สอนสร้างคอร์สออนไลน์ วิธีคิดในการเริ่มต้นก้าวแรกกับอาชีพสอนออนไลน์

บทความ สอนสร้างคอร์สออนไลน์ บทความนี้จะให้แนวทางการเอาชนะเสียงต่อต้านเล็ก ๆ ในหัวของคุณ ที่อาจทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นใจที่จะสอน กลัวที่จะลุกขึ้นมาสอน ไปจนถึงกลัวการขาย และกลัวคนไม่ซื้อ Informationproduct ของคุณ

เสียงต่อต้าน เหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมถึงตัวผมเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่มืดหม่นเหล่านี้มาแล้วเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนเราอาจมีความรู้สึกไม่มั่นใจ หรือความรู้สึกกลัวเมื่อจะต้องเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ความกลัว เป็นกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตหรือในธรรมชาติ ความกลัวช่วยให้คุณห่างไกลจากสัตว์ร้ายและอันตรายต่าง ๆ แต่สังคมมนุษย์ที่มีอารยธรรมก้าวหน้าแล้ว ความกลัวอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้คุณห่างไกลจากความสำเร็จ ดังนั้นเราไปเรียนรู้วิธีก้าวผ่านความกลัวนี้ ไปด้วยกัน

1. กลัวการสอน

เสียงต่อต้านเล็ก ๆ ในหัว อาทิ…ฉันยังไม่เก่ง, ฉันรู้ไม่มาก, ฉันสอนใครไม่ได้, ใครจะมาเสียเงินเพื่อฟังฉันสอน เป็นต้น

และที่น่าแปลกใจ คือ เสียงต่อต้านเล็ก ๆ ในหัวเหล่านี้ เกิดกับผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้อย่างยาวนานในสายอาชีพของเขา ประมาณ 6 ถึง 7 คนใน 10 ที่มีโอกาสไปให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำคอร์สออนไลน์

อาการนี้เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ เท่าที่พูดคุยและวิเคราะห์ร่วมกันมา ได้แก่:

  • พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เก่งกว่าในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
  • พวกเขาอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น ๆ นานจนเคยชิน

วิธีคลายปม

วิธีคลายปมทั้ง 2 ข้อนี้ ไม่ยาก วิธีคลายปมอาศัยเพียงหลักคิดเดียวก็จะแก้ได้ทั้ง 2 ปม คือ ‘โดยทำความเข้าใจว่าไม่มีใครเก่งที่สุดในโลก’

ความรู้บนโลกนี้มากมายมหาศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ความรู้ในสาขาอาชีพที่คุณทำอยู่เพียงสาขาเดียวก็ยากแล้วที่คน ๆ หนึ่งคนจะรอบรู้ทุกอย่างภายในสาขานั้นแบบ 100% เต็ม ในชีวิตจริง สิ่งที่คุณทำได้ คือ ขวนขวายเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต คุณอาจรู้แง่มุมที่บุคคลที่คุณนับถือว่าเขาเก่งมาก ๆ ก็อาจยังไม่รู้ ดังนั้น คุณรู้แค่ไหนก็สอนแค่นั้น

เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น…

– สมมุติความรู้มี 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 0 ถึง 5 โดย 0 คือไม่รู้อะไรเลย และ 5 คือรู้ครบจบรอบด้าน

– หากประสบการณ์และความรู้ของคุณอยู่ระดับ 2 กลุ่มนักเรียนของคุณก็คือคนที่มีความรู้ในระดับ 0 และ 1 นั่นเอง

– หลักคิด ก็คือ สอนในเรื่องที่คุณรู้แล้วเป็นอย่างดี ให้กับคนที่รู้น้อยกว่าคุณ ส่วนความรู้ที่ยังไปไม่ถึง ก็ไม่ต้องไปแตะ จนกว่าคุณจะกลับไปศึกษาเพิ่มเติมค่อยว่ากันใหม่

2. กลัวการขาย

การขายเป็นสิ่งที่หลายคนอาจอึดอัดใจที่จะทำ ส่วนหนึ่งอาจจะประสบการณ์ที่ได้รับหรือได้เห็นจากนักขายในอดีต ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี รู้สึกไม่อยากทำ และอาจจะกลัวประสบเหตุการณ์ไม่ดีแบบที่นักขายบางคนเคยประสบจากลูกค้า เป็นต้น

และผมไม่มีคำพูดใดที่จะทำให้ทุกคนเลิกกลัวการขายไปได้ เพราะแม้แต่ผมเองในปัจจุบันก็ยังแอบประหม่าอยู่บ้างเมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูดขายของ ดังนั้น คำแนะนำแรก คือ ขอเพียงเราเข้าใจว่าโลกใบนี้มันขับเคลื่อนด้วยการขาย การซื้อขายเกิดขึ้นทุกวัน คุณเองก็ขายของแทบจะทุกวันโดยไม่รู้ตัว

การไปกินอาหารร้านอร่อย ดูหนังสนุก ไปพักโรงแรมที่ดีมาก ๆ สิ่งแรกที่คุณทำเมื่อกลับมาเจอเพื่อนฝูงที่ทำงาน คือ คุณจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ที่ทำงานไปใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ พวกเราย่อมต้องเคยเขียนเชียร์ เล่าประสบการณ์ดี ๆ โพสต์รูป พร้อมแปะลิงค์แนะนำให้เพื่อน ๆ ตามไปซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้น

เหล่านี้ล้วนมีส่วนแห่งคุณสมบัติของ ‘การขาย’ ทั้งสิ้น เพียงแต่ยังไม่ครบองค์ตรงที่คุณไม่ได้เป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง เท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายจากบทความที่ผมเคยอ่านเมื่อนานมาแล้วบอกว่าให้เราทำความเข้าใจว่า ‘การขาย’ คือ การนำโอกาสดี ๆ ไปให้ลูกค้า

การที่คุณนำสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยมไปเสนอขายให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย คือ การสร้างโอกาสให้พวกเขาได้ใช้สินค้าและบริการที่จะไปบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ชีวิตของพวกเขา

3. กลัวคนไม่ซื้อ

ในกรณีของ Information business นั้นอาจเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ 1) คุณอยู่กับอาชีพที่ตนเองทำนานจนเกิดความเคยชิน จึงมองไม่เห็น ‘คุณค่า’ ในความรู้ที่คุณมี และ 2) คือ คุณไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตลาด จึงนึกภาพไม่ออกว่า ความรู้ของคุณจะขายออกได้อย่างไร

วิธีแก้ไม่ยาก ในบทความถัดไปจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาความต้องการของตลาด

คุณอาจสนใจ