Non-Profit มีเฮ! มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก เปิดตัวปุ่ม FundRaising ให้คนมีฝันแต่ไม่มีสตางค์ระดมทุนจากทั่วโลกผ่านแฟนเพจ

มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook Inc. เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คที่คนนิยมมากที่สุดในโลกเล่นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยหวังจะผูกขาดแทบทุกบริการออนไลน์บนโลกนี้

โดยก่อนหน้านี้ Facebook ได้เข้าซื้อ Instagram เพื่อหวังยึดความเป็น Application ถ่ายรูป พัฒนาระบบ Link post ให้สวยงามชนกับ Twitter พัฒนา Video post เพื่อบี้กับ Youtube และล่าสุดมีข่าว Facebook มีโครงการจะพัฒนาระบบโทรทัศน์ออนไลน์ชนกับ NetFlix และ Amazon Prime

แต่… ไม่จบแค่นั้น เพราะ Facebook ยังพยายามพัฒนาระบบ E-Commerce และระบบชำระเงินออนไลน์ให้สามารถซื้อขายผ่านเว็บไซต์ตนเองได้โดยตรง และปลายปีที่แล้วได้ถอย Facebook Job Ads โฆษณาประกาศรับสมัครงานออนไลน์ เพื่อขยี้ LinkedIn ที่เป็นเจ้าพ่อตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์คสายอาชีพ

และล่าสุด สด ๆ ร้อน ๆ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก เล่นใหญ่ระดับปฏิวัติวงการการระดมทุนกับการเปิดตัวปุ่ม Fundraising ระบบระดมทุนมวลชนผ่าน โซเชียลเน็ตเวิร์ค

ที่มาของ Facebook Fundraising

Facebook Fundraising ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์ The Ice Bucket Challenge ในปี 2014 ที่เริ่มต้นโดยกลุ่มคนมีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ บิล เกตส์ (ไมโครซอฟต์) บารัค โอบามา (อดีตประธานธิบดีสหรัฐฯ) และ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ฯลฯ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และบริจาคเงินช่วยเหลืองานวิจัยโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือ เอแอลเอส หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ปรากฏการณ์ The Ice Bucket Challenge คือการไวรัล หรือแพร่กระจายราวกับไวรัส ผู้คนจากทั่วโลกแห่เล่น The Ice Bucket Challenge และนำมาโพสต์ลง Facebook อย่างสนุกสนานจนทำให้เว็บไซต์ต้นสังกัดที่จัดโครงการนี้ไม่สามารถรองรับ Traffic ของคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้!

Facebook Fundraising คืออะไร?

Facebook Fundraising เป็นโปรแกรมระดมทุนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่งได้ทำการทดสอบระบบอย่างเงียบ ๆ มานานนับปีแล้ว โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ โครงการระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาลซึ่งสามารถระดมทุนเป็นเงิน 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 1 สัปดาห์

Naomi Gleit รองประธานบริหารผลิตภัณฑ์ของ Facebook ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ Mashable.com โดยประมาณว่า ที่ผ่านมาพวกเขารู้มาโดยตลอดว่าผู้ใช้งานมีการโพสต์ระดมทุนผ่าน Facebook เพื่อนำไปใช้ในการก่อตั้งธุรกิจ การทำโครงการเฉพาะกิจ และระดมทุนเพื่อการช่วยเหลือด้านการกุศลและมนุษยธรรมต่าง ๆ กันมานานแล้ว และเราเข้ามาพัฒนาโปรแกรมนี้เพื่อให้ผู้ระดมทุนและผู้ต้องการบริจาคเงินสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

Facebook Fundraising ทำงานอย่างไร?

โปรแกรม Facebook Fundraising จะช่วยให้ผู้ต้องการระดมทุนสามารถสร้างแคมเปญ จากนั้นนำแคมเปญไปประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่ Facebook มีให้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือโฆษณา เครื่องมือการชำระเงิน ฯลฯ โดยเงินจะถูกโอนเข้าระบบของ Facebook และสามารถเบิกได้ภายใน 15 วันหลังจบแคมเปญ

ทั้งนี้ทั้งนั้น โปรแกรมนี้จะมีการตรวจสอบผู้ใช้งานและแคมเปญต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ โดยผู้ต้องการระดมทุนอาจต้องทำการ Verify ข้อมูลบางอย่างตามข้อกฏหมายของสหรัฐฯ โดยผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจะต้องเป็นกลุ่ม Non Profit ซึ่งอาจเป็นในรูปองค์กรหรือส่วนบุคคลก็ได้ แต่โครงการที่จะนำมาระดมทุนจะต้องอยู่ในหมวด

  • การศึกษา
  • การวิจัยทางการแพทย์
  • การช่วยเหลือสังคม
  • งานด้านมนุษยธรรม
  • ฯลฯ

Facebook เก็บค่าบริการ 5% จากยอดรวมเพื่อเป็นค่าบริการระบบซึ่งถือว่าน้อยมาก โดย Naomi Gleit รองประธานบริหารผลิตภัณฑ์ยืนยันว่าทาง Facebook ไม่ได้มุ่งเน้นการทำกำไรจากโปรแกรมนี้ แต่เป็นไปเพื่อสนองเจตนารมณ์ของทางผู้ร่วมก่อตั้งที่ต้องการจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

http://i1012.photobucket.com/albums/af250/paulk2010/1112_zpszypwg8nc.jpg

Crowdfunding เปลี่ยนโลก

Crowdfunding หรือการระดมทุนมวลชน เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องพึ่งสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยและต้องคืนเงิน โดยระบบ Crowdfunding ปัจจุบันมีหลายแบบ และหลายลักษณะผลตอบแทนต่อผู้ให้ทุน เช่น กรณีระดมทุนแบบ Venture Capital ตอบแทนเป็นหุ้น ระดมทุนแบบร่วมโครงการตอบแทนเป็นตัวสินค้า ในขณะที่บางประเภทก็ไม่มีผลตอบแทนใด ๆ เลย ได้แก่ระดมทุนแบบ Non-Profit เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น

เว็บไซต์ Crowdfunding สำหรับธุรกิจในต่างประเทศมีหลายเว็บไซต์โดยอันที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ คือ Kick Starter และ IndieGogo ส่วนอีกเว็บไซต์หนึ่งคือ GoFundMe เป็นสาย Non-Profit ระดมทุนเพื่อการกุศล การช่วยเหลือ และงานมนุษยธรรมต่าง ๆ ส่วนในประเทศไทยมีเว็บไซต์ Dream Maker ในขณะที่ทางฝั่ง OokBee เว็บไซต์อีบุ๊คสโตร์ออนไลน์มีโครงการ Print On Demand หรือ OokBee POD สั่งทำหนังสือพรีออเดอร์ซึ่งมีความเป็น Crowdfunding

กรณีคนไทย

ระบบ Crowdfunding เหล่านี้สร้างโอกาสให้ผู้คนมากมาย มีผู้ประสบความสำเร็จในการระดมทุนทั้งงานด้านมนุษยธรรมต่างและด้านธุรกิจ โดยหนึ่งในนั้นมีคนไทย คุณรสลิน จรรยาศักดิ์ สร้างแคมเปญใน IndieGogo และ ระดมทุน 8 แสนกว่าบาทภายในเวลาเพียง 1 เดือน เพื่อมาผลิตกระเป๋าแบรนด์ MO

กรณีต่างชาติ นักธุรกิจ

ในขณะที่ Eric Migicovsky สร้างปรากฏการณ์ระดมทุนแคมเปญ Pebble Watch สำหรับนักปั่นจักรยานผ่าน Kick Starter ตั้งเป้า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ได้เงินมาทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเวลา 37 วัน ทำให้สามารถสร้างธุรกิจและทำยอดขาย Pebble Watch สูงกว่า 4 แสนชิ้นใน 12 เดือน ซึ่งสูงกว่ายอดขาย Apple iPod ในช่วงที่เปิดจำหน่ายใหม่ ๆ

กรณีต่างชาติ ภาคประชาชน

ส่วนเหตุการณ์ระดมทุนน่าประทับอีกเหตุการณ์คือ แคมเปญซื้อที่ดินเพื่อปกป้องพิพิธภัณฑ์เทสล่า (Tesla Museum) ที่สร้างไว้เป็นแหล่งประวัตศาสตร์สำหรับนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Nikola Tesla ซึ่งกำลังจะถูกเสนอซื้อโดยกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อจะนำไปรื้อถอนและสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นการระดมทุนทำผ่าน IndieGogo เป้าหมายคือเงินจำนวน 850,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่สามารถระดมได้สูงถึง 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 1 เดือนจากผู้สนับสนุน 102 ประเทศ

คุณรสลิน จรรยาศักดิ์ แคมเปญกระเป๋า MO (รูปภาพโดย CEOblog)
Eric Migicovsky’s Pebble Watch (รูปภาพโดย Stuff.tv)

Crowdfunding ในไทย

ที่ผ่านมาเราเห็นคนไทยที่ประสบความเดือดร้อนประกาศขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงคนไทยที่มีจิตสาธารณะประกาศแคมเปญทำกิจกรรมระดมทุนเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นการประกาศผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว และอาศัยความช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจที่มีคนติดตามเยอะ ๆ ยกตัวอย่างเช่น เพจ Drama Addict ฯลฯ เป็นต้น

ในช่วงไตรมาศแรกของปี 2017 ที่ผ่านมาจะมีโครงการที่ได้รับความสนใจ อาทิ โครงการวิ่งระดมทุนช่วยโรงพยาบาล โดย คุณตูน บอดี้แสลม วิ่งระดมทุนได้เงิน 60 กว่าล้านบาทเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามมาด้วยโครงการระดมทุนเพื่อช่วยสนับสนุนมูลนิธิเพื่อนช้าง และล่าสุดกับคุณพ่อประกาศขายบ้านระดมทุนเพื่อนำเงินรักษาลูกสาวที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นที่สนใจ และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคม

โปรแกรม Facebook Fundraising กำลังทดลองใช้ในอเมริกาและคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดใช้งานในประเทศอื่น ๆ ในอนาคตซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประสบภัยและผู้ที่ต้องการพัฒนาสังคมดั่งที่เล่าไปได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น