เจาะเส้นทางธุรกิจ Frank Wang ผู้ก่อตั้ง DJI โดรนแดนมังกรผู้พิชิตตลาดโดรนโลก

ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการถ่ายภาพพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และความต้องการในการใช้งานก็หลากหลายยิ่งขึ้น อีกทั้งมีกิจกรรมมากมายที่ต้องการภาพถ่ายจากมุมสูง อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพมุมสูงจึงเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าพูดถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพมุมสูงน้อยคนจะไม่รู้จักโดรน และเจ้าตลาดของโดรนในปัจจุบันนี้คือ DJI บริษัทสัญชาติจีน เซินเจิ้นแท้ ๆ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักผู้ก่อตั้ง Frank Wang ที่นำพา DJI เป็นมังกรทะยานฟ้า กวาดส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก

จุดกำเนิดเจ้าพ่อโดรนมังกร

Frank Wang (แฟรงค์ วัง) หรือชื่อจีนคือ WāngTāo (Chinese:汪滔 , Pinyin:Wāng Tāo) (วังเทา) เกิดปี 1980 เกิดในเมืองหางโจว ประเทศจีน มีพ่อเป็นวิศวกร

ในวัยเด็ก Frank Wang เป็นคนที่ชื่นชอบอะไรก็ตามที่บินได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากการผจญภัยของเฮลิคอปเตอร์สีแดงในหนังสือการ์ตูน ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความฝันในวัยเด็กและผลักดันเขาไปตลอดชีวิต

ต่อมาเขาได้รับของเล่นชิ้นหนึ่งเป็น เฮลิคอปเตอร์บังคับ ในวัย 16 ปี นั่นเป็นเฮลิคอปเตอร์บังคับลำแรกของเขา แต่เขารู้สึกว่ามันบังคับยากมาก ๆ และสุดท้าย เขาทำมันตกไปที่ป่าหลังบ้าน ห่างออกไปไกล แน่นนอนสภาพพังยับเยิน Wang คิดว่าทำไมไม่มีใครทำให้มันบังคับง่าย ๆ บ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาซ่อมเฮลิคอปเตอร์เอง (ด้วยความช่วยเหลือจากคุณพ่อที่เป็นวิศวกร) และเริ่มที่จะดัดแปลงระบบการบินด้วยตนเอง

ไม่ได้เรียน MIT หรือ Stanford แล้วไง

Frank Wang ต่างจากนักธุรกิจสตาร์ทอัพชื่อดังทั่วไป เขาไม่ได้เข้าเรียนในสถาบันเทคโนโลยีที่อเมริกา ไม่เคยไป Silicon Valley แต่เขาได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong University of Science and Technology) ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเขาได้รับทุนการศึกษา และที่นี่เขาได้ทำโครงการสำหรับจบการศึกษา คือ ระบบควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์บังคับ

แต่แม้จะพยายามอย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ล้มเหลวเพราะเกิดความเสียหายในคืนสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นนำเสนอ แต่ศาสตราจารย์ที่พิจารณาโครงการนี้ก็เข้าใจในสิ่งที่เขากำลังทำ และให้โอกาสแก้ไขอีกครั้ง ซึ่งศาสตราจารย์คนนั้นคือ Proffesor li Zexiang ผู้เป็นอาจารย์สอนวิชาการพัฒนาหุ่นยนต์ ที่เห็นถึงความตั้งใจที่ฉายแวว ของ Frank Wang และภายหลังจากที่ Wang ได้ก่อตั้งอาณาจักร DJI แล้ว เขาได้เชิญ Proffessor li Zexiang มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และได้เข้ามาถือหุ้นใน DJI ถึง 10%

ที่มา https://brunch.co.kr/@saranghara/26

Frank Wang ได้ค้นคว้าและพัฒนาระบบการบินของตนเองอยู่ภายในหอพักของมหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นก็รับจ้างทำงานพิเศษเพื่อหารายได้มาใช้ในการพัฒนาโปรเจ็คของเขาต่อไป วัง และ เพื่อนได้ก่อตั้งธุรกิจของตนเองที่ชื่อ DJI ย่อมาจาก Dajiang Innovation Technology ในห้องพักเล็ก ๆ นั่นเอง

หลังจากที่เรียนจบ Frank Wang  และเพื่อนอีก 2 คน ย้ายมาอยู่ในอพาร์ทเม้นต์ที่เซินเจิ้น เมืองแห่งเทคโนโลยีที่เปรียบเหมือน Silicon Valley ของจีน จากผู้บุกเบิกเพียง 3 คน ในอพาร์ทเม้นต์เล็ก ๆ ในปี 2006 ซึ่ง 10 ปี ต่อมา DJI กลายเป็นบรษัทที่มีพนักงานกว่า 3,300 คน ทั่วโลก

แจ้งเกิด DJI กับผลิตภัณฑ์ Gimbal

จุดเด่นที่กลายเป็นตัวแจ้งเกิดให้ผลิตภัณฑ์ของ DJI คือ ชุดป้องกันการสั่นสำหรับกล้องขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า Gimbal รวมไปถึงชุดควบคุมการบิน ที่ถูกพัฒนาให้ควบคุมและบังคับได้ง่าย ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้ทดลองใช้ชื่นชอบมาก และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่จะนำไปติดตั้งกับ เฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับขนาดเล็กแบบ 4 ใบพัดที่เรียกว่า ‘Quadcoptor’ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้ Frank Wang  มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ สำหรับถ่ายภาพทางอากาศอย่างเต็มตัว

Frank Wang  พัฒนารูปแบบของโดรนอย่างจริงจัง และด้วยเทคโนโลยีการผลิตในเซินเจิ้นทำให้เขาสามารถผลิตชิ้นส่วนขึ้นมาเองได้ทั้งหมด ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มีบริษัทไหนที่สามารถผลิตชิ้นส่วนทุกอย่างแบบครบวงจรได้เท่า DJI

สยายปีกสู่ระดับโลก

ที่มา https://vulcanpost.com/595197/life-lessons-dji-frank-wang/

Frank Wang  ได้พบกับ Colin Guinn ผู้ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ รับถ่ายภาพทางอากาศ ที่กำลังมองหาวิธีการถ่ายภาพที่ไม่ทำให้กล้องสั่นไหว โดยเขาต้องการใช้ UAVs หรือ Unmanned Aerial Vehicles — อากาศยานไร้คนขับ มาช่วยในงานของเขา

หลังจากที่ทั้งคู่ได้พบกันที่เมือง Muncie สหรัฐอเมริกา ในปี 2011 Colin Guinn ก็รีบบินตามไปเจรจากับ Wang ที่เซินเจิ้น และทั้งคู่ตกลงที่จะก่อตั้งบริษัท DJI North America ที่เมือง Austin ในรัฐ Texas เป็นบริษัทย่อย เพื่อดูแลด้านการจำหน่ายโดรนในสหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นผลงานของ Guinn โดดเด่นมาก เขาเปิดตลาดให้กับ DJI ในอเมริกาได้อย่างงดงาม จน Wang ยอมให้ Guinn ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 48% ในบริษัทย่อย ส่วน Wang เองถือครอง 52%

มิตรข้างกายคือศัตรูที่น่ากลัวที่สุด

ที่มา https://vulcanpost.com/595197/life-lessons-dji-frank-wang/

เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน Colin Guinn ก็เริ่มออกลาย เขามักจะอ้างเครดิตว่าเป็นผู้พัฒนา Phantom (โดรนที่เป็นรุ่นเรือธงของ DJI) ทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานของทีมงานจากจีน และ Guinn เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้ Wang เริ่มรู้สึกไม่พอใจ และระเบิดเวลาอีกหนึ่งลูกคือ การที่ Guinn ชอบแนะนำตัวเองว่า เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของ DJI North America ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็น ยิ่งทำให้ Wang ไม่พอใจยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีที่ Guinn ไปทำสัญญาให้ GoPro เป็นผู้ผลิตกล้องให้กับ DJI แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะ Wang ที่โกรธ แต่ทาง GoPro ก็โมโหสุดขีด เหมือนโดนหยามเกียรติ จนตัดสินใจพัฒนาโดรนด้วยตนเอง (ซึ่งต่อมากลายเป็นหายนะของ GoPro ในที่สุด)

ในที่สุด Guinn ตัดสินใจยื่นฟ้อง DJI แม้สุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ โดยมีข้อตกลงที่ DJI จะจ่ายเงินชดเชยให้กับ Guinn โดยไม่เปิดเผยตัวเลข

การที่บอกว่าผมไม่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของ Phantom มันก็ฟังดูตลกพอ ๆ กับการบอกว่าผมเป็นผู้คิดค้น Phantom นั่นแหละ

แม้ Guinn จะได้รับเงินชดเชย และเหมือนจะเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ แต่ทั้ง Guinn และทีมงานที่เป็นไส้ศึกของเขาก็ยกขบวนลาออกทั้งหมด เพื่อย้ายไปอยู่กับบริษัท 3D Robotics และประกาศว่าจะช่วย 3D Robotics ผลิตโดรนที่เจ๋งกว่า Phantom และจะตีตลาดให้ยับ

เบื้องหลังกรณีนี้ Guinn ได้ส่งทีมพัฒนาซอฟท์แวร์ เข้ามาทำงานใน DJI North America เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาของ Phantom ตั้งแต่แรกแล้ว และเมื่อได้ข้อมูลที่มากพอก็ถึงเวลาที่จะโบยบินด้วยตนเอง ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันลาออกหลังจบกรณีพิพาท

สงครามน่านฟ้า ที่มีพื้นที่ทั่วโลกเป็นเดิมพัน

Guinn ผู้รู้ไส้ทุกขดของ DJI รู้ซึ้งถึงจุดอ่อนทุกซอกทุกมุม กลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดที่ Frank Wang  ต้องเตรียมรับมือ Guinn รู้ดีว่า ระบบที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ ฮาร์ดแวร์ แต่เป็น ซอฟท์แวร์ ที่ควบคุมจากภายใน และระบบซอฟท์แวร์ของ DJI เป็นระบบปิดเหมือน iOS และเขาจะพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ชื่อว่า Solo เป็นระบบเปิดเหมือน Android ซึ่งถึงแม้ 3D Robotics จะมีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดสู้ DJI ไม่ได้ แต่เขาจะพัฒนาซอฟท์แวร์ระบบเปิด ที่ให้นักพัฒนาจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักก็อปปี้ในจีนเอง ร่วมกันพัฒนา และนี่คือจุดอ่อนที่ใหญ่มากของจีน เขาเชื่อว่าซอฟท์แวร์ของเขาจะให้กำเนิดโดรนสัญชาติจีนอีกจำนวนมาก มารุมกินโต๊ะ DJI

แพ้ชนะวัดกันที่ ทุน ทีม และ ความเร็ว

Frank Wang ไม่ต้องการแบ่งพื้นที่น่านฟ้าให้กับใคร แม้โดรนของ DJI อาจจะยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ Wang สามารถแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเซินเจิ้น คือ เมืองแห่งเทคโนโลยีการผลิต คือโรงงานหลักของโลก สามารถผลิตได้ทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้ (และนอกโลก) นี่คือชัยภูมิที่ดีที่สุดในการตั้งรับการโจมตีทุกรูปแบบ และในขณะนั้น DJI มีทีมนักวิจัยและพัฒนากว่า 1500 คนแล้ว ในขณะที่ทีมวิจัยของ 3D Robotics มีเพียง 70 คนเท่านั้น

ในปี 2015 3D Robotics เปิดตัว Solo โดรนรุ่นแรกที่ราคาสูงถึง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง DJI ตอบโต้ด้วยการลดราคารุ่นที่เก่ากว่าลงเหลือเพียง 500 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้ โดรนของ 3D Robotics ยอดขายไม่กระเตื้องเลย แม้ 3D Robotics จะมีซอฟท์แวร์ที่ดีกว่า หรือสเถียรกว่า แต่ก็ไม่มีผล เพราะไม่เกิดการใช้ต่อในวงกว้าง และไม่มีผู้นำไปพัฒนาต่อ

แผนที่ Guinn เคยวางไว้ล้มเหลวไม่เป็นท่า 3D Robotics ละลายเงินลงไปกับโครงการนี้กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขาดทุนยับเพราะ DJI ครองส่วนแบ่งการตลาดไปทั่วโลกแล้วกว่า 75% และกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ไม่อั้น กระแสเงินสดที่ท่วมท้นที่พร้อมจะลดราคาเมื่อไหร่ก็ได้ พร้อมตัวแทนจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วโลก สุดท้ายแล้ว 3D Robotics ต้องล้มเลิกความคิดที่จะเป็นคู่แข่งกับ DJI และขอเป็นพันธมิตรในการช่วยพัฒนาซอฟท์แวร์แทน โดยไม่มีการผลิต Solo รุ่นที่ 2 อีกเลย

ยอดขายพุ่งทะยาน ปกคลุมท้องฟ้าทั่วโลก

ที่มา https://vulcanpost.com/595197/life-lessons-dji-frank-wang/

ยอดขายของ DJI พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว ด้วยวิสัยทัศน์ของ Frank Wang  ที่ไม่หยุดให้โดรนเป็นเพียงอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศส่วนบุคคลเท่านั้น เขายังรุกไปถึง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ Star Wars ก็ใช้ โดรนของ DJI ในการถ่ายทำ และ ซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Game of Thrones ก็เช่นกัน นอกจากนี้ยังพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งในเชิงพาณิชย์ และโดรนที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนการถ่ายภาพทางอากาศที่ใช้ในงานแผนที่ ที่ต้องการความแม่นยำทางภูมิศาสตร์ และแม้แต่ในงานกู้ภัย ก็ใช้โดรนของ DJI

และที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับอเมริกาก็คือ แม้แต่ในกองทัพสหรัฐก็ยังใช้โดรนของ DJI ในการปฏิบัติภารกิจในประเทศ ซึ่งภายหลังอเมริกาแสดงความกังวลต่อความมั่นคง เกรงว่าข้อมูลทางการทหารจะรั่วไหล โดยตื่นตระหนกเพียงเพราะมีโดรนของ DJI ลำหนึ่งบินไปชนกำแพงทำเนียบขาวและตกภายในรั้ว จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบโดรนทั้งประเทศและข้อกำหนดให้ DJI จัดทำซอฟท์แวร์ ห้ามไม่ให้โดรนเข้าบินในรัศมี 15.5ไมล์ รอบทำเนียบขาว รวมถึงสถานที่สำคัญทางความมั่นคงอื่น ๆ ทั่วประเทศ กลายเป็นงานหนักของ DJI ที่จะต้องให้ความมั่นใจกับทุกประเทศว่า จะไม่มีการส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียง ไปเก็บบนระบบคลาวด์หรือส่งกลับไปที่รัฐบาลจีนไม่ว่ากรณีใด ๆ และจะไม่มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

แม้จะมีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับโดรนในอเมริกา แต่ยอดขายของ DJI ก็พุ่งทะยานไม่หยุดยั้ง ส่วนแบ่งการตลาดของ โดรนส่วนบุคคล DJI กวาดไปถึง 90% ส่วนโดรนที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ DJI มีส่วนแบ่งถึง 75% มียอดขายรวมสูงถึง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017 ที่ผ่านมา โดยได้รับการประเมินมูลค่าของบริษัทสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา https://www.cnet.com/products/dji-phantom-4/

สรุปเส้นทางของ Frank Wang

Frank Wang เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากหนังสือการ์ตูน และกลายเป็นความใฝ่ฝันที่ฝังรากลึกเป็นแรงผลักดันไปตลอดชีวิต ในบรรดาผุ้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น มีจำนวนไม่มากนักที่สามารถนำความใฝ่ฝันในวัยเด็ก พัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลกที่มีมูลค่ามหาศาลได้ขนาดนี้

Frank Wang ไม่ได้เข้าเรียน MIT หรือ Stanford ตามที่ใจหวัง ด้วยกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ และเขาไม่ต้องการให้ทางบ้านเดือดร้อน จึงตัดสินใจเรียนในมหาวิทยาลัยที่ฮ่องกง ด้วยการสอบชิงทุน ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันให้เขาต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่น และได้พบกับเพื่อนร่วมชั้น ช่วยกันผลักดันจนก่อกำเนิด DJI ในที่สุด

แม้เขาจะโดนทรยศจากสหายต่างชาติที่เขาให้ความไว้วางใจ แต่เขาก็สามารถปักหลัก และใช้จุดเด่นที่มีต่อสู้จนสามารถเอาชนะศัตรูที่น่ากลัวที่สุดลงได้

ความรวดเร็วเป็นหัวใจหลักของเรื่องราวในครั้งนี้ ในการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน (และแม้แต่ในอนาคตหลังจากนี้) หากขาดความพร้อม และพัฒนาได้ช้า แม้จะลงทุนลงแรงมากมายขนาดไหน ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ แค่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องพัฒนาให้เร็วอีกด้วย

DJI มีทีมวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็ง ยุคนี้เป็นยุคที่จีนรู้แล้วว่า ต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและสร้างสิทธิบัตรของตนเอง และทีมพัฒนาต้องไม่กระจุกอยู่แต่ในประเทศ บริษัทชั้นนำทั้งหลาย ทั้ง DJI หรือ Huawei ต่างก็มีทีมวิจัยพัฒนากระจายอยู่ทั่วโลก เหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เทคโนโลยีของจีนพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วจนคู่แข่งได้แต่ยืนมอง

วันนี้ Frank Wang ได้พิสูจน์ให้โลกได้รับรู้แล้วว่า เทคโนโลยีของจีนไม่แพ้ชาติใดในโลก DJI สามารถสยายปีก ทะยานสู่น่านฟ้าไปทั่วโลก เป็นอุปกรณ์ที่นักถ่ายภาพหลงรักมากที่สุด และมียอดขายอันดับ 1 ส่งให้ Frank Wang กลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อย ที่มีทรัพย์สินรวม 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

Source:

https://mashable.com/2017/08/25/frank-wang-dji-forbes/#Zz0hqKBBDaqI

https://successstory.com/companies/dji

https://vulcanpost.com/595197/life-lessons-dji-frank-wang/

https://en.wikipedia.org/wiki/Frank_Wang_(entrepreneur)

https://en.wikipedia.org/wiki/DJI_(company)

https://qz.com/1042831/americas-top-drone-company-couldnt-beat-chinas-dji-so-now-theyre-partners/

http://fortune.com/2017/08/01/dji-drone-3d-robotics/

https://www.recode.net/2017/4/14/14690576/drone-market-share-growth-charts-dji-forecast

https://www.forbes.com/sites/ryanmac/2015/05/06/dji-drones-frank-wang-china-billionaire/#32c9b1e6b48f

http://www.yosuccess.com/success-stories/frank-wang-dji-technology/

http://fortune.com/40-under-40/2015/frank-wang-22/