CEOthinking: ภัทรพร สกุลคู 5 ข้อคิดถามใจก่อนคิดระดมทุนธุรกิจ ทำตามฝันตนหรือรับใช้ความฝันคนอื่น

Startup หรือ สตาร์ทอัพ กลายเป็นแนวทางทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยภาพลักษณ์ของคนทำสตาร์ทอัพที่พบเห็นในข่าว ได้แก่ มีอายุน้อย หน้าตาดี ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ มีกิจการเข้าตลาดหุ้นภายในอายุไม่เกิน 30 ปี ภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเป็น ‘หนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัย’ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากขึ้นชื่อว่าเป็น Startup Entrepreneur สักครั้ง

แต่ด้านมืดของวงการสตาร์ทอัพนั้นมีมากมายที่หลายคนไม่รู้จนกว่าจะได้เข้ามาสัมผัส ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยก่อตั้งขึ้นมาโดยที่ไม่มีรายได้ ขยายกิจการด้วยเงินของนายทุน และต้องวิ่งหาแหล่งเงินใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีกำไรไปอย่างไม่รู้จบ

จำนวนไม่น้อยที่โชคร้ายและต้องยุติกิจการไปเพราะหาเงินทุนไม่ได้ในขณะที่บริษัทก็ไม่มีกำไร อีกมากที่เปิดตัวมาแล้วก็เงียบหายไปอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1-2 ปี เรียกว่าอาจจะมีเพียง 10% ที่เติบโตกลายเป็นธุรกิจที่มีกำไรอย่างแท้จริง ในขณะที่ 90% ที่เหลือ เสมอตัวหรือปิดกิจการไป

บทความนี้จึงมีข้อคิดดี ๆ สำหรับคนอยากทำสตาร์ทอัพได้เรียนรู้ไว้เป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจว่า ควรเริ่มต้นธุรกิจจากเล็ก ๆ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ หรือหากจะต้องระดมทุนจริง ๆ มีข้อคิดและข้อควรระวังอะไรบ้าง เป็นข้อคิดจากผู้หญิงเก่งที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพมาพอสมควร ชื่อว่า ภัทรพร (สุขสมปอง) สกุลคู หรือ คุณมิ้งค์

คุณมิ้งค์ จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์0kdจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จปริญญาโทและเอจากมหาวิทยาลัย Stanford เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Script Inc. พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีความนิยมติดอันดับ Top 5 Social Category สำหรับ Google Play และ Top 50 ในกรณีของ iTunes Store ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 5 ล้านผู้ใช้ทั่วโลก

5 ข้อคิดก่อนตัดสินใจระดมทุนทำสตาร์ทอัพ

การที่คุณมิ้งค์มีโอกาสคลุกคลีกับกลุ่มสตาร์ทอัพ ตั้งแต่ระดับอาจารย์ นักศึกษา นักลงทุน เจ้าของสตาร์ทอัพจำนวนมากทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย รวมไปถึงมุมมองของคนสนใจหรือคนที่กำลังทำธุรกิจสตาร์ทอัพบางรายสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอก และบางรายเมื่อประสบผลลัพธ์ทางธุรกิจแล้วกลับไม่ต้องการเงินทุนเลยด้วยซ้ำ หรือหากจะเอา อำนาจการต่อรอง เงื่อนไข และการเลือกนายทุนนั้นกลับมาอยู่ในมือของเจ้าของธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยพวกเขาเชื่อว่า นักลงทุนอาจสร้างผลเสีย หรือ Can do more harm than good แก่ธุรกิจที่พวกเขารัก

ยกตัวอย่างล่าสุดคือบริษัท Outfit 7 Investment เจ้าของ แอปพลิเคชัน Talking Tom ที่ก่อตั้งธุรกิจจากเงินที่ออมล้วน ๆ และสามารถสร้างรายได้ระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปีและขายกิจการให้นายทุนจากจีนในราคา 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา เส้นทางทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 6 ปี และย้ำอีกครั้งว่าพวกเขาใช้เงินออมจากงานประจำมาทำสตาร์ทอัพ โดยไม่ได้พึ่งเงินจากนักลงทุนเลย —- แต่หากคุณต้องการที่จะระดมทุนจริง ๆ ลองไปดูหลักคิด 5 ข้อก่อนตัดสินใจ

บทความนี้ขออนุญาตเจ้าของเนื้อหา เพื่อนำมาเรียบเรียงและปรับโครงสร้างประโยคบางจุด โดยอิงจากบทความต้นฉบับ ในเฟซบุ๊คของ คุณมิ้งค์ ดังนี้

1. คิดก่อนว่าคุณทำบริษัทนี้เพื่ออะไร?

“…สำหรับมิ้งค์ ทำเพราะรักอิสระ และอยากสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับโลกของเรา ทำให้คนมีความสุขขึ้น ทำให้คนเรียนรู้ได้ดีขึ้น

ยกตัวอย่างตอนที่ทำซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา เราทำกันเองเพื่อช่วยสอบ GRE นอกจากสอบได้คะแนนดีแล้วยังได้รางวัลชนะเลิศจาก Google มีความเป็นเจ้าของเต็มที่ คุยกับลูกค้าเป็นประจำ รู้สึกสนุกมาก อยากปรับฟีเจอร์ไหนก็ปรับ อยากพักก็พัก เป็นชีวิตที่มีความสุข มีลูกค้าที่ใช้งานจริงมีจำนวนพอให้เราอยู่ได้สบาย ๆ แต่ก็ไม่มากเกินไปจนลูกค้ากลายเป็นแค่ ‘ตัวเลข’ ที่เอาไว้โชว์

และในที่สุด เราก็ขายให้บริษัทที่ใหญ่กว่าในนิวยอร์ค ไม่ต้องแบ่ง ไม่ต้องรายงานใคร เราพอใจราคานี้เราก็ขาย — นี่แหละอิสระจากการเป็นเจ้าของกิจการตัวเอง 100% ในขณะที่เมื่อรับเงินจากนักลงทุน อิสระของคุณจะหายไปสักครึ่งนึงในระยะยาว ทั้งเรื่องกฏหมาย เรื่องความจำเป็นที่ต้องรับฟังคำแนะนำจากนายทุน เรื่องการเปลี่ยนจาก ‘ธุรกิจที่ทำเพื่อลูกค้า’ กลายเป็น ‘นักระดมเงินทุน’…”

2. นักลงทุนต้องการอะไรจากคุณ?

“…เงิน เงิน และ เงิน ใช่ไหม? ผลตอบแทนหลายสิบเท่า การรายงานผลการดำเนินงานทุกย่างก้าว การประชุมกันบ่อย ๆ ฯลฯ

ยิ่งเวลาเกิดมูลค่าเพิ่มแต่ละครั้ง คุณอาจเห็นนักลงทุนบางคนที่ครั้งหนึ่งมาในมาดนักบุญ ขอแทรกการลงทุนเพิ่มในราคาเก่าแต่จะขอเอามูลค่าใหม่ โดยอ้างคุณงามความดีที่เคยทำให้คุณมาตลอดก็มี — นักลงทุนเจนโลก สมมุติเขาเลือกลงทุนกับคุณ ณ วันนี้ที่มูลค่าธุรกิจ ‘สิบล้านเหรียญ’ เขาย่อมคาดการณ์และคาดหวังว่าธุรกิจของคุณมีศักยภาพที่จะโตไปสู่หลัก ‘ร้อยล้านเหรียญ’ ในอนาคตอันใกล้ ไม่เกิน 2-3 ปี

หากที่ผ่านมาคุณเป็นเจ้าของคนเดียวและอยู่ได้ด้วยมูลค่ากิจการเท่านี้ คุณคือ Cash Cow ที่มีชีวิตสบาย ๆ ในธุรกิจที่เลี้ยงตัวได้อย่างสุขสบาย อัพเดทธุรกิจ พัฒนาสินค้าใหม่ป้อนตลาดไปตามไซเคิ้ล แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีเงินในส่วนของนักลงทุน ทีนี้คุณต้องปรับพฤติกรรมเป็น Rising Star จะไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องเติบโตให้เร็วมาก

น่าเสียดายที่ธุรกิจสตาร์ทอัพดี ๆ จำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลงเพราะเติบโตไม่ทัน ซึ่งหากไม่รับเงินลงทุนและอาศัยฐานลูกค้าเดิม ๆ ก็อยู่ได้สบาย ๆ ไปอีกนาน และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมขายฝันของคนบางกลุ่มที่ออกมาระดมทุนจำนวนมาก ๆ โดยที่ไม่มีธุรกิจที่จับต้องได้ออกสู่ตลาดอย่างจริงจังเสียทีจนกระทั่งเจ๊ง ปิดกิจการ และแยกย้าย เหตุการณ์แบบนี้ก็มี

คุณลองคิดดูว่า ตัวเองต้องการชีวิตแบบไหน อยากอยู่อย่างสบาย ๆ ทำธุรกิจบนความถนัดของตัวเองและมีอิสระที่จะใช้ชีวิต หรือต้องการสภาพแวดล้อมที่ร้อนแรงและการเติบโตตลอดเวลา…”

3. คุณจะเอาเงินลงทุนไปทำอะไร?

“…หลายบริษัทไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินนักลงทุน ถ้าแอปพลิเคชันของคุณทำเงินเดือนละ 500,000 บาท และคุณรู้สึกพอใจกับรายได้ และ อิสระทางชีวิตและการเงินที่ได้รับ คุณก็ไม่ต้องการเงินลงทุนเพิ่มเลย แต่ถ้าอยากเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีการประกาศระดมทุน เมื่อรับเงินเขามาแล้วคุณก็ต้องรับผิดชอบต่อเงินนั้นให้ดี หรือไม่อย่างนั้นนักลงทุนจะต้องให้คุณแสดงความรับผิดชอบต่อเงินของพวกเขา

เรื่องเหล่านั้นสร้างความกดดันแก่เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพและอาจส่งผลให้นำเงินไปใช้สร้างผลลัพธ์บางอย่างที่ไม่เกิดมูลค่าอย่างมีคุณภาพในระยะยาว แต่เป็นเพียงการหวังผลในระยะสั้นเพื่อนำตัวเลขไปแสดงแก่นักลงทุนว่าได้นำเงินไปใช้สร้างผลลัพธ์ที่เป็น ตัวเลข และ สถิติ สำเร็จแล้ว อาทิ การสร้างจำนวน ผู้ใช้งาน ที่เกิดจาก Engineer growth อาศัยเทคนิคหรือความจงใจบางอย่างในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นลูกค้าจริง ๆ มาในระบบ เป็นต้น

แม้จะทำสำเร็จ แต่อาจไม่เกิดรายได้ที่มั่นคงพอเท่ากับการเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติจากลูกค้าจริง (Organic growth) สุดท้ายเงินหมด และต้องออกระดมทุนรอบใหม่ต่อไป…”

4. นักลงทุนสนใจ ‘อุดมการณ์’​ หรือ ‘เงิน’?

“…นักลงทุนเจนโลกบางคนเปรียบเสมือนคนเจ้าชู้ ดูดีมีเสน่ห์ เขาจะชื่นชมและจีบคุณเช้า กลางวัน เย็น ส่งข้อความ, อีเมล์ และของฝาก ฯลฯ สารพัด เขาเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังทำ และอยากสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับโลกเหมือนกัน คุยอะไรก็เข้าใจและถูกคอ และดูไม่ละโมบโลภมากเลยในตอนแรก แต่…

เหตุการณ์จริงที่เกิดกับเพื่อนนักธุรกิจสตาร์ทอัพคนหนึ่ง เขาได้เงินลงทุนจาก บริษัท Venture Capitalist หรือ VC รายหนึ่ง จำนวน 200 ล้านเหรียญ และตลอดเวลาหลังจากได้รับเงินมา เขามีประสบการณ์ที่ไม่ดีซึ่งมักแสดงออกในรูปของการ เตือน หรือ ไม่แนะนำ ให้ไปขอเงินจาก VC รายนี้ สุดท้าย เจ้าตัวขายกิจการให้ MySpace ออกไปด้วยราคาต่ำกว่าที่ได้รับการประเมินไว้มาก และถึงเวลานั้น VC ก็เข้ามาทวงผลตอบแทนไปจนตนเองแทบไม่ได้อะไรจากสิ่งที่ทำมาทั้งหมด

อันที่จริง VC ไม่ได้สนใจความฝันของคุณ หรือคุณค่าของโลก เท่ากับผลตอบแทนของเขา ยกตัวอย่าง กรณีมิ้งค์ทำแอปพลิเคชัน แต่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการให้คนมาติดแอปฯ ไม่ชอบให้เด็กและวัยรุ่นอยู่กับมือถือทั้งวัน ไม่ชอบให้พ่อแม่เอาแต่จ้องโทรศัพท์ ไม่ชอบให้ Line เป็น GPS ไม่มี ความเป็นส่วนตัวใด ๆ เหลือในชีวิต

แอปฯ เราทำมาเพื่อให้คนมีความสุขขึ้น ไม่ได้ทำมาล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสร้างมนุษย์ซอมบี้ขึ้นมาแทน! แต่ VC จะสนใจอุดมการณ์ตรงนี้หรือไม่? หรือแคร์ผลเสียหรืออันตรายจากการเสพติดสมาร์ทโฟนหรือไม่ — คำตอบคือ ‘ไม่’ — VC อยากให้คน ‘ติด’ กับแอปฯ ของคุณ อยากให้คนใช้เยอะ ๆ นาน ๆ บ่อย ๆ ยิ่งติดยิ่งดี

5. คุณจะเปลี่ยนจาก ‘ทำงานที่รัก’ เป็น ‘ทำเงินไม่พัก’

“…ถ้าชีวิตคุณดีอยู่แล้ว มีพร้อมสรรพทั้ง สุขภาพ เพื่อนฝูง ครอบครัว และการงานหรือกิจกรรมที่รัก แล้ววันหนึ่งมีนายทุนจอมละโมบก้าวเข้ามาในชีวิตคุณ ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปจากอิสระสู่ทาสเงิน ตัวเลข และการแสวงหาการเติบโตอย่างรีบเร่ง จากวัฏจักรของ Work, Life, Balance กลายเป็น Growth, Traction, Usage, Exit, Raising the Next Round

กรณี Professor Andrew Ng แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera ก็มีประสบการณ์คล้ายกันคือเขาต้องการสร้างแพลทฟอร์มการเรียนรู้ราคาถูกหรือฟรีไปเลย แต่เมื่อมีการระดมทุนแล้วก็ฟรีไม่ได้ ต้องสร้างรายได้และเก็บเงินในราคาสูง พร้อมกับขยายฐานผู้ใช้งานใหม่ ๆ ให้ได้มาก ๆ สุดท้ายเขาก็เฟดตัวออกจาก Coursera ด้วยอุดมการณ์ที่สวนทางกันและผันตัวไปทำงานที่เขารักและสบายใจมากกว่า หนึ่งในนั้นคืองานวิจัย Artificial Intelligence…”

สรุป

คุณมิงค์ ปิดท้ายให้ข้อคิดโดยประมาณว่านักลงทุนมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป และวัตถุประสงค์ของนายทุนย่อมต้องการผลตอบแทนเป็นธรรมดา อยู่ที่คุณจะต้องพิจารณาให้มาก ๆ ว่าต้องการเงินลงทุนจริง ๆ หรือไม่ ถ้าต้องการ ต้องการเท่าไร และจะรับมือกับความกดดันอย่างไร ฯลฯ โดยให้หมั่นถามใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าคุณได้ “…Go for as long as you can to remain independent without taking venture capital….” ถ้าคุณทำได้ และสุขสบายดี คุณอาจไม่จำเป็นต้องการเงินจากภายนอกก็เป็นได้