คุณมีร่างเนื้อหาที่จะสอน และต่อไปนี้คือการแนะนำ 4 รูปแบบวิธีนำเสนอสอนออนไลน์ ที่เหมาะกับความถนัดและสะดวกของผู้สอนแต่ละประเภท ในขณะเดียวนักเรียนของคุณก็อาจชื่นชอบและยอมรับได้ไปพร้อมกัน
1. บรรยายการสอนหน้ากล้อง
ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สตรีมมิ่งสด หรือบันทักเป็นวีดีโอไว้ล่วงหน้า ทั้งสองล้วนเป็นรูปแบบการสอนที่นิยมมากที่สุด เพราะเริ่มต้นได้ง่าย เร็ว และให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา
แต่ข้อควรระวังมี 2 ข้อ ได้แก่
1) เกิดอาการเหวอกล้อง เนื่องจากคุณไม่เห็นตัวผู้คนจริง ๆ ทำให้อาจเกิดความรู้สึกพูดไม่ออก วางตัวไม่ถูกได้ในช่วงแรก จึงจำเป็นต้องทำการฝึกฝนทักษะการพูด และสร้างความคุ้นชินในการพูดหน้ากล้องเพื่อให้การสอนดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น
2) เนื้อหาออกทะเล กล่าวคือ ทุกคนที่มีความรู้ที่จะสอนได้จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สอนเป็น คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้วางแผนเนื้อหาการสอนมาดีพอ ทำให้เนื้อหานั้นไม่เข้มข้น ไม่เข้าประเด็น และอาจพูดไปเรื่อย ๆ จนออกทะเล ทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่ได้รับประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ผู้สอนอาจมีความรู้นั้นจริง ๆ ก็ตาม
แนวทางแก้ไข คือ วางแผนหลักสูตรที่จะสอนอย่างรอบคอบ ออกแบบเนื้อหาทั้งหมดให้จบเสียก่อน อย่าไปแต่ตัวเปล่า ๆ แล้วคิดว่าจะเล่าสิ่งที่อยู่ในหัวออกไปลอย ๆ เพราะจะทำให้เกิดปัญหา 2 ข้อบน ได้แก่ เหวอกล้อง และ ออกทะเล ส่วนขั้นตอนการทำงานออกแบบหลักสูตร จะมีสอนลงลึกในตอนถัด ๆ ไปครับ
2. บรรยายการสอนอยู่หลังหน้าจอ Screen recording
ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สตรีมมิ่งสด หรือบันทักเป็นวีดีโอไว้ล่วงหน้า ทั้งสองเป็นรูปแบบการสอนที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เหมาะสำหรับหลักสูตรที่ต้องมีการเปิดคอมพิวเตอร์สอนพาทำแบบ Step-by-step และหลักสูตรที่มี ภาพประกอบ สไลด์ และไดอาแกรม จำนวนมาก นอกจากนั้นยังช่วยแก้ปัญหาให้ผู้สอนที่ไม่ชอบออกหน้ากล้อง หรือมีปัญหาในการพูดหน้ากล้อง สามารถมีคอร์สออนไลน์เป็นของตัวเองได้
ส่วนจุดด้อยหลัก ๆ ของการสอนแบบบรรยายหลังหน้าจอ Screen recording คือ ผู้เรียนอาจไม่ได้ฟีลลิงของผู้สอน เพราะจะเห็นแต่ Screen recording หน้าจอและสไลด์ วิธีแก้ทางจึงมีเพิ่มเติมอีก 2 วิธี ได้แก่
2.1. เพิ่มความหลากหลายของงานนำเสนอ ได้แก่
- ไม่ควรค้างภาพหน้าจอ หรือค้างสไลด์เดียวนานเกินไป
- หมั่นแทรกรูปภาพ หรือวีดีโอคลิป ประกอบการบรรยายบ่อย ๆ ซึ่งสื่อเหล่านี้สามารถหาซื้อได้จากเว็บ Stock photo และ Stock video clip อาทิ ShutterStock.com และ Artgrid.io
- หากจะอ่านบรรยายตามสไลด์พาวเวอร์พอยต์ อย่าเผยเนื้อหาทั้งหมดเพื่ออ่านตาม
- ให้ทำเป็นย่อหน้า หรือ Bullet point และใช้ฟังชัน Animation เพื่อคลี่ทีละหัวข้อ และอ่านตามทีละหัวข้อ
2.2. แทรกหน้าตัวเองเป็นกรอบเล็ก ๆ ที่มุมใดมุมหนึ่งของหน้าจอ
เป็นอีกวิธีที่ผู้สอน และยูทูปเบอร์นิยมทำ คือ มีกล้องเล็ก ๆ อีกตัว หรือ กล้องเว็บแคม ที่ติดมากับเครื่องคอมพิวเตอร์ บันทึกหน้าตัวเองคู่กันไปกับโปรแกรม Screen record โดยให้หน้าตัวเองวางไว้เป็นมุมเล็กที่มุมหนึ่งของหน้าจอ โดยโปรแกรมบันทึกและตัดต่อวีดีโอสมัยใหม่มีคำสั่งในการทำงานดังกล่าว
อาทิ Expertsity.com ใช้โปรแกรม Filmora
- ให้ไปที่ Record > Record PC Screen เพื่อใช้คำสั่งบันทึกหน้าจอ
- จากนั้นเลือก Setting และกดติกตรงกล่อง Record the camera stream
โปรแกรมก็จะค้นหาและเชื่อมต่อกับโปรแกรมเว็บแคมที่มันหาเจอ เพียงเท่านี้คุณก็จะบันทึกหน้าจอ และมีหน้าตัวเองเป็นมุมเล็ก ๆ คู่กันไป
3. เชิญผู้เชี่ยวชาญมาสอน
นี่คือจุดที่คุณเริ่มขยายธุรกิจโรงเรียนออนไลน์ จากสอนเองคนเดียวไปสู่จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาสอน และคุณเป็นผู้อำนวยการผลิต การตลาด และการจำหน่ายหลักสูตรทั้งหมด
ยกตัวอย่าง คอร์ส Fanpage Viral ที่ขายบนเว็บไซต์โรงเรียน Expertsity.com (สร้างและบริหารระบบโดยโปรแกรม LMS ของ Teachable) ทาบทาม โค้ช ออย ธนาวดี กมลเดช (หรือชื่อเดิม ธีรนุช กมลเดช) เธอมีผลลัพธ์ปั้นเพจโต 100 ล้านออแกนนิกรีช โดยไม่ต้องยิงแอด หรือขายของยิงแอด 2 – 3 หมื่นบาท ได้ยอดขาย 8 แสน – 1 ล้านบาท ต่อเดือน เมื่อผลลัพธ์ชัด ความรู้น่าสนใจ ไม่อยากให้ความรู้สูญหาย ผู้ก่อตั้ง CEO Channels / Expertsity จึงทาบทามเธอมาสอนหลักสูตร Fanpage Viral
โดยขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ร่วมคิดและออกแบบโครงสร้างหลักสูตร กำหนดรูปแบบการนำเสนอ ความยาว และนัดถ่ายทำ เมื่อถ่ายทำแล้วเสร็จ คอร์ส Fanpage Viral ก็นำมาทำการตลาด, คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง, และเปิดขายคอร์สผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ CEO Channels
ในกรณีนี้มีสัดส่วนผลประโยชน์ ผู้สอน 30% และ Expertsity รับ 70% โดยสาเหตุที่ทางโรงเรียนรับส่วนแบ่งมากกว่าก็เพราะ โรงเรียนออนไลน์ Expertsity นั้นไม่ใช่ Marketplace ที่มีคอร์สจำนวนมาก แต่จะต้องมีการเฟ้นหา พูดคุย ตกลง และร่วมทำงานกับผู้สอนอย่างใกล้ชิด และทำการตลาดอย่างเข้มข้นมาก ๆ นั่นเอง
ส่วนผู้สอนทำงานครั้งเดียว และรับ Passive income ทุกครั้งที่มียอดขายตลอดไป ซึ่งระบบของ Teachable นั้น ผู้สามารถเข้ามาเช็คยอดขายของตนได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง และเงินส่วนแบ่งจะโอนผ่านตัวกลาง คือ Teachable เข้าไปยังบัญชี Paypal ของผู้สอน ในกรณีที่ลูกค้าซื้อคอร์สผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์ของระบบ
แต่ถ้าซื้อผ่านโอนธนาคารปกติ เงินก็เข้าบริษัทของเรา และเราก็ทำบันทึกบัญชีและโอนส่วนแบ่งให้ผู้สอนตามกำหนดที่ตกลงกัน อันนี้ก็ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของเรา และไว้วางใจกันอย่างมากของพาร์ทเนอร์ครับ
4. บันทึกจากการบรรยายสัมมนา
วิธีนี้อาจพบบ่อยในอดีต สมัยที่ไวรัสโควิดยังไม่ระบาด การจัดสัมมนาสดมีเยอะ และการแปลงงานสัมมนามาเป็นคอร์สนั้นง่ายต่อผู้สอน กล่าวคือ จัดสัมมนาสดเสร็จ บันทึกวีดีโอไว้แล้วนำกลับมาตัดต่อให้เรียบร้อย ได้เป็นคอร์สออนไลน์ง่าย ๆ เลย
สัมมนาอาจจุคนได้ 100 คน แต่พอมาแปลงเป็นคอร์สออนไลน์คราวนี้ขายได้อย่างไม่จำกัดจำนวนคน แต่สำคัญ คือ จะต้องแจ้งตัวโต ๆ ให้ลูกค้ารู้ว่านี่ คือ คอร์สออนไลน์ที่ไปบันทึกจากงานสัมมนาสด เขาจะรู้ เมื่อรู้แล้วรับได้หรือไม่ หากรับได้ก็จะได้ตัดสินใจซื้อด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
และนี่ คือ 4 รูปแบบวิธีนำเสนอการสอนออนไลน์ที่นักเรียนชอบ ในตอนถัดไปเราจะไปดูกันว่า แล้วคนชอบเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ผลิตคอร์สที่มีคนซื้อแน่ ๆ ออกมาขายได้ถูกต้อง
คุณอาจสนใจ
- Information Business คืออะไร
- Information Business : สำรวจโมเดลธุรกิจและสินค้าความรู้
- สอนสร้างคอร์สออนไลน์ วิธีคิดในการเริ่มต้นก้าวแรกกับอาชีพสอนออนไลน์
- สอนสร้างคอร์สออนไลน์ วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าและความต้องการของตลาด
- สอนสร้างคอร์สออนไลน์ ขายด้วยกลยุทธ์การตลาด Funnel Marketing
- สอนสร้างคอร์สออนไลน์ ขายด้วยกลยุทธ์การตลาด Content Marketing
- 3 กรณีศึกษาสร้างคอร์สออนไลน์ ขายคนเดียวรายได้หลักล้านบาทต่อปี
- 4 ช่องทางสร้างคอร์สออนไลน์ สำหรับมือใหม่เริ่มต้นง่ายและใช้ฟรี
- 4 รูปแบบการนำเสนอสอนคอร์สออนไลน์ ที่เหมาะกับความถนัดของคุณ