เส้นทางสตาร์ทอัพ: เอกฉัตร SkillLane โรงเรียนออนไลน์สำหรับคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในไทย

SkillLane 04

ผมทำอาชีพ Infopreneur จึงมีความสนใจอะไรก็ตามที่เป็น อีบุ๊ค, คอร์สสัมมนา, คอร์สออนไลน์ ฯลฯ เป็นพิเศษ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในนี้ต่างประเทศทำกันมานานและพัฒนาเป็นธุรกิจยอดขายนับร้อยล้านบาท ในขณะที่บ้านเราที่ผ่านมานั้นอาจจะดูเงียบๆ ไม่ค่อยมีสีสันตลอดหลายสิบที่ผ่านมา

วันหนึ่งผมมีโอกาสเห็นโฆษณา Facebook เป็นหน้าชายหนุ่มที่ดูแล้วอายุไม่น่าเกิน 25-26 ปีกับโฆษณาสอน MS Excel ออนไลน์แล้วรู้สึกสะดุดตาเป็นอย่างมาก และอีกประมาณ 6 เดือนต่อมา… ชายหนุ่มคนนั้นติดต่อมาหาผมเพื่อชวนไปทำคอร์สออนไลน์ ผมถึงกับสตั้นว่าหนุ่มอายุน้อยที่ผมเห็นผ่าน Facebook Ads ในวันนั้นคือ ‘เจ้าของธุรกิจคอร์สออนไลน์ที่ ณ วันนี้โรงเรียนออนไลน์สำหรับคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในไทย’

เขามีชื่อว่า คุณเอกฉัตร อัศวรุจิกุล หรือ นัท เรียนจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาปริญญาโท MBA จาก Kellogg School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane (www.SkillLane.com) ซึ่งเป็นโรงเรียนออนไลน์สำหรับคนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง SkillLane ทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้และความสามารถในด้านต่างๆ ให้มาแบ่งบันความรู้ของตัวเองในรูปแบบของวิดีโอ แล้วก็นำวิดีโอเหล่านี้มาไว้ที่ SkillLane สร้างเป็นคอร์สออนไลน์ เพื่อที่คนที่ต้องการเรียนสามารถ เรียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ตามความต้องการของตัวเอง!

เรื่องราวของคุณนัท น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างธุรกิจอินเตอร์เน็ตมาก และวันนี้ผมได้รับเกียรติจากคุณนัทมาเล่าประสบการณ์การสร้างธุรกิจ startup จนกลายเป็นคอร์สออนไลน์ที่มีคอร์สมากที่สุดในวันนี้ ลุยเลยครับ…

1. ธุรกิจ Information Business มีมานานแล้วโดยรูปแบบที่นิยมในบ้านเราคือ หนังสือ ดีวีดี และสัมมนาสด อยากให้คุณเอกฉัตรแชร์เส้นทาง จากความคิดอยากทำธุรกิจสู่การตกผลึกไอเดียให้ทำคอร์สออนไลน์ SkillLane

ที่มาของ SkillLane มาจากการที่เราต้องการจะแก้ไขปัญหาในการเรียนรู้ของคนไทยวัยทำงาน เราค้นพบว่า 94% ของคนวัยทำงานต้องการพัฒนาตัวเอง อยากเก่งขึ้น อยากเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่ว่า 97% ของคนเหล่านี้ ยังพัฒนาตัวเองไม่ได้ซักที โดยสาเหตุอันดับ 1 คือ เวลา ทำงาน 9 โมง ถึง 6 โมงเย็น จะให้ไปเรียนสัมมนาภาคค่ำก็เหนื่อย เสาร์-อาทิตย์ก็มักมีภารกิจส่วนตัวที่ต้องทำ ไม่สามารถแบ่งเวลาทั้งวันไปสัมมนาเพื่อพัฒนาตัวเองได้

ผมและ ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ซึ่งเป็น Co-founders ด้วยกัน จึงสร้าง SkillLane เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยโมเดลธุรกิจของ SkillLane คือ เราทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้และความสามารถในด้านต่างๆ ให้เขามาสอนในรูปแบบของวิดีโอ แล้วเราก็นำวิดีโอเหล่านี้มาไว้ที่ SkillLane เรียบเรียงอย่างดีมาสร้างเป็นสัมมนาออนไลน์ เพื่อที่ว่าคนที่ต้องการเรียนสามารถ เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไรก็ได้ คนที่มีเวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถเรียนได้ แล้วค่อยกลับมาเรียนต่อในวันต่อไป หรือคนที่อยู่ต่างจังหวัด ก็ไม่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯอีกต่อไป สามารถเรียนจากที่บ้านผ่านอินเตอร์เน็ตได้เลย

ด้วย SkillLane เราขจัดอุปสรรคในเรื่องของเวลาและสถานที่ออกไปจากระบบการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้ไรขีดจำกัด ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา

ตอนนี้เรามีคอร์สออนไลน์ทั้งหมด 6 หมวดหมู่ 1) การเงิน/การลงทุน 2) ทำธุรกิจส่วนตัว 3) พัฒนาตัวเอง 4) เตรียมสอบ 5) ภาษา 6) คอมพิวเตอร์ และทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้ความสามารถระดับประเทศในการทำคอร์สออนไลน์มากมาย เช่น คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย ที่มาสอนการสร้างธุรกิจส่วนตัว, คุณแพท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่มาสอนการลงทุน, คุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ ที่มาสอนด้านการพัฒนาตัวเอง เป็นต้น

2. SkillLane ถือเป็นธุรกิจ Startup หัวใจสำคัญของ Startup คือ ไอเดีย และ ทีม อยากให้คุณเอกฉัตรแชร์ประสบการณ์การฟอร์มทีมก่อตั้งธุรกิจ

จุดเริ่มต้นที่ Kellogg

ผมและฐิติพงศ์มีความตั้งใจที่จะทำ SkillLane ตั้งแต่ตอนที่เราเรียนปริญญาโท MBA อยู่ที่อเมริกา พวกเราในตอนนั้นจึงวางแผนกันว่า เราสองคนต้องเก่งกันคนละด้าน เพื่อที่ว่าเราจะได้มีทักษะที่มาเกื้อหนุนกันตอนเราสร้างธุรกิจ ตอนที่เรียน เราก็ลงเรียนกันคนละวิชา ฐิติพงศ์ลงเรียนด้าน marketing, strategy ฯลฯ ส่วนผมเองจะเน้นในเรื่อง management, finance เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เราก็หาที่ทำงานในอเมริกาด้วย เพื่อหาประสบการณ์ในการทำ startup ฐิติพงศ์ไปทำงานกับ tech startup ในชิคาโก ส่วนผมไปทำงานกับกลุ่มนักลงทุน VC (Venture Capitalist) ที่ลงทุนใน tech startup เรียกได้ว่าเราลงทุน และทุ่มแรงกายแรงใจอย่างมาก

พอเรียนจบกลับมา เราเริ่มลงมือแบบเต็มกำลัง ผมและฐิติพงศ์มาจากสายธุรกิจ แต่เนื่องจากเราเป็น tech startup เราจำเป็นที่จะต้องมีคนที่เก่งด้านไอทีมากๆคนหนึ่ง

ต้องถือว่าโชคดีมากๆที่ผมรู้จักรุ่นน้องคนหนึ่งที่ทำงานเก่า ซึ่งเขามีประสบการณ์เขียนโปรแกรมมากมาย คุยไปคุยมา ก็เลยรู้ว่าเขาสนใจในการทำ startup อยู่แล้ว แถมยังชอบในเรื่องของการศึกษาด้วย พอพวกผมบอกกับเขาว่า ฝันของ SkillLane คือ “การทำให้คนไทยได้เรียนทุกอย่างที่อยากจะเรียน ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้” เขายิ่งตื่นเต้นใหญ่ และก็ยินดีที่จะมาทำงานร่วมกับพวกเรา

เราทำงานด้วย 3 คนมาตลอดเป็นเวลาเกิน 6 เดือน ทำงานทุกอย่างแบบสากกะเบือยันเรือรบ ตอนนี้ทีมเราขยายแล้วจาก 3 คนในวันแรก เป็น 10 คน (ทีม full-time 7 คน และน้องๆฝึกงานอีก 3 คน) ซึ่งวิธีการหาคนเพิ่ม เราก็ยังคงคอนเซ็บเดิมว่า “แต่ละคนที่อยู่ในทีมเรา ต้องมีความสามารถที่คนอื่นๆในทีมไม่มี” อย่างผมที่เป็นเจ้าของก็ไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุดทุกอย่างในทีม ทักษะหลายๆด้าน น้องๆในทีมเก่งกว่าผมซะอีก เราทำอย่างนี้เพราะทีมเราจะได้มีทักษะรอบด้าน ทุกคนสามารถเกื้อหนุนกันได้ ให้เราเดินไปข้างหน้าได้

อีกอย่างที่สำคัญมากเวลาเราฟอร์มทีมก็คือ เราหาคนที่มี passion ในการเรียนรู้ บริษัทของผมเป็นบริษัทที่ทุกคนมีความฝันเดียวกันคือ “อยากทำให้การศึกษาในไทยดีขึ้น” ผมเชื่อว่าธุรกิจทุกอันต้องขับเคลื่อนด้วย passion เพราะเวลาที่เราได้ทำอะไรในสิ่งที่เรารักเราชอบ เรามักจะทำออกมาได้ดีเสมอ

3. ให้คุณเอกฉัตรแชร์เส้นทางการระดมทุนมาก่อตั้งธุรกิจ SkillLane

ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โชคดีครับ แต่มองย้อนกลับไป เราก็พยายามทำให้โชคนั้นเกิดขึ้นมา อย่างที่เคยบอกไปข้างต้นว่า ผมและฐิติพงศ์มีความตั้งใจที่จะทำ startup ตั้งแต่สมัยเรียนโท MBA แล้ว พวกเราก็เลยวางแผนกันว่า ถ้าเราจะทำ startup จะมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ startup ของเราประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั้นก็คือการหาเงินลงทุนจากนักลงทุน

ผมก็เลยตัดสินใจไปทำงานกับ Ardent Capital ซึ่งเป็นบริษัท Venture Capital ยักษ์ใหญ่ ที่ลงทุนใน startup ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จริงๆตอนนั้นไม่ได้คิดหรอกครับ ว่าจะไปทำงานเพื่อหาเงินลงทุน แต่ผมไปทำเพราะอยากเข้าใจว่า ในฝั่งของนักลงทุน เขามอง startup ในมุมไหน เลือกลงทุนใน startup อย่างไร เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้วิธีคิดของพวกเขา เมื่อถึงเวลาที่ต้องหาเงินลงทุนจริงๆ เราก็ถือว่าได้เตรียมตัวอย่างดีมาก่อน

แต่ตอนไปทำที่ Ardent Capital ก็เผอิญโชคดีมาก ที่ได้รู้จักกับ Michael Waitze ซึ่งตอนนั้นเขาก็ทำอยู่ที่ Ardent Capital เหมือนกัน นั่งทำงานใกล้ๆกันมาตลอด จนเขารู้ดีว่าเราเป็นคนยังไง นิสัยยังไง ทำงานยังไง พอเรียนโทเสร็จและกลับมาเมืองไทย Michael ก็ออกมาทำบริษัท Venture Capital ของตัวเอง พอผมได้เล่าให้ฟังว่า ผมกำลังทำ SkillLane อยู่ และเล่าให้ฟังถึงไอเดียและโอกาสทางธุรกิจ Michael ก็สนใจมากๆ พร้อมกับแนะนำให้พวกผมรู้จักกับนักลงทุนอีกคนหนึ่งที่อเมริกา เรา Skype กันกับเขา แล้วเขาก็ตื่นเต้นมาก จนขนาดบินมาหาพวกเราที่เมืองไทย เพื่ออยากคุยกับเราแบบจริงจัง พวกเราก็เลยมีโอกาส pitch ไอเดีย SkillLane แบบจัดเต็มให้เขาฟัง ซึ่งเขาชอบและมั่นใจในทีมพวกเรา จนสุดท้ายเขาก็มาลงทุนใน SkillLane

อีกคนที่มาลงทุนที่ SkillLane ก็คือ คุณป้อม ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Stock2Morrow ยักษ์ใหญ่วงการสัมมนาและสำนักพิมพ์ เราไปคุยกับเขาตั้งหลายรอบ กว่าเขาจะมาลงทุนกับเรา ถือว่าเราโชคดีมากๆที่คุณป้อมมาร่วมกับเรา เพราะนอกจากเขาเป็นนักลงทุนใน SkillLane แล้ว เขาเปรียบเสมือนพี่ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือเราตลอด ไม่ว่าจะเป็น การหาคอร์สออนไลน์มีคุณภาพให้เรา ให้สถานที่ทำงานให้เราในช่วงแรก ช่วยเหลือพวกเราในการทำการตลาด และอื่นๆอีกมากมาย ทีมงานของเขาก็สนับสนุนเราอย่างเต็มที่ทุกอย่าง ถือว่าโชคดีสองเด้งเลยก็ว่าได้

4. คอร์สออนไลน์เป็นที่นิยมในต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา คุณเอกฉัตรมีหลักคิดการทำการตลาดอย่างไรให้กับ SkillLane

ทีม SkillLane

คอร์สออนไลน์เป็นเรื่องใหม่มากจริงๆครับ อันนี้เป็นอุปสรรคในช่วงแรกของเรามาก ช่วงที่เราเริ่มต้นคนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการศึกษาออนไลน์มันเป็นยังไง เรามักจะได้คำถามว่า “เรียนออนไลน์คืออะไร แล้วเรียนที่ไหน เรียนกี่โมง” เพราะคนไทยจะยังติดภาพว่า การเรียนคือต้องมาที่ห้องเรียน ตามวันและเวลาที่กำหนด

ตอนนั้นเราเลยคิดว่าต้อง educate ให้คนไทยรู้จักกับการเรียนออนไลน์ก่อน ต้องสร้างตลาดนี้ขึ้นมาให้ได้ เราเลยตัดสินใจทำคอร์สออนไลน์แบบฟรีออกมาหลายๆอัน (ซึ่งก็เป็นคอร์สที่ SkillLane ทำขึ้นมาเอง) ให้คนไทยได้ลองใช้ ได้ลองเรียนและทำให้เขารู้ว่าการเรียนออนไลน์มันสะดวกสบาย และมีประโยชน์ไม่แพ้กับการไปเรียนในห้องเรียน เราทำอย่างนี้เป็นระยะเวลาหลายเดือน ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก จนเริ่มมีคนมาลงทะเบียนเรียนกับเรามากขึ้นทุกๆวัน เริ่มมีคนรู้จัก SkillLane มากขึ้น เราถึงเริ่มมีคอร์สออนไลน์ที่ต้องเสียเงิน พอคนเข้าใจว่าสินค้าคืออะไร การขายจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น

ปัจจุบัน เราเน้นทำการตลาดผ่าน Social media เป็นหลัก โดยเฉพาะกับ Facebook เพราะเรารู้ว่าคนไทยใช้เวลากับ Facebook มหาศาล โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเรา เวลาเรามีคอร์สใหม่ๆ เราจะทำโฆษณาโปรโมทคอร์ส โดยแต่ละคอร์สก็เลือกกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป เพื่อทำให้ตรงจุดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทำให้เราไม่เปลืองค่าโฆษณา ซึ่งก็ได้ผลลัพท์ที่ดี

และเราก็มีเขียน blog แชร์ความรู้ด้านการพัฒนาตัวเองบ่อยครั้งด้วย ทำให้อย่างน้อยมีคนเข้ามาในเว็บเราเรื่อยๆ ส่วนการทำการตลาดแบบ offline เรามีออกบูธ งานอีเว้นท์ หรือเป็น guest speaker ในงานต่างๆ เพื่อทำให้คนไทยเข้าใจการศึกษาออนไลน์มากขึ้น และก็เป็นการโปรโมท SkillLane ไปในตัว

5. ให้คุณเอกฉัตรแชร์บทเรียนการทำธุรกิจประจำตัวที่อยากเล่าให้คนรุ่นใหม่หรือว่าที่คนอยากทำธุรกิจฟัง

สำหรับคนที่คิดอยากสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำคือ ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ

เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่หลายๆคนคิด พอมาเริ่มทำจริง จะรู้เลยว่ามันจะมีอุปสรรคเข้ามามากมายก่ายกอง จะทำอันนี้ก็ติด จะทำอันโน้นก็ติด เราต้องคอยมานั่งแก้ปัญหาตลอด และพอเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว เราจะไม่มีวันหยุด เพราะจะมีเรื่องให้ทำตลอดเวลา มีเรื่องให้คิดตลอดเวลา ต้องถามตัวเองก่อนว่ารับได้หรือไม่ ที่จะต้องทุ่มเททั้งกาย ทั้งใจให้กับมัน รับได้หรือไม่

ที่ช่วงแรกๆตอนที่บริษัทอาจยังไม่มีรายได้เข้ามา เราจะไม่มีเงินเดือน รับได้หรือไม่ที่จะต้องคิดถึงมันตลอดเวลา จนถึงขนาดเก็บไปฝันทุกคืน เราจะตอบว่า “รับได้” ไปตลอด ก็ต่อเมื่อเราได้ทำสิ่งที่เรารักจริงๆ เพราะถ้าไม่ใช่สิ่งที่เรารัก พอเราเจอปัญหาบ่อยๆ เราก็อาจถอดใจไปอย่างง่ายดาย

สำหรับผมการทำ startup มันคือการวิ่งมาราธอน เราไม่ได้แข่งกันว่าใครวิ่งเร็วที่สุด แต่แข่งกันว่าใครจะอึดที่สุดจนสามารถเข้าเส้นชัยได้ต่างหาก ทีนี้ถามว่าเราจะเอาความอึดมาจากไหน สำหรับผม คำตอบเดียวที่มีคือการได้ทำในสิ่งที่เรารัก — เอกฉัตร SkillLane

ถ่ายทำคอร์สออนไลน์คุณบอย