หากเอ่ยเชื่อ Zoom หรือ อิริค หยวน (Eric Yuan) เมื่อ 2 ถึง 3 ปีที่แล้ว อาจไม่ค่อยมีใครคุ้นหูในประเทศไทย แต่หากเอ่ยในช่วง ‘2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมา’ เชื่อว่าหลายคนอาจจะร้องอ๋อ
Zoom คือ แอปพลิเคชั่น วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ สำหรับประชุมทางไกลผ่านคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ก่อตั้งโดย ชายชาวจีนซึ่งภายหลังเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวอเมริกันนามว่า อิริค หยวน และเป็นแอปฯ ที่มีความนิยมพุ่งขึ้นทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวิกฤต ‘ไวรัสโคโรน่า’ หรือ โควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา
ตัวเลขที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับ หยวน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ได้แก่:
1. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2020 มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกหายไป 4 ล้านล้านดอลลาร์ในวันเดียว ในขณะที่หุ้นของบริษัท Zoom Communication Inc. กลับเพิ่มขึ้น 0.4%
2. นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ โควิด-19 ความมั่งคั่งของเศรษฐีอเมริกันลดลงถ้วนหน้า ยกเว้น หยวน เพราะราคาหุ้นของเขาเพิ่มขึ้นรวม 58% ในไตรมาสแรกของปี 2020 ส่งผลให้ความมั่งคั่งสุทธิของเขาเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านดอลล่าร์
3. ณ ต้นปี 2020 ชื่อของ หยวน ยังไม่ติดอันดับ Bloomberg Billionaire Index จนกระทั่ง โควิด-19 เกิดการระบาดไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือน มีนาคม 2020 — ชื่อของเขาก็โผล่เข้าสู่อันดับ 274 ด้วยสุทธิ 5.6 พันล้านดอลล่าร์ และตามมาด้วยปลายเดือน มีนาคม 2020 ทะยานสู่อันดับ 207 ด้วยสุทธิ 6.76 พันล้านดอลล่าร์ (ที่มา)
เรียกได้ว่า ‘ในวิกฤต มีโอกาส / ไวรัสระบาด สร้างเศรษฐี’ แต่กว่า หยวน จะมีวันนี้ มันคือ 10 ปีแห่งการเตรียมพร้อม เส้นทางของเขาเป็นอย่างไร ไปพบคำตอบพร้อมกันกับ CEO Channels
จุดเริ่มต้น
อิริค หยวน เกิดที่ประเทศจีนประมาณปี ค.ศ. 1970 คุณพ่อประกอบอาชีพวิศวกรในเหมือง ในขณะที่ตัวเขาสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีและโท ในสาขา คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตามลำดับ
และในระหว่างที่ อิริค หยวน กำลังศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย (ประมาณปี 1987) — เขาได้คบหากับหญิงสาวชาวจีนที่อาศับอยู่ต่างเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางทางรถไฟเที่ยวละ 10 ชั่วโมง เพื่อจะไปพบแฟนสาว ทุกครั้งที่เขาต้องเดินทาง เขามักจินตนาการถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถเปิดสวิชแล้วก็เจอหน้าพูดคุยสด ๆ ได้ภายในเสี้ยววินาที
แอปพลิเคชั่น Zoom ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วใน ‘จินตนาการ’ โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าอีก 3 ทศวรรษหลังจากวันนี้ เขาจะกลายเป็น มหาเศรษฐี จากสิ่งที่เขาจินตนาการมันขึ้นมาในวันนั้น
เดินทางสู่อเมริกา
ปี 1994 อิริค หยวน ในวัย 24 ปีมีโอกาสฟังบรรยายของ บิล เกตส์ เจ้าของ ไมโครซอฟต์ เกี่ยวกับอนาคตของอินเตอร์เน็ต ข้อมูลของ เกตส์ จุดประกายให้เขาอยากประกอบอาชีพในแวดวงอินเตอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ จนถึงขั้นตัดสินใจที่จะเดินทางไปทำงานที่ ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา อันเป็นถิ่นกำเนิดธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ
หยวน ต้องใช้ความพยายามในการขอวีซ่าถึง 9 ครั้งกว่าจะได้รับอนุมัติให้เดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา
ปี 1997 หยวน เดินทางถึงสหรัฐอเมริกา โดยที่ตัวของเขาพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้! นอกจากภาษาจีนแล้ว อีกภาษาที่เขาสื่อสารได้ คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ นั่นจึงทำให้เขามีโอกาสได้เข้าทำงานในตำแหน่ง วิศวกรคอมพิวเตอร์ และยังเป็นพนักงานรุ่นแรกของบริษัท Webex ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
จุดเปลี่ยน
10 ปีต่อมา WebEx ขายกิจการให้ Cisco ในราคา 3.2 พันล้านดอลล่าร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น Cisco Webex ในขณะที่ อิริค หยวน เองก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น รองประธานฝ่ายวิศวกรรม โดยมีเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงลิ่วคิดเป็นเงินไทยก็ ‘หลายสิบล้านบาท’ ต่อปี
บริษัทโต ตำแหน่งขึ้น และเงินเดือนสูง แต่ทั้งหมดนี้กลับไม่ทำให้ อิริค หยวน มีความสุขกับงาน เขาพบปัญหาภายในซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการแก้ไขเสียที และเสียงบ่นจากลูกค้าที่ผิดหวังในตัวผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
หยวน เห็นใจลูกค้าและอยากแก้ไขมัน แต่เขาทำไม่ได้เพราะติดกระบวนการภายในองค์กรที่เทอะทะเกินกว่าที่เขาควบคุมได้ — หยวน จึงเริ่มคิดที่จะเปิดบริษัทของตัวเอง
ก่อตั้ง Zoom
ปี ค.ศ. 2011 อิริค หยวน ตัดสินใจลาออกจาก Cisco Webex ทิ้งเงินเดือนมหาศาล หน้าที่การงานอันมั่นคงเพื่อมาก่อตั้งบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชั่นวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ยี่ห้อ Zoom ท่ามกลางคู่แข่งรายใหญ่ อาทิ Google, Skype, รวมไปถึง Cisco Webex อดีตนายจ้างของเขา
หยวน เผยต่อสื่อ CNBC ว่า เขารู้สึกกล้ากลัว ๆ กับการตัดสินใจลาออกจากงานในครั้งนั้น แต่เพราะทุก ๆ วันในชีวิตไม่มีความสุขในการทำงานเลย จึงขอเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขจะดีกว่า
หยวน ก่อตั้ง Zoom ในปี 2011 และใช้เวลา 2 ปีแรกไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยต้องอาศัยเงินทุนจากผู้สนับสนุน แต่ก็ต้องประสบปัญหาในการหาทุนอย่างมาก เพราะนายทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า Zoom จะประสบความสำเร็จเนื่องจากมีเจ้าตลาดอย่าง Google และ Skype ยึดหัวหาดอยู่แล้ว
หยวน ไม่ยอมแพ้ที่จะนำเสนอวิสัยทัศน์ของเขาและในที่สุดก็ได้เงินสนับสนุนจากเพื่อน ๆ และนักลงทุนรายย่อย โดยหนึ่งในนั้น คือ แดน สไคน์แมน (Dan Scheinman) อดีตผู้บริหาร Cisco ให้เงินลงทุนจำนวน 250,000 ดอลล่าร์ และก็นับเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า เพราะปัจจุบัน สัดส่วนหุ้น Zoom ที่ สไคน์แสน ถือครองด้วยต้นทุน 250,500 ดอลล่าร์ พุ่งทะยานเป็น 176.5 ล้านดอล่าร์
ต่อมา หยวน ก็ได้รับเงินลงทุนเพิ่มจาการระดมทุนรอบ Seed funding จำนวน 3 ล้านดอลล่าร์ จากกลุ่มทุนน้อยใหญ่ อาทิ Subrah Iyar ผู้ก่อตั้ง Webex และ TSVC Venture Capital ส่งผลให้ หยวน มีเงินทุนมากพอที่จะผลักดันแอปพลิเคชั่น Zoom ให้สามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013
ความสำเร็จของ Zoom
Zoom มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ กลุ่มลูกค้าองค์กร มีผู้ใช้งาน 3,500 บัญชีภายใน 5 เดือนหลังเปิดตัว และทะยานสู่ 65,000 บัญชีในปี 2015 และมีจำนวนผู้ร่วมใช้งาน 40 ล้านคน
การเติบโตของ Zoom ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตแบบ ‘ปากต่อปาก’ อันเกิดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ที่เปิดให้คนใช้งานฟังชั่นพื้นฐานฟรี ๆ โดยเวอร์ชั่นฟรีก็สามารถโฮสต์วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้ถึง 100 ผู้เข้าร่วมการประชุม — นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Zoom ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น Zoom ยังใส่ใจลูกค้าอย่างมาก โดยในบางครั้ง อิริค หยวน จะเป็นผู้เขียนอีเมล์ไปพูดคุยกับลูกค้าที่ไม่พอใจ หรือคิดที่จะเลิกใช้บริการด้วยตัวของเขาเอง และนำเสียงของลูกค้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้ของ Zoom
Zoom เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq เมื่อเดือน เมษายน ค.ศ. 2019 ในราคา IPO (ราคาเสนอขายต่อสาธารณะครั้งแรก) จำนวน 36 ดอลล่าร์ต่อหุ้น ก่อนที่จะทะยานไปปิดที่ 62 ดอลล่าร์ต่อหุ้นในวันแรก และจวบจนวันที่ 23 มีนาคม 2020 ราคาหุ้น Zoom ยังยืนเหนือราคา IPO อย่างแข็งแกร่งที่ 130.55 ดอลล่าร์ต่อหุ้น มูลค่าตลาด 36.8 พันล้านดอลล่าร์
ส่งผลให้ อิริค หยวน มีสุทธิจำนวน 6.76 พันล้านดอลล่าร์ และมีชื่อปรากฏใน Bloomberg Billionaire Index ในลำดับที่ 207
หยวน ให้สัมภาษณ์ต่อ CNBC ว่า โลกนี้มีพนักงานบริษัทมากกว่า 1 พันล้านคน และนั่นคือว่าที่ลูกค้าของ Zoom — “งานของเราเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น!”
และนี่คือเรื่องราวของ อิริค หยวน หนุ่มน้อยที่นั่งจินตนาการถึงเครื่องมือไฮเทคที่จะช่วยให้คนที่อยู่ไกลกันสามารถสนทนาสดได้ดั่งใจนึก — 3 ทศวรรษต่อมา เขาไม่ได้แค่ทำให้มันเป็นจริง แต่ยังได้ช่วยให้คนทั่วโลกสามารถสื่อสารถึงกันได้ด้วยแอปพลิเคชั่นที่เขาตั้งชื่อว่า ‘Zoom’
อ้างอิง
https:// www.cnbc.com/2019/08/21/zoom-founder-left-job-because-he-wasnt-happy-became-billionaire.html
https:// fortune.com/2020/03/17/coronavirus-social-distancing-zoom-stock-video-meetings-founder-eric-yuan-net-worth/
https:// www.bloomberg.com/billionaires/