ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จัก การสร้างรายได้จากสินทรัพย์ และ ก่อตั้งธุรกิจแบบดั้งเดิม เป็นอย่างดีแล้ว อาทิ หุ้น, อสังหาริมทรัพย์, ที่ดิน, รวมไปถึงการเปิดกิจการที่มีอาคาร โรงงาน หรือหน้าร้าน มีการผลิตหรือสต็อกสินค้าแบบ Physical Products ไว้จำหน่าย โดยที่ผ่านมาคนรวยมักสร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจและการลงทุนเหล่านี้

แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน และต่อ ๆ ไป เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตก่อให้เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่มี Physical Products ให้มองเห็นหรือจับต้องได้ แต่สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ หลักล้านบาท ไปจนถึง ล้านล้านบาท ต่อปี

นักธุรกิจยุคใหม่ ๆ อาทิ Mark Zuckerberg, Jeff Bezos, Jack Ma เป็นต้น ฯลฯ สร้างความร่ำรวยแซงหน้ากลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิมอย่างรวดเร็ว ธุรกิจของพวกเขา คือ อะไร?

คำตอบ คือ Digital Asset และ Digital Product

Digital Asset คืออะไร?

ความหมายแบบกระชับและเข้าใจง่ายที่สุดจากเว็บไซต์ simplicable.com  ดังนี้ :

“…A digital asset is something that has value and can be owned but has no physical presence…”

แปลว่า สิ่งที่มีมูลค่า และสามารถเป็นเจ้าของได้ แม้ไม่มีตัวตนให้จีบต้องได้

ตัวอย่างนักธุรกิจที่ร่ำรวยจาก Digital Asset

เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมจะยกตัวมา 3 กลุ่ม ได้แก่ แพลทฟอร์ม, ซอฟต์แวร์, และเว็บไซต์โมเนไทเซชัน

1. กลุ่มแพลทฟอร์ม

Jack Ma : Alibaba.com

ธุรกิจ Platform ประเภท ‘เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบขายส่ง’ เปิดให้ผู้ขายมาสร้างบัญชีและโพสต์สินค้า และผู้ซื้อมาค้นหาและสั่งซื้อสินค้า โดย Platform เป็นสื่อกลางในการอำนวยการด้านการแสดงสินค้า กระบวนการสื่อสาร และการสั่ง ซื้อ/ขาย สินค้าภายในระบบ

เกร็ดน่ารู้ : Jack Ma เริ่มโครงการ Alibaba ในปี 1998 — นอกจากไอเดียโมเดลธุรกิจแล้ว ตัวเขาไม่มีเงินทุนเลย เขาต้องยืมเงินญาติ ๆ และเพื่อนถึง 18 คนเพื่อให้ได้เงินจำนวน 60,000 เหรียญ หรือประมาณ 1,800,000 บาท มาก่อตั้ง Alibaba

เดือน กันยายน 2014 Alibaba ทำการ IPO เข้าตลาดหุ้น New York Stock Exchange ด้วยมูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่า Facebook ทำ IPO ในปี 2012 ที่มูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Jeff Bezos : Amazon.com

ธุรกิจ Platform ประเภท ‘เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบขายปลีก’ โมเดลธุรกิจแบบเดียวกับ Alibaba เกือบทุกประการยกเว้นจับกลุ่มธุรกิจซื้อขายแบบปลีก เปิดตัววันที่ 16 กรกฏาคม 1995 โดยเริ่มจากการขายหนังสือออนไลน์ และเติบโตอย่างรวดเร็วจนได้รับฉายา The Everything Store

เกร็ดน่ารู้ : เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว Jeff Bezos ทำงานในห้องทำงานเล็ก ๆ และเซิร์ฟเวอร์ตัวแรกที่ตั้งอยู่ในโรงรถเก่า ๆ ปัจจุบัน Amazon.com กลายเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก ในปี 2017 มีสินค้ากว่า 500 ล้านรายการ และยอดขายมากกว่า 177 แสนล้านเหรียญ พร้อมกับเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สิน 132,000 ล้านเหรียญ

Mark Zuckerberg : Facebook.com

ธุรกิจ Platform ประเภท โซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถสมัครสมาชิกเพื่อเข้าใช้งานฟรี โดยสามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ วีดีโอ เพื่อแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในระบบ โดย Platform มีโมเดลรายได้จากการให้บริการโปรแกรมโฆษณา Facebook Ad รายได้จากเครื่องมือโฆษณาปี 2018 ประมาณ 55,838 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เกร็ดน่ารู้ : Facebook ก่อตั้งในปี 2004 สถิติผู้ใช้งานรายงานโดย Statista ณ ปี 2008 อยู่ 100 ล้าน Monthly Active Users (MAUs) และโตทะลุ 1000 ล้าน MAUs ในปี 2012 ส่งผลให้ Facebook เป็น โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มี MAUs สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และในปี 2018 — Facebook มีผู้ใช้งาน 2.32 พันล้าน MAUs หรือราว ๆ 2 ใน 3 ของประชากรโลก

2. กลุ่มซอฟต์แวร์ / แอปพลิเคชัน

Drew Houston : Dropbox

เป็น ซอฟต์แวร์ / แอปพลิเคชัน ประเภท Cloud storage ให้คนสามารถฝากและแชร์ไฟล์ดิจิตัลไว้ในระบบ ผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้อสามารถล็อกอินเข้าไปใช้งานไฟล์ดิจิตัลจากเอกสารชุดเดียวกัน ที่เปิดแชร์ร่วมกันจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการบันทึกลง CD หรือ Flash Drive

เกร็ดน่ารู้ : Drew Houston สร้าง Dropbox เพื่อแก้ปัญหาความขี้ลืม Flash Drive และเมื่อพบว่ามันใช้งานได้ดี เขาจึงพัฒนาให้คนทั่วไปใช้ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2018 Dropbox ทำการ IPO เข้าตลาดหุ้น และกลายเป็นกิจการที่มีมูลค่าสูงถึง 13,000 ล้านเหรียญ ทันที

Elon Musk และคณะ : Paypal

เป็น ซอฟต์แวร์ / แอปพลิเคชัน ชำระเงินออนไลน์ที่สะดวก ไม่ต้องยุ่งยากในการเชื่อมระบบกับ Payment Gateway ของธนาคาร เริ่มต้นในปี 1999 โดยการไป Plugin กับระบบชำระเงินของ eBay ซึ่งกำลังประสบปัญหาในการจัดการระบบชำระเงินออนไลน์ในช่วงที่ eBay กำลังเติบโต และ eBay จึงตัดสินใจซื้อ Paypal ในปี 2003 ในราคา 1500 ล้านเหรียญ

เกร็ดน่ารู้ : Paypal มีผู้ก่อตั้งร่วมกันหลายคน ได้แก่ Elon Musk, Peter Thiel, Max Levchin, Ken Howery, Luke Nosek, Yu Pan และทีมงานหัวกะทิอีกราว ๆ 20 คน ทั้งหมดนี้ถูกเรียกฉายาว่า แก๊ง Paypal Mafia ในฐานะนักสร้างธุรกิจ Startup พันล้านเหรียญภายในเวลาเพียง 3 ปี

Gareth Williams และคณะ : Skyscanner

เป็นเว็บไซต์ แพลทฟอร์มและแอปพลิเคชัน ในการ ค้นหาดีลตัวเครื่องบินและที่พัก รวมไปถึงการจองซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบนแพลทฟอร์มได้เลย Skyscanner เกิดขึ้นในวงเบียร์ ณ ปี 2001 จากปัญหาความลำบากในการค้นหาตั๋วเครื่องบินราคาถูกไปยังสถานที่ ๆ คนบินไม่บ่อย ของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง พวกเขาจึงสร้างระบบการค้นหานี้ขึ้นมาเองเสียเลย โดยใช้ช่วงแรกพวกเขาสร้าง

เกร็ดน่ารู้ : Ctrip บริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนเข้าซื้อกิจการ Skyscanner ณ ปี 2016 ใน ราคา 1,400 ล้านปอนต์ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาทเศษ ในขณะที่ Ctrip ก็ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ชื่อ Trip.com และแอปพลิเคชั่น Trip by Skyscanner ในเวลาต่อมา — ส่วน Skyscanner ต้นสังกัดยังคงได้รับอำนาจเต็มร้อยในการบริหารภายใต้ทีมเดิม

3. กลุ่มเว็บไซต์เว็บไซต์โมเนไทเซชัน

คำนี้หลายคนอาจจะไม่คุ้น แต่เป็นโมเดลสร้างรายได้ออนไลน์ที่มีมานานแล้ว มันไม่ใช่การขายของแบบ E-Commerce แล้วก็ไม่เชิงเป็นแพลทฟอร์มที่เปิดแบบทำเงินจากค่า Transaction ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ตนเองแบบ Amazon.com

แต่เป็นการสร้างรายได้ในลักษณะคล้าย ๆ การเป็นทางผ่าน เป็นการหาทราฟฟิกเข้าเว็บไซต์ และมีรายได้จากค่าโฆษณา หรือการเป็นนายหน้าให้คน Click ไปซื้อสินค้าที่อีกเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งโมเดลนี้เว็บไซต์ CEOblog ก็ทำอยู่เช่นกัน — ตัวอย่างได้แก่…

Arianna Huffington และคณะ : HuffingtonPost.com

เป็น เว็บไซต์ข่าว เน้นข่าวการเมือง และข่าวอื่น ๆ รอบโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2005 ร่วมก่อตั้งโดย Arianna Huffington ร่วมด้วยหุ้นส่วนอีก 3 คน และรีแบรนด์เป็น HuffPost ในปี 2017

เกร็ดน่ารู้ : HuffPost มีโมเดลรายได้จากค่าโฆษณาเป็นหลัก ได้แก่ Sponsored Content และ Google AdSense โดยคาดว่าเฉพาะรายได้จาก Google AdSense ในปี 2017 อาจอยู่ที่ประมาณ 2 – 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 60 ล้านบาท/เดือน HuffPost ถูกซื้อกิจการโดย AOL ในปี 2011 ณ ราคา 315 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท

Pete Cashmore : Mashable.com

เป็น เว็บไซต์ข่าว เน้นข่าวไอที และเทคโนโลยี ก่อตั้งในปี 2005 โดยวัยรุ่นชาวสก็อตแลนด์ชื่อ Pete Cashmore เมื่อตอนเขาอายุ 19 ปี ก่อนย้ายไปก่อตั้งสำนักงานในสหรัฐอเมริกาเพื่อทำเว็บข่าวอย่างจริงจังในปี 2008 เว็บไซต์ของเขายังได้รับเงินลงทุนจาก VC โดยหนึ่งในนั้นมี Peter Thiel แห่งแก๊ง Paypal Mafia รวมอยู่ด้วย

เกร็ดน่ารู้ : Pete Cashmore เขียนข่าวตัวคนเดียววันละ 18 ชั่วโมงเป็นเวลา 18 เดือนก่อนจะมีโฆษณาเจ้าแรกมาลง และในปี 2017 Mashable มีรายได้จากค่าโฆษณาในเว็บไซต์ 42 ล้านเหรียญฯ ก่อนขายให้บริษัท Ziff Davis ในปีเดียวกันนั้นที่มูลค่า 50 ล้านเหรียญ
Scott Delong : ViralNova.com

ก่อตั้งในเดือน พฤษภาคม 2013 โดย Scott DeLong — ViralNova เป็นเว็บสารพัดข่าวเน้นการพาดหัวแบบ Click-Bait หรือ หัวข้อล่อให้คลิ๊ก อาทิ “แม่กลับบ้านดึกเปิดเข้าห้องนอนพ่อถึงกับอึ้งเมื่อเจอสิ่งนี้”, “เด็กชาย 5 ขวบเดินเข้าป่าเจอสิ่งนี้ถึงกับทึ่ง”

เกร็ดน่ารู้ : เทคนิค Click-Bait ทำให้ ViralNova เติบโตเร็วและมีทราฟฟิกแตะ 100 Visitor ต่อเดือนภายใน 8 เดือนหลังก่อตั้งโดยทราฟฟิกส่วนใหญ่มาจาก Social media แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทาง Facebook ก็ปรับอัลกอริธึมใหม่และแบน Reach จากเว็บไซต์แนว Click-Bait ทั้งหมด อย่างไรก็ดี Zealot Networks ซื้อ ViralNova ด้วยเงินสดและหุ้นรวมมูลค่า 100 ล้านเหรียญ และให้ Scott DeLong บริหารต่อไป

เว็บไซต์ในไทยก็ใช่ย่อย

Blognone : เว็บไซต์ข่าวไอที และเทคโนโลยีชื่อดังของไทย โดเมนเนมถูกจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2004 จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 มีจำนวน 2 – 3 ล้าน Visitor ต่อเดือน ผู้เยี่ยมชมเกิน 50% เป็น Direct traffic หรือ การพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ตรง ๆ ในบราวเซอร์ (แปลว่าแบรนด์แข็งแกร่งมาก) เว็บไซต์และทีมงานถูกเข้าซื้อโดย Wongnai (ของคนไทยเช่นกัน) เมื่อปี 2017 ด้วยจำนวนเงินที่ไม่ได้รับการเปิดเผย

Pantip : เว็บไซต์ประเภท เว็บบอร์ด ปริมาณผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์พันทิประหว่าง ต้น มกราคม ถึง ปลาย กุมภาพันธ์ ปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 110 – 115 ล้าน visitors โดย 74% มาจากคนค้นหาผ่านทาง Google รายได้ที่มีการเผยล่าสุด คือ ปี 2016 มีรายได้ 115 ล้านบาท รายได้หลักมาจากค่าโฆษณา อาทิ แบนเนอร์ และ Advertorial

Think of Living : เว็บข่าวอสังหาริมทรัพย์ รีวิวบ้าน และคอนโด จำนวนคนเข้าเว็บ 5 – 6 แสน Visitor ต่อเดือน โดยมาจาก Search traffic ถึงกว่า 80% จาก Direct 14% และจาก Social 3% ภายหลัง บริษัท iProperty Group จากมาเลเซีย เข้าซื้อกิจการไปในปี 2015 ด้วยเงินสดและหุ้นรวมมูลค่า (อย่างไม่เป็นทางการ) ประมาณ 200 ล้านบาท

2 สิ่งที่ทำให้ Digital Asset มีราคา

แม้ธุรกิจ Digital Asset อาจมาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ Platform, SaaS (Software as a Service), Application, News Site, Blog, และ Social Media Channel ฯลฯ แต่ Asset ทุกประเภทจะต้องมีโมเดลรายได้อย่างน้อย 1 ชนิด เช่น ขายโปรแกรม ขายสินค้าและบริการ หรือขายโฆษณา อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ Asset เหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก แม้จะยังไม่กำไรก็ตาม ได้แก่

1. Traffic : คือจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ ใช้กับกลุ่ม Media ได้แก่ News Site หรือเว็บข่าว, Blog หรือเว็บบล็อกที่ลงบทความใน Niche ต่าง ๆ และ Social Media ได้แก่ Facebook Business Page ที่มีคนติดตามจำนวนมาก หรือ Youtube Channel ที่มีคนดูหลายล้านคน

2. User : คือ ฐานข้อมูลผู้ใช้งานในระบบของ Saas/ Application จำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้มีค่าราวกับ ทองคำแห่งโลกดิจิตัล เพราะ คนที่ถือครองข้อมูลนี้ สามารถนำไปใช้พัฒนาและออกแบบ ผลิตภัณฑ์ แผนการตลาด ลักษณะข้อความที่จะใช้สื่อสาร และยังสามารถนำไปทำ Direct selling, Re-targeting และ Re-marketing เพื่อเสนอขายสินค้าไปหาพวกเขาโดยตรงได้อีกด้วย*

* กรณีของ เว็บไซต์ หรือ Blog ก็สามารถสร้างและสะสมฐานข้อมูลลักษณะนี้ได้เช่นกัน กิจกรรมในการสร้างฐานข้อมูล User ในเว็บไซต์เรียกว่า List building