แนวคิด Digital Asset จาก ‘ดิจิทัลโปรดักท์’

คุณรู้หรือไม่ว่า ไฟล์เอกสารอย่าง Microsoft PowerPoint หรือ Adobe PDF อาจทำเงินให้คุณได้เป็นแสนหรือเป็นล้านบาท

เดือน เมษายน ปี 2013 CEOblog เปิดขายอีบุ๊คภาษาไทย หัวข้อสอนทำ Blog ราคา 200 บาท อีบุ๊คทำขึ้นจาก Microsoft Word และแปลงไฟล์เป็น PDF ธรรมดา ๆ โพสต์ขายบน Facebook Fanpage และจัดส่งไฟล์ PDF ไปทางอีเมล์ ไม่มีการโฮสต์ขึ้นเว็บขายอีบุ๊คอย่าง Ookbee หรือ Amazon Kindle แต่อย่างใด

วันแรกขายได้เกือบ 2 หมื่นบาท เป็นการขายและจัดส่งไฟล์ทางออนไลน์ด้วยระบบอัตโนมัติ 100% และตลอดปีนั้น อีบุ๊คที่ทำขึ้นจากไฟล์ PDF ขายได้ 121,000 บาท — ถามว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไหม แน่นอนว่าต้องถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ้าง แต่ผมต้องการทำเพื่อพิสูจน์ว่าตลาดนี้มีอยู่จริง และนี่คือตัวอย่างของ Digital Product

Digital Product คืออะไร

Digital หรือ Intangible Product คือ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสต็อก และไม่ต้องมีการขนส่งผ่านระบบโลจิสติกส์แบบออฟไลน์

ตัวอย่าง Digital Product ที่คนมักนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ Computer Software และ Mobile Application ต่าง ๆ อาทิ Dropbox โปรแกรมฝากไฟล์ออนไลน์, Convert Kit โปรแกรมอีเมล์มาร์เก็ตติง, และ ManyChat โปรแกรมแชทบอท เป็นต้น
อย่างไรก็ดี โปรแกรมเหล่านี้มีความเป็น เทคนิคคัล สูง ผู้สนใจสร้างรายได้จาก Digital Product รายย่อยทั่วไปที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ หรือไม่ได้มาทางสายสตาร์ทอัพ อาจจะไม่สันทัดในการพัฒนา Digital Product กลุ่มนี้

แต่ก็ยังมี Digital Product ในกลุ่มอื่นที่เริ่มต้นได้ง่ายกว่า ได้แก่ การทำอีบุ๊ค ไม่ว่าคุณจะเขียนเอง หรือจ้างเขียนแล้วนำไปขายบน Ookbee หรือตลาดต่างประเทศอย่าง Amazon Kindle, การทำคอร์สออนไลน์ขายบน SkillLane หรือทำเป็นภาษาอังกฤษเพื่อขายบน Udemy

การทำดนตรีหรือซาวน์เอฟเฟคขาย, การทำกราฟฟิกและอินโฟกราฟฟิก รวมไปถึงการขายภาพถ่ายหรือวีดีโอคลิปบนเว็บไซต์ Stock Photo อาทิ ShutterStock, Dreamtime และ Fotolia เป็นต้น

กล่าวคือ Digital Product ที่ว่ามาเป็นงาน Creative มีลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติโดยผู้สร้าง มีมูลค่า และสามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยบนโลกออนไลน์มีเว็บไซต์ที่เป็นแพลทฟอร์มกลางให้ Creator เหล่านี้นำ Digital asset ของพวกเขาขึ้นได้ขาย โดยเจ้าของแพลทฟอร์มมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ หรือมีรายได้จากการเก็บค่าใช้บริการรายเดือนและรายปีจากผู้ซื้อ Asset

กรณีศึกษาผู้ทำเงินจาก Digital Asset ที่น่าสนใจ

Haris Zulfiqar ชาวปากีสถาน ผู้ร่วมก่อตั้ง Avada, WordPress Theme ยอดขาย 628 ล้านบาท

Haris เป็นอดีตเด็กเนิร์ดที่ชอบเล่นเกมและท่องอินเตอร์เน็ตกระทั่งวันหนึ่งเขาเริ่มทำเว็บไซต์ของตัวเองง่าย ๆ ด้วย WordPress และมีรายได้จาก Google AdSense เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ดูเหมือนเขาจะมีความสุขมากกว่ากับการสร้างและพัฒนาเว็บไซต์ เขาจึงเริ่มสร้างเว็บไซต์เทมเพลทสำหรับ WordPress หรือเรียกสั้นว่า WordPress Theme ขายบน Themeforest

และเดือน สิงหาคม ปี 2012 เขาก็พัฒนา Theme รุ่น Avada เปิดขายบน Themeforest และโฟกัสกับการพัฒนาและประชาสัมพันธ์ Theme นี้เพียงอย่างเดียวจนกระทั่งในเดือน เมษายน 2019 Avada มียอดขายสะสมถึง 504,000 ครั้ง เมื่อคูณราคา 39 เหรียญเข้าไปจะเท่ากับยอดขายไม่ต่ำกว่า 628 ล้านบาทโดยประมาณ (จากอัตราแลกเปลี่ยน 9 เมษายน 2019)

Jake Wengroff เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติง ผู้ใช้เว็บแชร์สไลด์ PowerPoint หา Lead นับพันคนฟรี ๆ

เว็บไซต์ SlideShare.net หนึ่งในเว็บไซต์ในสังกัดของ LinkedIn โซเชียลมีเดียสำหรับคนทำงานและเจ้าของธุรกิจ เป็นเว็บไซต์ที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำสไลด์ PowerPoint ในหัวข้อความรู้ต่าง ๆ มาแชร์บนเว็บไซต์ได้ฟรี ๆ รวมไปถึงผู้คนทั่วไปก็สามารถเข้ามาดูได้ฟรี ๆ เช่นกัน

SlideShare มีคนอัพโหลดสไลด์จากทั่วทุกมุมโลกเข้าระบบไม่น้อยกว่า 4 แสนครั้งต่อเดือน ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในไตรมาสแรกของปี 2019 สูงถึงกว่า 150 ล้าน Visitor ต่อเดือน และ 78% ของผู้เยี่ยมชมมาจากทาง Google search engine!

แม้การเผยแพร่สไลด์นั้นฟรี แต่สไลด์ทำหน้าที่เป็น Content marketing ให้แก่เจ้าของสไลด์ ทำให้คนที่อ่านสไลด์รู้ว่าเจ้าของสไลด์ทำอาชีพหรือธุรกิจอะไรและเชียวชาญเรื่องใด และด้วยความที่โปรไฟล์ของเจ้าของสไลด์เชื่อมต่อกับ LinkedIn โดยตรงจึงนำไปสู่โอกาสในการติดต่อเรื่องงานได้ทันที

ตลาดไทยควรทำ Digital Product แนวไหนดี?

ต้องบอกตามตรงว่าโมเดล Digital Product ที่เล่ามาส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนักในประเทศไทย ถ้าคุณอยากทำจริง ๆ ควรมุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศจะดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น จ้างคนเขียนอีบุ๊คและนำไปขาย Amazon Kindle อาจทำเงินดีกว่าเขียนอีบุ๊คภาษาไทยแล้วขายในเว็บไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี — ตลาดไทยยังมี Digital Product บางกลุ่มที่สร้างรายได้ดีเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้น คือ Information Products ซึ่งจะเล่าในตอนถัด ๆ ไป