ยิ่งสับสนยิ่งสำเร็จ; ผลสำรวจเผย คนที่เปลี่ยนใจบ่อย มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า บุคคลที่ยิ่งชัดเจนและแน่วแน่ในเป้าหมาย ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าคนที่ไม่ชัดเจน แต่ผลสำรวจที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งกลับบอกว่า คนที่ยิ่งสับสนในการตัดสินใจของตนเอง และ มักเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนแผนบ่อย ๆ ต่างหาก ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า และยังมีการยืนยันโดยนักบริหารระดับโลก อาทิ Jeff Bezos แห่ง Amazon.com และ Tim Cook ซีอีโอ Apple Inc. อีกด้วย — ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร บทความนี้จะขยายผลให้ฟัง

Al Pittampalli (อัล พิทามพาลี) ผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจให้กับองค์กรยักษ์ใหญ่ อาทิ NASA, บริษัท Boeing และ IBM เป็นต้น ได้ศึกษาองค์กรขนาดใหญ่และนักบริหารจำนวนมากและสรุปผลลัพธ์ลงในหนังสือ Persuadable: How Great Leaders Change Their Minds to Change the World ว่า เจ้าคุณสมบัติที่เรียกว่า Persuadability นี่แหละ คือ กุญแจสู่ความสำเร็จของนักบริหารชั้นนำ



Persuadability ความอ่อนแอ ที่เข้มแข็ง

Persuadability หรือ ความถูกเกลี้ยกล่อมได้ มักแสดงออกในรูปแบบของ ความไม่อยู่กับร่องกับรอย ความลังเลใจ เปลี่ยนแปลงไปมา ของบุคคล หรือกรณีนี้ คือ เจ้าของธุรกิจ และ นักบริหาร

ในขณะที่ Persuadability ในบริบทของ Al Pittampalli กล่าวถึงบุคคลที่กล้ารับฟังไปจนถึงเปลี่ยนแปลงความคิด และการตัดสินในวันวานของตนเองเมื่อพบเจอ ‘หลักฐานใหม่’ ที่กำลังบอกว่า พวกเขาอาจตัดสินใจผิดเมื่อก่อนหน้านี้ และต่อไปนี้คือแนวทางใหม่ที่ถูกต้องกว่า

การยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในสังคมมนุษย์หลายประการ อาทิ

  • การยอมรับว่าตนเองผิดเป็นเรื่องเสียหน้า
  • การยอมรับสิ่งใหม่ ๆ เป็นการท้าทายอีโก้เดิมของตนเอง
  • การยอมรับผิด และการเปิดรับสิ่งใหม่ อาจถูกมองว่าเป็นคนหัวอ่อน
  • และสุดท้าย การเปลี่ยนความคิดและแผนการบ่อย ๆ อาจถูกไม่เด็ดขาด และไม่อยู่กับร่องกับรอย

คนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงนักบริหารจึงยึดติดกับ ความคิด และ แผนการเดิม และเลือกที่จะทำจนกว่าจะพังกันข้างจึงค่อยเปลี่ยนแผน เพียงเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นคนไม่ชัดเจนและไม่เด็ดขาด แต่จากการศึกษากลุ่มนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ โดย มิสเตอร์ อัล พิทามพาลี — เขาพบสิ่งที่ตรงกันข้าม

เขาบอกไว้ในเว็บไซต์ CNBC ว่า “The smartest people don’t wait for that negative feedback to come to them, they hurry up and try to actually say, ‘If I need to change my mind, I might as well do it sooner rather than later.”

แปลว่า “ผู้ฉลาด (ทางอารมณ์) จะไม่มัวรอให้ฟีดแบ็กด้านลบมาถึงตนเองก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาจะทบทวนด้วยตนเอง และเปลี่ยนความคิดหรือวิธีการให้เร็วที่สุด”

2 ซีอีโอระดับโลก สนับสนุนข้อเท็จจริง (โดยมิได้นัดหมาย)

ข้อเท็จจริงนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดย ซีอีโอ ระดับโลกอย่าง Jeff Bezos แห่ง Amazon.com และ Tim Cook ซีอีโอ Apple Inc. โดยมิได้นัดหมายอีกด้วย

Jeff Bezos

คุณสมบัติของ นักตัดสินใจถูก

ในบทสัมภาษณ์ระหว่าง Jason Fried นักธุรกิจซอฟต์แวร์ BaseCamp และผู้เขียนหนังสือ ReWork และ Jeff Bezos — Jason Fried ถามว่า อะไรคือคุณสมบัติของคนที่ ตัดสินใจถูก บ่อย ๆ (Right a lot)

”People who were right a lot of the time were people who often changed their minds […]. It’s perfectly healthy — encouraged, even — to have an idea tomorrow that contradicted your idea today.”

Jeff Bezos ตอบว่า “คือ คนที่เปลี่ยนความคิดบ่อย ๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดที่ความคิดในวันพรุ่งนี้จะขัดแย้งกับความคิดในวันนี้ของคุณ”

ในบริบทของ Jeff Bezos หมายถึง การเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ คือการหมั่นพิจารณาและทบทวน ‘ใจตัวเอง’ เพื่อไม่ให้เกิดการ ยึดมั่นถือมั่น ในความคิด และส่งผลสู่ใจที่ กว้าง และพร้อมเปิดรับฟังข้อมูลใหม่ ๆ ต่อให้ข้อมูลนั้นจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของตนเอง เป็นการรับฟังด้วยสติปัญญาและปราศจากอีโก้

คุณสมบัติของ นักตัดสินใจผิด

Jason Fried ถามต่อว่าแล้วอะไร คือ คุณสมบัติของ “นักตัดสินใจผิด” — Jeff Bezos ตอบว่า คือคนที่จมปลักอยู่กับรายละเอียดชุดเดิม ๆ และ ใช้เวลาไปกับการเสาะหาข้อมูลยิบย่อยมาเพื่อโต้แย้งว่า ชุดความเชื่อของตนเองถูกต้องที่สุด

เหตุเพราะถ้าคุณไม่เปิดใจรับฟังข้อมูลใหม่ ๆ คุณก็จะไม่มี ข้อมูลที่แตกต่าง มาเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ก็จะไม่สามารถพิจาณาขั้นสุดท้ายได้ว่าสรุปแล้วอันไหนถูกอันไหนผิดนั่นเอง

Mel Schwartz นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ยังได้กล่าวไว้ในเว็บไซต์ Psychology Today

“One of the most prevalent — and damaging — themes in our culture is the need to be right. It is so deeply embedded in our belief system and in our collective psyche that we never even pause to consider it.”

“สังคมต้องประสบความเสียหายมานักต่อนัก เพราะความยึดติดว่าความคิดตนนั้นถูกต้องจนไม่ยอมที่จะทบทวนความคิดและความเชื่อเดิมของตนเองสักวินาทีเดียวในชีวิต”

Tim Cook

Tim Cook ซีอีโอ ของ Apple, พูดถึง Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ในงาน D10 conference in 2012, ว่า Steve Jobs เป็นคนที่เปลี่ยนความคิดเร็วและบ่อยมาก ๆ

“Steve would flip on something so fast that you would forget that he was the one taking the 180-degree polar opposite position the day before,I saw it daily. This is a gift, because things do change, and it takes courage to change. It takes courage to say, ‘I was wrong.’ I think he had that.”

“สตีฟ เปลี่ยนแผนแบบหักมุมแบบ 180 องศา ราวกับว่าเป็นผู้บริหารคนละคน และเขาเป็นแบบนี้แทบทุกวัน แต่ผมมองว่ามันเป็นพรสวรรค์ของเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงสะท้อนถึงความกล้าหาญที่จะยอมรับว่า แผนเมื่อวันวานเขา (สตีฟ) คิดผิดเอง”

สรุป

ความสำเร็จเกิดจากการมีเป้าหมายใหญ่และปลายทางที่ชัดเจน และยึดมั่นในภาพใหญ่นั้น แต่ในแต่ละวันที่คุณก้าวเดินไปบนเส้นทางสู่เป้าหมาย Flexibilty หรือ ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงแผนงาน คือ คุณสมบัติสำคัญต่อความสำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม

Jason Fired แชร์ความสำเร็จของธุรกิจ และการให้บริษัททำงานวันละ 6 ชั่วโมง

สรุปหนังสือ ReWork ของ Jason Fried



แหล่งอ้างอิง

https:// www.cnbc.com/2019/03/12/amazon-billionaire-jeff-bezos-explains-why-the-smartest-people-change-their-minds-often.html

https:// signalvnoise.com/posts/3289-some-advice-from-jeff-bezos

http:// allthingsd.com/20120529/steve-jobs-was-an-awesome-flip-flopper-says-tim-cook/