Grab ประกาศบุกตลาด Bike Sharing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Uber อาจจะเป็นเจ้าตลาด Ride Sharing  ในอเมริกา และ Didi Chuxing อาจเป็นเจ้าตลาด Ride Sharing  ในจีน แต่ที่นี่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าตลาด Ride Sharing คือ Grab แม้จะมีคู่แข่งอย่าง Uber และ Go-Jak (ในอินโดนีเซีย) Grab ก็ไม่หวั่น เพราะมีผู้หนุนหลังคือ Didi

โดยล่าสุด Grab ได้เริ่มลงทุนในธุรกิจ Bike Sharing ตามรอยรุ่นพี่อย่าง Didi เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นแผนการขยายการลงทุนออกนอกประเทศจีนของ Didi ที่สอดคล้องกับการลงทุนภายในประเทศ ที่ Didi ได้เปิดตัว Bluegogo ให้บริการเช่าจักรยานหลังจากที่ซื้อธุรกิจมาเป็นของตัวเอง

Grab ได้ลงทุนใน oBike ธุรกิจ Bike Sharing ของสิงคโปร์ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 แต่ในครั้งนี้ มีการเผยแพร่ภาพที่ทำให้เห็นว่า อาจมีการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยสัดส่วนทุนที่ Grab ลงทุนน่าจะมีมูลค่าสูงพอสมควร เนื่องจากมีการเพิ่มโลโก้ Grab Cycle ลงไปในจักรยานของ oBike โดยให้สัดส่วนพื้นที่เท่ากัน

ที่มา https://techcrunch.com/2018/01/21/grab-obike-grab-cycle/

นอกจากนี้ oBike ยังได้รวมเอา GrabPay ที่เป็นบริการจ่ายเงินของ Grab เข้ามาอยู่ในแอปของ oBike เรียบร้อยแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้ชัดเจนว่า ทั้งสองอาจจะกำลังบรรลุข้อตกลงบางอย่าง

โดย oBike ตั้งเป้าจะให้บริการใกล้กับร้านค้าที่เป็นจุดรับจ่ายเงินด้วย GrabPay เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ และยังได้เข้าถึงฐานลูกค้าเดียวกับ Grab ที่มีอยู่จำนวนมากด้วย หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้ Grab ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Bike Sharing อย่างเต็มตัว และสามารถขยายได้ยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ด้วย เพราะ oBike ให้บริการในหลายประเทศของภูมิภาคนี้

oBike เป็นสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้มากถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอ้างว่ามีผู้ใช้ถึง 10ล้านคนทั่วภูมิภาคนี้ แม้ตัวเลขจะน้อยมากเมื่อเทียบกับ Ofo และ Mobike ที่ประเทศจีน แต่ oBike ก็ถือว่าเป็นผู้นำธุรกิจ Bike Sharing ในภูมิภาคนี้ ซึ่งทั้ง Uber และ Go-Jak ยังไม่มีการลงทุนในธุรกิจให้เช่าจักรยาน

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือ ท่าทีของ Didi หลังจากที่ลุยตลาดในประเทศจีนอย่างเต็มตัว ซึ่งต้องเตรียมชนกับ Ofo ที่มีอาลีบาบาหนุนหลัง และ Mobike ที่มีTencent เป็นผู้ลงทุนหลัก การซื้อกิจการของ Bluegogo และมีความพยายามที่จะรีแบรนด์ให้เป็น Didi Bike เพื่อตอกย้ำแบรนด์ของตัวเอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกการเดินทาง และการลงทุนของ Grab ครั้งนี้ใน oBike จะเป็นการเดินหมากตาสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจาก Didi เป็นผู้ลงทุนหลักใน Grab หากครั้งนี้ Grab เข้าครอบครอง oBike สำเร็จ oBike ก็จะกลายเป็นของ Didi ด้วย และมูลค่ารวมของบริษัท Didi จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาเดียวของภูมิภาคอาเซียน และแม้แต่ในสิงคโปร์เองก็ตาม คือ ถนนที่ไม่เอื้ออำนวยในการปั่นจักรยาน และการวางผังเมืองที่ซับซ้อน ต่างจาก จีน หรือ อเมริกาและยุโรปโดยสิ้นเชิง อาจทำให้การขยายตัวของธุรกิจ Bike Sharing ไม่รวดเร็วเท่ากับในประเทศจีนก็เป็นได้

Source:

https://techcrunch.com/2018/01/21/grab-obike-grab-cycle/

https://www.techinasia.com/grab-obike-partner-up