ครม. ลดภาษีสรรพสามิตวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟฟ้า 0% นาน 6 เดือน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน ทั้งเกินและไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก หรือ น้ำมันดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตใน อัตรา 0%




การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน เหลือ 0% มีผลบังคับใช้ถึง วันที่ 15 ก.ย. 2022 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ จะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1.0 – 1.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย เพราะจะมีต้นทุนการผลิตลดลงจากค่าไฟฟ้าที่ลดลง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่าการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้จากภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นมาก กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจาก LNG มาเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทำให้หลังจากนี้จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซล 200 ล้านลิตรต่อเดือน และน้ำมันเตา 35 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน คิดเป็นเงินภาษี 7 พันล้านบาท โดยเงินในส่วนนี้ได้นำไปช่วยในการตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังเผยว่าในปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสภาพคล่องประมาณ 40,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศได้ถึงเดือน พฤษภาคม นี้ โดยส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 3 บาทต่อลิตรในช่วงที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแค่พยุงราคาน้ำมันดีเซลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเรื่องสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย

รมว.คลัง เผยต่อไปว่าแม้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท แต่จะไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากจากภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 5 เดือนแรกปีงบ 2565 (ต.ค. 64 – ก.พ. 65) จัดเก็บได้ประมาณ 700,000 ล้านบาท เกินเป้าหมายจำนวน 85,000 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย