CEO’s Expert Series ชุด Digital Asset Empire
ตอน เจาะช่องทางรวยด้วย Digital Asset

Script และภาพประกอบใต้วีดีโอ

วันนี้ทุกคนรู้จักการลงทุนในสินทรัพย์อย่าง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรือ กิจการแบบมีอาคารและหน้าร้านแล้ว จากนี้ไปคุณกำลังจะได้ค้นพบโลกของการลงทุนในอีกมิติหนึ่ง การลงทุนที่ใช้เงินสดเริ่มต้นเพียงหลักพัน ความเสี่ยงช่วงแรกเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวหลักสิบล้าน ไปจนถึงร้อยล้านบาท นั่นคือการลงทุนสร้าง Digital Asset

สวัสดีครับ! ผม พรพรหม กฤดากร ชื่อเล่น พอล เจ้าของเว็บไซต์ CEOblog.co เว็บไซต์ข่าวธุรกิจโลกในมือคุณ และเจ้าของเว็บไซต์อีเลิร์นนิ่ง Expertsity.com ผมทำธุรกิจและการตลาดออนไลน์อย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ. 2013 โดยแนวทางของผมอาจแตกต่างกับคนไทยหลายคน

กล่าวคือในบ้านเรามุ่งเน้นไปที่การเปิดแฟนเพจหรืออินสตาแกรม โพสต์ขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านั้นเพื่อสร้างรายได้ออนไลน์ หรือบางคนอาจชอบเขียนชอบเล่าเรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียและต่อมาก็มีเอเจนซี่มาของลงโฆษณา

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการอาศัยบ้านของคนอื่นในการทำธุรกิจออนไลน์ คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ Asset ได้แก่ เว็บไซต์ และ ดาต้าเบสของคนที่เข้ามายังเว็บไซ์เหล่านั้น

ส่วนตัวผมเองทำงานประจำมาสิบปี อยู่ในแวดวงค้าปลีก ค้าส่ง และโลจิสติกส์ ผมอยู่กับสินค้าที่มีสต็อกมาตลอดอายุการทำงานประจำจนเกิดความเห็นว่า ถ้าวันหนึ่งผมมีโอกาสทำธุรกิจส่วนตัว ผมจะเริ่มจากธุรกิจที่ ไม่ต้องสต็อก ไม่ต้องแพ็ก และไม่ต้องส่งของทางไปรษณีย์ เป็นอันดับแรก

นับจากปี 2013 เป็นต้นมา 80% ของธุรกิจออนไลน์ที่ผมทำเข้าข่ายนั้น และทั้งหมดเป็นการทำธุรกิจและสร้างรายได้ออนไลน์บน Digital Asset ของตัวเอง ได้แก่ มีเว็บไซต์ มีคอนเทนต์บนมีเดียของตัวเอง และมีฐานข้อมูล user ทั้งหมดอยู่ในมือ!

ก่อนที่จะลงรายละเอียดแบบเจาะลึกเรื่อง Digital Asset ผมจะพาไปดูตัวอย่างส่วนหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพคร่าว ๆ

Pantip.com


แทบทุกคนต้องรู้จัก Pantip เป็นหนึ่งในเว็บไซต์เก่าแก่ของบ้านเรา ชื่อของ พันทิป นั้นมาจากคำว่า จำนวนเลขหลักพัน และ ทิป ที่แปลว่าเคล็ดลับและคำแนะนำ รวมเป็น พันทิป ก่อตั้งปี 1996 โดย คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ โดยช่วงแรกไม่ได้มีหน้าตาแบบวันนี้

เดิมที Pantip เป็นเว็บข้อมูลข่าวสารด้านไอที ก่อนที่จะกลายมาเป็นเว็บไซต์ประเภทเว็บบอร์ดในหลากหลายหัวข้อสนทนา

Asset ของ Pantip เริ่มตั้งแต่ชื่อโดเมนเนม 2 คำจำง่ายเขียนง่ายและเป็นนามสกุล dot-com ถือเป็นชื่อโดเมนที่มีราคาแพงในปัจจุบัน พันทิป มีฐานผู้ใช้งานในระบบหลายล้านคน มีบทความจำนวนมหาศาล และหลายบทความของพันทิปติดอันดับต้น ๆ ในหน้าแรกของ Google search engine

ปริมาณผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์พันทิประหว่าง ต้น มกราคม ถึง ปลาย กุมภาพันธ์ ปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 110 – 115 ล้าน visitors โดย 74% มาจากคนค้นหาผ่านทาง Google และองค์ประกอบเหล่านี้ส่งผลให้เว็บไซต์พันทิปมีรายได้ปีละหลักร้อยล้านบาท โดยที่มีการเผยแพร่ล่าสุดคือปี 2016 รายได้ 115 ล้านบาท รายได้หลักมาจากค่าโฆษณา อาทิ แบนเนอร์ และ Advertorial

ThinkofLiving.com


เว็บไซต์ข่าวสารและการรีวิวอสังหาริมทรัพย์ของไทย เป็นเว็บที่มีเนื้อหารีวิวสุดละเอียด น่าเชื่อถือ และบทความมักติดอันดับต้น ๆ ของ Google search engine

Think of Living มีปริมาณทราฟฟิกประมาณ 3 – 4 แสน Visitors ต่อเดือน ไม่สูงเหมือนพันทิป แต่นั่นเป็นเพราะแนวทางของเว็บไซต์ที่มีความนิช โฟกัสเรื่องอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แล้วทำเว็บไซต์แนวนี้ให้สุดทางไปเลย ส่งผลให้นายทุนอย่าง iProperty Group จากมาเลเซีย เข้าซื้อกิจการและเว็บไซต์ Think of Living ในปี 2013 ด้วยเงินและหุ้นมูลค่ารวมกันโดยประมาณ 200 ล้านบาทไทย

HuffPost.com


เว็บข่าวรอบโลกก่อตั้งในปี 2005 มีผู้ร่วมก่อตั้งหลายคน แต่คนที่เป็นกัปตันทีมและออกสื่อบ่อยที่สุดคือ Arianna Huffington ซึ่งเธอทำธุรกิจเว็บข่าวมาก่อน โดยเน้นหนักไปทางข่าวการเมือง ทำให้ช่วงแรกของ HuffPost เป็นข่าวการเมืองก่อนขยายไปสู่สารพัดข่าวรอบโลก ถ้าเปรียบก็จะคล้าย ๆ กับเว็บไซต์ The Standard ในบ้านเรา 
HuffPost มีคนเยี่ยมชมประมาณ 40 – 60 ล้าน Visitors ต่อเดือนและถูกเข้าซื้อโดย AOL ในปี 2011 เป็นมูลค่า 315 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุการที่คล้ายกันเกิดขึ้นกับเว็บข่าวเทคโนโลยีนามว่า Mashable ก่อตั้งในปี 2005 โดย Peter Cashmore และถูกซื้อโดยบริษัท Ziff Davis ในปี 2017 ด้วยมูลค่าประมาณใกล้ ๆ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้ง 2 เว็บไซต์นี้เป็นเว็บข่าวที่มี Content และ Traffic จำนวนมหาศาล มีรายได้จากค่าโฆษณา และมีมูลค่าเว็บไซต์คิดเป็นเงินไทยในระดับพันล้านบาท — นี่คือตัวอย่างบางส่วนของ Digital Asset


Domain Name เปล่า ๆ ก็มีราคา

นอกจากนั้น! หากคุณลองเข้า Google และพิมพ์คำว่า ‘โดเมนเนมแพงสุดราคาเท่าไร’ คุณจะพบกับรายชื่อโดเมนเนมที่ถูกซื้อไปในราคา 40 ล้านบาท ไปจนถึง 400 ล้านบาท และย้ำว่านี่แค่ค่า โดเมนเนม เปล่า ๆ ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีคอนเทนต์อะไรทั้งสิ้น

และถ้าคุณอยากรู้ว่าโดเมนอะไรแพงที่สุดในโลก ผมเฉลยตรงนี้เลยก็ได้…

โดเมนเนมชื่อว่าๅ s-e-x — sex.com ถูกซื้อไปเมื่อปี 2010 ณ ราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 400 กว่าล้านบาท ซึ่งจนปัจจุบันทางเจ้าของก็ยังไม่ได้นำไปใช้ทำอะไรต่อ

หน้าตาของเว็บไซต์ที่มีโดเมนเนมราคากว่า 400 ล้านบาท

สรุปกันอีกครั้งว่ามูลค่าของเว็บไซต์นั้นเกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง

1. Domain Name

คุณสมบัติของโดเมนเนมที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ได้แก่ สั้น จำง่าย มีระหว่าง 1 – 3 พยางค์ เช่น ebay, amazon, facebook, google, pantip, sanook, kapook และสกุลลงท้ายด้วย dot-com เหล่านี้คือคุณสมบัติของโดเมนที่มีราคา ซึ่งปัจจุบันโดเมนที่เข้าข่ายนี้หายากเต็มทน เพราะถูกนักล่าโดเมนสอยไปเก็บไว้ทำกำไรกันมากแล้ว

2. Web Content

แต่แม้คุณจะไม่ได้เป็นเจ้าของโดเมนเนมที่มีคุณสมบัติดังกล่าว สิ่งที่สำคัญและการันตีว่าเว็บไซต์ของคุณจะมีมูลค่าเพิ่มก็คือ Web content หรือ เนื้อหาในเว็บไซต์ เพราะมันเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งในการดึงคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์

ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีเงิน — เมื่อคนเข้าเว็บไซต์เยอะ คุณจะสามารถต่อยอดสู่การสร้างรายได้จากเว็บหลากหลายวิธี

3. User

ทราฟฟิกสร้างรายได้ ส่วนสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์มีมูลค่าคือ User หรือ ฐานข้อมูลผู้ใช่งานในระบบ คุณอาจเคยได้ยินธุรกิจสตาร์ทอัพหลาย ๆ บริษัททั้งในไทยและอเมริกามีมูลค่าเป็นร้อยเป็นพันล้านบาทและมีนักลงทุนพร้อมลงทุนด้วยเงินมหาศาลแม้ธุรกิจเหล่านั้นจะยังไม่ทำกำไรใช่ไหมครับ?

คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? — คำตอบคือ เพราะเขามี User ในระบบ Database หรือ ฐานของมูลผู้ใช้งานไล่ตั้งแต่ ชื่อ เบอร์โทร อีเมล์ ที่อยู่ และพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ นั้นมีมูลค่าราวกับทองคำในโลกดิจิตัล เพราะสามารถนำไปใช้ต่อยอดทำการตลาดแบบ Direct selling, Re-targeting และ Re-marketing ได้

เจ้าของเว็บไซต์จึงมักมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนทราฟฟิกที่เข้าเว็บไซต์ไปเป็น User ในระบบ กระบวนการนี้เรียกว่าการทำ Lead generation

4. Revenue

และอันดับสุดท้าย คือ Revenue หรือ รายได้ของเว็บไซต์ คุณอาจแปลกใจว่ารายได้มาอยู่อันดับสุดท้าย แต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะหากคุณผ่านกระบวนการที่ 2 และ 3 มาอย่างดีแล้ว อย่างไรเสียคุณก็ทำเงินจาก User ได้แน่นอน อยู่ที่ว่าจะทำวิธีไหน หรือจะขายอะไร ขอเพียงมีข้อ 2 และ 3 คุณทำเงินออนไลน์ได้แน่นอน!

และนี่เป็นเพียงการเกริ่นแนะนำ Digital Asset ธุรกิจสร้างสินทรัพย์บนโลกออนไลน์ ซึ่งผมยังมีบทความแยกแต่ละโมเดลรายได้ที่สามารถทำได้ในประเทศ รอติดตามกันครับ!