cheng wei

Cheng Wei ผู้ก่อตั้ง Didi เตรียมเปิดให้บริการจัดส่งอาหาร สู้ศึกกับ Meituan

Cheng Wei ชายผู้สยบ Uber ในจีน ผู้ก่อตั้งบริษัท Ride Sharing ที่ใหญ่ที่สุดของจีน Didi Chuxing ได้รุกเข้าสู่ตลาดการจัดส่งอาหารแล้ว โดยแหล่งข่าวท้องถิ่นของจีนได้รายงานว่า Didi ได้ว่าจ้างบริษัท R&D ของบริการจัดส่งอาหารมาเป็นเวลานานแล้ว และพนักงานที่ร่วมโปรเจ็คนี้ ต่างถูกย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่ เพื่อปิดเป็นความลับ

แม้จะเป็นข่าวลือ แต่ CEO อย่าง Cheng Wei ก็ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ “ทุกอย่างเป็นไปได้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เราจะสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้ของเราได้หรือไม่” Cheng Wei กล่าวเมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจการจัดส่งอาหาร

นอกจากนี้ยังเคยมีสัญญาณว่า Didi สนใจในธุรกิจนี้ ก่อนปี 2015 Didi ได้ร่วมมือกับ Ele.me สำหรับโครงการที่คล้ายกับ UberEATs บริการด้านการจัดส่งอาหารของ Uber โดยทั้ง Didi และ Ele.me ยังคงวางแผนร่วมกันในการทำธุรกิจการจัดส่งอาหาร ซึ่งทั้งสองสามารถปรับตัวเพื่อร่วมงานกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากอยู่ในระบบนิเวศของ Tencent ด้วยกัน (Tencent เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในทั้ง 2 บริษัท)

โดย Meituan เป็นบริการจัดส่งอาหาร ที่เป็นบริษัทในเครือของ Meituan Dianping ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ ระหว่าง Meituan และ Dianping บริษัทที่เป็นแพลตฟอร์ม ออนดีมาน ในการรับคำสั่งซื้อและจัดส่งอาหาร ที่มีคำสั่งซื้อมากถึง 10 ล้านคำสั่งซื้อต่อวัน มีผู้ใช้งานรายเดือน 180 ล้านคน และมีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 600 ล้านคน โดยปีนี้ Meituan Dianping เคยประกาศว่า จะทำบริการ Ride sharing (ที่คล้ายกับของ Didi Chuxing) เป็นของตนเอง

นั่นจึงเป็นเหมือนสารท้ารบที่ Meituan Dianping ส่งไปถึง Didi Chuxing และข่าวลือก็คือ Cheng Wei รับคำท้าและจะบุกเข้าสู่ธุรกิจการจัดส่งอาหารในเร็ว ๆ นี้

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ทำให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีขึ้นมากมาย และทำให้ขอบเขตของธุรกิจในแต่ละบริษัท เริ่มเลือนรางมากยิ่งขึ้น โดยเราไม่อาจกำหนดขอบเขตโดยอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง อาลีบาบาไม่ได้เป็นเพียงผู้ค้าปลีกออนไลน์อย่างเดียวอีกต่อไป มีห้างสรรพสินค้า มีการลงทุนต่าง ๆ เครื่องมือค้นหาบนเว็บไซต์ก็ไม่ใช่ธุรกิจหลักของ Baidu อีกต่อไป ตอนนี้ขยายไปยังธุรกิจด้าน Ai และอวกาศ Tencent ก็ไม่ได้มีเพียงแต่ Wechat ยังขยายธุรกิจไปลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผลของการเร่งขยายธุรกิจแบบนี้ ทำให้เกิดการซ้อนทับ หรือทับทางกันมากมายเต็มไปหมด และไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดได้เลย แต่ผลสุดท้ายจะตกอยู่กับผู้บริโภค เนื่องจากทุกการแข่งขัน ก็เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาดนั่นเอง

Resource: