แนวคิด Digital Asset จาก ‘เว็บคอนเทนต์’

คุณรู้หรือไม่ว่า คอนเทนต์ หรือ เนื้อหา ที่คุณคิดหรือจัดทำขึ้นมาใหม่ และโพสต์ขึ้นสู่โลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น บทความสั้น ๆ, รูปภาพสวย ๆ ที่คุณถ่ายเอง หรือคำคมประกอบกราฟิกเก๋ ๆ ไปจนถึง Inforgraphic ที่คุณโพสต์ใน Facebook, คลิปเสียงโพสต์ในเว็บไซต์ SoundCloud ไปจนถึงวีดีโอที่โพสต์ใน Facebook หรือ Youtube คือ Digital Asset ที่มีมูลค่า และทำเงินได้

เว็บไซต์และคอนเทนต์ทำเงินอย่างไร?

ก่อนที่เล่าให้ฟังว่าสิ่งเหล่านี้ทำเงินอย่างไร ผมขอเล่าให้หลักการพื้นฐานให้ทราบโดยทั่วกันก่อนว่า คอนเทนต์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เป็นผลงาน Creative อันมีลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติเป็นของผู้สร้างนั้น ๆ ดังนั้น Social media ต่าง ๆ จึงต้องมีปุ่มแชร์เพื่อให้คนกดแชร์มาจากต้นทางโดยตรงแทนการ Copy มาวางในไทม์ไลน์

ส่วนบน Google นั้นก็ไม่สนับสนุนเนื้อหาที่ Copy มาวางในเว็บไซต์ของคุณ ต่อให้คุณให้เครดิตหรือลิงค์กลับไปหาเจ้าของก็ตาม

คอนเทนต์ ไม่ว่าสั้นหรือยาว และอยู่ในรูปแบบใด ล้วนถือเป็นงานลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง และมีมูลค่าเพิ่มในตัวเอง แต่จะเพิ่มมูลค่าและทำเงินอย่างไรก็ต้องไปไล่กระบวนการทำเงินจากคอนเทนต์แบบเจาะลึกกันต่อ

Web Monetization แนวคิดการทำเงินจากเว็บไซต์

เว็บไซต์ เปรียบเสมือน สำนักงานใหญ่ หรือ หน้าร้านสาขาใหญ่ บนโลกออนไลน์ของธุรกิจคุณ การขายของออนไลน์บน Facebook หรือ Instagram ยังไม่นับว่าเป็นเว็บไซต์ของคุณ Facebook และ Instagram เป็นเว็บไซต์ของคนอื่น และคุณไปใช้พื้นที่และทราฟฟิกของเว็บไซต์คนอื่นในการขายของ

และภายหลังเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้นจึงเริ่มเก็บเงินจากคุณหากต้องการโปรโมทสินค้าในพื้นที่ของพวกเขา นี่คือหนึ่งตัวอย่างของ Web Monetization

การทำเงินจากเว็บไซต์มีกฏเหล็กเพียง 1 ข้อ และสำคัญยิ่งกว่าการมีสินค้าเสียอีก

นั่นคือ WEB TRAFFIC — หลักความเข้าใจง่าย ๆ ‘ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีเงิน’

Facebook ไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้า เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าออกมาขายเอง เขาใช้เว็บไซต์ทราฟฟิกที่มีมากกว่า 1 หมื่นล้าน Visitor ต่อเดือน จูงใจคนเข้าไปขายของในพื้นที่และเก็บเงินจากค่าโฆษณา

Amazon ก่อนหน้านั้นไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าเอง เขาใช้เว็บไซต์ทราฟฟิกที่มีมากกว่า 1 พันล้าน Visitor ต่อเดือน จูงใจคนเข้าไปขายของในพื้นที่และเก็บเงินจากค่า Transaction ต่าง ๆ ก่อนที่ภายหลัง Amazon จะผลิตสินค้า Private Label ออกมาขายเอง

เขาทำได้อย่างไร? คำตอบ คือ เขาใช้ Database พฤติกรรมการซื้อขายที่สะสมมานานนับสิบ ๆ ปีมาคำนวณหาสินค้าขายดีมาผลิตขายเอง Database คือ Digital Asset และเราจะลงรายละเอียดในตอนถัด ๆ ไป

โมเดลทำเงินลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมายาวนานตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการค้าขาย กล่าวคือคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ว่าง ๆ ในเขตชุมชน หรือพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นชุมชน ก็สามารถดึงดูดพ่อค้าแม่ขายให้เข้ามาเช่าพื้นที่เปิดกิจการและขายของในพื้นที่ของเขาได้ ทราฟฟิก ในกรณีนี้เรียกว่า Foot traffic

และตัวอย่างที่น่าทึ่งไปกว่านั้น ได้แก่ เว็บไซต์ Instagram และ Youtube ที่มี คอนเทนต์ และ ทราฟฟิก จำนวนมากโดยที่ทั้ง 2 เว็บไซต์นี้ไม่มีโมเดลรายได้ใด ๆ เลย แต่ภายหลัง Facebook เข้าซื้อ Instagram และ Google เข้าซื้อ Youtube ในราคาหลักพันล้านเหรียญ

ไม่มีโมเดลรายได้ก็ทำเงินจากการขายเว็บไซต์ได้ โดยมูลค่าในกรณีนี้เกิดจาก Traffic และ User ในระบบซึ่งเราจะลงรายละเอียดในตอนถัด ๆ ไปเช่นกัน

Web Monetization สำหรับรายย่อย

ตัวอย่างที่กล่าวไปเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ก่อนว่า เว็บไซต์และทราฟฟิกก่อให้เกิดรายได้โดยที่คุณไม่ต้องมีสินค้า Physical Products ได้อย่างไร แต่เว็บไซต์ที่ยกตัวอย่างมานั้นผสมผสานความเป็น Platform, Software และ คอนเทนต์แบบ User Generate Content หรือ คอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้งานในระบบ ซึ่งเป็นประเภทเว็บไซต์และคอนเทนต์ที่พัฒนายากที่สุด

ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ Wongnai เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ระบบ UGC ชื่อดังของประเทศไทย ต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าที่จะดึงคนเข้ามาสร้างคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ และใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีกว่าที่ธุรกิจจะเริ่มมีกำไร — หรือกรณี Twitter อีกหนึ่งเว็บไซต์โซเชียลมีเดียระบบ UGC ก็เพิ่งจะมีกำไร ณ ปีที่ 11 ของการดำเนินกิจการ

แล้วรายย่อยที่ฝันอยากสร้างและทำเงินจากเว็บไซต์ของตัวเองควรทำอย่างไร? — คำตอบ คือ คุณสามารถทำเว็บไซต์ประเภท Blog เป็นเว็บไซต์และคอนเทนต์ชนิดหนึ่งที่อาจอาศัยทีมเล็ก ๆ ระหว่าง 3 – 5 คนก็สามารถสร้างสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อปีได้

Blog คืออะไร

Blog คือ เว็บไซต์ชนิดหนึ่ง ที่มีการเรียงลำดับเนื้อหาจากใหม่ไปเก่า สามารถโพสต์บทความ รูปภาพ ไฟล์เสียง และวีดีโอลงใน Blog ได้ รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาของ Blog นั้นเหมือน Facebook Timeline ในปัจจุบัน ต่างกันตรงที่ Blog เป็นสื่อของคุณเอง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Own Media

Blog ในยุคแรกเป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำงานสายไอทีและโปรแกรมเมอร์ชอบเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงใน Blog และเริ่มนิยมในกลุ่มคนทำงานทั่วไป และกลุ่มแม่บ้าน ก่อนที่จะเข้าถึงคนทุกกลุ่มรวมไปถึงเจ้าของธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ใช้ Blog ในการเผยแพร่ความรู้

คนเขียน Blog เรียกว่า Blogger โดยในอดีต Blogger อาจเขียน Blog เพียงคนเดียว แต่ภายหลัง Blog ได้พัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจชนิดหนึ่งอย่างเต็มรูปแบบ มีคนสร้าง Blog เชิงธุรกิจโดยเฉพาะ มีทีมงาน มีผลิตภัณฑ์ภายใน Blog อย่างเป็นกิจลักษณะ

ยกตัวอย่าง Blogger ที่สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือนจาก Blog

Michelle Schroeder เว็บไซต์ Making Sense of Cents
Blog การเงินส่วนบุคคล รายงานครั้งล่าสุดเดือน พย. ปี 2016 จำนวน $106,383

John Lee Dumas เว็บไซต์ Entrepreneur on Fire
Blog ความรู้ธุรกิจ รายงานครั้งล่าสุดเดือน พย. ปี 2016 จำนวน $205,459

Lindsay from Pinch of Yum
Blog ความรู้ธุรกิจ รายงานครั้งล่าสุดเดือน พย. ปี 2016 $95,197

ส่วนในไทยนั้นอาจจะไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยตัวเลขกันมากนักแต่ Blog หรือเว็บข่าวขนาดใหญ่ก็ล้วนสร้างรายได้กันเป็นหลักล้านบาทต่อปีอยู่หลายราย และยังไม่รับคนที่สร้างคอนเทนต์จนมีรายได้หลักล้านบาทแบบนี้ผ่าน Youtube อย่างเดียว หรือบางคนก็ผ่าน Facebook อย่างเดียวก็มี

ฉะนั้น! ถ้าคุณไม่มีเว็บไซต์ แต่ถ้าคุณเป็นนักสร้างคอนเทนต์ คุณสามารถเลือกประเภทคอนเทนต์ที่คุณถนัดและนำไปลงในแพลทฟอร์มที่เหมาะสม อาทิ Facebook, Instagram, Youtube หรือแม้แต่เว็บไซต์ Stock Photo ก็ได้ ถ้าคอนเทนต์ของคุณ คือ ภาพถ่าย

แต่สุดท้ายผมก็ยังขอยืนยันว่าถ้าจะเอาจริงกับออนไลน์ ‘จงทำเว็บไซต์’