EEC คืออะไร? เจาะลึกยุทธศาสตร์ผลักดัน SMEs, Entrepreneur และ Startup ไทยให้โตไปกับพื้นที่ ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ’

ภูมิภาคเอเชีย เป็นจุดยุทศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อมต่อกับ จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเกาหลี และญี่ปุ่น ประชากรรวมกันมากกว่า 3.5 พันล้านคน หรือเรียกกว่ารวมคนครึ่งโลกเอาไว้ที่นี่ ก่อเกิด GDP เป็นสัดส่วนกว่า 32% ของทั้งโลก และนับว่าโชคดียิ่งที่ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งนี้ อาณาเขตตอนกลางและตอนใต้ติดทะเล ส่วนตอนบนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและผ่านไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกด้วย

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) จึงเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจอันไพศาลนี้ และมีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจในประเทศไทยให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลก

EEC คืออะไร และจะทำอะไร?

EEC คืออะไร?… EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

โดยในครั้งนี้สำนักงานเพื่อการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ) มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริม การลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้ เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง, และ ฉะเชิงเทรา

ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศอยู่แล้ว อุดมไปด้วยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบิน รวมถึงมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก EEC จึงเล็งพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่มีมีความพร้อมสูงสุดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการบริหารจัดการในการกำกับดูแลของ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

โครงการนำร่องของ EEC มีอะไรบ้าง?

EEC จะมีส่วนในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมในการอยู่อาศัย พักผ่อน และประกอบธุรกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความทันสมัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่เดิมและผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

โครงการโดยสังเขปจากการรายงานของเว็บไซต์ ลงทุนแมน

พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของไทย 200,000 ล้านบาท

  • สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 158,000 ล้านบาท
  • รถไฟทางคู่เชื่อมแหล่งอุตสาหกรรมกับท่าเรือ 64,300 ล้านบาท
  • พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง 88,000 ล้านบาท
  • พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด 10,150 ล้านบาท
  • ก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 35,300 ล้านบาท
  • พัฒนาเมืองในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 400,000 ล้านบาท
  • ลงทุนด้านการท่องเที่ยว 200,000 ล้านบาท
  • พัฒนาเขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและลงทุนกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท

ที่มา: เว็บไซต์ลงทุนแมน ตอน โอกาสธุรกิจจาก EEC

จะเห็นว่าการพัฒนาหลัก ๆ จะเป็นเรื่องโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมให้สะดวก และมีประสิทธิภาพสามารถรองรับการสัญจร (Traffic) ไม่ว่าจะจากการท่องเที่ยว และจากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ให้หมุนเวียนดี

10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จาก EEC เป็นอันดับต้น ๆ

การยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจครั้งนี้จะก่อเกิดโอกาสให้กับธุรกิจมากมายตั้งแต่ต้นน้ำอย่าง Manufacturer หรือ ผู้ผลิต ไปสู่ผู้ค้าขายอย่าง SMEs, Traders/ Dealers/ Suppliers และยังรวมไปถึงธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่าง Startup ก็อยู่ในสายตามของ EEC เช่นกัน โดยคุณ พลวุฒิ สงสกุล ผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าว เว็บไซต์ The Standard ได้ทำการวิเคราะห์และจำแนกประเภทอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลดีจากโครงการนี้ ดังต่อไปนี้ 

กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม 5 กลุ่ม

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ (Next-Generation Automotive) สนับสนุนการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) การผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology) เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงที่มีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food Processing) การวิจัยและผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ

กลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 5 กลุ่ม

  • หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน (Advance Robotics) เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานและฝึกอบรม ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย การลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต/สมาร์ทโฟน
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) ตั้งเป้าใช้จุดแข็งด้านการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น E-commerce, Digital Content, Data Center, Cloud Computing

ที่มา: เว็บไซต์ The Standard ตอน รู้จัก ‘อีอีซี’ โครงการความหวังเศรษฐกิจไทย 1.5 ล้านล้านบาท ภาคต่อของ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ยุคป๋าเปรม

โครงการในภาพรวม

EEC กับ สิทธิประโยชน์ทางภาษี

EEC ถือเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน และผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษแห่งนี้จะได้รับสิทธิพิเศษจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แก่

  • เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี จากสิทธิประโยชน์เดิมของบีโอไอ
  • ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะ 15 ปี (ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย) นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจาก กระทรวงการคลัง ซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือการเป็นสำนักงานใหญ่เขตภูมิภาค และการลงทุนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC

Alibaba แสดงความสนใจ EEC

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อปี 2017 โดยประมาณหนึ่งว่ามีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ EEC และหนึ่งในนั้น คือ Alibaba ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ E-Commerce โดยผู้บริหารผู้มีอำนาจแทนได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องฝั่ง EEC ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Fifth Generation E-Commerce Park’ เพื่อเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การขนส่ง และการอบรมความรู้ด้าน E-Commerce ในพื้นที่

สรุป

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นโครงการใหญ่ที่น่าจับตามอง เมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามแผนงาน จะสร้างแรงสั่นสะเทือนเชิงบวกทางเศรษฐกิจและนี่อาจทำให้ประเทศไทยกลับมาคึกคักในฐานะหนึ่งศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งเอเชีย