รู้จัก Fred & Francis และแนวคิดสตาร์ทอัพธุรกิจเสื้อผ้าที่ไม่ได้ขายเสื้อผ้า

ท่านที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวจะรู้ดีว่าผมใส่เสื้อผ้า Theme เดียวคือ เชิร์ตแขนยาว และกางเกงยีน โดยโทนสีของเสื้อเชิร์ตหลัก ๆ จะมีสามสี ได้แก่ ขาว น้ำเงิน ดำ โดยสีที่ใส่บ่อยที่สุดคือสีขาวจนคนทักว่า “เคยซักเสื้อบ้างหรือไม่” คำตอบคือ ผมมีเสื้อแบบเดียวกันเป๊ะมากกว่าหนึ่งตัว

ผมไม่ใช่คนแฟชั่นจ๋า แต่ก็มีรสนิยมในการแต่งตัว ไม่ใช่เสื้อเชิร์ตสีขาวอะไรก็ได้ แต่ผมใส่ใจในเนื้อหาและการตัดเย็บโดยเสื้อต้องเข้ารูป พอดีตัว ดังนั้นเสื้อเชิร์ตบางตัวของผมเป็นการ ‘สั่งตัด

ที่เกริ่นมาเพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ผมได้รับการติดต่อเสนอขายบริการตัดเสื้อเชิร์ตนามว่า Fred & Fracis ที่แตกต่างจากที่ผมเคยประสบมา ปกติผมต้องไปที่ร้านตัดเสื้อ ดูผ้า ดูแบบ ดูทรง และสั่งตัดซึ่งทางร้านไม่ได้มีคำแนะนำอะไรมากมาย ถ้าตัดมาไม่ถูกใจก็เป็นเพราะผม ‘เลือกเอง’

แต่กรณี Fred & Francis เป็นบริการตัดเสื้อที่มาถึงที่ และมีสไตลิสต์มาคอยให้บริการ ผ่านไปเพียง 3 วันก็ได้รับเสื้อตัวต้นแบบที่แทบจะพร้อมสวมใส่ และสวยงามน่าพอใจ ดูไม่เหมือนเสื้อที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด และผลลัพธ์จากประสบการณ์ในครั้งนี้คือ

“ผมไม่รู้สึกว่านี่คือธุรกิจที่ขายเสื้อผ้าหรือการตัดเย็บ แต่เป็นการขายประสบการณ์และความดูดี”

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณมาโนช พฤฒิสถาพร ผู้ก่อตั้ง Fred & Francis ก็พบกับแนวคิดธุรกิจน่าสนใจมากมายจึงขอถือโอกาสนำมาบอกเล่าเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ทุกคนครับ

ที่มาที่ไปสู่การทำธุรกิจบริการตัดเย็บเสื้อผ้า?

 

คุณ มาโนช พฤฒิสถาพร เคยเป็นหนึ่งในคนไทยที่ทำงานอยู่ในบริษัท Credit Karma ที่ซานฟรานซิสโก เป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าคิดเป็นเงินไทยนับแสนล้านบาท การอยู่ท่ามกลางกลุ่มนักธุรกิจและวงการสตาร์ทอัพ ทำให้เกิดความหลงใหลในวิถีแห่งสตาร์ทอัพ และคิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองบ้าง โดยเขาเล่าว่า

“…ผมเลือกทำสตาร์ทอัพด้านตัดเสื้อผู้ชาย เพราะเล็งเห็นว่าคนไทยเป็นช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยม มีช่างตัดเสื้อฝีมือดีเยอะมาก และมีชื่อเสียงระดับโลก ค่าแรงค่อนข้างถูก ผมต้องเลือกทำอะไรที่อย่างน้อยผมพอมีข้อได้เปรียบเพื่อจะแข่งขันกันในระดับโลก

มีคนถามผมเยอะว่า ทำไมถึงทำอันนี้ทั้งที่ผมไม่ได้เป็นคนแฟชั่น คำตอบคือเพราะผมเป็นกลุ่มเป้าหมาย ผมไม่ใช่คนแฟชั่น แต่ต้องการดูดี กลุ่มนี้แหละคือกลุ่มเป้าหมายของผม…”

หลังจากทำสตาร์ทอัพที่อเมริกาได้หกเดือน เขาก็ตัดสินใจปิดบริษัทที่อเมริกา และย้ายกลับมาเริ่มที่ไทย เพราะด้วยปัญหาด้านวีซ่า แต่ความฝันที่จะทำสตาร์ทอัพไทยให้ไปไกลระดับโลกก็ยังคงอยู่ เริ่มที่กรุงเทพ เมืองที่เขาคุ้นเคยเข้าใจที่สุด และค่อยขยายออกไปสู่ประเทศต่าง ๆ

ส่วนที่มาของชื่อ Fred & Francis นั้น เขาเรียนรู้จากตอนทำที่อเมริกาว่าถึงจะเป็นสตาร์ทอัพ แต่ถ้าเป็นสายแฟชั่นแล้ว ชื่อต้องเป็นชื่อแฟชั่น ฟังดูหรูหรา พอมาเริ่มที่ไทยเขาจึงเลือกชื่อ Fred & Francis Francis นั้นมาจากซานฟรานซิสโก ส่วน Fred นั้นคือชื่อที่คล้องกับ Francis และสามารถจดเว็บไซต์เป็น .com ได้
จุดขายที่แม้จริงไม่ใช่ เสื้อผ้า แต่คือ ‘เวลาและความดูดี’

มุมมองที่แตกต่างระหว่างแฟชั่นผู้หญิง และแฟชั่นผู้ชายคือ แฟชั่นผู้ชายไม่ต้องการอะไรที่เยอะ ไม่ต้องตามกระแส แต่ต้องการความเรียบง่าย ดูดี และอยู่เหนือกาลเวลา! นี่คือความท้าทายของแฟชั่นผู้ชาย

Fred & Francis จึงออกแบบวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ โดยสร้างสไตลิสที่เข้าใจแฟชั่นและภาพลักษณ์มาคอยบริการดูแลลูกค้าอย่างคนพิเศษถึงที่ ตั้งแต่วัดตัว เอาผ้าไปให้ดู ออกแบบสูทเสื้อเชิ้ตที่เหมาะกับบุคลิกและรูปร่าง และทำการลองตัวและส่งมอบ รวมถึงให้คำแนะนำด้านการแต่งกายตลอดไป และไม่มีหน้าร้าน

ลูกค้าจึงไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปสั่งชุด ไม่ต้องไปลองชุด และไม่ต้องไปรับชุดด้วยตนเอง เป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ชายทำงานออฟฟิศและเจ้าของกิจการที่มีเวลาจำกัด ได้รับความสะดวกสบาย และเสื้อผ้าที่ปราณีตดูดีสมฐานะและตำแหน่งงาน

จากวันเริ่มต้นจนถึงวันนี้ (มีนาคม 2560) Fred & Francis เปิดบริการมาได้ครบ 4 เดือนแล้ว โดยคุณ มาโนช พฤฒิสถาพร บอกว่า

“… ผลตอบรับหลังจากเริ่มให้บริการมาถือว่าดีมาก ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายที่เราไปสัมภาษณ์ ชอบคอนเซปต์ ถ้าเลือกได้พวกเขาก็ไม่อยากเดินทาง ไม่อยากเสียเวลา อยากให้มีคนมาทำให้ถึงที่ อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าชอบมากคือ คำแนะนำสิ่งที่เหมาะกับรูปร่างและภาพลักษณ์เขาที่สไตลิสต์เรามอบให้ ซึ่งร้านตัดเสื้อทั่วไปไม่สามารถให้ได้…”

ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้ามีความเป็นสตาร์ทอัพอย่างไร?

คำถามที่คุณมาโนช ประสบบ่อยคือ นี่มันใช่สตาร์ทอัพหรือ?… จะ Scale ธุรกิจอย่างไร?
เขาอธิบายว่า…

“…คอนเซปต์ของสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยี สตาร์ทอัพคือรูปแบบธุรกิจที่แก้ปัญหาหนึ่งในชีวิตคนหรือองค์กร และสามารถทำซ้ำได้ โตเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี

ถึงเราจะเลือกโมเดลโตด้วยสไตลิสต์ก็ยังสามารถโตเร็วได้ โดยสไตลิสตฺหนึ่งคนสามารถดูแลลูกค้าได้ประมาณ 50 คน ในกรุงเทพเรามองไว้ว่าตลาดน่าจะมีถึง 10,000 คน ด้วยประสบการณ์แบบ VIP และความสัมพันธ์ระหว่างสไตลิสกับผู้ใช้ เราเชื่อว่าการบอกต่อจะสูง

สิ่งที่ Fred & Francis กำลังสร้างไม่ใช่แฟชั่นสตาร์ทอัพ แต่คือ Service & Distribution Channel Platform เมื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้และเข้าใจความต้องการเขาเป็นอย่างดี ย่อมมีโอกาสที่ทำอะไรได้อีกเยอะ เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อและพร้อมจ่าย พวกเขาต้องการการดูแลเป็นพิเศษ…”

แนวโน้มของตลาดเสื้อผ้าผู้ชาย

คุณมาโนชมีมุมมองว่า ผู้ชายกำลังให้ความสำคัญกับการแต่งตัวมากขึ้น และคนยุคใหม่ก็ยุ่งมาก มองหาสิ่งที่จะมาช่วยให้พวกเขามีเวลามากขึ้น

“… ที่อเมริกาคือตอนนี้แทบทุกคนซื้อสินค้าผ่าน Amazon เยอะมาก เพราะความมั่นใจว่าราคาถูก ไม่ต้องเช็คที่อื่น และบริการส่งและคืนดีมาก แต่ก็ยังมีอีคอมเมิร์ซสตาร์ทอัพเจ้าอื่นที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสตาร์ทอัพที่โฟกัสกับ Vertical เดียว แล้วส่งมอบสินค้าพร้อมประสบการณ์ให้ออกมาตรงกับความต้องการของผู้ใช้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ให้สิ่งที่ Amazon ไม่สามารถให้ได้ เพราะต้องขายทุกอย่าง

Personalization ก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่ทุกอีคอมเมิร์ซให้ความสำคัญ ทุกที่พยายามใช้ข้อมูลผู้ใช้ที่มาเพื่อแสดงตัวสินค้าและการสื่อสารที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ทั้งบนเวบไซต์และอีเมล…”

สิ่งที่ Fred & Francis มีคือ เวลาในการเตรียมตัวก่อนจะไปเจอลูกค้า และข้อมูลลูกค้าที่เก็บโดยสไตลิสต์ ซึ่งทำให้สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ตรงกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ทาง Fred & Francis เชื่อว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว

ความท้าทายในธุรกิจ

สิ่งที่ท้าทายของ Fred & Francis คือพวกเขาเลือกธุรกิจเสื้อสั่งตัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ตั้งกำแพงกับผลิตภัณฑ์สูงมาก เพราะเป็นงานฝีมือที่ยากที่จะรู้ว่าที่ไหนดีไม่ดี คนส่วนใหญ่จึงอาศัยถามเพื่อนอย่างเดียว และความท้าทายอีกอย่างที่ Fred & Francis เจอคือ คนหลายคนมีร้านตัดเสื้อที่พวกเขาตัดประจำและชอบอยู่แล้ว ถึงจะไม่สะดวก แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงลองสิ่งใหม่

สิ่งที่ Fred & Francis ทำคือ โฟกัสเป็นบริษัท ๆ ไป หาผู้ใช้ให้ได้หนึ่งคนแล้วการบอกต่อจะมาเอง เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในคุณภาพทั้งตัวสินค้าและประสบการณ์ นอกจากนี้ Fred & Francis ยังพยายามเจาะกลุ่มผู้ใช้ที่ทำงานอยู่นอกใจกลางเมือง เพราะกลุ่มนี้มี pain point เรื่องความไม่สะดวกที่ชัดเจนมาก

“… ถึงผู้ใช้จะลองสั่งแค่เสื้อเชิ้ตหนึ่งตัวเราก็จะเดินทางไปพบ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่รู้จักผมมาก่อนจะไม่พร้อมที่จะตัดเสื้อตัดสูทที่เขาอยากได้ พวกเขาจะลองเริ่มจากเสื้อเชิ้ตก่อน เมื่อพวกเขาเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการแล้วก็จะทำให้พวกเขากลับมาและบอกต่อ เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระยะยาวเป็นที่สุด”

แผนงานในอนาคต

ปัจจุบันทาง Fred & Francis มีสไตลิสต์ทั้งหมด 6 คน และรับเพิ่มเรื่อย ๆ บริษัทของเรามีแผนที่จะเปิดโชว์รูมของตัวเอง เพื่อเสริมภาพลักษณ์และให้ผู้ใช้ที่อยากเห็นสินค้าได้เห็น โดยจะเป็นโชว์รูมที่เน้นนำเสนอประสบการณ์ความเป็นส่วนตัว

Fred & Francis เริ่มจากสูทและเสื้อเชิ้ตสั่งตัด เพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่ผู้ชายทุกคนต้องมีและพร้อมซื้อบ่อย และสามารถสร้างแบรนด์ตัวเองได้ ด้วยข้อมูลผู้ใช้ที่มี ในอนาคต Fred & Francis สามารถนำเสนอเครื่องแต่งกายอย่างอื่นที่นอกเหนือจากเสื้อสูทและเสื้อเชิร์ต

ในส่วนของเทคโนโลยีซึ่งยังไม่ใช่ส่วนสำคัญตอนเริ่ม Fred & Francis มีแผนที่จะทำเป็นเวบไซต์ ecommerce ที่ผู้ใช้สามารถเลือกและสั่งออนไลน์ได้ถ้าต้องการ หลังจากที่เจอสไตลิสต์วัดตัวครั้งแรกแล้ว ในระยะยาวทางสตาร์ทอัพจะพัฒนาเป็น Virtual Assistant สำหรับผู้ใช้ที่อยากช็อปออนไลน์

“…เรามองตัวเองเป็นสตาร์ทอัพบริการด้านเครื่องแต่งกาย ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อนาคตเราจะขยายไปทั่วภูมิภาค…”