อีลอน มัสก์ เตรียมสร้างกองทัพยานอวกาศ 1 พันลำ ส่งไปสร้างอาณาจักรใหม่บนดาวอังคารภายในปี 2050

 

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ ของ SpaceX ธุรกิจอวกาศสุดไฮเทค คาดว่าเขาจะสามารถส่งกองทัพยานอวกาศจำนวน 1,000 ลำ เพื่อขนบุคลากรและทรัพยากรไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคารภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเป้าหมายของอาณานิคมใหม่ Phase แรก นี้จะสามารถเป็นเมืองให้กับประชากรจำนวนถึง 1 ล้านคน

18 มกราคม 2020 เว็บไซต์ Business Insider ได้ติดตามและรวบรวมข่าวการ Tweet ความคืบหน้าแผนการส่งคนไปดาวอังคารทาง Twitter ของ อีลอน มัสก์ สรุปได้ความดังนี้

อีลอน มัสก์ วางแผนสร้าง ยานลำเลียง และ จรวดอวกาศ ที่มีพลังงานมหาศาลเพื่อให้สามารถบรรทุก มนุษย์ 100 คน และ ทรัพยากรอีก 100 ตัน ต่อลำ หรือ เทียบเท่า รถนักเรียน American school bus ที่บรรทุกคนเต็มคันจำนวน 7 คันรวมกัน ส่งออกจากชั้นบรรยากาศโลก



ภารกิจแบ่งเป็น 2 Phase หลัก ณ ตอนนี้

Phase ที่ 1 หรือ ช่วง 10 ปีแรก มีเป้าหมายที่จะส่ง ยานอวกาศ จำนวน 100 ลำต่อปี จนกระทั่งครบ 1,000 ลำ ซึ่งจะเป็น ‘รุ่นบุกเบิก’ สร้างอาณาคมรุ่นแรกบนดาวอังคาร โดย อาณานิคมใหม่ ที่ อีลอน มักส์ ตั้งใจไว้จะต้องเป็นเมืองสำหรับประชากรขนาด 1 ล้านคน

Phase ที่ 2 เขามีแผนที่จะจัดส่งยานอวกาศสำหรับ ‘บุคคลทั่วไป’ ที่ประสงค์จะเดินทางไปอาศัยอยู่บนดาวอังคาร โดยความถี่ของเที่ยวบินที่ตั้งเป้าไว้ คือ วันละ 3 ลำ หรือ ปีละ 1,000 ลำ แต่ละเที่ยวบรรทุกคนได้ประมาณ 100 คน จึงเท่ากับศักยภาพในการย้ายคนอยู่ที่ ปีละ 1 แสนคน

อย่างไรก็ดี Phase ที่ 2 — อีลอน มัสก์ ยังไม่ฟันธงเด็ดขาดว่าจะใช้วิธี ปล่อยยานทุกวันตลอดทั้งปี หรือ ปล่อยยานทุก ๆ สองปี โดยเลือกช่วงทำวงโคจรระหว่างโลกและดาวอังคารที่เหมาะสม เพื่ออาศัยแรงเหวี่ยงของดาวเพื่อประหยัดพลังงาน — แผนในส่วนนี้อาจมีการเปลี่ยนในอนาคต

เตรียมปล่อยจรวดรุ่นทดสอบภายในไตรมาสแรกของปี 2020

ตัวยานอวกาศมีชื่อว่า Starship ในขณะที่จรวดมีชื่อว่า Super Heavy เมื่อ 2 ส่วนมาต่อกันจะมีความสูงประมาณ 118 เมตร โดย SpaceX เตรียมปล่อยจรวดรุ่นทดสอบภายในไตรมาสแรกของปี 2020 นี้ และจะนำผลการทดสอบไปพัฒนาต่อจนกว่าจะได้เวอร์ชั่นสำหรับทำภารกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเรียกว่าเวอร์ชั่น 1.0

โอกาสในการเดินทางไปดาวอังคารใน ‘ราคาถูก’ พอ ๆ กับตั๋วเครื่องบิน

หนึ่งในเป้าหมายของ อีลอน มัสก์ คือ การสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร แต่ที่ผ่านมา การเดินทางไปอวกาศการมีค่าใช้จ่ายที่อาจสูงถึง 500 ล้านดอลล่าร์ ดังนั้นเป้าหมายดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ยากหากไม่สามารถลดต้นทุนการเดินทางออกนอกโลกได้

SpaceX จึงมุ่งพัฒนาวิธีเดินทางไปอวกาศในราคาถูกลง โดยออกแบบจรวดอวกาศแบบ Reusable หรือ ใช้ซ้ำได้ ทำให้ต้นทุนการเดินทางลดลงเรื่อย ๆ จากหลักร้อยล้าน มาสู่หลักสิบล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะพัฒนาต่อไปจนเหลือ 2 ล้านดอลล่าร์ ต่อ 1 Launch

หาก SpaceX สามารถพัฒนาการปล่อยจรวดให้เหลือ 2 ล้านดอลล่าร์ ต่อ 1 Launch — การบรรทุกคนครั้ง 100 คน จะเท่ากับ คนละ 20,000 ดอลล่าร์ หรือ ประมาณ 600,000 บาท หรือ มีราคาใกล้เคียงกับตั๋วเครื่องบินชั้น First Class จากไทยไปอเมริกา

อีลอน มัสก์ ยังเผยอีกว่า เขามีแนวคิดจะจัดสินเชื่อเพื่อการเดินทางไปดาวอังคาร และยังบอกอีกว่าที่นั่นจะมีอาชีพให้ทำมากมาย

ก็นับได้ว่า อีลอน มัสก์ เป็นนักธุรกิจเหนือโลกคนหนึ่งจริง ๆ