บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ สูตรเขียนบทความออนไลน์อย่างไรให้ได้ทุกวัน และให้มีแฟนคลับติดตามตลอดไป

วิสูตร แสงอรุณเลิศ หรือ พี่บอย บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Stock2Morrow นักพูด และนักเขียน Best Seller อาทิ งานไม่ประจำทำเงินกว่า, อิสระเราราคาเท่าไร, หนังยางล้างใจ, มองไกลบนไหล่ยักษ์ ฯลฯ ถือเป็นหนึ่งในผู้สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านการเขียน Valuable content หรือ เนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย อย่างต่อเนื่องจนเกิดแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมากและอย่างเหนียวแน่นบนเฟซบุ๊ค Boy’s Thought

ผลพลอยได้จากเหตุนี้ทำให้เมื่อ พี่บอย วิสูตร เปิดตัวสินค้าใด ๆ อาทิ หนังสือ ออดิโอบุ๊ค หรือคอร์สสัมมนา ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี หรือแม้แต่ใครนำสินค้าหรือบริการใด ๆ มาฝากประชาสัมพันธ์ผ่านทางเพจ Boy’s Thought ก็จะได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน เรียกว่าวันนี้พี่บอยกลายเป็น Influencer คนหนึ่งที่คนเชื่อมั่น และยินดีที่จะติดตามสนับสนุน ทั้งสินค้าที่พี่บอยขายเอง หรือที่ฝากบอกต่อ

สาเหตุของผลลัพธ์นี้เพราะ พี่บอย เขียนข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มเป้าหมายผ่านทางแฟนเพจ Boy’s Thought อย่างต่อเนื่องทุกวัน ณ เวลา 7 โมงเช้าไม่เคยขาดเป็นปี ๆ นับแต่วันที่เปิดเพจ (กลางปี 2013) ความสม่ำเสมอก่อให้เกิดการติดตาม แชร์ต่อ บอกต่อ และดึงดูดคนเข้าแฟนคลับมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันนี้ (กลางปี 2016) ทะลุ 150,000 Likes ไปแล้ว – สิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ พี่บอย ไปหาคอนเทนต์มาจากไหนทุกวัน เป็นเดือน ๆ และปี ๆ อย่างไม่ขาดและแทบไม่ซ้ำ และวันนี้ผมก็ได้สูตรไม่ลับที่สรุปได้จากการฟังแกพูดในงานสัมมนาต่าง ๆ มาแบ่งปันครับ

3-5-7 สูตรไม่ลับ วิธีเขียนบทความออนไลน์อย่างไรให้ได้ทุกวัน

ความหมายของสูตรแบ่งออกเป็นดังนี้…

  • 3 แรงบันดาลใจ สำหรับเขียนบทความคุณภาพดี
  • 5 คุณสมบัติ ที่นักเขียนบทความต้องมี
  • 7 ขั้นตอน คิดเนื้อหาอย่างไรไม่ให้ตัน

3 แรงบันดาลใจ สำหรับเขียนบทความคุณภาพดี

แรงบันดาลใจ 1 เขียนบทความจากประสบการณ์ส่วนตัว

ประสบการณ์ส่วนตัวเป็นคลังแสงข้อมูลที่ยอดเยี่ยม ซึ่งในช่วงแรก 2-3 ปีแรกที่ผม (CEOblog) เขียนบทความบนโลกออนไลน์ (เริ่มจากเว็บบอร์ด) เนื้อหาส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งในเรื่องชีวิต และการทำงาน

เราอาจมองไม่ออกว่าใครอยากจะมารับรู้เรื่องราวของเรา แต่อย่าลืมว่าเวลาเราอยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือได้เจอเพื่อนใหม่ แต่ละคนก็ล้วนเล่าเรื่องของตัวเองให้เพื่อนฟังเป็นส่วนมาก แบ่งปันประสบการณ์ว่าเราเจออะไรมาในวัยเรียน วัยทำงาน ตอนไปท่องเที่ยว ตอนพบคนรัก ฯลฯ เราแบ่งปันแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์ เราบอกเล่าฮาวทูว่าเราก้าวผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร และเรามักขมวดเรื่องราวชีวิตเป็นบทสรุปที่สร้างแรงบันดาลใจ – ทุกคนคือนักเล่าเรื่องครับ

เมื่อถึงคราวมาเล่าบนอินเตอร์เน็ต ก็หลักการเดียวกัน แต่คนฟังเปลี่ยนจากวงสนทนาในร้านอาหารไปเป็นทุกคนบนโลกออนไลน์ที่มีโอกาสล็อกอินมายังพื้นที่ที่คุณเผยแพร่เนื้อหานั้น ๆ สิ่งที่คุณต้องเพิ่มคือ คุณค่า ในเนื้อหาที่เล่าออกไป ทำให้เรื่องของคุณ เป็นเรื่องของเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังอ่านเรื่องของตัวเองอยู่ก็ไม่ปาน อย่างที่ท่านเคยเห็นคอมเมนต์ในกระทู้พันทิพบ่อย ๆ —

ประมาณว่า… “อ่านกระทู้นี้แล้วนึกว่าตัวเองมาตั้งกระทู้”
หรือ… “อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกเหมือนตัวเองมาเขียน”
หรือ… “อ่านโพสต์นี้แล้วนึกว่าแฟนมาเขียน”

นี่คืออารมณ์ของการเปลี่ยนเรื่องของคุณ ให้เป็นเรื่องของเขา อ่านแล้วรู้สึกเป็นประโยชน์หรือได้แรงบันดาลใจให้ตัวของผู้อ่านทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องเล่าของคุณ!

แรงบันดาลใจ 2 เขียนบทความจากการสังเกตการณ์

การสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะจากการอ่านข่าวสารบ้านเมือง อ่านหรือฟังทัศนคติที่คนมีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ และเรื่องราวของผู้อื่นที่พบเจอระหว่างการเดินทาง เหล่านี้สามารถหยิบจับจุดเชื่อมโยงเล็ก ๆ น้อย ๆ มาแตกเป็นประเด็นเล่าเฉพาะ ที่แฝงแง่คิดและขมวดจบเป็นแรงบันดาลใจให้คนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งพี่บอย วิสูตร เป็นนักสังเกตการณ์ตัวยง เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องราวจากผู้อื่นก็สามารถหยิบบางจุดมาขยายความเป็นเรื่องเล่าเคล้าชีวิตและแง่คิดใหม่ ๆ ได้

แรงบันดาลใจ 3 เขียนบทความจากจินตนาการ

นี่คือระดับ Advance เมื่อ ประสบการณ์บวกกับการสังเกตการณ์ ก่อเกิดงานเขียนอย่างต่อเนื่องจนคุณตกผลึกกับข้อมูลในหัว คุณจะมีทักษะในการสร้าง ทัศนคติใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นสูตรของคุณเอง โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนมีชื่อเสียงมาก ๆ การนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ให้เป็นที่จดจำนั้น พี่บอย เปรียบกับ รัฐธรรมนูญ แห่งวงการนั้น ๆ กันเลยทีเดียว เพราะผู้คนต่างจะหยิบยกไปอ้างอิงต่อไปเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ

ยกตัวอย่าง Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนหุ้นคุณค่า (Value investment) ที่มีการจินตนาการตัวละครที่ชื่อ Mr. Market ขึ้นเพื่ออธิบายกลไกการทำงานของตลาดหุ้นให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย และ Mr. Market กลายเป็นวิธีอธิบายตลาดหุ้นที่ไม่เคยล้าสมัยและถูกพูดถึงจวบจนปัจจุบันแม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 40 ปี

5 คุณสมบัติ ที่นักเขียนบทความต้องมี

คุณสมบัติ 1 เป็นนักกลั่นกรอง

ทุกคนมีเรื่องเล่า และพวกเราล้วนเป็นนักเล่าเรื่อง อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากการสังเกตสามารถนำมาเล่าได้หมด เพียงแต่รู้จักนำ Data มาผ่านกระบวนการให้กลายเป็น Information ที่ง่ายต่อการเสพของผู้คน

คุณสมบัติ 2 เป็นนักจัดเก็บและแยกแยะ

นักคิด นักเขียน และนักเล่าที่ยิ่งใหญ่ล้วนใช้ข้อมูลจากผู้อื่นเป็นส่วนผสมในการสร้าง คุณไม่สามารถขยายขอบเขตของเนื้อหาจากการเล่าเรื่องของตัวเองตลอดไป คุณจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเติม Input ใหม่ ๆ จากการอ่านและฟังข้อมูลของคนอื่น จากนั้นกลั่นกรอง จัดเก็บ และแยกแยะออกเป็นหมวดหมู่เพื่อผสมให้เกิดเป็นเนื้อหาใหม่ ยกตัวอย่าง คุณพันธ์รบ กำลา เจ้าของ ‘ชายสี่หมี่เกี๊ยว’ อ่านหนังสือเยอะมาก และจัดเก็บข้อมูลเป็นหมวดหมู่ลงในไฟล์ Microsoft Excel และรู้จักหยิบข้อมูลมาปรับแต่งเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเพื่อสอนพนักงานของตน!

คุณสมบัติ 3 เป็นนักต่อยอด

รู้จักนำประโยคสั้น ๆ มาแตกเป็นเรื่องใหม่ยาว ๆ โดยพี่บอย วิสูตรยกตัวอย่างเมื่อชมรายการ SME ตีแตก และหนึ่งในผู้ดำเนินรายการพูดประโยค “ข่าวร้าย ลงฟรี ข่าวดี เสียตัง” เพียงเท่านี้ พี่บอย ก็สามารถนำประโยคเดียวมาต่อยอดเป็นบทความสะท้อนสังคมของคนบางกลุ่มในปัจจุบัน!

กรณีผมมีหนังสือเล่มโปรดชื่อ ReWork เขียนโดย Jason Fried นักธุรกิจซอฟต์แวร์ที่นำเอาประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกมองข้ามในที่ทำงานแต่เบื้องหลังมันสร้างปัญหาเรื้อรังในองค์กร อาทิ เรื่อง Meeting is toxic หรือ การประชุมนั้นมีโอกาสสร้างปัญหาด้านประสิทธิภาพของการทำงาน เพราะการเอาคน 1 คนมานั่งประชุม 1 ชั่วโมง เท่ากับเสียเวลาทำงาน 1 ชั่วโมง หากเอาคน 10 คนมา Jason Fried บอกให้ คูณ 10 เท่าเสียเวลาทำงาน 100 ชั่วโมง!

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างการต่อยอดแตกประเด็นที่ผมชอบมาก ๆ และได้ข้อคิดสำหรับนำมาหาวิธีปรับใช้ในชีวิตจริง – ผมเล่าหนังสือ ReWork ที่นี่ครับ

คุณสมบัติ 4 เป็นนักเล่าเรื่อง

หลายคนเชื่อว่าว่าการนำเสนอที่ดีคือการมีข้อมูลที่แน่นปึก ทั้ง Data, Stats, Chart & Bullet points – ข้อมูลเหล่านี้สำคัญจริงครับ แต่ไม่สามารถตรึงคนฟังให้อยู่กับการนำเสนอ สิ่งที่ตรึงและสร้างการจดจำได้มากกว่าคือ Story หรือ เรื่องเล่า

ในบรรดานักนำเสนอ (นักเขียน นักพูด ฯลฯ) ที่ประสบความสำเร็จ คลิป TED Talk ที่ถูกแชร์ต่อมาก ๆ และงานสัมมนาที่คนชื่นชมและประทับใจล้วนเกิดจากผู้ถ่ายทอดมีการเล่าเรื่องที่สร้างความรู้สึก (สนุก ซึ้ง เศร้า) เป็นตัวนำก่อนเข้าสู่ข้อมูลที่เป็น Data, Stats, Chart & Bullet points หรือแม้แต่ สตีป จ็อบส์ ก็มีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ในขณะที่ Slide ของเขานั้นมีตัวหนังสืออยู่เพียงไม่กี่ประโยค พวกสถิติ และตารางต่าง ๆ แทบไม่มีเลย

พี่บอย วิสูตร นำตัวอย่างของผู้แข่งขันในรายการ SME ตีแตก มาให้ชม ให้ลองดูตัวอย่างในนาทีที่ 30 ผู้แข่งขัน คุณปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ธุรกิจ Phoenix Lava ขายซาลาเปาไส้ลาวา ซึ่งซาลาเปาไม่ใช่ธุรกิจใหม่ แต่มีการใส่ดีไซน์ ใส่สตอรี่การมาของซาลาเปา และการนำเสนอที่สนุกสนาน ทำให้การนำเสนอให้ผ่านอย่างเป็นเอกฉันท์โดยกรรมการทั้งสามท่าน เพราะการเล่าเรื่องที่ดี ช่วยทำให้เรื่องธรรมดากลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาครับ!

คุณสมบัติ 5 เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ

จากข้อ 1 ถึง 4 ที่กล่าวมาล้วนเป็นการสร้างเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากประสบการณ์ตรงของตนเอง จากประสบการณ์ของผู้อื่น ผ่านการฟัง การดู การอ่าน การจดจำ ข้อมูลที่รับเข้ามาคือ Data หรือข้อมูลดิบที่คุณอาจเข้าใจคนเดียว แต่การถ่ายทอดออกไปแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ดังนั้นคุณจึงต้องแปลง Data เป็น Information หรือข้อมูลสำเร็จที่ง่ายแก่การเสพโดยสาธารณะ ส่วนนี้นิยมเรียกว่า การย่อยให้เสพง่าย ครับ

7 ขั้นตอน คิดเนื้อหาอย่างไรไม่ให้ตัน

นี่คือสิ่งที่ผมทึ่งในตัว พี่บอย วิสูตร และเคยถามแกไปว่าทำอย่างไรจึงเขียนเนื้อหาใหม่ ๆ ได้ทุกวันเป็นปี นี่คือคำตอบครับ…

ขั้นตอน 1 หมั่นสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

โน๊ส อุดม จัดทอล์คโชว์ที่ชื่อ ‘เดี่ยว’ ปีละครั้ง และทุกปีเขาจะกลับมาพร้อมกับเรื่องราวร้อน ๆ ของสังคมมานำเสนอในมุมมองเก๋ ๆ ที่ทั้งตลก ชวนฉุกคิด และแฝงสาระบ้าง การทำเช่นนี้ได้เพราะตลอดทั้งปี คุณโน๊ส อุดม แกออกเดินทางเพื่อไปเก็บเกี่ยวข้อมูลผ่านประสบการณ์ แล้วนำข้อมูลมากลั่นกรองให้เป็นการนำเสนอในสไตล์ของ ‘เดี่ยว’

เรื่องราวดี ๆ ไม่ได้อยู่ในบ้าน ไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ แต่อยู่ที่โลกภายนอกครับ หากต้องการข้อมูลและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จงพักจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วออกไปเจอโลกจริง ๆ

ขั้นตอน 2 ฝึกเป็นนักคิดอยู่เสมอ

การนำสิ่งที่ท่านเจอมาเล่าตรง ๆ นั้นไม่น่าสนใจ โปรดจำไว้เสมอว่าคนสนใจฟังเรื่องที่เกี่ยวกับเขา หรือเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการฟังเรื่องของเรา ดังนั้นจงนำประสบการณ์ที่เจอมาประมวลให้กลายเป็นแง่คิดที่คนจะได้ประโยชน์จากการฟังเรื่องเล่าของท่าน

ขั้นตอน 3 อย่าลืมจดบันทึกไว้นะเธอ

ความคิดดี ๆ เกิดขึ้นได้ทุกขณะโดยที่ท่านไม่ตั้งตัว และอาจลืมมันไปภายในอีกชั่วขณะหนึ่ง – สมัยผมทำงานประจำ เจ้านายเก่าของผมซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ มูลค่าธุรกิจระดับพันล้านบาทเล่าให้ฟังว่าเขาจะมีอุปกรณ์จดบันทึกติดตัวแม้ยามนอน เจ้าของธุรกิจคิดงานตลอดเวลา และบางครั้งเมื่อไอเดียมาตอนดึก ๆ เขาจะลุกขึ้นมาบันทึกทันทีและนำมาแบ่งปันกับทีมงานในการประชุมครั้งถัดไป

แม้แต่นักธุรกิจพันล้านยังต้องจด ฉะนั้นการจดบันทึกความคิดนั้นสำคัญไฉน

ขั้นตอน 4 หาให้เจอ ชั่วโมงเธอ ชั่วโมงทอง

ตั้งแต่เขียนบทความมากว่า 5 ปี ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ไม่เคยหายไปไหนเลยคือ ความรู้สึกจับจดเมื่อเปิดโปรแกรม Microsoft Words เพื่อที่จะเขียนบทความใหม่ ๆ มักเกิดอารมณ์ขี้เกียจนิด ๆ อึน ๆ หน่อย ต้องแข็งใจเขียนไปสักพักสมองและนิ้วมือที่ถ่ายทอดเนื้อหาออกไปจึงจะเริ่มลื่นไหล จากนั้นก็อินจนหยุดไม่อยู่ เขียนยาวเป็น 1-2 ชั่วโมงรวด

พี่บอย วิสูตร จึงแนะนำว่านักเขียนควร Set ตารางเวลาในการเขียน เพื่อที่ร่างกายจะได้ปรับตัว และเมื่อถึงเวลา สมอง สองมือ และร่างกายก็จะเข้าสู่โหมดในการทำงานนั้น ๆ โดยธรรมชาติครับ

ปล. ผมขอเสริมคือ ก่อนลงมือเขียน ให้วางแผนว่าจะเขียนอะไรจะช่วยได้ เช่น ชื่อ หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย กลุ่มเป้าหมาย คีย์เวิร์ดของบทความครับ

ขั้นตอน 5 ตอกย้ำความเชื่ออยู่ทุกครั้ง

สิ่งที่ผมสังเกตคือเวลาเนื้อหาแนวไหนมาแรง ก็จะเกิดเว็บไซต์ หรือแฟนเพจที่พูดถึงเนื้อหาในแนวทางนั้น ๆ ตามมามากมาย และสิ่งที่สัมผัสได้คือบางครั้ง เว็บไซต์ใหม่ หรือแฟนเพจใหม่ที่เปิดมาพูดเรื่องที่กำลังได้รับความนิยม มีสไตล์ ภาษา และ บุคลิกที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง พยายามดัดคำพูดจนไม่เป็นธรรมชาติ การเนื้อหาที่ถ่ายทอดยังไม่ตกผลึกจริง ๆ หรืออาจนำโครงเรื่องมาจากต้นฉบับและพยายามพลิกเนื้อหาให้แตกต่างแต่ก็สลัดกลิ่นไอเดิมไม่หลุด เป็นต้น – เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนอ่านสัมผัสได้ เหล่านี้เป็นการสร้างเนื้อหาโดยที่ผู้สร้างไม่มีความเชื่อในสิ่งที่เล่า

ส่วนตัวผมชอบธุรกิจออนไลน์และการตลาดออนไลน์ ชอบเขียน ชอบเล่ากรณีศึกษาที่ให้แรงบันดาลใจมาเล่าผ่านภาษาของผม แม้ผมจะมีแรงบันดาลใจมาจากโครงเรื่องต้นฉบับ แต่การนำโครงเรื่องมาเล่าผ่านประสบการณ์และการตกผลึกของตนเองทำให้เนื้อหาออกมาเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งตรงกับสูตร 3-5-7 ของพี่บอย วิสูตร ทุกประการ — นี่คือการสร้างเนื้อหาที่มาจากที่เรา เชื่อมั่น หลงใหล และศรัทธา ครับ

ขั้นตอน 6 อย่าลืมสนามเล็กไว้ลองของ

คนที่ติดตามทั้ง เฟซบุ๊คส่วนตัว และ เฟซบุ๊คแฟนเพจ ของ พี่บอย วิสูตร จะเห็นว่าพี่บอยมีการเขียนบทความลง เฟซบุ๊คส่วนตัวก่อน ทิ้งช่วง 2-3 วันแล้วจึงนำไปลงใน เฟซบุ๊คแฟนเพจ กิจกรรมนี้เรียกว่า การลองสนามเล็ก

พี่บอย วิสูตร บอกว่า เนื้อหาที่เราคิดได้ใหม่ ๆ ยังมีความร้อนอยู่ ควรพักไว้ให้เย็นอีกนิดเพื่อทบทวนความกลมกล่อมก่อนนำไปใส่ไว้พื้นที่ที่เป็นทางการอย่าง เฟซบุ๊คแฟนเพจ แกจึงลองเขียนในเฟซบุ๊คส่วนตัวก่อน เพื่อดูผลตอบลัพธ์จาก Followers และเพื่อดูว่าจะปรับแต่งอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เหมาะสมและเป็นเนื้อหา Evergreen สำหรับทุกเพศทุกวัย

ขั้นตอน 7 บทความเก่ามาใช้ใหม่อย่ามัวดอง

หลังจากเขียนเนื้อหาใหม่ ๆ ลงบนเฟซบุ๊คแฟนเพจทุกวันเป็นปี ๆ คนใหม่ ๆ ที่เข้ามาย่อมไม่มีโอกาสเลื่อนกลับไปดูเนื้อหาเก่า ๆ เมื่อต้นปี หรือปีที่แล้ว เนื้อหาเหล่านั้นสามารถนำกลับมา Re-Post หรือ Re-Write ให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อให้คนที่มาใหม่ได้ชม

กรณี CEOblog ผมก็มีการทำเช่นเดียวกัน หลังจากที่เขียนบทความยาวเป็นร้อย ๆ ในช่วงที่รู้สึกตัน ๆ ผมมีการนำบทความในอดีตมา Re-Write ใหม่ แก้ไขรูปภาพ Feature image ให้ทันสมัย และโพสต์ใหม่ ปรากฏว่าได้ผล คนที่ยังไม่เห็นมีอีกมาก และได้รับการตอบรับที่ดีครับ

สรุป… Think Like a Publisher

พี่บอย วิสูตร เปรียบเทียบแฟนเพจ Boy’s Thought กับนิตยสารชนิดหนึ่ง ที่ที่มีบทความดี ๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ

วันนี้อินเตอร์เน็ตช่วยให้คนธรรมดา ที่มีเรื่องราวที่มีประโยชน์สามารถสร้าง ‘สื่อ’ (Media) ของตนเองได้แล้ว จงคิดและทำตัวเช่นนิตยสาร นำเสนอสิ่งดี ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งท่านจะเริ่มมีคนมาติดตาม เมื่อคนติดตามมากขึ้น ๆ ท่านจะเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาย Sponsor ในพื้นที่ของตนเอง การฝากขายสินค้าและบริการ การขายผลิตภัณฑ์ที่ท่านเป็นเจ้าของ หรือพีคสุดคือการขายเว็บไซต์ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วกับเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ของคนไทย Think of Living ที่นายทุนต่างชาติซื้อไปในมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท (เงิน+หุ้น)

สุดท้าย… การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ผมจะมีประสบการณ์การบริหารบทความบนอินเตอร์เน็ตมาประมาณหนึ่ง ทั้ง CEOblog และ Leader Wings แต่หลายสิ่งที่ผมไม่รู้ก็ได้รู้จากผู้ชายคนนี้ บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ

Boy Wisoot