หัวคิด Ingvar Kamprad: จากเด็กขายไม้ขีดไฟสู่อาณาจักร IKEA แสนล้านบาท

ik2

“Only those who are as sleep make no mistakes”

วลีจาก Ingvar Kamprad ชาวสวีเดนผู้สถาปนาศูนย์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ยี่ห้อ IKEA แปลเป็นไทยว่า คงมีแต่คนที่หลับใหลที่ไม่เคยทำอะไรผิด หรือที่เราคุ้นเคยกันในประโยคที่ว่า คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย

IKEA ศูนย์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ที่มีสาขามากถึง 301 สาขาใน 44 ประเทศและมีพนักงาน 139,000 คน มียอดขายไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านเหรียญต่อปีและปัจจุบันได้เขามาเปิดสาขาในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ใครจะรู้บ้างว่าจุดเริ่มต้นของศูนย์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่อย่าง IKEA มีจุดเริ่มต้นอย่างไร… ความยิ่งใหญ่ของ IKEA เริ่มมาจาก กล่องไม้ขีดไฟ

บทเรียนที่ 1 คิดออกแล้วต้องลงมือทำ เริ่มทำจากเล็กๆ

IKEA03Ingvar Kamprad ผู้สถาปนาศูนย์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ IKEA เริ่มต้นค้าขายอย่างจริงจังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สมัยเด็กๆเขาสังเกตว่าผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนิยมใช้ไม้ขีดไฟ เขาสืบพบว่าในกรุงสต็อกโฮล์มมีแหล่งขายส่งไม้ขีดไฟราคาถูกที่เขาสามารถซื้อมาแบบเป็นถุงเป็นถัง (Bulk pack) และนำมาแบ่งขายปลีกเพื่อทำกำไรต่อได้ เขาจึงนำเงินเก็บไปลงทุนซื้อไม้ขีดไฟมาบรรจุปลีกแล้วขี่จักรยานขายไปตามหมู่บ้าน เมื่อมีกำไรเขาก็ขยายฐานจากไม่ขีดไฟไปเป็น ปลา เมล็ดพืช เครื่องตกแต่งต้นคริสต์มาส และเครื่องเขียน

เขาก่อตั้งคณะขายของอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในบ้านของเขาเองตอนอายุ 17 ปี (ปี 1943) โดยตั้งชื่อว่า IKEA เป็นคำผสมระหว่างชื่อของเขาคือ Ingvar Kamprad ต่อด้วยชื่อสกุลเจ้าของฟาร์มที่เขาเกิด Elmtaryd และปิดท้ายด้วยชื่อหมู่บ้านเกิดคือ Agunnaryd

IKEA ในช่วงแรกมุ่งขายสินค้าใช้สอยทั่วไปคือ กระเป๋าสตางค์ นาฬิกา เครื่องประดับ และ ของสด โดยการซื้อขายระบบ Mail order (เทียบกับ e-commerce ในปัจจุบัน) กระทั่งปี 1947 เขาเริ่มลองขายเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกและปรากฏว่าขายดีมาก เขาจึงตัดสินใจหันมาจับตลาดเฟอร์นิเจอร์เป็นหลักในปี 1951

บทเรียนที่ 2 ลองจนพบทางที่ใช่แล้วโฟกัสที่ตัวเต็ง สร้างจุดแข็งให้เหนือคู่แข่ง

เมื่อ Ingvar Kamprad พบว่าการขายเฟอร์นิเจอร์เข้าขากับเขามากที่สุด เขาก็ลด port สินค้ากระจุกกระจิกอื่นๆออกไปแล้วหันมาบุกตลาดเฟอร์นิเจอร์เต็มกำลังแม้ในตอนนั้นจะมีคู่แข่งพอสมควรและกลยุทธ์การขายเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะเน้นไปในด้าน Price war แต่ Ingvar มีทัศนคติว่ามองการแข่งขันเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตัวเอง เขามองหาแนวทางการขายใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำในสมัยนั้น นั่นก็คือการเปิดโชว์รูม

ปี 1953 Ingvar เปิดตัวโชว์รูมขายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ เพราะผู้ขายสินค้าส่วนใหญ่ในตอนนั้นขายผ่าน mail order และ catalog การเปิดโชว์รูมสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าเพราะ ได้เห็น ได้ลอง ได้สัมผัส ก่อนซื้อ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ถอดประกอบช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อแล้วยกกลับใส่รถหิ้วกลับบ้านได้ทันที เรียกว่า Cash & Carry กันเลยทีเดียว

บทเรียนที่ 3 รวยอย่างมีสติ รวยอย่างติดดิน และทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

Ingvar Kamprad ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนรู้จักใช้เงิน แม้ในช่วงที่ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีเงินมากแต่เขาก็ยังนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงาน มีเรื่องเล่าในหมู่พนักงานโรงแรมว่า เวลา Ingvar ไปพักและดื่มน้ำในตู้ Minibar (ซึ่งมีราคาแพงมาก) ของโรงแรม เขาจะหาโอกาสไปซื้อน้ำดื่มยี่ห้อเดียวกันจากร้านสะดวกซื้อกลับมาวางแทนที่ ซึ่งเรื่องนี้จะคล้ายๆกับนักธุรกิจบางคนที่ผมเคยได้ยินมาเช่นกันแต่ต่างกันตรงที่นักธุรกิจบางคนเลือกที่จะไม่แตะของใน minibar ทนหิวไปจนกว่าจะมีโอกาสออกไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มนอกโรงแรมเป็นต้น

แต่ที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่า Ingvar เป็นคนตระหนี่ขี้เหนียวขนาดน้ำดื่มขวดเดียวยังยอมจะเสียเงินไม่ได้หรือกระไร Ingvar เป็นนักการกุศลและเป็นผู้สนับสนุนหลักให้องค์กร UNICEF บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ในโครงการต่างๆสม่ำเสมอ

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง

ก่อนที่ผมจะเรียนรู้ความคิดอ่านของนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ผมได้ยินคนจำนวนหนึ่งพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จในแง่ลบมากมาย เช่น หิวเงิน เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ ขี้โกง หรือ มีต้นทุนชีวิตสูง แต่หลายตัวอย่างที่ผมพบมาและเคยทำงานใกล้ชิดมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเป็นคนมีทัศนคติชีวิตดีมาก ผ่านอะไรมามากมายจนเกิดความรอบคอบรอบรู้และขยัน หลายคนไม่ใช่คนเก่งมาแต่เกิดหรือว่ารวยมาแต่เกิด แต่พวกเขาเป็นคนกล้าคิดแล้วกล้าวางแผนสู่การลงมือทำโดยทันที

นั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสดีๆ  ลองผิดลองถูกจนกระทั่งพบทางที่ใช่ต่อยอดมาสู่ความสำเร็จ และอันที่จริงคนที่มีทัศนคติไม่ดีต่อคนได้ดีกว่าก็มีความรู้สึกนึกคิดถึงความอยากมั่งคั่งรำรวยและเป็นที่ยอมรับในสังคมไม่น้อยไปกว่าคนที่เขาไม่ชอบ…แต่แค่พวกเขาไม่ยอมลงมือทำให้ถึงที่สุดก็เท่านั้น