3 เหตุที่ Personal Branding ของคุณยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ย้อนกลับไปประมาณสามปีก่อน ผมยังนั่งทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศโนเนมคนหนึ่งที่ทั้งโลกไม่มีใครรู้จักผม กระทั่งก้าวสู่เดือน มกราคม 2012 ผมเปิดตัวเว็บไซต์ www.theceoblogger.com อย่างเป็นทางการผ่านกระทู้เล็กๆใน ThaiSEOBoard.com นับจากเป็นต้นมาชีวิตผมก็เปลี่ยนไป

จากวันนั้นถึงวันนี้ บทความที่เขียนจากประสบการณ์และความคิดถูกเผยออกไปสู่ผู้คนกว่าล้าน Views และกลายเป็น Personal branding ที่รู้จักในแวดวงธุรกิจออนไลน์ จากคนโนเนม วันนี้ผมได้มีโมเมนต์ที่คนบนรถไฟฟ้า BTS หรือในร้าน Starbucks เดินเข้ามาทักว่า “คุณคือ The CEO Blogger ใช่ไหม” – The CEO กลายเป็น Personal branding ที่แม้แต่เพื่อนๆก็ใช้เรียกแทนตัวผม

Personal Branding โดยนักธุรกิจแนวหน้า

ปัจจุบัน Personal branding เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการจำนวนมาก
20 ปีก่อน Corporate branding มีความสำคัญต่อธุรกิจ ธุรกิจต้องสร้าง Brand name ที่แข็งแกร่งน่าเชื่อถือ แต่ในปัจจุบันกลับกันเมื่อผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง Richard Branson ใช้ Personal branding สร้างแฟนคลับเพื่อส่งคนสู่แบรนด์ธุรกิจคือ Virgin Group ของเขา

Richard Branson ออกสื่อเยอะมาก และยังจัดแคมเปญฮาๆ เช่น แต่งตัวเป็นผู้หญิง หรือเล่นสกีน้ำโดยมีผู้หญิงโป๊เกาะหลัง สร้างปรากฏการณ์ viral รวมไปถึงการเขียนหนังสือมากมายเป็นพรืดออกขายไปทั่วโลก

ส่วนในประเทศไทยมี คุณวิกรม กรมดิษฐ์ CEO อมตะ คอร์ปอเรชั่น ที่ออกสื่อ เขียนหนังสือ จัดรายการจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และมี คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญ CEO OokBee — website / application อ่านอีบุ๊คที่ผู้คนจดจำในภาพของ CEO หนุ่มมาดเซอร์เกาหลีที่เป็นกันเองและเข้าถึงได้

เพราะโลก Digital ทำให้ Personal Branding สำคัญ

วันนี้อินเตอร์เน็ตทำให้คนเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายมาก
โซเชียลมีเดียทำให้แฟนคลับใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบแม้ไม่ได้เจอหน้ากันตรงๆ ยิ่งใกล้ชิดในแบบ Virtual คนยิ่งผูกพันกับดารา ชื่อดารายิ่งแข็งแกร่งด้วยพลังของแฟนคลับ

สำหรับธุรกิจ ยุคนี้สินค้าและบริการถูกก็อปปี้กันง่าย ธุรกิจที่ไม่มีแบรนด์อาจด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขันระยะยาวและต้องดึงดูดลูกค้าที่ราคาถูกจนในที่สุดก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจที่มีแบรนด์แข็งแกร่งมีมูลค่าทางนามธรรมสูงและสามารถปรับราคาขึ้นได้ในระยะยาว

เมื่ออินเตอร์เน็ตก้าวหน้าและเข้าถึงเกือบทุกคนผ่านสมาร์ทโฟน ประกอบกับธุรกิจใหม่มีขนาดเล็กลง เป็นธุรกิจเจ้าของสองสามคน ออกสื่อเอง ลงหน้างานเอง มีการแชร์ไลฟ์สไตล์ในงานลงสื่อออนไลน์จนเกิดการ Connect กับลูกค้าในระดับจิตใจ เป็นผลให้ธุรกิจเล็กๆ กลายเป็นที่พูดถึงและจดจำนำหน้า Corporate brand ที่ลูกค้าเข้าไม่ถึงเจ้าของ — สุดท้าย คนย่อมอยากที่จะ Connect กับคนด้วยกัน

เหล่านี้เป็นเหตุให้นักธุรกิจใหม่และเก่าเริ่มสนใจ Personal branding เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระดับ Personal เพื่อให้คนรักและภักดีกับตัวบุคคลและนำไปสู่การเป็นลูกค้าระยะยาวของธุรกิจ

3 เหตุที่ Personal Branding ของคุณยังไม่ประสบผลสำเร็จ

1. ไม่ต่อเนื่อง

โรมไม่ได้สร้างในวันเดียว’ Personal branding ก็เช่นกัน
Personal branding อาศัย ความเชื่อใจ (Trust), ความเป็นเจ้าของเนื้อหา (Authority), และความผูกพัน (Relationship), โดยการทำให้คนรับรู้เนื้อหาของคุณอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ที่ผมเรียกว่าการทำ Content marketing จนกว่าจะเกิดการยอมรับทั้งสามข้อที่กล่าวมา

การที่คุณประกาศตัวตนผ่าน Facebook page ขึ้นมาสดๆร้อนๆ โดยไม่มีใครรู้จักคุณมาก่อนย่อมไม่สามารถทำให้ใครยอมรับและเชื่อถือคุณได้ในวันสองวันแรก

มีคนขายสินค้าที่นิชมากๆ ปรึกษาผม สินค้าและบริการของพวกเขาที่ดีจริง เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มใน Community ออฟไลน์ของเขา แต่ทันทีที่เริ่มก้าวสู่โลกออนไลน์และยิง Facebook ads ออกไป มีคน Like จำนวนมากแต่แทบไม่มีการซื้อขายเลยเพราะอะไร คำตอบเดียวกันครับ ‘เพราะเขาไม่รู้จักคุณ

คุณยังไม่ได้สร้าง Trust และ Authority บนโลกออนไลน์ให้ต่อเนื่องนานพอ จำนวน Like นั้นแทบไม่มีค่าอะไร Like แค่บอกว่าคนรับรู้และมองเห็นโฆษณาของคุณ

ผมเชื่อว่าหลายคนถอดใจตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มโพสต์คำคมและแนวคิดลง Facebook page แล้วไม่มีคน Like และไม่มียอดขาย

การสร้าง Personal branding ออนไลน์อาศัยการผลิต Content ที่มีประโยชน์และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต้องการความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่คุณควรมี Content สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทุกวันติดต่อกันประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไปครับ

2. อยู่แต่ออนไลน์

คนเริ่มสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าออนไลน์อย่างเดียวก็เพียงพอ แต่ที่จริงแล้ว Relationship ระดับลึกและโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่มาจากฝั่งออฟไลน์!

การมีตัวตนบนโลกออนไลน์ทำให้คุณเป็นที่รู้จักในวงกว้างและช่วยให้เข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้นเมือเจอตัวจริง แต่ความสัมพันธ์ระดับลึกถึงขั้นทำการค้าหรือเป็นลูกค้าที่ภักดีจริงจังสร้างได้ด้วยการพบเจอรู้จักกัน

ความสัมพันธ์ออฟไลน์นำไปสู่การสนับสนุนและแนะนำบอกต่อแบบปากต่อปากเกี่ยวกับธุรกิจและบริการของคุณในแวดวงของพวกเขาได้อย่างดี และยังสามารถต่อยอดสู่การทำธุรกิจร่วมกันได้ง่ายขึ้น

ส่วนตัวผม หลังจากอยู่ออนไลน์มานานหลายปี แต่เพียงปีเดียวที่เริ่มบุกโลกออฟไลน์ พบปะผู้คน ออกงาน ไปงานอีเวนต์ต่างๆ Relationship ของผมกับคนเก่งๆและนักธุรกิจเด่นๆ ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้ผมเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้ง ออฟไลน์และออนไลน์โดยไม่ต้องใช้งบทำโฆษณาใดๆ มากมายเลย

ฉะนั้น แม้ชื่อคือการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่อย่าหยุดที่ออนไลน์อย่างเดียว ให้ออกไปติดต่อกับผู้คนในโลกออฟไลน์ เพื่อให้เขานำคุณเรื่องของคุณกลับไปบอกต่อยังเครือข่ายออนไลน์ของพวกเขา Personal branding แบบนี้จะยิ่งน่าเชื่อถือมากกว่าการที่คุณประกาศตัวเองอยู่ฝ่ายเดียวครับ

3. ไม่มีภาษาของตัวเอง

ภาษา ในที่นี้หมายถึงสไตล์การบอกเล่าเนื้อหาของคุณ
ข้อนี้ดูเล็กน้อยแต่สำคัญมาก ถ้าคุณไม่พัฒนาสไตล์ของตัวเองก็ยากที่ใครจะอยากสนใจคุณ

คุณอาจเริ่มจากการเลียนแบบสไตล์ของไอดอลที่คุณปลื้มในช่วงแรกๆ เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของคนที่มักทำตาม Role model ในใจ แต่คุณต้องค้นหาและพัฒนาสไตล์ของตัวเองให้เจอโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นคุณจะเป็นเพียงเงาของต้นแบบและไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องเป็นแฟนคลับคุณในเมื่อตัวจริงก็มีอยู่แล้ว

จากประสบการณ์ของผม การสร้าง Personal branding ที่ได้ผลคือบอกเล่าเรื่องราวจาก Inner ของคุณเอง

คุณอาจเป็นกูรูเล่าเรื่องหุ้นสายเทคนิคคอล และกูรูแนวหน้าก็มีอยู่แล้วในตลาด แก่นเนื้อหาที่คุณเล่าคงไม่ต่างจากอีกหลายๆคน แต่สไตล์การเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างกูรูแต่ละคน

สไตล์ของ ‘อาจารย์เกียรตินิยม’ ย่อมต่างจาก ‘เซียนหุ้นห้องสินธร’ (ห้องหุ้นใน pantip.com) และแน่นอนว่านักเล่นหุ้นรุ่นใหม่ไฟแรงอาจชอบสไตล์การเล่าหุ้นของเซียนหุ้นห้องสินธรมากกว่า นี่คือตัวอย่างสมมุติของเรื่องเดียวกันคนเล่าต่างกัน

ยกตัวอย่างหนังสือ Appspiration แอปพลิเคชั่นบันดาลใจ ที่เป็นเรื่องราวบอกเล่าของสาม Tech Startup ได้แก่ OokBee, Grab Taxi และ Wassadu

ทั้งสามคนนี้เป็นนักธุรกิจเจ้าของ App ทั้งหมด เล่าเรื่อง App เหมือนกัน แต่เล่าผ่านประสบการณ์ที่เป็น Inner และ Passion ของพวกเขา ทำให้การฟังเรื่องของทั้งสามคนนี้ แม้จะเป็นเรื่อง App. เหมือนกัน แต่เรื่องราวต่างกันคนละโลก สนุก ได้แรงบันดาล และน่าจำจด

บทสรุป: ทุกวันคือการตลาด

จะว่าไป Personal branding คือการตลาดทุกลมหายใจในแต่ละวันของคุณ เมื่อคุณเลือกที่จะใช้ตัวเองเป็นแบรนด์ คนจะติดตามและจดจำคุณจากไลฟ์สไตล์ พูดง่ายๆ ทุกย่างก้าว ทุกการกระทำ ที่คุณสื่อออกไปยังโลกออฟไลน์และออนไลน์คือการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ของคุณทั้งสิ้น

การเข้าใจแบบนี้จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนจัดการกับชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น จากนี้ไปคุณจะดูแลภาพลักษณ์และรูปร่างของคุณอย่างไร คุณจะโพสต์ข้อความลงบนโซเชียลแบบไหน และการออกสื่อพูดคุยสดกับผู้คนอย่างไร

อาจฟังดูหนักหนา แต่ถ้าทำแล้วเห็นผลลัพธ์ ธุรกิจก้าวหน้า ลูกค้าภักดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็นับว่าเป็นความสนุกและท้าทายมากครับ