อีลอน มัสก์ นักธุรกิจคิดใหญ่ มองไกลไปนอกโลก

หากมองธุรกิจโดยผิวเผินอาจรู้สึกว่าเป็นโลกที่ผูกพันกันด้วยผลประโยชน์ แต่ในอีกมุมที่คนคิดไม่ถึงคือมันยังถูกเชื่อมกับหลักของการ Give & Take อย่างเหนียวแน่น

  • ให้สินค้าขนาดทดลอง เพื่อลองใช้แล้วเห็นผล จะได้กลับมาซื้อซ้ำ
  • ให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ก่อนทำการซื้อขายครั้งใหญ่
  • ให้ส่วนลด และสิทธิพิเศษต่างๆในการเป็นลูกค้าประจำ เพื่อที่จะได้ไม่เปลี่ยนไปเป็นลูกค้าร้านอื่น

อย่างไรก็ตามภายใต้ความเป็นไปของการซื้อขายแลกเปลี่ยน ในนั้นมีนักธุรกิจหลายคนที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อื่นเป็น Passion หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลายคนในพวกเขาเหล่านั้น ไม่เพียงมีชีวิตความเป็นอยู่แบบ 1st Class แต่ยังทุ่มเทความพยายามในการสิ่งที่เขารัก แบบสุดโต่ง (ทั้งๆที่ไม่จำเป็น) มากพอๆกับอภิสิทธิที่ตัวเองได้รับ เพื่อช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นดีขึ้น

อีลอน มัสก์ เป็นหนึ่งในคนที่มีคุณสมบัติที่ว่า

แต่ทว่านี่ไม่ใช่บทความในทำนอง ‘ผ่าโมเดลวิธีคิดแบบ อีลอน มัสก์‘ (บางทีเราก็ไม่ได้รู้จักเขามากถึงขนาดนั้น) หรือบอกเล่าว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขานั้นช่างเจ๋ง และมีบทบาทความเป็นมาอย่างไรใน ซิลิคอน วัลเลย์

เนื้อหาทำนองนี้เชื่อว่าคงถูกหยิบยกขึ้นมาเขียนถึงมากพอแล้ว และสามารถหาอ่านได้ไม่อยาก ดังนั้น ณ โอกาสจึงขอนำเสนอ 1-2 มุมมองต่อฮีโร่ของใครหลายๆ คนผู้นี้ อาทิ อะไรคือแรงผลักดันในการทำธุรกิจที่มุ่งหวังให้โลกดีขึ้น ในภาวะที่เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องทำ และนอกจากความสามารถเฉพาะทางที่เห็นได้ชัด ภายใต้ความ Introvert ที่สวนทางกับ A-lists ส่วนใหญ่ในสังคม มีคุณสมบัติอะไรอีก ที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้

ก่อนจะไปกันต่อ มีใครในที่นี้สังเกตไหมว่า อีลอน มัสก์ นอกจากพฤติกรรมพูดติดอ่างนิดๆ เขายังมักติดพูดคำว่า “Sustainable” อีกด้วย

คมความคิดสร้างสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

นอกจากการสร้างผลงานที่เราต้องยอมรับว่ามันคือระดับตำนาน อาทิ PayPal, Tesla Motors, Solar City และ Space X หนึ่งในเหตุผลที่ผู้คนต่างทึ่งและชมเชยเป็นเพราะว่าทั้ง 4 สิ่งนี้ดูเป็นโครงการที่ค่อนข้างแตกต่างกัน และโดยที่ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาระดับสูง ใครก็พอจะมองออกว่ามันต้องอาศัยทั้งทักษะ และความรู้ความเข้าใจในการขมวดศาสตร์หลายๆอย่างเข้าด้วยกัน และทำให้มันเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ดี เมื่อเรามองให้ลึกลงไป เราจะเห็นว่าการสร้างสรรค์ทุกสิ่งของ อีลอน มัสก์ มาจากแนวคิดเรียบง่ายแนวคิดเดียว นั่นก็คือ ‘สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติในระยะยาวหรือไม่’

ไอเดียเรื่องการใช้พลังงานทดแทน และการไม่ผูกขาดความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีคนคิดทำแต่ไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นมาลองทำให้มันเกิดขึ้นจริงจัง มันจึงกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่หากใครสักคนบ้าบิ่นพอที่จะเสี่ยงตั้งบริษัทขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยที่ยังมีลูกค้าในมือไม่ถึง 1 % จากสัดส่วนผู้ใช้รถทั้งหมดทั่วโลก หรือสร้างอาณานิคมที่เราสามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ แทนพลังงานจากก๊าชได้ ทั้งยังใช้ได้แบบไม่มีขีดจำกัด

อีกลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจของ อีลอน มัสก์ คือเขาไม่ใช่คนประเภทเข้าสังคมจ๋า และเรียนรู้ที่พูดจาแบบแบ่งรับแบ่งสู้เท่าไหร่ หลายครั้งการให้สัมภาษณ์ คำตอบของเขาก็ถือว่าขวานผ่าซากใช้ได้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจตรงนี้คือ การกระทำรูปแบบนี้ ก่อให้เกิดการภาวะ Cult หรือแบ่งแยก ระหว่างกลุ่มคนที่ชื่นชอบในผลงานของเขา และกลุ่มคนที่รู้สึกว่าผลงานของเขามันไม่โอเคออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งในเชิงจิตวิทยาการตลาดแล้ว มันคือปัจจัยหนึ่งในการส่งผลดีต่อยอดขาย

ประกอบกับถ้าใครเคยได้เห็นเขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองความคิดที่มีต่อโลกอนาคต แนวคิดการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้พลังงานทดแทน เชื่อว่าในฐานะผู้บริโภคที่ไม่มีอคติ และต้องสูญเสียผลประโยชน์แล้ว ย่อมจะสามารถสัมผัสได้ถึง Good will ของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะพูดจาหว่านล้อม ฮาร์ดเซลส์ หรือนำเสนอขายไฟแล่บประหนึ่ง The Wolf of Wall Street ก็สามารถปิดการขายได้

อีกทั้งการไม่หวงเทคโนโลยี โดยไม่มีการจดสิทธิบัตรในทุกๆ ผลงานที่ทีมนักวิจัยของเขาคิดค้นได้ เพื่อเป็นการเปิดทางให้ผู้ประกอปการหน้าใหม่ รัฐบาล หรืออีกนัยก็อาจจะเป็นคู่แข่ง ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆในการประดิษฐ์คิดค้น ที่สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตสินค้าพลังงานทดแทนของตนเองออกมาได้เช่นกัน

คงไม่เกินไปนักที่จะกล่าวแนะว่า นี่คือตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจแบบไม่ผูกขาดสูงสุดต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

รวยแล้วทำไมต้องดิ้นรนทำสิ่งที่ยากกว่า

หลายคนเคยสงสัยว่า ลำพังตอบแทนที่ได้จากการขาย PayPal นั้นก็มากพอที่จะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆทั้งชีวิตแล้ว ทำไมเขาต้องหาอะไรทำเพิ่ม ที่ต้องออกแรงระดับมหภาคขนาดนี้ด้วย

ไม่แน่ว่าบางทีอาจเพราะเขาเป็นพ่อคน ใครที่ได้เริ่มเป็นพ่อเป็นแม่แล้วก็ล้วนแต่อยากให้ลูกของตนเองได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาบนโลกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าอาจเพราะเขาเป็นมหาเศรษฐีที่ผ่านการเติมเต็มทุกความต้องการของตนเองตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow จึงเริ่มอยากตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเองยิ่งขึ้นไป ผ่านการส่งต่อสิ่งดีๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ (แต่เศรษฐีหลายคนบนโลกก็ไม่ได้เป็นแบบนี้)

ไม่ก็บางทีเขาอาจเป็นเพียงคนที่รู้จักวิธีจัดการกับการตั้งคำถามของตัวเอง และหมกหมุ่นในการลงแรง เพิ่อไขปริศนากับมันมากไปหน่อยแค่นั้นเอง — ก็อย่างบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ได้รู้จักเขามากมายขนาดนั้น แต่สิ่งที่เขาทำนั้นมีเสน่ห์จนน่าค้นหาว่าอะไรคือรากฐานทางความคิดที่สนับสนุนการกระทำแบบเปลี่ยนโลกเหล่านี้จากผู้ชายที่ชื่อว่า อีลอน มัสก์

may peeAuthor : Peeraya Ungkasiriwanon