Creative Life: สมองคนออกแบบมาให้คิดและสร้าง และ 3 เหตุผลที่คน Fail ในการสร้างเวทีของตัวเอง

Golf Ball

เวลาคุณไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ คุณจะพบกับ ผลิตภัณฑ์ และ วัตถุ มากมายที่แทบไม่ซ้ำกันเลย บางอย่างต้องอุทานว่า “คนผลิตคิดสรรงานเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร ไอเดียบรรเจิดมาๆ ฯลฯ แม้บางครั้งเรารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์บนโลกนี้มันแน่นจนไม่มีพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่แล้วก็มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาจนได้ ข้อสังเกตนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า สมองคนออกแบบมาให้คิดตลอดชีวิต และคิดมองหาอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มิเช่นกันก็จะเบื่อ ซึ่งก็เป็นไปตามการศึกษาระบบประสาทโดย Gregory Berns ว่าสมองต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ต้องการทำงานใหม่ๆ และประมวลผลระบบใหม่ๆที่อยู่เหนือการคาดการได้แบบเดิมๆที่เคยทำซ้ำๆกันมา

คนจำนวนมากจึงเบื่องานประจำ

ผมเคยฟัง TED Talk กรณีศึกษาตอนหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าใครขึ้นพูด เขาบอกว่า ค่าจ้างมีผลกับงานแรงงาน แต่ไม่ใช่กับงานสำนักงานที่ใช้ความคิดและการจัดการ เงินเดือนที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานสำนักงานสูงขึ้นเสมอไปและในทางกลับกันอาจแย่ลง

งานภาคการจัดการไม่มีกรอบเวลาเหมือนงานแรงงาน อาจทำงานสำเร็จภายในไม่กี่ชั่วโมง คิดงานจากที่ไหนก็ได้ ประสานงานจากที่ไหนก็ได้ งานเหล่านี้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความท้าทายในการทำงาน แต่งานสำนักงานหลายแห่งปฏิบัติต่อพนักงานกับงานแรงงาน พนักงานต้องอยู่ประจำที่ นั่งเฝ้าโต๊ะ นั่งเฝ้าจอ ไม่มีงานก็ต้องเฝ้าไปจนกว่าจะเลิกงานโดยมีคนในตำแหน่งที่สูงกว่ามานั่งเฝ้าอีกทีหนึ่งว่าพนักงานเหล่านั้นอยู่กับโต๊ะและอยู่กับที่

งานสำนักงานส่วนมากหมดไปกับงานเอกสารที่ทำซ้ำๆกันเหมือนเดิมทุกวัน และเมื่อทำซ้ำกันไปเป็นเวลาหลายปี สมองจึงเกิดอาการเบื่ออย่างรุนแรงไม่ว่าฐานเงินเดือนจะถูกปรับขึ้นไปตามอายุงานมากแค่ไหนก็ตาม

ผู้บริหารระดับสูงก็เบื่องานประจำ

ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC ทำงานกับ DTAC มายาวนาน 15 ปี เป็นที่รู้จัก มีตำแหน่ง มีอำนาจและสวัสดิการดีเยี่ยมจาก DTAC วันหนึ่งกลับตัดสินใจลาออกจากบริษัทอันมั่นคงและใหญ่โตไปเป็นผู้บริหาร แม็คยินส์ ที่มีขนาดเล็กกว่า DTAC ถึง 60 เท่า จนเพื่อนสนิทในแวดวงบริหารต่างคิดว่าคิดอะไรอยู่ถึงทิ้งเส้นทางอันใหญ่โตไปหาอะไรที่เล็กกว่าราวกับจะไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และนั่นเป็นคำตอบ… ไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในโลกใหม่ที่ท้าทายกว่าสำหรับเขา เพราะอยู่กับ DTAC มานานจนรู้ทุกอย่าง ปัญหาซ้ำๆเดิมๆ กระบวนการเดิมๆ ระบบเดิมๆ ทำซ้ำไปซ้ำมาจนเบื่อและหมดไฟที่จะทำงานที่เดิมต่อไปและอยากไปเริ่มต้น “Build from scratch” กับบริษัทเล็กๆที่ต้องการคนมาดันธุรกิจให้สูงขึ้น รื้อระบบ ปรับโครงสร้าง วางแผนใหม่ แล้วเฝ้าดูผลงานของตัวเองเติบโต เป็นความท้าทายที่น่าภูมิใจ (อ้างอิงจากหนังสือ ลาออกซะ ถ้าอยากรวย)

ดังนั้นตัวเงิน สวัสดิการ และความมั่นคงของบริษัทจึงไม่ใช่ปัจจัยที่ดึงดูดคนให้อยู่กับองค์กร เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งคนเบื่อกับสิ่งที่ทำอย่างรุนแรง เขาจะหมดไฟและหมดแรงบันดาลใจที่จะทำต่อไป ใจจะเรียกร้องที่จะหาอะไรใหม่ๆทำเพื่อท้าทายความคิด ท้าทายสมอง และจิตใจ

ธุรกิจส่วนตัว ความฝันของคนเบื่องานประจำ

ธุรกิจส่วนตัวกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนทำงานประจำ เมื่อคนเบื่องานประจำสุดๆ จนเกิดคำถามว่า “ฉันจะทำให้คนอื่นรวยไปถึงเมื่อไร มันน่าจะถึงเวลาทำให้ตัวเองรวยบ้างสินะ” พวกเขาก็จะเกิดความรู้สึกและแรงบันดาลใจในการคิดสร้างและทำธุรกิจส่วนตัว

แต่ความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องและคนจำนวนมากก็ที่ใฝ่ฝันอยากทำธุรกิจส่วนตัวจำนวนมากก็ปล่อยให้ความฝันเป็นแค่ความฝันและกลับไปนั่งทำงานประจำต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

3 เหตุผลที่คน Fail ในการสร้างเวทีของตัวเอง

ผมเริ่มต้นเขียนบล็อกในปี 2010 แล้วก็โง่ๆ งงๆอยู่กับมันถึง 2 ปีกว่าที่จะค้นพบแนวทางของตัวเองและกลยุทธ์การโปรโมทบล็อกอย่างเป็นระบบและ Break even ในที่สุด จากบล็อกแรกตะบี้ตะบันเขียน 2 ปีมีคนอ่านหมื่นกว่าคนไปสู่คนอ่านเป็นแสนๆคนอย่างพรวดพราดในปีเดียวกับ The CEO Blogger และมีรายได้เข้ามาในระดับที่เรียกว่าหายใจรดต้นคอแข่งกับเงินเดือนกันเลยทีเดียว ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมนึกถึงวลีแก้เกมส์ของฝรั่งที่เอามาแก้ความเข้าใจผิดของคำว่า Overnight success เพิ่มเป็น Overnight success takes years of hard work หรือ ความสำเร็จข้ามคืนเกิดจากการทำงานหนักเป็นแรมปี… มันใช่เลย!

เพื่อนร่วมงานมองผมเป็น Overnight success?

เมื่อผมเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนบล็อกและเฟซบุ๊คเพจของผมให้เพื่อนร่วมงานฟัง ส่วนมากจากบอกว่า “เจ๋งว่ะ” ทั้งนี้เพราะในบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ผมเป็น 1 ใน 100 ของคนที่มีเว็บไซต์หรือบล็อกเป็นของตัวเองและเป็นบล็อกที่ Active มีความเคลื่อนไหวมีงานเกิดขึ้นบนบล็อก ทำให้คนอีก 99 คนที่เหลือมองเป็นเรื่องที่แตกต่างหรือมีความสามารถกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่ที่ผมอยู่ แต่ทุกครั้งผมจะชี้ให้เห็นถึงที่มาว่าเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งแต่เกิดจากการเรียนรู้คู่การลงมือทำเป็นแรมปีกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้

แทบทุกคนอยากมี เวที (Platform) เป็นของตัวเอง อยากมีช่องทางการทำเงินนอกเหนือจากงานประจำของตัวเอง อยากร่ำรวย อยากมีอิสรภาพทางการงาน เบื่องานประจำ แต่แทบทุกครั้งที่ผมสนับสนุนเพื่อนร่วมงานให้ลองทำดูบ้าง ไม่เสี่ยง ไม่ต้องลาออกจากงาน แถมล่อใจด้วยการยิง Teaser โอกาสในการทำรายได้เฉียด 6 หลักในหนึ่งเดือนในช่วงกำลังพีคๆของบางโครงการ แต่เชื่อไหมครับว่าส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วย! เกิดอะไรขึ้นกับคุณมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเนี่ย?

3 เหตุผลที่คน Fail ในการสร้างเวทีของตัวเอง

คนส่วนใหญ่ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เมื่อได้คุยกับคนที่อยากๆๆ แล้วก็อยาก แต่เมื่อเดินมาถึงทางเลือกขั้นพื้นฐานๆ คือ ลองดูม๊ะ คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่เอา…

1. ฉันทำไม่เป็น

ฉันทำไม่เป็น เป็นคำตอบตัวแรกของนักฝันแต่ไม่ยอมลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็น ทำบล็อกไม่เป็น ทำเว็บไม่เป็น ทำเฟซบุ๊คเพจไม่เป็น ทำการตลาดไม่เป็น ไอ้นู่นไม่เป็น ไอ้นี่ไม่เป็น ผมก็งงแล้วพี่แกทำงานกันเป็นได้ยังไง งานทุกอย่างที่ทำอยู่ก็ไม่ได้เป็นมาแต่แรกกันทั้งนั้น

2. ฉันไม่ชอบอ่าน

การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ต้องศึกษาต้องอ่านเยอะๆ ลงมือทำแล้วก็ต้องอ่านเพื่อพัฒนาความรู้ เกิดไอเดีย เกิดแนวทาง รวมไปถึงให้สามารถนำสิ่งที่รู้มาผลิต Content เพื่อการทำ Content marketing ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บทความ หรือ คลิปวีดิโอ เมื่อบอกอย่างนี้ เพื่อนผมจะบอกว่า ฉันทำไม่ได้ ฉันไม่ชอบอ่าน

3. ฉันไม่มีเวลา

เมื่อผมได้พยายามบอกแนวทางและโอกาสทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้เขาเริ่มต้นได้ง่ายๆ คำตอบสุดท้ายที่เขาใช้จบตัวเองคือ ฉันไม่มีเวลา คนเรามีเวลาทำเรื่องไร้สาระที่สุดในโลกได้ แต่ไม่มีเวลาที่จะทำตามความฝันของตัวเอง… พระเจ้าช่วย!

ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะติดอยู่ใน Comfort Zone

Comfort zone ภาษาไทยอย่างเป็นทางการไม่มี แปลตามตัวอักษรคือ พื้นที่แห่งความสบาย แต่แปลตามความเป็นไปคือ ความติดอยู่ในความเคยชิน เมื่อทำสิ่งเดิมๆ ก็จะเกิดความสบายยึดติด และไม่อยากเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่ของคน กล่าวคือ คนต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องการประสบการณใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน หากจะก้าวกระโดดออกไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือลงมือทำอะไรจริงๆก็จะติดขี้เกียจ

บ่อยครั้งที่คนคิดได้ เกิดไอเดีย เกิดแรงบันดาลใจ อยากทำ แต่แล้วก็ไม่ลงมือทำ โดยข้ออ้างทั้งสาม ได้แก่ ทำไม่เป็น ไม่ชอบอ่าน และ ไม่มีเวลา เป็นข้ออ้างหลักที่นำมาใช้ผัดผ่อนตัวเองจากการลงมือทำไปเรื่อยๆ จนกว่าไฟจะหมด เงินเดือนจะออก โบนัสจะออก และใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลบอกแก่หัวใจตัวเองว่า ที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว และก็ก้มหน้าทำงานเดิมๆต่อไป

ทำอย่างไรหากมีไฟมีฝันและอยากผลักดันให้เป็นจริง

ทันทีที่รู้สึกว่าตัวเองมีไฟมีฝัน ทางสร้างฝันให้เป็นจริงคือ คิดได้ ลงมือทำทันที เพื่อสร้างกระแสของการปฏิบัติและก่อกระพือ Momentum ให้หมุนไปข้างหน้า เมื่อคุณเริ่มลงมือปฏิบัติ คุณจะถูกจูนเข้าสู่โหมดของการปฏิบัติและจะดึงดูดปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆเข้ามา เช่น พบเจอเว็บไซต์ใหม่ๆที่ข้อมูลสำคัญ พบเห็นหนังสือที่เกี่ยวข้อง พบปะเพื่อนที่ทำสิ่งเดียวกัน พบ Mentor หรือ คอร์สสัมมนา ที่เกี่ยวข้อง แล้วชีวิตคุณก็จะดึงเข้าไปอยู่ในกระแสของแวดวงที่คุณกำลังทำอยู่ซึ่งจะยิ่งกระพือแรงบันดาลใจ และทำให้ความฝันกลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นและเกิด กระบวนการรุดหน้า (Advance progress) ยกตัวอย่าง

Goal อยากเป็นเจ้าของร้านอีคอมเมิร์ซภายใน 2 ปี… Plan คือ ไม่ใช่รอหลังโบนัสสิ้นปีค่อยเริ่มวางแผน แต่ให้เริ่มวันนี้

  • เลิกงานไปซื้อหนังสืออีคอมเมิร์ซเบสิก 
  • วันหยุดเสิร์ซหาและสมัครสมาชิกบล็อกเกอร์สอนอีคอมเมิร์ซ
  • หา Mentor สมัครเรียนคอร์ส อาทิ คอร์สสอนอีคอมเมิร์ซ คอร์สสอนวิธีคิดสู่ความสำเร็จ เป็นต้น
  • สุดสัปดาห์แรกของเดือนถัดไปวิจัยสินค้าและตลาด
  • ปรับนิสัยใช้จ่าย ลดการสร้างหนี้ฟุ่มเฟือย เคลียร์หนี้เก่า ออมเงินเพิ่มไว้เป็นทุน
  • เริ่มขายของมือสองของตัวเองเพื่อระดมทุน (เริ่มทำการค้าโดยไม่รู้ตัว)
  • ฯลฯ สุดท้ายได้เริ่มทำจริงภายในอีก 6 เดือนต่อมา… สิ้นปีโบนัสออก รวมกับทุนและกำไรและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบว่าคุณมีเงินก้อนโตพอจะลาออกมาทำอีคอมเมิร์ซเต็มตัวได้ก่อนกำหนดถึง 1 ปี

เริ่มจากการหาความรู้ถือเป็นก้าวแรกเล็กๆ ที่จะสร้าง Momentum และดึงดูดปัจจัยที่จำเป็นเข้ามาเรื่อยๆ คุณจะประหลาดใจเมื่อเริ่มทำแผนระยะสั้นแล้วพบว่าอาจมีกระบวนการรุดหน้าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดที่อาจทำให้คุณสนุกและตื่นเต้นกับชีวิตมากขึ้น

วิธีเหล่านี้เป็นวิธีปฏิบัติของผู้ประสบความสำเร็จ คิดได้ ลงมือทำ ทำไปปรับไป สะสมประสบการณ์และความมั่นใจ หากใครมีความคิดมีไอเดียแต่ยังขาดพลัง แรงบันดาลใจ และความเชื่อมั่น การมี Mentor เป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้ฝันของคุณเป้นจริง ผมเองก็เช่นกัน เมื่อแรงบันดาลใจถดถอย ผมจะสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วยการอ่าน Success story ของผู้อื่นและการมี Mentor เพื่อจูนให้กลับมาบนเส้นทางอย่างมั่นคง

—————————————————————————————-

เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและบทความสำคัญสำหรับ Blogger และ Internet marketer, สมัครรับข่าวสารฟรีที่นี่ครับ
คุณไม่ชอบ Spam ผมก็ไม่เช่นกัน ที่นี่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์และยกเลิกสมัครได้ตลอดเวลา

[convertpress id=”1876″ replacetheme=”false”]