคนั้นก็ราคา 9 แสนบาท (ลองเทียบกับทองคำดูเหมือนเดิม ว่าต้องใช้ทองกี่บาทไปซื้อแล้วตีกลับมาเป็นราคาทอง ณ ปัจจุบัน) เสี่ยในยุคนั้น ขับ BMW และ Benz กันเป็นว่าเล่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสามารถซื้อโทรศัพท์เครื่องละ 120,000 บาท ได้อย่างสบาย ๆ

โดยในความหมายของ Luxury Mass นั้น เป็นเหมือนหลักหมุดที่บอกว่า You are arrived คือคุณมาถึงที่นี่แล้ว ซึ่งคนยุค 80 ก็ชื่นชอบที่จะเช็คอินสถานะทางสังคมด้วยวิธีนี้ ในสมัยนี้เราอาจจะคิดว่าการทำแบบนี้คืออวดรวยหรือฟุ่มเฟือย แต่สำหรับคนในยุคนั้นคือการทำให้สังคมยอมรับ ว่านี่คือความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิต

ดังนั้น 120,000 บาท จึงไม่แพงเลยในขณะนั้น (ต้องบอกก่อนว่า ณ ปี 1984 ในประเทศไทยไม่มีผ่อน 0% 10 เดือนนะครับ ต้องใช้เงินสดเท่านั้น)

iPhone X
Image credit: iPhone X

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน ทำไมเราก็ยังรู้สึกว่า iPhone X แพงอยู่ดี? จริง ๆ แล้วแพงหรือถูกนั้นล้วนต้องมีตัวเปรียบเทียบ และทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพอใจและกำลังของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อสด หรือซื้อผ่อน แต่หากซื้อแล้วไม่ทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อน ก็สามารถซื้อได้ และสินค้าแนว Luxury Mass แบบนี้ก็จะยังคงขายดีต่อไป ไม่ว่าจะมีเสียงแซว เสียดสีอย่างไรก็ตาม เพราะที่สุดแล้ว ก็จะมีคนมากมายต้องการเช็คอินสถานะทางสังคมด้วยการซื้อสินค้าเหล่านี้เสมอ ๆ

เหมือนกับที่คุณป้าท่านหนึ่งได้กล่าวกับพนักงานในช็อปของกระเป๋าแบรนด์เนมแห่งหนึ่งว่า

“ถ้าคุณมีเงินมากพอที่จะซื้อ
โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแพงสำหรับคุณ”