ทีม Google – Temasek เผย E-Commerce เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไทยโตในอัตราเร่ง คาดเงินสะพัดกว่า 7 ล้านล้านบาท ภายใน ค.ศ. 2025

ทีมวิจัย Google และ Temasek เคยทำการศึกษาและเก็บข้อมูลร่วมกัน ในหัวข้อธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEA ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในปี 2016 พบเป็นพื้นที่ ธุรกิจออนไลน์ เติบโตเร็วที่สุดในโลก มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 260 ล้านคน และพยากรณ์ว่าจะโตไป 480 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2020

ล่าทีมวิจัย Google-Temasek ได้ทำการติดตามผล และพบว่าในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2017 ต้นปี ค.ศ. 2018 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนสูงถึง 330 ล้าน Monthly Active User และในจำนวนนี้ใช้งานผ่านอุปกรณ์มือถือสูงถึง 90% ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่บนอินเตอร์เน็ตมือถือเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงครึ่ง นับเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตมือถือสูงที่สุดในโลก

ธุรกิจออนไลน์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตพร้อมกันทุกหมวดหมู่

ทีมวิจัย Google และ Temasek คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตมีการเติบโตระหว่างปี 2017 ไปจนถึงปี 2025 ที่อัตรา 27% Compound Annual Growth Rate (CAGR) เทียบกับช่วงปี 2006-2016 ที่อัตรา 20% CAGR — ด้วยอัตรานี้จะก่อเกิดเงินสะพัดในธุรกิจออนไลน์สูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 

การเติบโตนี้เป็นการเติบโตแบบแทบจะทุกหมวดหมู่ธุรกิจที่อยู่บนโลกออนไลน์ อาทิ หมวดท่องเที่ยว ได้แก่ เว็บไซต์จองเที่ยวบิน, ที่เที่ยว, โรงแรม, และร้านอาหาร เงินสะพัด 26,600 ล้านเหรียญ กลุ่มธุรกิจสื่อ ได้แก่ เว็บไซต์ที่รับลงโฆษณา หรือมีพื้นที่ให้ติดตั้งโฆษณาต่าง ๆ เงินสะพัด 6,900 ล้านเหรียญ

ในขณะที่พระเอกสุดของงานนี้ คือ หมวด E-Commerce มีการซื้อขายสูงถึง 10,900 ล้านเหรียญ แม้จะน้อยกว่าหมวดท่องเที่ยว แต่หากเทียบการเติบโตแล้ว E-Commerce เติบโตมากกว่า 100% ใน 2 ปี และมีอัตรา CAGR สูงที่สุดในระบบเศรษฐกิจ คือ อัตราเติบโตเฉลี่ย 40%

นักธุรกิจออนไลน์ และ E-Commerce ขนาดเล็ก และขนาดกลางควรทำอย่างไร

การเติบโตของ E-Commerce สูงอย่างไม่ต้องสืบเลยว่าเกิดจากความสนใจจากนายทุนและผู้ประกอบการออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในตลาดที่เพิ่มกำลังในพื้นที่นี้อย่างคึกคักตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ Aliababa, Tencent, Lazada, Zalora, 11th Street, Amazon เป็นต้น ฯลฯ

และด้วยความใหญ่ทั้งขนาดธุรกิจ, ทรัพยากรทางการเงิน, และกำลังคน ทำให้การมาของรายใหญ่เป็นการบุกแบบแทบจะยึดหัวหาดสำคัญของภาคธุรกิจ และอาจทำให้นักธุรกิจออนไลน์ และ E-Commerce รายย่อยอาจจะแข่งขันได้ยากทั้งในเรื่องของความเร็วในการขยายธุรกิจและราคาสินค้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัดจะสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในคลื่นเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตนี้อย่างไร Amit Anand, ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Jungle Ventures กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพสายธุรกิจออนไลน์ ได้ให้คำแนะนำไว้ ณ Inc.com โดย CEOblog นำมาสรุปโดยสังเขป

1. ใช้กลยุทธ์ Omni-Channel

Omni-channel หรือ การค้าขายหลายช่องทาง เป็นกลยุทธ์ที่ค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ Central, Lotus, CP 7-Eleven, และ Uniqlo นำร่องทำไปพักใหญ่ ๆ แล้ว เป็นการผสมผสานการสั่งซื้อออนไลน์ และให้ลูกค้าไปรับสินค้าที่สาขาที่กระจายอยู่ในจุดสะดวกของผู้ซื้อ กลยุทธ์นี้เป็นกรณีของค้าปลีกที่ดั้งเดิมเป็นหน้าร้านแล้วมาทำออนไลน์ภายหลัง

ในทางกลับกัน ค้าปลีกที่ดั้งเดิมเป็นออนไลน์ก็ขยายไปสู่ออฟไลน์ได้เช่นกัน Amit Anand ยกตัวอย่าง Pomelo Fashion เริ่มต้นจากการเป็นร้านเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์และภายหลังมีการลงทุนก้อนใหญ่ในเปิดหน้าร้าน เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงสินค้า ณ สถานที่จริง ลูกค้าสามารถดูสินค้าที่หน้าร้านแล้วกลับสั่งออนไลน์ หรือจะสั่งออนไลน์แล้วมาลองและรับสินค้าที่หน้าร้านก็ได้ทั้งสิ้น

ทางด้าน Zalora ก็ได้ประกาศจับมือกับ Ayala Malls ศูนย์การค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปินส์ในการร่วมกันทำ Omni-channel เพื่อให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ Zalora และไปรับสินค้าที่ Ayala Malls ที่ลูกค้าสะดวกที่สุด

กล่าวโดยสรุป ในอนาคตจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง Offline และ Online แต่ทั้งสองจะผสานประโยชน์กันเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า Customer journal ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อและเลือกรับสินค้าได้อย่างมีอิสระ

2. สร้างโอกาสใหม่โดยการพัฒนาสินค้า และบริการมาเสริมกลุ่มธุรกิจเก่า

Parker Gundersen, Zalora Group CEO เคยให้สัมภาษณ์ต่อ Inc. Southeast Asia ว่า…

“…The real opportunity to come and build the kind of infrastructure that we have was a few years ago. There are pretty established big players now in the market, Zalora being one of them, so if you’re going to come in and try to replicate that model, that’s a very big investment that you’re going to have to make…”

“…โอกาสในการสร้างแพลทฟอร์ม (ค้าปลีกออนไลน์) ได้ล่วงเลยมาแล้ว วันนี้เจ้าของแพลทฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ได้เติมโตจนยากที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะเข้ามาแข่งขัน ใครก็ตามที่พยายามจะสร้างแพลทฟอร์มแบบนี้จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอย่างสุดประมาณ…”

Parker Gundersen แนะนำผู้ที่อยากเข้ามาสร้างโอกาสในเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตต้องหาโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและต้องมุ่งเน้นที่สินค้าและบริการอันเป็นการต่อยอดหรือประสานประโยชน์ให้แก่โมเดลธุรกิจเดิม แนวคิดนี้เรียกว่า Ecosystem models — Amit Anand ยืนยันในหลักการ

ยกตัวอย่างนิทานจากนิรนามที่เคยแชร์กันในโซเชียลมีเดียไทย เล่าว่า…

ณี่ปุ่นคนแรก เดินทางไกลพบพื้นที่ว่าง เห็นโอกาส จึงสร้างปั๊มน้ำมัน เพราะเป็นปั๊มแรก ๆ ในพื้นที่แห่งนั้น จึงทำให้ขายดี

ณี่ปุ่นคนที่สอง เห็นปั๊มน้ำมันขายดีมีคนเยอะ จึงสร้างร้านอาหา

ณี่ปุ่นคนที่สาม เห็นปั๊มน้ำมัน มีร้านอาหาร มีคนพลุกพล่าน จึงสร้างโมเทลเล็ก ๆ สำหรับนอนค้าง

ณี่ปุ่นคนที่สี่ เห็นมีโมเทลสำหรับนอนค้าง มีคนมากมาย จึงสร้างมินิมาร์ท

ตัวอย่างนี้เรียกว่า Ecosystem model คือ การสร้างธุรกิจที่เกื้อกูลกันล้อมรอบพื้นที่ของโอกาส แทนที่จะไปสร้างธุรกิจที่เหมือน ๆ กันจนตลาดวาย บนโลกออนไลน์ก็ใช้หลักการเดียวกัน

ยกตัวอย่างตลาด E-Commerce ในอเมริกาพัฒนาไปไกลมาก ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ และแทนที่คนอเมริกันจะหันไปขายของออนไลน์กันมากขึ้น คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยกลับเลือกที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์บริการผู้ประกอบการในธุรกิจ E-Commerce ขึ้นมาอีกที อาทิ ซอฟต์แวร์วิเคราะห์เว็บไซต์, ซอฟต์แวร์ทำกราฟฟิก, ซอฟต์แวร์ทำวีดีโอ, ซอฟต์ด้านการเงินออนไลน์ เป็นต้น ฯลฯ

3. ประยุกต์ใช้ Data ให้ชำนาญ

Amit Anand เล็งเห็นความสำคัญของ Data หรือ ข้อมูล และเขามักวางระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวัดผลและวิเคราะห์ธุรกิจตั้งแต่เแรกเริ่มงาน

จุดเด่นของธุรกิจออนไลน์ คือ ความสามารถในการวัดผลเป็นตัวเลขที่ค่อนข้าง Real-time, แม่นยำ, และรวดเร็ว การวัดผลช่วยให้คุณนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์ธุรกิจได้แบบวันต่อวัน

หลักคิดสำคัญ คือ ตัวเลข สถิติต่าง ๆ ไม่เคยโกหก หากสถิติให้ผลลัพธ์ว่า อัตรา Conversion rate (การผันจากผู้เยี่ยมชมเป็นผู้ซื้อ) ของเว็บไซต์อยู่ที่ 5% คุณสามารถปักใจเชื่อตัวเลขนี้ได้ทันทีและคุณเพียงหาวิธีทำอย่างไรให้คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น คุณจะสามารถพยากรณ์ยอดขายล่วงหน้าหลายเดือนได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ

ทั้งนี้ นักธุรกิจออนไลน์ใน เอชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจยังไม่สันทัดหรือสนใจกับเรื่อง สถิติ ข้อมูล และการวิเคราะห์วัดผลอย่างเข้มข้นมากเท่ากับฝั่งตะวันตก แม้จะสร้างยอดขายได้มาก แต่การทำงานยังเป็นลักษณะ Very-active อาทิ คนขายสินค้าออนไลน์ในจีนที่มีการแข่งขันสูงอันดับต้น ๆ ของโลก คนขายสินค้าต้องมีการออกมาประกาศขายทางสื่อ ไปจนถึงไลฟ์ขายสินค้าทุกวันวันละหลายชั่วโมงเพื่อรักษายอดขายของตนเองไว้

แต่เมื่อได้ก็ตามที่ คุณเริ่มโฟกัสกับการสร้างระบบ การประยุกต์ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์วัดผล (และประกอบกับมี Ecosystem บนโลกออนไลน์ที่ดี) การทำธุรกิจออนไลนสำหรับผู้ประกอบรายย่อยและขนาดกลางจะเริ่มมีความกึ่งอัตโนมัติ และมีความ Passive เล็ก ๆ ขึ้นมาได้