วิธีเริ่มต้นเป็นนักแปลอิสระ หาเงินวันละพันบาท ทำงานจากโน้ตบุ๊คเครื่องเดียว

เหตุการณ์ ไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ระบาดทั่วโลกในปี 2020 ทำให้เกิดนโยบาย Work FROM home ในหลาย ๆ บริษัท ผู้คนต้องกักตัวและทำงานอยู่ที่บ้านชั่วคราว แต่จะทำอย่างไรหากบางคนถึงขั้นถูกเลิกจ้างไปเลย

หากคุณถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤตประเทศ หรือวิกฤตโลกทุกประเภทที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตเป็นวงกว้าง การหางานใหม่อาจเป็นเรื่องยากมาก และที่สำคัญ คือ ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนสถานการณ์จะกลับเป็นปกติ ทางออกชั่วคราวอาจเป็นการพึ่งพานโยบายเยียวยาของภาครัฐ

แต่ทางออกระยะยาวที่ CEO Channels จะเล่าให้ฟัง คือ การดิสรัปท์ตัวเองไปเป็น Work AT home แบบถาวร โดยการผันตัวเองเป็น คนทำงานอิสระ หรือ Freelancer (ฟรีแลนเซอร์) โดยบทความนี้จะขอเริ่มจากการแนะนำกลุ่มคนที่มี ทักษะภาษาอังกฤษ กับอาชีพ นักแปลอิสระ เป็นลำดับแรก

นักแปลอิสระ รายได้เท่าไร

เว็บไซต์ American Translators Association เผยข้อมูลค่าเฉลี่ยรายได้ของ นักแปลอิสระเต็มเวลา มีรายได้เฉลี่ย 52,323 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 1.56 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ นักแปลอิสระพาร์ทไทม์ มีรายได้เฉลี่ย 17,746 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 532,380 บาทต่อปี

หรือหากหารเป็นรายได้จะเท่ากับ 130,000 บาท และ 44,000 บาท ต่อเดือนตามลำดับ หรือประมาณ 1,400 บาท ต่อวัน เป็นอย่างน้อย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่ผู้เขียนบทความนี้เคยทำได้สมัยทำงานแปลอิสระแบบพาร์ทไทม์

คู่ภาษาอังกฤษ-ไทย ราคาเท่าไร

อัตราค่าแปลเอกสารมีวิธีคิดหลายแบบ โดยแบบที่นิยมมากที่สุด คือ ‘Per-source-word’ หรือคิดจากจำนวนคำในภาษาต้นฉบับ กรณีที่เราแปลภาษา อังกฤษเป็นไทย ภาษาต้นฉบับ คือ ภาษาอังกฤษ เพราะจำนวนคำจะสามารถคำนวณผ่านฟังชันในโปรแกรม Microsoft Word หรือ Google Doc. ได้ทันที ทั้งลูกค้าและนักแปลก็จะรู้มูลค่าของงานชิ้นนั้น ๆ ทันทีเช่นกัน

สำหรับอัตราค่าแปลคู่ภาษา อังกฤษเป็นไทย อ้างอิงจากเว็บไซต์ Proz.com จะอยู่ระหว่าง ‘0.07 – 0.10 ดอลล่าร์ต่อคำ’ อย่างไรก็ดี นี่เป็นอัตราค่าแปลสำหรับนักแปลที่มีประสบการณ์สูงแล้ว แต่สลับนักแปลทั่วไปอาจอยู่ที่ 0.05 – 0.07 ดอลล่าร์ และโดยเฉพาะถ้าคุณเป็นนักแปลหน้าใหม่ที่เพิ่มเริ่มต้น และยังไม่มีพอร์ตโฟลิโอผลงาน ลูกค้าอาจไม่รับราคาเหล่านี้จากคุณเลย ดังนั้นคุณอาจเริ่มด้วยราคาที่ถูกกว่า ได้แก่ 0.04 – 0.05 ดอลล่าร์ต่อคำ เพื่อสะสมพอร์ตสัก 4 – 6 เดือนก่อนปรับราคาขึ้นไป



นักแปลอิสระแบบเต็มเวลา คาดหวังรายได้เท่าไรดี

สมมุติฐานว่าคุณตั้งราคาให้ตัวเองกลาง ๆ ที่ 0.05 ดอลล่าร์ หรือ 1.50 บาทต่อคำ โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญในหัวข้องานแปลนั้น ๆ จะสามารถแปลอย่างมีคุณภาพสูงสุดที่ประมาณ 2,000 – 3,000 คำต่อวัน หรือเท่ากับรายได้ 3,000 – 4,500 บาทต่อวัน

และในทางปฏิบัติ คู่งานภาษาอังกฤษเป็นไทย ไม่ใช่คู่ภาษาที่มีปริมาณงานมากขนาดนั้นทุกวันตลอดทั้งปี ดังนั้นคุณจึงอาจคาดหวังรายได้ เฉลี่ย 40,000 – 80,000 ต่อเดือน เป็นอย่างน้อยสำหรับปีแรกในกรณีที่ทำเป็นอาชีพหลัก และขอแนะนำให้หารายได้ทางอื่น หรือแบ่งเงินออมจากงานไปลงทุนในหลักทรัพย์

นักแปลอิสระ ต้องมีวุฒิบัตรหรือไม่

นักแปลอิสระต้องจบอะไร? ตอบแบบเร็ว ๆ คือ คุณไม่จำเป็นต้องจบอะไรเลย ขอเพียงมีทักษะสองภาษาอย่างลึกซึ้ง เพื่อนฝูงที่รู้จักคุณดีพอก็จะกล้าจ้างคุณ แต่ในความเป็นจริง คุณคงไม่ได้รับงานจากเพื่อนใช่หรือไม่

นั่นก็เพราะงานแปลส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าที่เป็นบริษัท Translation agency ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาจะดูคุณวุฒิของคุณประกอบด้วย

แต่ข่าวดีก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องจบตรงสายงาน และไม่ต้องมีใบรับรองนักแปล เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ร้องขอเอกสารเหล่านั้นเช่นกัน

วุฒิปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ก็เพียงพอต่อการทำงานในช่วงแรก วุฒิบัตรเหล่านั้นเป็นเพียงข้อมูลประกอบเอกสารนำเสนอบริการ (Service offer letter) และเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดี และหากคุณคิดเอาจริงกับเส้นทางอาชีพนี้ คุณค่อยไปสอบเอาคุณวุฒิด้านนักแปลอีกทีก็ได้

นักแปลอิสระ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

ผู้ที่จะประกอบอาชีพ ‘นักแปลอิสระ’ ไม่ว่าชั่วคราวเพื่อเป็นรายได้เสริม หรือถาวรเพื่อเป็นรายได้หลัก จะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างสุดความสามารถทุกกรณี ขอจงอย่าลืมว่าผู้ว่าจ้างล้วนเป็นคนที่ทำธุรกิจจริง ๆ ชิ้นงานแปลจากคุณอาจถูกนำไปใช้ประกอบโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าหลายแสนและหลายล้านบาทในอนาคต และต่อไปนี้ คือ 3 คุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องมีติดตัวก่อนเริ่มต้น

1. ทักษะภาษา

ทักษะภาษาในที่นี้หมายถึงทั้งสองฝั่ง ได้แก่ Source (ต้นฉบับ) และ Target (ปลายทาง) ถ้าคุณรับแปลคู่ภาษาอังกฤษเป็นไทย คุณจะต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งสองอันรวมไปถึงภาษาไทยด้วย ได้แก่ มีความเข้าใจหลักภาษาไทย การใช้งาน และตัวสะกดอย่างลึกซึ้ง หรือพร้อมจะตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนส่งงาน

ส่วนภาษา Source ก็ต้องมีความเชียวชาญในระดับดีมาก อาทิ คุณอาจเคยศึกษาหรือทำงานในประเภท Source language เป็นเวลา 3 – 5 ปี หรือมีการสนทนาภาษา Source ตั้งแต่เด็กจนโต หรือศึกษาภาษาดังกล่าวโดยตรงอย่างลึกซึ้ง

ในกรณีที่คิดว่าตนเอง ‘พอสื่อสารได้’ หรือ มีความเชี่ยวชาญกลาง ๆ กรณีนี้อาจยังไม่เหมาะที่จะทำอาชีพนักแปล — ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะให้คุณทำแบบทดสอบก่อนตัดสินใจจ้าง

2. ทักษะะสื่อสารธุรกิจ

ฟรีแลนเซอร์ คือ นายตัวเอง และในโลกของนายตัวเองไม่มีคำว่า ฝึกงาน สอนงาน หรือทดลองงาน งานแรกที่คุณได้รับ คือ การลงสนามจริง ดังนั้นจงวางตัวเสมือนคุณเป็นบริษัทหนึ่ง ๆ ที่กำลังเสนอสินค้าและบริการเฉพาะทางแก่ลูกค้า

จงเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างมืออาชีพ และเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ติดต่อเกิดความรู้สึกมั่นใจว่าเขากำลังทำธุรกิจกับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ตัวจริง (Specialist)

3. ทักษะบริหารจัดการเวลา

ความท้าทายในการทำงานที่บ้าน คือ การบริหารจัดการระหว่าง เวลาส่วนตัว และ เวลาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณอยู่คนละซีกโลก และต่อไปนี้คือ 2 คำแนะนำในการเริ่มต้นอาชีพอิสระแบบทำงานที่บ้าน ได้แก่ 1) วางแผนเวลาทำงาน และ 2) จัดสภาพแวดล้อมห้องใหม่

3.1) วางแผนเวลาทำงาน

ลูกค้าของนักแปลอิสระส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ อาทิ ยุโรป และ อเมริกา โดยมีเวลาห่างกันระหว่าง 6 – 12 ชั่วโมง หรือคิดง่าย ๆ ‘คุณตื่นเขาหลับ คุณหลับเขาตื่น’ นักแปลอิสระที่อยู่กับบ้านตลอดเวลาจึงต้องจัดตารางเวลาชีวิตให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง เวลาส่วนตัวระหว่าง 0900 – 1500 และ เวลาทำงานระหว่าง 1500 – 2400 เป็นต้น

การกำหนดเวลาที่ชัดเจนนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อการสื่อสารกับลูกค้าต่างประเทศอย่างมีประสิทธภาพ แต่ยังช่วยไม่ให้เกิดการสับสนระหว่างเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน ซึ่งผลลัพธ์ของความสับสนมี 2 แบบ ได้แก่ 1) ขี้เกียจจนงานไม่เดิน หรือ 2) ทำงานมากเกินไปจนเบิร์นเอาต์

3.2) จัดสภาพแวดล้อมห้องใหม่

บางคนทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าเมื่ออยู่สำนักงาน ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพราะที่ทำงาน ‘ไม่มีเตียง’ แต่เมื่อคุณเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานจากที่บ้าน บ้านของคุณไม่ได้ถูกสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับทำงานมาตั้งแต่แรก และสมองของคุณก็ยังจดจำว่ามันคือที่พักผ่อน คุณจึงรู้สึกอยากล้มตัวลงนอนเมื่ออยู่บ้านเป็นธรรมดา แต่ปัญหานี้แก้ไม่ยาก แค่อาศัยการปรับตัวนิดหน่อย

วิธีปรับตัว คือ ปรับสภาพแวดล้อมของบ้าน หรือคอนโดของคุณเสียใหม่ สร้างมุมทำงานเล็ก ๆ ของคุณขึ้นมาสักมุมอย่างเป็นกิจลักษณะ และให้ห่างจากที่นอน หากคุณอยู่คอนโดที่มีขนาดห้องไม่ใหญ่มาก อาจหาฉากกั้น หรือคอนโดสมัยใหม่ที่มีกระจกกั้นระหว่างห้องรับแขกและห้องนอน ให้ทำม่านกั้นห้องนอนของคุณเสีย

อยากหางานแปลอิสระ เริ่มต้นอย่างไร

1. แหล่งหางาน

สำหรับคนที่มีทักษะภาษาในระดับดีมากและอยากทำเป็นอาชีพจริง ๆ ขอแนะนำให้ติดต่อหางานโดยตรงจากต่างประเทศ เพราะคุณมีโอกาสจะได้อัตราค่าจ้างที่สูงกว่าในไทย ดั่งที่หลายคนอาจเคยเห็นเว็บประกาศรับจ้างแปลราคาถูก หน้าละ 100 – 300 บาท ซึ่งเหล่านี้เป็นอัตราที่อาจแปลโดยนักศึกษาหารายได้เสริม แต่อัตราค่าแปลอย่างเป็นสากลนั้นอาจเริ่มต้นเฉลี่ย หน้าละ 500 – 700 บาท เป็นอย่างน้อย

ในต่างประเทศมีแหล่งหางานแปลอิสระที่แสนอุดมสมบูณ์ ได้แก่:

เว็บศูนย์รวมประกาศงานแปลโดยเฉพาะ – เป็นออนไลน์คอมมิวนิตี้สำหรับ นักแปลอิสระ และ เอเจนซี่ ใช้สร้างโปรไฟล์ ฝากประวัติ และนำเสนอผลงาน รวมไปถึงการโพสต์ประกาศงานจากผู้ว่าจ้าง เพื่อให้นักแปลเข้ามาประมูลงานไปทำ โดยขอแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ทั้งสามนี้เพื่อจะได้มีสิทธิประมูลงาน รวมไปถึงตั้งและตอบกระทู้พูดคุยการทำงานชุมชนเหล่านี้ได้

Proz.com
Translatorsbase.com
Translatorscafe.com

เว็บศูนย์รวมงานฟรีแลนซ์สารพัดชนิด – เป็นออนไลน์คอมมิวนิตี้สำหรับสร้างโปรไฟล์ ฝากประวัติ และนำเสนอผลงาน รวมไปถึงการโพสต์ประกาศงานจากผู้ว่าจ้าง เพื่อให้ฟรีแลนเซอร์เข้ามาประมูลงานไปงานทำ มีหลายสาขาอาชีพอยู่ภายในรวมถึงอาชีพนักแปล

Fiverr.com
Peopleperhour.com
UpWork.com

เว็บ คราวด์ซอร์สซิง สำหรับนักแปล – เป็นแอปพลิเคชันแจกจ่ายงานอัตโนมัติสำหรับงานแปล โดยผู้รับจ้างต้องยื่นสมัคร สร้างโปรไฟล์ ปฏิบัติตามเงื่อนไขรวมไปถึงทำแบบทดสอบเพื่อสามารถเข้าเป็นสมาชิกในระบบ เมื่อมีคนคีย์งานลงในระบบ ระบบจะจ่ายงานให้กลุ่มคนที่เหมาะสมที่สุด ใครเห็นงานก่อนกดรับงานไปทำก่อนได้ เป็นระบบ ‘First come first serve’

Gengo.com 
Onehourtranslation.com

เว็บ คราวด์ซอร์สซิง สำหรับนักเขียน – เป็นแอปพลิเคชันแจกจ่ายงานอัตโนมัติสำหรับงานเขียน และเป็นระบบ ‘First come first serve’ ใช้หลักการเดียวกับด้านบน แต่เป็นงานเขียน และเน้นเขียนบทความภาษาอังกฤษ

iWriter.com
Textbroker.com

2. ลูกค้าของคุณคือใคร

ลูกค้าของนักแปลอิสระมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ไดเรค แปลว่า แบรนด์ติดต่อมาหานักแปลโดยตรงซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย และ 2) เอเจนซี (Translation agency) โดยงานแปลกว่า 90% จะมาจากกลุ่มที่สอง ฃ

สาเหตุก็เพราะแบรนด์ส่วนใหญ่ไม่ได้แปลเพียงคู่ภาษาเดียว แต่มักทำเป็นโครงการใหญ่ อาทิ แปล 10 คู่ภาษา สำหรับคู่มือการใช้เครื่องไฟฟ้า ที่ต้องมีการนำ ‘งานแปลดิบ’ ไปเข้างานพิมพ์ขั้นสูงต่อไป ภาษาอังกฤษเรียกว่า Desktop publishing ซึ่งนักแปลอิสระตัวคนเดียวไม่สามารถทำได้ แบรนด์จึงต้องจ้างงานผ่านเอเจนซีเพื่อการทำงานแบบ วันสต็อปเซอร์วิส

3. วิธีหาลูกค้า

คุณสามารถหาลูกค้าอย่างง่ายที่สุดได้โดยการเข้าไปหางานและประมูลงานผ่านเว็บไซต์ Proz.com, Translatorsbase.com และ Translatorscafe.com — แต่ข้อเสียของการหาลูกค้าด้วยวิธีนี้ คือ แข่งขันเรื่องราคามากเกินไป และ จำนวนงานสำหรับคู่ภาษาไทยมีน้อยเกินไป

ส่วนปริมาณงานที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพส่วนใหญ่จะมาจาก Translation agency ที่ติดต่อกับคุณโดยตรงจนกลายเป็นลูกค้าประจำ และการจะได้มาซึ่งลูกค้าคนแรก คือ คุณต้องติดต่อไปนำเสนอบริการ หรือการทำ Service offer letter ดังต่อไปนี้

1. ไปที่ Proz.com (หรือเว็บไซต์อื่น ๆ ที่เกียวข้อง) และ หาเมนูที่สื่อให้รู้ว่าเป็น Agency directory

 

2. เลือกบริษัทที่รับแปลภาษาไทย แต่ถ้าเว็บไหนไม่มีฟังชั่นก็ไม่ต้องซีเรียส

 

3. ก็อปปี้ชื่อบริษัทไปวางใน Google เพื่อหา URL ของเว็บไซต์

 

4. นำลิงค์เว็บไซต์, ชื่อบริษัท, ชื่อผู้ติดต่อ (ถ้ามีระบุในเว็บไซต์), และอีเมล์ ไปบันทึกลงตาราง MS Excel ทำแบบนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิ ตั้งเป้า 1 สัปดาห์ คีย์ข้อมูลให้ครบ 500 บริษัท

 

5. ส่งอีเมล์แนะนำตัวและแนบ Service offer ไปให้ทุกบริษัท ไม่แนะนำให้ Bcc all ควรส่งทีละบริษัทโดยระบุชื่อบริษัท หรือชื่อบุคคลลงไปในคำทักทาย ทำแบบนี้จนครบทุกบริษัท และเวียนส่งแบบนี้ทุก ๆ 2 สัปดาห์จนกว่าคุณจะได้รับการจ้างงาน (หรือถูกขอให้เลิกส่ง)

จากสถิติของทีมงาน CEOchannels — 400 – 500 บริษัทจะได้รับการติดต่อกลับมาประมาณ 3 – 4% หรือประมาณ 15 – 20 บริษัท และจะได้ร่วมงานกันจริง ๆ ประมาณ 3 – 4 บริษัท ภายใน 30 วันแรกของการทำตามแผนนี้

หลังจากนั้นคุณจะได้ Returning customers จากลูกค้ารุ่นแรก และเมื่อผ่าน 6 เดือนแรกไปได้ คุณจะเริ่มเป็นฝ่ายได้รับการติดต่อจาก Translation agency รายใหม่ ๆ เข้ามาเองบ้าง

แต่อย่างไรก็ดี เราแนะนำว่าควรทำการตลาดเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหารายชื่อใหม่ ๆ การส่งอีเมล์แนะนำตัวไปหาคนที่ยังไม่มีการตอบกลับอีกครั้ง การอัพเดทโปรไฟล์ในเว็บไซต์ชุมชน และการสร้างโปรไฟล์ LinkedIn และการสร้างเว็บเพจโปรไฟล์ของตนเอง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

1. สิ่งที่ควรมีใน Service offer letter นอกเหนือจากประวัติ และวิธีติดต่อคุณ

1.1. คู่ภาษาที่รับแปล : ควรรับเฉพาะคู่ที่เชี่ยวชาญที่สุดเท่านั้น และควรแปลจากภาษา Source มาเป็น Target ที่เป็นภาษาแม่ของตนเองเท่านั้น

1.2. อัตราค่าแปลเอกสาร : ช่วงแรกอาจตั้งราคาถูกกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 20 – 30%

1.3. อัตราค่า Proofread เอกสาร : โดยมากจะถูกกว่าค่าแปล 20 – 30%

1.4. กฏระเบียบในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรม : อาทิ Source file ต้องเป็น MS Word เท่านั้น, ระบุปริมาณการแปลที่คุณทำได้ต่อวัน, วันเวลาในการทำงานปกติ, การคิดราคาเพิ่มกรณีลูกค้าจ่ายงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์, และค่าปรับยกเลิกงานกลางคัน ฯลฯ

1.5. เงื่อนไขการชำระเงิน : ลูกค้า 99% จ่ายผ่าน Paypal คุณจึงต้องมีบัญชี Paypal และกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน อาทิ เครดิตเทอม 30 วันนับจากวันที่งานเสร็จ หรือถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ใช้เวลาทำเป็นเดือน ๆ ควรตั้งมัดจำ 30 – 50% เป็นต้น ฯลฯ

2. วิธีป้องกันการถูกโกงในเบื้องต้น

อาชีพอิสระและส่วนตัวย่อมมีความเสี่ยงในการถูกโกงมากกว่างานประจำเป็นธรรมดา สิ่งที่คุณพอจะทำได้ในช่วงเริ่มต้น คือ เมื่อได้รับการติดต่อจาก เอเจนซี ให้เข้าไปดูความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ลักษณะการสื่อสารเป็นมืออาชีพหรือไม่ งานมีความเร่งด่วนจนน่าสงสัยหรือไม่ และนำชื่อบริษัทไปตรวจสอบในเว็บไซต์คอมมิวนีตี้ต่าง ๆ เพราะเว็บไซต์เหล่านั้นจะมีการโพสต์กระทู้เตือนภัย และหากชื่อบริษัทที่มีการโกงถูกนำไปตั้งกระทู้ คุณก็จะค้นพบข้อมูลได้ไม่ยาก

โอกาสเติบโตในสายอาชีพนักแปลอิสระ

เมื่อคุณทำงานแปลไปนาน ๆ คุณจะเริ่มมี คอนเนคชัน กับ เอเจนซี และ เพื่อนรวมอาชีพ คุณจะเริ่มรู้ว่าตลาดต้องการอะไร และมูลค่าของธุรกิจในแต่ละปีมีเงินสะพัดเท่าไร ถึงจุดนั้นคุณอาจพัฒนาตัวเองจาก นักแปลอิสระ ไปเป็น Translation agency ผู้เป็นนายหน้ารับงานและมีรายได้จากส่วนต่าง

ในวงการนี้มีหลายคนที่เริ่มจาก นักแปลอิสระ และผันตัวไปเป็น เอเจนซี ในภายหลังโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเอเจนซีขนาดใหญ่ที่รับแปลทุกภาษาก็ได้

ยกตัวอย่าง คุณอาจเลือกปักหมุดเป็นเอเจนซีนิชภาษาไทยเป็นหลัก คุณมีเครือข่ายนักแปลภาษาไทยที่เชื่อถือได้อยู่ในมือ และเมื่อเอเจนซีรายใหญ่จากต่างประเทศต้องการแปลคู่ภาษาไทยที่ไว้ใจได้ ก็จะนึกถึงคุณเป็นคนแรกในฐานะ วันสต็อปเซอร์วิส สำหรับโซนภาษาไทย เป็นต้น