listening

เจาะลึกศาสตร์แห่งการฟัง ทางลัดสู่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูง

ในกระบวนการของการสื่อสารที่คนส่วนใหญ่มักกังวลว่าตัวเองพูดเก่งหรือไม่จนเกิดมีหลักสูตรอบรมศิลปะในการพูดมากมายในยุคสมัยก่อน ลองนึกภาพว่าถ้ามีแต่คนพูดในการสนทนาวงหนึ่ง โดยไม่มีใครฟังใครเลย กระบวนการสื่อสารหรือสนทนาในวงนั้นย่อมไม่เกิดประสิทธิภาพใด ๆ

รวมถึงยังขาดรสชาติไปเสียสนิทอีกด้วย หลายคนเข้าใจว่าการนิ่งฟังเพื่อตอบโต้คือทักษะการฟังที่คุณแสดงออกแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณคือนักฟังที่มีประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำคุณอาจอยู่ในข่ายผู้ฟังยอดแย่ที่ต้องพัฒนาทักษะนี้อย่างจริงจังด้วยซ้ำไป เพราะคุณเพียงแค่ “ได้ยิน แต่ ไม่ได้ฟัง” และยิ่งโดยเฉพาะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจด้วยแล้วเป็นทักษะที่ต้องปูพื้นฝึกกันใหม่เลยทีเดียว

การฟังมีกี่แบบ?

1. การไม่ฟัง

อันเกิดจากการศรศิลป์ไม่กินกันนำไปสู่การไม่ชอบหน้า และไม่อยากจะฟังหากแค่แลเห็นว่าเป็นคน ๆ นี้กำลังพูดอยู่ ซึ่งก็เกิดจากอคติในใจเราที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่มีต่อคน ๆ นั้นมาก่อน เช่น ลูกน้องคนนี้ชอบโกหกว่าป่วยแล้วลาลากยาวติดกันพ่วงวันหยุด พอถึงเรื่องจำเป็นจริง ๆ ว่าเขาขอลาหยุดเพราะป่วยจริง เราก็จะมีทัศนคติว่ากำลังจะมาโกหกกันอีกแล้ว เป็นต้น หรือการไม่ฟังเนื่องจากใจลอยไปตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ

2. การแกล้งฟัง

หลายครั้งเราทำท่าเสมือนว่าฟัง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ฟัง มีอาการหูหนวกชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงการถูกบ่นถูกว่าไม่ว่าจะเป็นจากคนในครอบครัว ลูกค้า หรือเจ้านาย เราก็ทำท่าเสมือนว่าฟัง แต่ไม่ได้รับรู้เลยว่าสิ่งที่กำลังพูดนั้นคืออะไร แค่อือ ๆ ออ ๆ ไปเท่านั้น

3. การเลือกฟัง

เป็นการเลือกฟังในสิ่งที่เราอยากรู้ และไม่ฟังในส่วนที่เราไม่สนใจ มักเกิดในตอนที่เราเร่งรีบ มีเรื่องที่ต้องทำมาก หรือทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เราจะเลือกฟังเฉพาะข้อความที่เกี่ยวข้องกับความสนใจในตอนนั้น และปล่อยส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ผ่านหูไปโดยไม่สนใจจับความ

4. ตั้งใจฟัง

คือการฟังตั้งแต่ต้นจนจบว่าเรื่องที่ผู้พูดเล่าให้ฟังมีรายละเอียดอะไร สามารถเล่าทวนได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นจนจบ หากแต่ทักษะการฟังที่ดีเยี่ยมนั้นไม่ได้จบแค่การตั้งใจฟังเท่านั้น แต่เป็น

5. การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

นั่นคือนอกเหนือการทราบรายละเอียดแล้ว เขายังต้องอยู่ในปัจจุบันขณะกับคู่สนทนาตรงหน้าด้วยการให้ความสนใจ ไม่ว่อกแว่ก ไม่ด่วนตัดสินหรือชิงให้ความเห็น และผู้ฟังยังสามารถเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของผู้พูดที่มีต่อเนื้อความนั้น และยังสามารถสะท้อนความรู้สึกนั้นออกมาเพื่อแสดงความเข้าใจและเห็นใจ

จากรูปแบบการฟังข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นไม่ได้หมายความแค่ว่า เป็นคนที่รอให้คนอื่นพูดจบแล้วค่อยพูด โดยในระหว่างนั้นก็คิดไปด้วยว่าอะไรที่เราอยากโต้ตอบ เพราะนั่นย่อมแสดงว่าเราไม่ได้ฟังคนที่อยู่ตรงหน้าอย่างเข้าอกเข้าใจจริง ๆ ในหนังสือ Genius ทางอารมณ์ ของ Catherine Kat Songphatanayothin ได้ยกงานวิจัยที่นักวิจัยพบว่าสมองของคนเรานั้นสามารถอ่านสีหน้าของมนุษย์ได้โดยใช้เวลาแค่ 17 มิลลิวินาที โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการอ่านกล้ามเนื้อบนใบหน้าของคนที่อยู่ข้างหน้า ทั้งการขยับคิ้ว การยิ้ม และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ บนใบหน้าเพื่อตีความว่าคนตรงหน้ากำลังคิดอะไรรู้สึกอะไรอยู่ และไม่ว่าเราจะพยายามปกปิดด้วยการแกล้งฟังอย่างไรก็ตามก็จะถูกจับได้อย่างง่ายดาย

ทำไมเราจึงเสียสมาธิในการฟังอย่างง่ายดาย?

มีปัจจัย 2 ประการที่ทำให้คนเราหลุดจากวงจรของการฟังได้อย่างง่ายดายนั่นก็คือ

1.สิ่งเร้ารอบตัวเรา

เนื่องจากสมองของเราไวต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปรอบตัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะเสียสมาธิได้ง่ายเมื่อความสนใจของเราไปจับเข้ากับสิ่งที่แทรกเข้ามาในขณะฟัง เช่น เสียงต่าง ๆ ที่แทรกเข้ามา โดยเฉพาะในโลกยุคสื่อสารปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ มือถือ แทปเล็ต ที่พร้อมจะดึงความสนใจของเราให้หันออกจากคู่สนทนาได้ตลอดเวลา หรือเสียงแวดล้อมอื่น ๆ เช่น คนที่เดินผ่าน เสียงเพลง เป็นต้น

2.ความคิดของเรา

เมื่อมีสิ่งเร้าเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาติด ๆ คือความคิดของเราต่อสิ่งเร้านั้น เช่น ขณะฟังมีเสียงโทรศัพท์มือถือแทรกเข้ามา ความคิดของเราจะผุดขึ้นมาว่า ใครโทรมา มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราไปจดจ่อกับสิ่งแทรกนั้นแทนที่จะฟังเรื่องราวคนตรงหน้าต่อไป นอกเหนือจากความคิดจะเกิดขึ้นตามสภาพแวดล้อมแล้ว ความคิดยังอาจเกิดจากการที่เราฟังคนตรงหน้าพูดแล้วก็คิดไปด้วยว่าจะโต้ตอบอย่างไร สิ่งนี้ก็ทำให้เราไม่เข้าใจคู่สนทนาได้อย่างสมบูรณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร Rebecca Shafir ได้ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจในบทความ Mindful Listening จากเว็บไซต์ mindtools.com ว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วไปสามารถจดจำได้เพียง 25% ของเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้พูดกล่าวถึง และจดจำได้นานเพียงแค่ 2-3 นาที หลังการสนทนาจบลง ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจคือ การฟังอย่างสงบโดยปราศจากความคิดเห็นของตัวเราเอง เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และคู่สนทนารู้สึกว่าเขาได้รับความเข้าใจ

จะพัฒนาทักษะการฟังของเราอย่างไรให้เป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

เริ่มต้นด้วย 4 ขั้นตอน ที่คุณจะต้องเริ่มฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนนิสัยในการฟังดังนี้

1. เตรียมตัวที่จะฟัง

การเตรียมตัวเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งสำหรับการฟังที่มีประสิทธิภาพ หากขาดการเตรียมตัวที่ดี การประสบความสำเร็จในทักษะการฟังจะยากยิ่ง ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นการพูดคุย หรือรับฟังเรื่องสำคัญใด ๆ นั้นให้จัดการสิ่งที่อาจรบกวนคุณในระหว่างขั้นตอนดังกล่าวออกไปก่อน เช่น การปิดโทรศัพท์มือถือ การปิดสัญญาณ Internet หรือปิดระบบรับข้อความต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook หรือ ข้อความอื่น ๆ เพื่อคุณจะได้มุ่งความสนใจไปยังคู่สนทนา และเป็นการแสดงให้เขาเห็นว่าคุณให้ความสนใจทั้งหมดไปที่เขา ซึ่งช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่คุณติดต่อสื่อสารด้วย

แต่ถ้าหากคุณยังไม่สามารถที่จะรับฟังคู่สนทนาได้ทันทีเนื่องจากติดภาระกิจอื่น ๆ อยู่ในขณะนั้น จะเป็นการดีกว่าที่คุณจะแจ้งให้คู่สนทนาทราบถึงสิ่งที่คุณต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนในขณะนั้น และเสนอช่วงเวลาที่ดีกว่าในการสนทนาโดยแสดงให้คู่สนทนาเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องของเขาจริง ๆ โดยต้องการจะมีเวลาที่จะรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนการเริ่มสนทนาภาษากายเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรแสดงออกให้คู่สนทนารู้สึกผ่อนคลาย รวมถึงน้ำเสียงที่แสดงความเป็นมิตรและจริงใจ หากเรื่องที่พูดคุยนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวและกระทบความรู้สึกสูง ควรยืนยันในการรักษาความลับต่อคู่สนทนาด้วยเพื่อให้เขารู้สึกไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวคุณมากขึ้น แต่ถ้าหากเรื่องลับนั้นเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และคุณอยู่ในฐานะหัวหน้าที่ต้องบริหารจัดการอย่างเท่าเทียม จำเป็นที่จะต้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนกับผู้อื่นที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

นอกจากนี้ควรให้เวลาตัวคุณเองสัก 1-2 นาที ในการผ่อนคลายตัวเองด้วยการหายใจลึก ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก่อนเริ่มต้นการสนทนา การฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิช่วยให้การฟังของคุณเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมันจะช่วยทำให้คุณมุ่งความสนใจอยู่กับปัจจุบัน เมื่อจิตอันว่างเปล่าของคุณสามารถกำจัดความวุ่นวายออกไปได้เรียบร้อยแล้ว มันก็จะมีพื้นที่เหลือว่างมากพอในการที่จะรับฟังมุมมองของผู้อื่่น การทำสมาธินั้นเป็นทักษะที่ยิ่งฝึกก็จะยิ่งได้รับประโยชน์จากมันมากมาย หากคุณมีเวลาน้อย การฝึกอยู่ในสมาธิวันละ 5-10 นาทีต่อวัน ก็เพียงพอแล้วที่จะนับเป็นความก้าวหน้า

2. การฟังอย่างกระตือรือร้น

การฟังที่ดีไม่ได้หมายถึงการได้ยินถ้อยคำที่คนตรงหน้าพูด แต่ความสำคัญของการฟังอยู่ตรงที่ ความเข้าใจเนื้อหาที่ผู้เล่าได้เล่ามาทั้งหมด ด้วยการสังเกตุภาษากาย และความสูงต่ำของน้ำเสียง เพื่อแปลความหมายที่ซ่อนอยู่มากกว่าแค่คำพูดถ้าคุณไม่เข้าใจในบางตอนของเรื่องที่ได้ยิน คุณอาจรอ หรือไม่รอจนกว่าผู้พูดจะพูดจบเพื่อถามคำถาม โดยให้คำนึงเสมอว่าคุณตั้งคำถามเพื่อเขา หรือเพื่อตัวคุณเอง

หากคุณต้องการตั้งคำถามเพื่อเข้าใจเขามากขึ้น ไม่ต้องการหลุดประเด็นสำคัญ และกลัวจะเลยหรือลืมหากปล่อยให้เขาพูดจบ คุณก็สามารถแทรกถามได้ แต่ถ้าการตั้งคำถามเป็นไปเพื่อตัวคุณเอง หมายถึงการถามเพราะอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวก็ไม่ควรที่จะตั้งคำถามนั้นในการสนทนาทั้งนี้ไม่ควรจะเร่งด่วนตัดสินเรื่องราวไปก่อนในขณะฟัง หรือยกข้อโต้แย้งผู้เล่าในขณะฟัง จะทำให้ผู้พูดรู้สึกไม่อยากเล่าต่อในเรื่องที่เขาอยากเล่าเพราะเข้าใจไปว่าคุณยืนอยู่คนละด้านกับเขา

ดังนั้นการจัดการกับความคิด ความรู้สึก และภาษากายที่แสดงออกของเราก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการฟัง เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปสะกัดกั้นความคิดและมุมมองที่เราเห็นต่างได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น หากผู้พูดกำลังพูดถึงแนวคิดของเขาที่อาจตรงกันข้ามกับเรา เป็นธรรมชาติของคนที่เราจะเริ่มเกิดความคิดโต้แย้งในหัว เกิดความรู้สึกไม่ชอบไม่ยอมรับ และมันอาจสะท้อนภาษากายโดยอัตโนมัติ เช่น การกอดอก เพื่อแสดงออกถึงการปกป้องตัวเองและกันตัวเองออกจากผู้พูดในทางจิตวิทยา

แต่ถ้าเราสามารถจัดการความคิดของเราให้โล่งพร้อมรับฟัง ปรับความรู้สึกของเราให้ฟังมุมมองที่แตกต่าง สิ่งนี้จะสะท้อนภาษากายที่ตอบรับการฟังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพยักหน้ารับ การมองตาผู้พูด การใช้ภาษากายคล้ายคลึงผู้เล่า สิ่งนี้จะช่วยให้การสนทนาของคุณลื่นไหลมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

3. การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

เมื่อคุณแสดงความเห็นอกเห็นใจนั่นเป็นเพราะว่าคุณกำลังฟังอย่างเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของคู่สนทนา นั่นก็คือนำเอาตัวคุณไปยืนอยู่บนสถานการณ์ที่เขาพบเจอ และพยายามมองทุกสิ่งจากมุมมองของเขา เพื่อจะสรุปสิ่งที่เขาเล่าจากคำพูดของคุณเอง เพื่อแสดงว่าคุณเข้าใจมุมมองของเขา —คำถามปลายเปิดจะช่วยให้ผู้เล่าเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ของตัวเขาได้เป็นอย่างดีมากขึ้น เช่น ทำไมถึงคิดว่าเจ้านายไม่พอใจ? อะไรที่เขาแสดงออก? เธอรู้สึกอย่างไร? เป็นต้น หลีกเลี่ยงคำถามชี้นำเช่น หัวหน้าต้องโกรธแน่ ๆ เลยใช่ไหม? เธอคิดมากไปเองรึเปล่า? เป็นต้น

คำถามปลายเปิดจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เล่าให้รายละเอียดที่มากขึ้น และได้กล่าวถึงสิ่งที่เขารู้สึก คุณอาจสะท้อนความรู้สึกของเขาจากสิ่งที่เขากล่าวมันออกมา เช่น หากเขาพูดว่าเขาไม่พอใจสิ่งนี้ หรือแสดงทีท่าฉุนเฉียวเมื่อพูดถึงเรื่องดังกล่าว คุณอาจทวนคำที่แสดงความรู้สึกของเขาว่า เธอรู้สึกไม่พอใจที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น เป็นต้น เพื่อสะท้อนให้คู่สนทนาได้ทบทวนความรู้สึกของเขาเอง เพื่อมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น อย่ากังวลหากคุณสรุปความรู้สึกไม่ตรงใจเขา เพราะความสำคัญอยู่ที่เขาจะแก้ความรู้สึกนั้นด้วยตัวเองว่าเขารู้สึกอย่างไรกันแน่ เราทำหน้าที่สะท้อนเพื่อให้เขาเข้าใจตัวเองเท่านั้น

เป็นธรรมชาติของคนทุกคนที่เราจะมองโลกด้วยการใช้ประสบการณ์ ความเชื่อ และบุคลิกภาพที่เรามีเป็นตัวตัดสินและทำความเข้าใจทุกอย่างบนโลกใบนี้ เพราะนั่นเป็นแหล่งข้อมูลที่เราหยิบฉวยมาใช้ประมวลผลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ดีวิธีตามธรรมชาตินี้ก็มีจุดอ่อนของมันตรงที่ เราจะเข้าใจโลกและความคิดของคนอื่นได้ยากหากเรามองผ่านแหล่งข้อมูลของเรา

การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจจึงช่วยให้เราถอดรองเท้าของเราออก แล้วไปสวมรองเท้าของคนอื่นเพื่อที่จะเข้าใจข้อมูลทั้งหมดในมุมมองของเขา แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเห็นด้วยกับเขาในเรื่องนั้น ๆ หากคุณมีข้อเห็นต่างอยู่ คุณเพียงแค่ยอมรับว่าคู่สนทนามีมุมมองในสถานการณ์เดียวกันแตกต่างจากคุณ และเมื่อคุณได้เข้าใจความแตกต่างนั้นแล้วหลังจากได้ฟังจนจบ คุณสามารถนำข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับแนวคิดของคุณเพื่อหาจุดร่วมที่ดีที่สุด แล้วจัดการกับส่วนที่ต่างให้ลงตัว เพื่อลดความขัดแย้ง และสามารถไปต่อร่วมกันได้อย่างลงตัว นั่นคือการสร้างกระบวนการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

4. ปล่อยให้เงียบ

เมื่อผู้เล่าดำเนินการถึงขั้นสุดท้ายของการเล่า นั่นคือ ความเงียบ อย่ากังวลใจในขั้นตอนดังกล่าว เพราะ การเป็นคู่สนทนาที่ดีนั้นควรปล่อยให้ผู้เล่าได้พูดทุกประเด็นในใจเขาจนเรื่องราวต่าง ๆ เงียบลงไปเอง เพื่อแน่ใจว่าผู้เล่าได้จบทุกประเด็นของเขาอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยผู้เล่าจะเริ่มสะท้อนสิ่งที่เขาได้เล่าก่อนหน้านั้นแล้วจบเรื่องลงด้วยความเงียบนั่นเอง

ในบางกรณีคุณอาจพบเจอผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณร้องไห้ต่อหน้าต่อตาขณะกำลังสนทนากัน สิ่งที่คุณควรทำก็คือการควบคุมสติของคุณ และปล่อยให้คู่สนทนาร้องไห้เท่าที่เขาสบายใจเพื่อระบายออก โดยคุณควรแสดงออกอย่างมั่นคงและคุมอารมณ์ให้นิ่งอย่างที่สุดเสมือนว่าการร้องไห้นั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงการสนทนาที่สำคัญ คุณเพียงสะท้อนความรู้สึกว่า เขารู้สึกเสียใจ หรือ ผิดหวังใช่ไหม และปล่อยให้ความเงียบและการร้องไห้นั้นดำเนินไปจนกว่าคู่สนทนาจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ของตัวเองและคืนสู่สมดุลย์ของอารมณ์

การร้องไห้ก็เปรียบเสมือนคู่สนทนากำลังพูดคุยกับเราทางหนึ่ง เราควรปล่อยให้เขาได้พูดโดยการร้องไห้จนเขาจบลงด้วยความเงียบนั่นเอง ทั้งนี้ไม่ควรเข้าไปแตะหรือสัมผัสตัวเพื่อปลอบประโลมในขณะที่เขาร้องไห้ เพราะคู่สนทนาจะยิ่งร้องหนักขึ้นและในทางจิตวิทยาการแตะและสัมผัสในจุดใดบนตัวจะเป็นการตอกย้ำความรู้สึกเสียใจให้ถูกบันทึกลงไปในส่วนสัมผัส หลีกเลี่ยงการยื่นกระดาษทิชชูให้ จนกว่าเขาจะขอ หากเขาขอให้เพียงแค่ยื่นวางให้บนโต๊ะเท่านั้น สิ่งนี้จะช่วยให้คู่สนทนาตรงหน้ากลับคืนจากการแสดงอารมณ์ท่วมท้นให้คืนกลับสู่ความเป็นเหตุเป็นผลได้ไวขึ้น และการสนทนาตามวัตถุประสงค์สามารถดำเนินต่อไปได้ตามขั้นตอนจนจบ

ขั้นตอนทั้ง 4 ข้อเปรียบเสมือน Checklist

ที่ทำให้เราตระหนักได้ว่าในแต่ละขั้นตอนนั้นเรายังขาดตกบกพร่อง หรือควรปรับแก้ในเรื่องใดอยู่ แล้วค่อยวางแผนฝึกไปในทีละเรื่อง การแก้ไขนิสัยนั้นเป็นการแก้สิ่งที่เราทำซ้ำ ๆ มาเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นการพัฒนามันให้ดีขึ้นอย่างถาวรนั้นก็คือการใช้วิธีเดียวกันด้วยการทำสิ่งที่เราต้องการจะปรับปรุงซ้ำ ๆ ให้เวลานานมากกว่า 21 วันขึ้นไป สิ่งนั้นก็จะกลายมาเป็นนิสัยติดตัวที่ดีที่สุดที่เราเก็บสะสมได้และข่าวที่ดีคือมันจะอยู่กับเราไปตลอดหากมันได้กลายเป็นธรรมชาติของเราไปแล้ว

ประโยชน์ของการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ

aaขั้นตอนการฟังอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจนี้จะช่วยให้คุณมีสติ มองเห็นสิ่งที่จะมาหันเหความสนใจของคุณ และควบคุมตัวคุณให้คืนความสนใจกลับสู่คู่สนทนาด้วยการฟังอย่างมีสติกับปัจจุบัน

ในหนังสือ ‘The Zen of listening‘ ของ Shafir กล่าวไว้ว่าการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ หรือ Mindful listening นั้นจะช่วยให้คุณ

  • จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี
  • หยุดตัวคุณก่อนที่จะพูดออกไป ด้วยการพิจารณาผลสะท้อนของคำพูด
  • ทำให้คุณมุ่งความสนใจไปยังคู่สนทนาได้นานขึ้น
  • สร้างความนับถือในตัวคุณเอง

Shafir และ Scott แนะนำว่าการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจนี้สร้างผลดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมันจะทำให้เราละตัวตนของเราลงชั่วขณะเพื่อฟังคนอื่นอย่างจริงใจที่สุด มันช่วยให้ความดันโลหิตของเราลดลง และทำให้เรารู้สึกสงบและมั่นคงมากขึ้น มันช่วยลดความเครียดขึ้ง และเพิ่มความรู้สึกเชิงบวกเข้าไป

สองอุปสรรคในการฟังอย่างมีประสิทธิผล

เพื่อสรุปให้เราได้เห็นข้อจำกัดได้ชัดขึ้น จึงขอแบ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการฟังออกเป็น 2 ประเภท

1. สิ่งแวดล้อมภายนอก

ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรทัศน์ วิทยุ อุปกรณ์สื่อสาร ต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวเช่น เสียงการจราจร ผู้คนสนทนารอบตัว ล้วนเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้เราฟังคู่สนทนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเรามีชีวิตที่ล้อมรอบไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ดูเหมือนความสงบรอบตัวเราก็จะเริ่มน้อยลง อย่างไรก็ดีปัจจัยนี้เราสามารถที่จะจัดเตรียมมันให้อยู่ในโหมดพร้อมสงบได้อย่างง่ายดายกว่า

2. ความรู้สึกนึกคิดในตัวเราเอง

เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดตัวและมักทำให้เราเผลอที่จะควบคุม บางคนแสดงอาการตอบรับการสนทนาไม่ว่าจะเป็นการพยักหน้าหรืออือออเสมือนว่าฟัง แต่เขากลับไม่ได้ยินและไม่เข้าใจความหมายของถ้อยคำทั้งหมด มีการขัดจังหวะ หรือผูกขาดการสนทนา ขโมยซีนโดยการเปลี่ยนที่จะฟังเรื่องของเขามาเล่าเรื่องของเราแทน

การคิดตอบโต้ว่าเราจะพูดอะไรต่อหลังจากที่คู่สนทนาพูดจบซึ่งมันจะทำให้เราด่วนตัดสินใจ และพยายามโต้แย้งกลับโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิ่งนั้นเป็นขั้วตรงข้ามกับเรา นอกจากนี้ความสนใจส่วนตัวของเราก็จะทำให้เราสนใจเฉพาะเรื่องที่เราต้องการฟัง และทิ้งความต้องการของคู่สนทนาไว้ข้างหลัง

สิ่งเหล่านี้ Scott ได้กล่าวไว้ว่าอุปสรรคทางจิตวิทยานั้นเป็นตัวยับยั้งกระบวนการสื่อสารที่มีผลมาก สามารถทำให้เราตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด ให้คำปรึกษาหรือการวิเคราะห์ที่ไม่ได้มาจากการได้รับข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล การปฏิเสธ ความรู้สึกกลัว ไม่กระตือรือต้น ไม่พอใจ หรือคัดค้าน ต่อคู่สนทนา

สรุป

การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ คือ การฟังที่ปราศจากอคติ โดยไม่พยายามตัดสิน วิจารณ์ หรือสอดแทรกในขณะที่คุณกำลังฟังคู่สนทนาอยู่ เป็นการฟังอย่างมีสติ คือการไม่คิดเตรียมความคิดเห็นส่วนตัวออกมาโต้แย้ง แต่ให้แสดงออกสอดคล้องให้คู่สนทนารู้สึกอบอุ่นที่จะถ่ายทอดเรื่องราวให้เราอย่างมีประสิทธิภาพ

การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นช่วงเวลาที่คุณรู้สึกได้ว่าคุณอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ นั่นก็คือ คุณสามารถเข้าใจข้อความและความรู้สึกของคู่สนทนาผ่านเรื่องราวทั้งหมดที่เขาเล่า โดยคู่สนทนารู้สึกได้ว่าเขาได้รับการรับฟังและให้เกียรติ คุณสามารถปล่อยผ่านความคิดของคุณที่เกิดขึ้นในหัว หรือสิ่งที่จะเข้ามาหันเหความสนใจของคุณออกไป และคุณเปิดใจและความคิดให้กว้างออกที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเพื่อจะเข้าใจมุมมองของเขา

จากขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาในการพัฒนาทักษะการฟัง คงจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่จะได้สะท้อนต่อตัวเราเองว่าด้านใดที่เราควรปรับแก้บ้าง และด้านใดที่เราทำได้ดีอยู่แล้วเป็นจุดแข็งของเรา ก็สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นอย่างถูกต้อง 100 เปอร์เซนต์ตามขั้นตอนเป๊ะ ๆ บางทีคุณอาจเลือกที่จะเริ่มบางอย่างทีละก้าว โดยทดลองฝึกกับการสนทนากับคนครอบครัวดูก่อน และเมื่อคุณชำนาญต่อมันแล้วค่อยเขยิบไปยังขั้นตอนต่อไป สิ่งนี้ก็จะช่วยให้การพัฒนาทักษะการฟังของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างมั่นคงมากขึ้นครับ


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content