อีลอน มัสก์ นักธุรกิจไฮเทคชื่อดังที่บางคนให้ฉายา โทนี่ สตาร์ก จากคอมมิคเรื่อง ไอออนแมน เพราะนอกจากเขาจะรวยระดับโลก ด้วยสินทรัพย์สุทธิมากกว่า 2 แสนล้านดอลล่าร์แล้ว เขายังมักมาพร้อมกับไอเดียธุรกิจล้ำอนาคตมากมาย
ล่าสุด เขาเป็นที่กล่าวถึงในต่างประเทศอีกครั้ง กับเรื่องราวของ Starship 2.0 ยานอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่โลกเคยมีมา ที่ตั้งเป้าจะสร้างให้ได้อย่างน้อย 1,000 ลำ เพื่อเตรียมขนมนุษย์ ไปตั้งรกรากใหม่บนดาวอังคาร
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 อีลอน มัสก์ ได้ทวีตข้อความเผยวิสัยทัศน์ของเขาว่า…
“แนวคิดให้มนุษย์สามารถกระจายกันอาศัยอยู่บนดวงดาวต่าง ๆ นั้น เป็นการตื่นรู้ของมนุษย์ชาติ และมันยังเป็นการถนอมโลกใบนี้ให้ยาวนานอีกด้วย
นอกจากมนุษย์แล้ว ก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธ์อื่นจะสามารถทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ เรา, ในฐานะมนุษย์, ไม่ควรทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง…”
จากนั้น ผู้ใช้งานทวีตเตอร์รายหนึ่งได้ถามว่า เขามีแผนอย่างไร? อีลอน มัสก์ ตอบกลับว่า สร้างยาน Starship จำนวน 1,000+ ลำ ส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร โดยเขาอุปมาโครงการของเขาว่า ‘เป็นเรือโนอาร์แห่งอนาคต’
สำหรับท่านที่ไม่รู้จัก เรือโนอาร์ จะขอเกริ่นสั้น ๆ
เรือโนอาร์ เป็นเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล เมื่อคนบาปเต็มโลก พระเจ้าต้องการจะชำระโลกให้กลับมาบริสุทธิ์ โดยเลือกตัวแทนมนุษย์ 1 คน
เขามีชื่อว่า โนอาร์ ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้ต่อเรือยักษ์ และพาครอบครัวของเขา และเหล่าสรรพสัตว์อย่างละคู่ขึ้นเรือไปเสีย จากนั้น พระเจ้า ก็บรรดาลฝนตก 40 วัน 40 คืน จนน้ำท่วมโลก มนุษย์และสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นเรือก็ตายกันหมด ในขณะครอบครัวโนอาร์ และสรรพสัตว์ที่ได้รับคัดเลือก อยู่บนเรืออย่างปลอดภัยจนน้ำจะลด และเริ่มต้นสร้างอาณาจักรกันใหม่
เราขอเดาว่า อีลอน มัสก์ อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวนี้ จึงนำมาอุปมาโครงการของเขาว่า เปรียบเสมือนเรือโนอาร์แห่งยุคอวกาศ ก็เป็นไปได้
Starship รุ่นใหม่
ในวันเดียวกันนั้นเอง เขายังได้โพสต์สไลด์อัพเดทความคืบหน้าของ SpaceX ว่าทำอะไรสำเร็จไปแล้ว และกำลังจะทำอะไรต่อไป โดยมีภาพของ ยานอวกาศ และ จรวดบูสเตอร์ รุ่นใหม่ ๆ
เว็บไซต์ complexob7.com รายงานสเปกเบื้องต้นของยานอวกาศและจรวดบูสเตอร์รุ่นใหม่ของ Elon Musk โดยคร่าว ดังนี้
ยานอวกาศ รุ่นนี้มีชื่อว่า Starship 2.0 ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่ารุ่น 1.0 ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว และจะกลายเป็นยานอวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถทำภารกิจขนชาวโลกไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ไปยังดาวอังคารซึ่งมีระยะห่างจากโลกในวงโคจรอย่างใกล้ที่สุด 62.07 ล้านกิโลเมตร ภายในปี 2050
เดิมที Starship รุ่น 1.0 นั้นมีความสูงเมื่อนับจากการวางลงบนบูสเตอร์แล้ว จะสูงถึงประมาณ 121 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ความสูงดังกล่าวจึงกว่า เทพีเสรีภาพ เสียอีก ส่วนทางด้านความจุสูงสุด 250 ตัน แต่ในกรณีที่ใช้งานแบบ Reusable คือ ทั้งไปและกลับ ความจุจะเหลือ 150 ตัน
ในขณะที่ Starship 2.0 จะมีความสูงถึง 240 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เมตร และมีความจุเป็น 2 เท่าของรุ่น 1.0 และจะกลายเป็นยานอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ
อีลอน มัสก์ รู้ดีว่ายานอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก จะต้องใช้พลังงานมหาศาล ในการพาตัวของมันขึ้นสู่อวกาศ และเขาก็จะต้องพัฒนาบูสเตอร์ที่ทรงพลังยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก และบูสเตอร์นั้นเขาก็ตั้งชื่ออย่างง่าย ๆ ว่า Super Heavy หรือ เจ้าหนักโครต ๆ
Business Insider India เผยว่า อีลอน มัสก์ สั่งพัฒนาตัวโปรโตไทป์ของ Super Heavy เสร็จแล้ว และพร้อมที่จะทำการทดสอบ แต่ยังติดการดำเนินการขออนุญาตกับทางสำนักงาน US Federal Aviation Administration หรือ FAA ทำให้เขาต้องเลื่อนการทดสอบออกไปก่อน
ทั้งนี้เขาคาดว่าการอนุมัติมีโอกาสสูงที่จะแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน นี้ และเราอาจจะได้เห็นการทดลองปล่อยจรวดรุ่นใหม่ของ อีลอน มัสก์ อีกครั้ง
คุณอาจสนใจ