Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หน่วยงานย่อยขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN เผยอุณหภูมิโลกกำลังเข้าขั้นวิกฤตหนัก และหากแก้ไขไม่ทันภายใน 12 ปีนี้ โลกก็จะเข้าสู่หายนะเต็มตัวโดยไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมหลังปี ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป
รายงานอ้างอิงจาก Pre-Industrial Baseline ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ติดตามสภาวะโลกร้อนและสภาวะก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วง 168 ปีที่ผ่านมา โดยหลังจากยุค Industrial Revolution ในปี ค.ศ. 1700 กิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างสารพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากและส่งผลให้อุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้นโดยปัจจุบันอุณหภูมิโลกปรับตัวสูงกว่า Pre-Industrial Baseline จำนวน 1.1 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หายนะจะบังเกิดเมื่ออุณหภูมิโลกปรับตัวสูงกว่า Pre-Industrial Baseline จำนวน 1.5 องศาเซลเซียส
ปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบไปบ้างแล้ว อาทิ น้ำแข็งขั้วโลกละลายไปเป็นจำนวนมาก น้ำแข็งเหล่านั้นกลายเป็นน้ำที่ไปเพิ่มระดับน้ำทะเลบนโลก ความเลวร้ายของสภาพอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด และพายุคะนองขั้นรุนแรงเกิดบ่อยขึ้นล้วนเป็นสัญญาณว่าวิกฤตกำลังเริ่มต้น
เมื่อใดก็ตามที่อุณหภูมิโลกปรับตัวสูงกว่า Pre-Industrial Baseline จำนวน 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดสภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่จะเกิดสภาวะแห้งแล้งจัดหรือเกิดไฟป่า และบางพื้นที่จะหนาวจัดหรือเกิดพายุ แนวปะการังในออสเตรเลียจะตายไปถึง 70- 90% เศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มตกต่ำ และผู้คนนับ 100 ล้านคนจะขาดแคลนอาหาร
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าปรากฏการณ์นี้เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องตื่นตัวและเริ่มต้นช่วยกันแก้ไขทุกภาคทันที ได้แก่ ภาคพลังงาน, กลุ่มโรงงาน, กลุ่มอาคาร, กลุ่มการขนส่ง, และกลุ่มเมืองหลวง เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงมา 45% – 50% ก่อนปี ค.ศ. 2030 และลดปริมาณให้เหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
นักวิทยาศาสตร์ยังรายงานว่า หากมนุษย์ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันภายในปี 2030 โลกจะเข้าสู่วิกฤติโลกร้อนในระดับใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมและจะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาสู่ปกติได้อีกเลย
จากการรายงานของ 2015 Paris Climate Agreement พบว่าปัจจุบันมี 197 ประเทศที่ลงนามให้ความร่วมมือรักษาอุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสจาก Pre-Industrial Baseline และเป้าหมายสูงสุดร่วมกันที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนาม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลัง Donald Trump กลับพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความร่วมมือ