Forrest Li

Forrest Li ชาวจีน ผู้ก่อตั้ง Garena อาณาจักรเกมแสนล้าน “เกิดที่สิงคโปร์ โตที่ไทย และจะไป(IPO)ที่อเมริกา”

Garena อาณาจักรเกมออนไลน์ มูลค่ามหาศาล และยังเป็นบริษัทเทคสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน หากคุณเป็นเกมเมอร์คงคุ้นเคยกับชื่อนี้ดีอยู่แล้ว แต่หากคุณไม่ใช่เกมเมอร์และอยากรู้จักการีน่าให้มากกว่านี้ วันนี้เราจะมาเปิดอาณาจักร Garena เกมออนไลน์นี้ไปพร้อม ๆ กัน

จุดเริ่มต้นของการีน่า โดยผู้ก่อตั้งชาวจีน

Forrest Li หรือ Li Xiaodong (หลี เสี่ยวตง – 李晓东) คือผู้ก่อตั้งการีน่า เกิดในปี 1978 ในเมืองเทียนจิน(หรือเทียนสิน ฉายาของเมืองนี้คือเซี่ยงไฮ้ภาคเหนือ) อยู่ติดกับเมืองปักกิ่ง เป็น 1 ใน 4 เมืองเทศบาลนครของจีน มีการปกครองขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ครอบครัวของเสี่ยวตงรับราชการ ซึ่งเป็นค่านิยมของคนทางเหนือของจีน ที่จะนิยมรับราชการเพื่อความมั่นคงมากกว่าที่จะทำการค้าขาย แม้ความเป็นข้าราชการของพ่อแม่จะทำให้ชีวิตครอบครัวของเสี่ยวตงมีความมั่นคง แต่ก็ทำให้เขาขาดทักษะในการทำธุรกิจและการเจรจาค้าขาย  เสี่ยงตงจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ และได้เข้าทำงานในบริษัท Motorola ในประเทศจีน ในตำแหน่งทรัพยากรบุคคล

เศรษฐกิจจีนเติบโต ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจ

ช่วงเวลาที่เสี่ยวตงเรียนจบ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังขยายตัวด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนอย่างมาก มองไปทางไหนก็มีแต่การลงทุนและการทำธุรกิจ  แต่เสี่ยวตงกลับเป็นพนักงานกินเงินเดือน(ที่ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการตามที่ครอบครัวต้องการด้วย) ทำให้เขารู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมาก

“ตอนอยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผมได้อ่านเรซูเม่ที่บันทึกประวัติการทำงาน ของผู้คนนับไม่ถ้วน ทำให้ผมเริ่มคิดว่าเรซูเม่ของผมในอนาคตจะเป็นยังไง”

“ถ้าผมยังทำงานนี้ต่อไปอีก 5 ปี ผมก็เดาได้เลยว่าเรซูเม่ของผมจะหน้าตาเป็นแบบไหน และมันต้องน่าเบื่อมาก ๆ”

คิดได้ดังนั้น เสี่ยวตงจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท และกู้เงินเป็นจำนวน 120,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ 4 ล้านบาท) เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ หรือ MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

สู่ใจกลาง ซิลิคอนวัลเลย์ เมืองแม่แห่งวงการสตาร์ทอัพ

การตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่สแตนฟอร์ดเป็นการเปลี่ยนชีวิตของเสี่ยวตงไปตลอดกาล โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั้นตั้งอยู่ใจกลาง ซิลิคอนวัลเลย์เมืองที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Google และบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ของอเมริกา ชื่อ Forrest Li เป็นชื่อที่เขาตั้งขึ้นมาเองตอนที่อาจารย์ถามชื่อในชั้นเรียน ชื่อนี้ได้มาจากตัวเอกจากภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump ที่เขาชื่นชอบในวัยเด็ก (เนื่องจากคนจีนแผ่นดินใหญ่จะไม่มีชื่อภาษาอังกฤษ ก็คิดสด ๆ มันตรงนั้นเลย) และต่อมาในวงการสตาร์ทอัพทั่วโลก ก็ได้รู้จักชื่อที่จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ชื่อนี้ คือ Forrest Li

ด้วยการเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนี้เองทำให้ Forrest ได้รู้จักคณาจารย์และผู้ก่อตั้งธุรกิจยักษ์ใหญ่มากมาย ที่สละเวลามาสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ นอกเหนือจากความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้รับ Forrest ยังได้เห็นโอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมาย รวมถึงยังได้คอนเนคชั่นระดับบิ๊ก ๆ ของวงการนับไม่ถ้วน ที่นั่นเต็มไปด้วยไอเดียการทำธุรกิจแปลก ๆ ใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน และยิ่งไปกวานั้น ที่นี่เองที่เขาได้พบรักกับแฟนสาวชาวสิงคโปร์ Liqian Ma (ลี่เชียน หม่า) และทั้ง 2 คน ก็ได้ตกลงแต่งงานกันในที่สุด

กว่าจะมาเป็น Garena โลกนี้ไม่มีอะไรง่ายดาย

หลังจากที่ Forrest Li เรียนจบจากสแตนฟอร์ด เขาและภรรยาได้เดินทางมาปักหลักที่สิงคโปร์ Forrest เริ่มทำงานในบริษัท MTV ที่ตอนนั้นบูมมาก ๆ ในสิงคโปร์ ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทเทคสตาร์ทอัพได้ก่อตั้งขึ้นจากสองผู้ก่อตั้ง Leo Chen (ลีโอ เฉิน) และ Steven Liu (สตีเวน หลิว) โดยบริษัทนี้ชื่อว่า GG  ซึ่งพยายามจะสร้าง Community ของนักเล่นเกม โดยสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อนักเล่นเกมที่แข่งขันกันทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในการพลิกโฉมวงการ eSport โดย Leo นั้นเป็นเกมเมอร์ระดับท็อปที่สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมได้อย่างมากมาย เขาเป็นนักกีฬา eSport ในการแข่งเกม WarCraft ที่มีฝีมือมาก แต่ Leo ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ จึงมาชวน Steven ให้ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มนี้

GG ย่อมาจาก Good Game เป็นคำแสลงในหมู่เกมเมอร์ หมายถึงเป็นเกมที่สนุกมาก เป็นเกมที่ดี ใช้สำหรับพูดหลังจากแข่งกันจบแล้ว อาจจะชนะแบบฉิวเฉียด ผู้ชนะมักจะกล่าว่า GG ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า EZ ย่อมาจาก Easy ซึ่งผู้ชนะใช้ด่าฝ่ายตรงข้ามเชิงดูถูกว่า เป็นเกมที่ง่ายจริง ๆ (ฝีมือกระจอกจัง)

Leo Chen
Image credit: Leo Chen

ทั้งสองคนเป็นชาวจีนที่มาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ หลังจากที่ตกลงจะสร้างแพลตฟอร์ม GG ก็ได้นำไอเดียไปคุยกับเกมเมอร์ นักกีฬา eSport มืออาชีพมากมาย ซึ่งต่างฟันธงว่ามันจะพลิกโฉมวงการเกมอย่างแน่นอน แต่จะคาดหวังอะไรที่ยิ่งใหญ่จากความไร้เดียงสาของนักศึกษามหาวิทยาลัย? ในช่วงเปิดตัวโปรแกรม Leo ได้ใช้คอนเนคชันนักเล่นเกมของเขา ช่วยโปรโมทโปรแกรม ซึ่งสามารถทำให้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2006 GG เติบโตอย่างต่อเนื่อง และถูกใช้ในการแข่งขัน eSport ระหว่างทวีป แต่สิ่งนี้เองกลับเป็นปัญหา เนื่องจาก Leo ไม่ได้วางโมเดลธุรกิจให้มีรายได้ด้วยตนเอง การที่พึ่งพาค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถพยุงธุรกิจได้ ยิ่งแพลตฟอร์มมีการเติบโต ยิ่งผู้ใช้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ ภาระค่าใช้จ่าย ทั้งเซิร์ฟเวอร์ ทั้งค่าดูแลต่าง ๆ ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แม้ Leo จะเอารายได้ทุกทางของตัวเองมาช่วยแล้วก็ตาม ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนต้องหานักลงทุนมาช่วยเหลือ แต่นักลงทุนต่างก็ไม่เชื่อมือนักศึกษาจบใหม่ทั้ง 2 คนนี้ ดังนั้นพวกเขาต้องการปริญญา MBA เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท

เมื่อ Leo พบกับ Forrest

ด้วยคอนเนคชั่นของ Liqian Ma ที่กว้างขวางในสิงคโปร์ เธอรู้จักกับกลุ่มนักลงทุนมากมาย และก็รู้จักกับ Leo ด้วย จึงทำให้ Forrest Li ได้พบกับ Leo ซึ่งครั้งแรกที่พบกันก็ทำให้ Leo ประทับใจมาก Forrest เป็นคนที่ยิ้มแย้มตลอดเวลา สุภาพ และดูใจดี Leo ทาบทามให้ Forrest มาช่วยบริหาร ในตำแหน่ง CEO ของบริษัท GG ซึ่ง Forrest ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานก็ตอบตกลง หลังจากนั้นด้วยคอนเนคชันของภรรยา Forrest จึงดึงดูดนักลงทุนมาช่วยพยุงสถานการณ์ของบริษัทได้ “ตอนนี้เรามี MBA จากสแตนฟอร์ดมาเป็นผู้บริหารแล้ว” ด้วยดีกรีปริญญาโท MBA ของ Forrest ที่มีออร่าของสแตนฟอร์ดแผ่ออกมาตลอดเวลา นักลงทุนจึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มให้ แต่ก็แลกมาด้วยสัดส่วนการถือหุ้นของ Leo ที่ลดลงเหลือเพียง 30%

ปัญหามากมายกองเป็นภูเขา

Leo ยังเด็กและอ่อนประสบการณ์ ไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจ พ่อแม่ของลีโอในประเทศจีน อยากให้เขากลับไปเรียนต่อที่สแตนฟอร์ดที่เดียวกับที่ Forrest เรียนจบมา เมื่อ Leo ประกาศว่าจะไปเรียนต่อ นั่นเป็นการจุดชนวนให้นักลงทุนยิ่งมองว่า เขาไม่มีความพร้อมที่จะทำธุรกิจ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายยิ่งถาโถมเข้ามา และรายได้จากค่าโฆษณามีไม่เพียงพอ หนำซ้ำ Forrest ยังตรวจสอบพบว่า ในรายชื่อผู้ใช้งานในระบบของ GG ที่มีมากกว่า 5แสนรายชื่อนั้น มีจำนวนกว่า 4 แสนรายชื่อ ถูกดึงข้อมูลมาจากผู้ใช้ในประเทศจีน โดยที่ทั้ง 4 แสนรายนั้นไม่รู้เรื่อง “นี่เข้าข่ายอาชญากรรมชัด ๆ” Forrest กล่าว เขาจึงทำการลบรายชื่อเหล่านั้นออกทั้งหมด และรายงานต่อนักลงทุนในการลดรายชื่อที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ของบริษัท สถานการณ์ของ GG เข้าขั้นวิกฤติ ค่าโฆษณายิ่งน้อยลงเมื่อความเป็นจริงมีผู้ใช้เพียง 1 แสนคน Forrest ตัดสินใจว่า ต้องปิดตัวบริษัท เพื่อยุติปัญหาที่ค้างคาทั้งหมด แต่ Leo ไม่เห็นด้วย เขาไม่อยากทำลายความฝันของตัวเอง แต่ในที่สุด Leo ก็ยื่นข้อเสนอขายหุ้นทั้งหมดให้กับ Forrest เป็นเงิน 7 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Forrest ไม่ต้องจ่ายเลยแม้แต่ดอลล่าร์เดียว เพราะถือหุ้น 30% เท่ากับ Leo และมติในที่ประชุมเป็นเอกฉันท์แล้ว

Run Forrest Run!!!

Forrest ได้ทุ่มเงินทั้งหมดของตัวเอง เพื่อซื้อหุ้นนี้ แล้วประกาศปิดบริษัท GG จากนั้นจึงก่อตั้งบริษัทใหม่ โดยตั้งชื่อว่า Garena มาจากคำว่า Global Arena “ผมกับ Leo เรายังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เรายังคงคุยกันเสมอ” Forrest กล่าว (ภายหลัง Leo เรียนจบจากสแตนฟอร์ดและไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอางจำหน่ายทางออนไลน์ ชื่อว่า Jumie และในปี 2014 สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาได้ในที่สุด)

หลังจากนั้น Forrest Li ได้ดึงพนักงานเก่าของ GG มาถึง 80% แต่ไม่เอา Steven ผู้ร่วมก่อตั้งของ GG มาด้วย เขาได้โปรแกรมเมอร์คนใหม่จากไต้หวัน ที่เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างแพลตฟอร์มตัวใหม่ของเขาเอง ด้วยความที่ Forrest มองขาดในธุรกิจนี้ เขารู้ว่าปัญหาที่ผ่านมาเพราะเอาแต่พึ่งพาค่าโฆษณามากเกินไป รายได้หลักควรมาจากผู้ใช้ เขาจึงออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ของเกมออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป และเกาหลี มาเปิดให้บริการบนเซิร์ฟเวอร์ในสิงคโปร์ โดยเปิดให้เล่นฟรี และขายไอเท็มในเกม ด้วยวิธีนี้จะสามารถหารายได้จากผู้ใช้ได้อย่างแน่นอน และยิ่งผู้ใช้มีจำนวนมากเท่าไหร่ก็จะมีรายได้มากเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนชื่นชอบมากและยินดีให้ทุนกับ Forrest Li อีกครั้ง แต่ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัทกลับไม่ใช่เกม แต่เป็นโปรแกรมแชตที่คล้าย ๆ กับการเอา GG มาพัฒนาต่อยอด โปรแกรมนั้นชื่อว่า Garena+ (การีน่าพลัส) ซึ่งเป็นโปรแกรมโซเชียลมีเดียของเกมเมอร์ หน้าตาคล้ายกับ MSN ของไมโครซอฟท์ ผู้ใช้สามารถแชตคุยกันได้ และซื้อไอเท็มในเกมได้

แค่ก้าวแรกก็ล้มซะแล้ว

แม้ไอเดียจะดีมากมาย แต่เกมที่ฮิตในประเทศหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกประเทศหนึ่งจะชอบมันด้วย Garena เปิดตัวเกมแรกได้อย่างน่าผิดหวัง จนทั้ง Forrest และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นแทบจะถอดใจ แต่เพราะความไม่ย่อท้อ ทำให้ Forrest ได้ติดต่อกับบริษัท Riot Games บริษัทผู้พัฒนาเกมจากสหรัฐอเมริกา เจ้าของเกม League of Legends โดยในปี 2010 โดย Forrest ขอสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของไลเซ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนี่เป็นจุดพลิกผันของธุรกิจเลยทีเดียว เพราะ League of Legends เป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงมาก และสร้างรายได้ให้กับ Garena อย่างถล่มทลาย พลิกฟื้นสถานะทางการเงินของบริษัทให้ดีได้ขึ้นอย่างรวดเร็ว

League of Legends
Image credit: teehunter

แจ้งเกิดในสิงคโปร์แต่มาโตที่ไทย

เมื่อมีเกมแรกที่ประสบความสำเร็จ Garena ก็ต้องพัฒนาเกมต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากขึ้น จนในปี 2012 Garena ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในชื่อ บริษัท การีน่า ออนไลน์  (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้ คุณนก มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ซึ่งเป็นเพื่อนกับ Forrest ในสมัยเรียน MBA ที่สแตนฟอร์ด มารับตำแหน่ง CEO การีน่าประเทศไทย โดยการดำเนินการในไทยนี้เองทำให้การีน่ายิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้ผู้บริหารในการีน่า เลือกให้ประเทศไทยเป็นหัวเรือสำคัญของบริษัท แทบทุกผลิตภัณฑ์ของการีน่าจะเปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นที่แรก เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจึงขยายออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน (ขณะนี้การีน่าประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า1,000คน โดย มี 400 คนประจำอยู่ในออฟฟิศ และอีก 600 คนกระจายอยู่ทั่วประเทศ)

นก มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ Image credit: brandinside

Garena พุ่งทะยานสู่ระดับ ยูนิคอร์น

Pony Ma or Ma Huateng - โพนี่ หม่า
โพนี่ หม่า Image credit: reuters

การเติบโตของ Garena เป็นที่จับตามองจาก VC ทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ โพนี่ หม่า เจ้าของ Tencent ตำนานเทคสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งภายหลังได้เข้าซื้อบริษัท Riot Games ผู้เป็นเจ้าของเกม League of Legends และเป็นช่องทางที่ทำให้ Tencent มาลงทุนใน Garena จนกลายเป็นผู้ลงทุนหลักของบริษัท (ต่อมาการีน่าได้ระดมทุนสูงถึง 550 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ(หรือราว ๆ 19,000 ล้านบาท) กลายเป็นเทคสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นทันที และ Garena ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น SEA หลังจากการระดมทุนครั้งนี้เมื่อเดือน พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา)

รู้จักกับผลิตภัณฑ์ในเครือ Garena

Garena แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • Digital Content
  • Payment
  • eCommerce

โดยในส่วนแรกนั้นคือ Digital Content จะประกอบไปด้วย PC games (เกมที่เล่นบนคอมพิวเตอร์), Mobile games (เกมที่เล่นบนมือถือ), Entertainment platforms (แพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง เช่น โปรแกรมแชต และไลฟ์ ได้แก่ Garena+, TalkTalk และ BeeTalk ) นอจากนี้ยังมีโปรแกรมช่วยบริหารจัดการร้าน Internet cafe ด้วย ทำให้ การีน่า มีโอกาสได้ร่วมงานกับร้าน Internet Cafe ในไทยมากกว่า 20,000 ราย

garena plus
Image credit: cdngarenanow-a.akamaihd
Image credit: TALKTALK channel
Image credit: Garena RoV Thailand

ส่วนที่สอง คือ Payment เป็นระบบให้บริการด้านการเงิน ชื่อว่า AirPay โดยเริ่มต้นนั้นทางการีน่าตั้งใจจะใช้เพื่อให้เกมเมอร์เติมเงินเข้าเกมได้สะดวกเท่านั้น แต่ต่อมาเริ่มทำระบบรับชำระเงินด้วย จึงยื่นขอใบอนุญาตการทำ Payment หลังจากนั้นจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เกม ซึ่งตอนนี้ AirPay นอกจากจะเติมเงินในเกมแล้ว ยังเติมเงินมือถือ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายบิลต่าง ๆ ซื้อตั๋วหนัง แม้แต่ตั๋วเครื่องบินก็ซื้อได้ผ่าน AirPay ได้ นอกจากนี้ยังสามารถบริจาคให้องค์กรการกุศลได้อีกด้วย

AirPay
Image credit: AirPay

ส่วนที่สามคือ eCommerce ระบบ Mobile commerce ที่ใช้ชื่อว่า Shopee เกิดจากช่องว่างของตลาดที่ยังไม่มีใครทำ eCommerce ที่เป็น Mobile-based (รันบนมือถือเป็นหลัก) ส่วนใหญ่จะเป็น Web-based (รันบนเว็บไซต์เป็นหลัก) และเว็บไซต์ในไทยก็ยังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคมือถือ จากช่องว่างนี้เองจึงเกิด Shopee ที่เป็น C2C mobile marketplace ซึ่งเป็นการต่อยอดจากระบบ Payment มาเป็น eCommerce ในที่สุด

shopee
Image credit: talenttribe

มุ่งมั่นอย่าง Forrest Gump ทำอย่าง Steve Jobs

Forrest Gump
Forrest Gump

กลับมาที่ Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Garena เขาชื่นชอบภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump เป็นอย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาในการมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค (เป็นหนังที่ดูสนุกและทรงคุณค่ามาก ๆ) และในขณะที่ Forrest Li ไปร่วมงานรับปริญญาของแฟนสาวที่สแตนฟอร์ดนั้น เขาได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์สำคัญ นั่นก็คือ การปาฐกถา ของ Steve Jobs ซึ่งในงานนั้นเอง Jobs ได้กล่าววลีที่เป็นตำนานอย่าง ‘Stay Hungry, Stay Foolish’ และ Forrest Li ได้นั่งฟังอยู่ตรงนั้นด้วยตนเองแบบสด ๆ เลย เขาประทับใจปาฐกถานั้นมาก ถึงขนาดที่ต้องกลับมาเปิดฟังจากใน Youtube ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า Connecting the dots ที่อยู่ในโลโก้ของ Garena และยังคงอยู่ในโลโก้ของ SEA ด้วย แม้จะเปลี่ยนชื่อบริษัทแล้วก็ตาม และ Connecting the dots นี้ก็เป็นเหมือนวัฒนธรรมในองค์กรของการีน่าจวบจนทุกวันนี้

Steve Jobs
Image credit: wealthsuccess

สรุปแนวทางความสำเร็จของ Garena

sea
Image credit: vulcanpost

การออกแบบโมเดลธุรกิจตั้งแต่เริ่มแรก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากผิดพลาดตั้งแต่ต้นก็แทบจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย จากประวัติการก่อตั้ง Garena เราได้เรียนรู้ว่า เมื่อ Leo เริ่มก่อตั้ง GG นั้น แม้เขาจะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่หากไม่คิดให้รอบคอบแล้วก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย GG เป็นเหมือนครูสอนธุรกิจที่ดีให้กับทั้ง Leo และ Forrest ข้อผิดพลาดทั้งหมดของ GG ถูกนำมาเป็นบทเรียนและแก้ไขใน Garena ซึ่งหากศึกษาลงไปลึก ๆแล้วจะพบว่า แนวทางของ Garena ก็เหมือนกับแนวทางของ Tencent แทบจะกล่าวได้ว่า Garena เป็น Tencent ขนาดย่อส่วนก็ว่าได้ เพราะเป็นธุรกิจที่เติบโตจากฐานผู้เล่นเกมเหมือนกัน แนวทางการหารายได้จากผู้ใช้ก็เหมือนกันคือการขายไอเท็มในเกม และต่อยอดจากเกมไปที่ Payment และ eCommerce ในที่สุด

  • Tencent มี QQ, Wechat การีน่ามี Garena+
  • Tencent มี WechatPay,TenPay การีน่ามี AirPay
  • Tencent มี Paipai, JD.com การีน่ามี Shopee

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Pony Ma ให้ความสนใจกับ Garena เป็นอย่างมาก เพราะ Forrest Li มีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับเขามาก และคาดหมายว่า Garena จะต้องเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนกับที่ Tencent กำลังเติบโตเช่นกัน โดยขณะนี้ ทั้ง Tencent และ Garena ต่างก็เตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหุ้นอเมริกาแล้ว ซึ่ง Tencent ตั้งเป้าระดมทุนจากการขายหุ้นครั้งนี้ที่ 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 3 แสนล้านบาท) ในขณะที่ Garena ตั้งเป้าระดมทุนที่ 1 พันล้านดอล์ล่าร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ 3 หมื่นล้านบาท) แม้จะต่างกันถึง 10 เท่า แต่การเติบโตของ Garena เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วงการเกม ที่พัฒนาจนมาเป็น eSport นั้น ไม่ใช่เป็นแค่เด็กเล่นเกมไร้สาระเท่านั้น แต่ในวันนี้ อุตสาหกรรมเกม ได้พัฒนามาไกลและทำเงินได้อย่างมหาศาล โดยปัจจุบัน การีน่า มียอดผู้ใช้รายเดือนถึง 40.1 ล้านคน และมีผู้ใช้รายวัน 12.9 ล้านคน แม้จะเปลี่ยนชื่อ บริษัทเป็น SEA แล้ว แต่ในธุรกิจเกม ยังคงใช้แบรนด์ Garena ต่อไป


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content

Resources: