ช้อปปิ้ง

ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ต้องรู้อะไรบ้าง? เมื่อแบงก์ใหญ่เปิดศึก เข้าสู่สังคม Cashless เต็มรูปแบบ

ในช่วง 1-2สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์ในแวดวงการเงินครั้งใหญ่ ที่หลายคนตื่นตัวกันมากนั่นคือการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยในช่วงแรกนี้แบงก์ใหญ่ต่างมุ่งเป้าไปที่การจ่ายเงินด้วยระบบ QR Code แต่หากมองย้อนกลับไปเราจะพบว่า เรื่องการชำระเงินด้วยระบบ QR Code นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร อีกทั้ง QR Code ถูกใช้มานานหลายปีแล้ว แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากข้อจำกัดหลาย ๆ   อย่าง และส่วนใหญ่เป็นการชำระผ่านตัวกลางรับชำระเงินค่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น mPay, Turewallet, Paysabuy หรือ Line Pay หรือหากร้านไหนคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจจะคุ้นเคยกับ Alipay หรือ Wechat Pay อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดเป็นบริษัท None Bank คือเป็นเพียงตัวกลางรับชำระเงินที่กินค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงิน(คิดเปอร์เซ็นต์กับร้านค้า) แต่วันนี้ แบงก์ใหญ่ลงมาเล่นเอง ทำให้แบงก์เล็กแบงก์น้อยต่างก็กระโจนเข้าสู่สงครามครั้งนี้ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจะมาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์กันว่า ในช่วง10กว่าวันที่ผ่านมา กระแส Cashless ถูกจุดขึ้นมาได้อย่างไร และในฐานะ ผู้ซื้อและผู้ขาย ควรเตรียมปรับตัวอย่างไรต่อไปกับสังคมไร้เงินสดในอนาคตอันใกล้นี้

21 ส.ค. 2560 แบงก์ค่ายสีม่วงอย่าง SCB เปิดตัวโมบายแอปพลิเคชั่น SCB EASY เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ที่พลิกโฉมแอปฯเดิมแบบหมดจด พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือการ กด ATM โดยไม่ต้องใช้บัตร หรือที่เรียกว่า Cardless ATM ซึ่งถือเป็นหมัดแรกที่ SCB ปล่อยออกมา และสั่นสะเทือนวงการแบงก์มากพอสมควร แต่ ณ จุดนี้ ยังไม่มีการพูดถึงการชำระเงินด้วย QR Code แต่อย่างใด

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์

 

21 ส.ค. 2560 ในวันเดียวกันนี้เอง ค่ายสีเขียวอย่าง K Bank ก็ได้เปิดตัว แอปพลิเคชั่นใหม่ K Plus Shop สำหรับให้ร้านค้ารับชำระเงินผ่านระบบ QR Code โดยร้านค้าที่รับจ่ายผ่านระบบนี้จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับทาง K Bank โดยในวันเปิดตัวนี้เองทาง K Bank ได้ซุ่มปูพรมจนมีร้านค้าเข้าร่วมรายการไปแล้วกว่า 10,000 ร้านค้า และเข้าถึงกลุ่ม ร้านค้ารายย่อยไปจนถึงวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเลยทีเดียว ถือเป็นหมัดสวนที่รุนแรง สมน้ำสมเนื้อ และเป็นการจุดกระแสเข้าสู่สังคม Cashless อย่างแท้จริง

22 ส.ค. 2560 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsri) ก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ตามมาติด ๆ กับ KMA (Krungsri Mobile Application) ที่ปรับเปลี่ยนหน้าตาใหม่หมดเช่นกัน  เน้นให้เข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น และชูจุดเด่นเรื่อง AI และ Robo Advisor สำหรับแนะนำด้านการลงทุน แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่เรื่องการสแกน QR Code ลงมาด้วยพร้อมบอกว่า เตรียมพร้อมสำหรับรองรับโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็คทรอนิส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาแอปฯสำหรับร้านค้าให้รองรับการรับชำระเงินผ่าน QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในอนาคต (แปลว่า ขณะนี้ฝั่งกรุงศรียังไม่มีแอปฯสำหรับร้านค้าในการครีเอท QR Code เพื่อรับการจ่ายเงิน แต่เราได้รับทราบเรื่องการรวมมาตรฐานของ QR Code เพื่อให้เป็น ระบบการชำระเงินแบบอิเล็คทรอนิส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment ครั้งแรกจากข่าวนี้)

จากวันที่ 22 เราพอทราบคร่าว ๆ แล้วว่า ภาครัฐมีโครงการที่จะนำพาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และภาคเอกชนก็ขานรับแล้วอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมคือการทำให้ระบบการจ่ายเงินแบบ e-Payment ของค่ายต่าง ๆ เป็นระบบสากลที่สามารถเชื่อมถึงกันได้ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

เสียงตอบรับจากผู้ขายของออนไลน์ ทุกเสียงบอกตรงกันยอดโอนจาก SCB เพิ่มมากขึ้น!!

ในขณะที่เรายังไม่รู้ว่าการรับจ่ายผ่าน QR Code จะมีบทสรุปยังไง ว่าจะตัดเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต บัตรเดบิตยังไง จะคิดค่าธรรมเนียมหรือไม่  ในฝั่งของผู้ขายของออนไลน์ กลับมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีการจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นของ SCB มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบแอปพลิเคชั่นให้ดูทันสมัยและใช้งานง่ายขึ้นนั้นมีผลกับผู้ซื้อเป็นอย่างมาก จากจุดนี้ SCB ได้แต้มไปก่อนในการขยายฐานลูกค้า

25 ส.ค. 2560 ถัดมาเพียง 3 วัน SCB เดินหน้าปล่อยหมัดที่ 2 โดยโปรโมท PromptPay QR (ซึ่งยังต่างจากของ K Bank ที่เป็นการครีเอท QR Code ผ่านแอปฯ K Plus Shop ) โดยการโปรโมทผ่านร้านค้าเล็ก ๆ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนที่ K Bank ทำไว้เช่นกัน ถือเป็นการลักไก่ สร้างกระแส QR Payment กันเลยทีเดียว เพราะตัว PromptPay QR นั้น เป็นเพียงการสแกนแล้วเข้าสู่โหมดการโอนเงินด้วย PromptPay เท่านั้น ไม่ว่าจะใช้แอปของธนาคารใด ๆ หากสแกน QR Code นี้ก็จะเป็นการเตรียมโอนเงินเข้าสู่บัญชี PromptPay ของ SCB ของผู้ขายนั้น ๆ  ซึ่งแปลว่าทั้งผู้โอนและผู้รับโอนก็ต้องมี PromptPay อยู่แล้ว  ซึ่งแตกต่างจากของ K Plus Shop ที่ผูกกับบัญชีธนาคารของผู้ขายโดยตรง (ยังไม่ต้องมี PromptPay ก็ใช้ได้) และถ้าโอนด้วยแอปฯ K Plus ก็สามารถสแกนแล้วโอนได้ทันทีไม่ต้องผูกกับ PromptPay และยังรองรับการตัดเงินจากบัตรเครดิตหรือบริการ e-Wallet ต่างๆในอนาคตและโอนจากแอปฯของธนาคารใดก็ได้เมื่อระบบเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ (ซึ่งตรงนี้ของ K Plus Shop จะยังเป็น  Static QR Payment อยู่ จะอธิบายในส่วนถัดไป)

โดยทาง SCB มองว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่การใช้ QR Payment อย่างเต็มรูปแบบ และในการช่วงชิงกระแสเพื่อให้ยังคงปรากฏอยู่ในสื่อ รอบนี้ของ SCB ก็ถือว่าได้ไปอีก 1 แต้ม

30 ส.ค. 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัว Standard QR Code ซึ่งจะเป็น QR Code มาตรฐานเดียวกัน ให้ผู้บริโภคและร้านค้า สามารถรับ-จ่ายเงินในรูปแบบ QR Payment ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต หรือหักเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบริการ e-Wallet ของกลุ่ม Non-Bank ทั้งในและต่างประเทศก็ได้ โดยเริ่มต้นจากการบริการผ่าน PromptPay ก่อน  โดยระบบ Standard QR Code จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้

  1. Static QR Code คือ QR Code ที่สร้างขึ้นมาครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  เป็นเหมือนบัญชีรับเงินของทางร้าน ร้านค้าสามารถพิมพ์ QR Code นี้ติดไว้ที่หน้าร้านได้เลย ผู้ซื้อสามารถสแกนแล้วกดจำนวนเงินที่ต้องการจ่ายให้กับร้านค้าได้ โดย Static QR Code จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อร้านค้าต้องการเปลี่ยนข้อมูลการรับชำระเงิน(เช่นบัญชีที่ใช้รับเงิน) เท่านั้น
  2. Dynamic QR Code คือ QR Code ที่ทางร้านจะเป็นคน generate ขึ้นมาใหม่ในแต่ละรายการชำระเงิน โดยลูกค้าไม่ต้องระบุจำนวนเงินเอง เมื่อสแกนแล้วจะขึ้นยอดตามที่ร้านค้าระบุไว้ทันที ซึ่ง QR Code ในลักษณะนี้ก็จะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ซื้อมากขึ้นไปอีก (แต่ในตอนนี้ยังไม่มีแอปค่ายไหนใช้ระบบนี้ เนื่องจากความพร้อมหลาย ๆ ด้าน คาดว่าจะใช้ได้เต็มรูปแบบไม่เกินไตรมาส4ของปีนี้)

โดยแบงก์ชาติกล่าวว่า ได้เริ่มพัฒนา Standard QR Code ขึ้นบน Regulatory Sandbox หรือสนามทดลองนวัตกรรมทางการเงิน (FinTech) โดยมีธนาคารที่ได้พัฒนานำร่องไปก่อนได้ทดลองในวงจำกัดบน Sandbox  ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนธนาคารที่รออนุมัติเข้ามี 6 ราย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ และธนาคารออมสิน (นี่เป็นสาเหตุว่าเหตุใดแบงก์อื่นจึงยังไม่โปรโมท QR Payment ตอนนี้)

ทางด้านสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า กลุ่ม e-Wallet จะลิงก์เข้ากับธนาคารโดยตรงในวันที่ 15 กันยายนนี้

คาดว่าเราจะได้ใช้งานกันจริงจังในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าไหนจะพัฒนาได้สำเร็จก่อนกัน รวมทั้งผ่านการทดสอบระบบงาน การดูแลลูกค้า และการดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของ Sandbox

นับเป็นครั้งแรกที่ทุกธนาคารร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้ QR Code มาตรฐานเดียวกัน

โจทย์ของเราคือ QR เดียว ใช้ได้หลายแบงก์ หลายบริการ เช่น จ่ายด้วยบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด บัตรเดบิตในประเทศ บัตรเดบิตต่างประเทศ หรือจ่ายด้วยพร้อมเพย์ เราให้คนเลือกเอง เราควบคุมแหล่งเงินทุนหมุนเวียน หรือ Sources of funds ได้เองตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยกล่าว ที่มา thestandard.co

Check Point ณ จุดนี้ 30 ส.ค. 2560 การใช้ QR Payment ทั้งหลายยังอยู่ในขั้นทดลอง และยังอยู่ในเฉพาะใจกลางกรุงเทพเท่านั้น  โดยจะเริ่มต้นจาก PromptPay QR ก่อน ซึ่งทาง SCB ได้เน้นการสร้าง ความคุ้นเคย ให้กับผู้ใช้ในส่วนนี้ก่อน ที่จะไปถึงขั้น QR Payment อย่างเต็มรูปแบบ แต่ทาง K Bank นั้นไปรอล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วเพราะเตรียมแอปฯ K Plus Shop ไว้รอเรียบร้อยแล้ว

31 ส.ค. 2560 เปิดตัวสมาคม TEPA สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบริษัท Non-Bank ทั้งหลาย ที่เปิดให้บริการเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินต่าง ๆ อาทิ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด, บริษัท เพย์สบาย จำกัด, บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด, บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด, บริษัท โอมิเซะ จำกัด ฯลฯ

ในงานนี้ TEPA ได้ร่วมกันแถลงความพร้อม ตอบรับ QR Code Standard โดยหวังจะเป็นช่องทางให้กับผู้บริโภคและองค์กรต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและยังมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

โดยท่าทีของกลุ่ม Non-Bank ก็สอดคล้องกับข่าวจากทางสมาคมธนาคารไทยที่แจ้งว่า ทางกลุ่ม Non-Bank พร้อมจะเชื่อมต่อระบบกับธนาคารในวันที่ 15 ก.ย. นี้

1 ก.ย. 2560 ธนาคารกรุงเทพ เปิดตัวบริการชำระเงินด้วย QR Code ผ่านระบบ PromptPay หลังจากที่แบงก์ชาติเปิดตัวระบบมารตรฐาน QR Code ไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ วันนั้น มีเพียง 2 แบงก์ที่ผ่าน SandBox และในที่สุดวันที่ 1 ก.ย. แบงก์กรุงเทพก็เป็นรายที่3 ที่เปิดตัวการรับชำระผ่าน PromptPay QR  อย่างเป็นทางการ ที่มา brandage.com

วิเคราะห์ : ในช่วงเวลาเพียง 11 วันที่ผ่านมา(21 ส.ค.- 1 ก.ย.) ระบบการเงินของไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จนแทบจะตามไม่ทันกันเลยทีเดียว ทั้ง ๆที่ก่อนหน้านี้ก็มีระบบ e-Wallet ของเอกชนที่เป็นกลุ่ม Non-Bank มากมายหลายค่าย แต่กลับไม่สามารถผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปสู่ยุคสังคมไร้เงินสดได้ แม้ที่ผ่านมา ในฝั่งของแบงก์เองจะมีความกังวลว่าวันหนึ่งคนจะเลิกใช้ธนาคาร และกลุ่ม fintech ข้ามชาติที่เป็น Non-Bank จะเข้ามาแย่งฐานลูกค้าไป จึงมีการประชุมและเรียกร้องให้รัฐฯออกมาตรการอะไรเพื่อปกป้องระบบสถาบันการเงินของไทยบ้าง เพราะเมื่อก่อน บริษัท e-Wallet ในไทย ก็ให้บริการรับจ่ายเงินและเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีการให้ดอกเบี้ย และแบงก์เองก็รับฝากเงินแบบให้ดอกเบี้ยแต่ไม่ทำ e-Wallet แต่เมื่อการมาถึงของ Alipay และ WechatPay ที่เป็นทั้งกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และยังให้ดอกเบี้ยด้วย ตอนนี้ทั้งบริษัท e-wallet ของไทยและ แบงก์ไทยต่างตื่นตัวและแสดงความกังวลอย่างมาก

นั่นเป็นจุดที่เราเริ่มเห็นการขยับตัวของภาครัฐคือการเปิดตัว PromptPay และรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้การโอนเงินแบบนี้ ซึ่งในตอนแรกเราก็ยังไม่รู้และไม่มั่นใจในความปลอดภัยของระบบ PromptPay เท่าไหร่นัก และไม่เห็นถึงความสำคัญว่าจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างไรนอกจากค่าธรรมเนียมที่ถูกลงหรือไม่เสียค่าธรรมเนียม(ในยอดโอนไม่เกิน5,000บาท)

หลังจากนั้นภาครัฐก็ได้ทำระบบ e-Payment  โดยทดลอง ใน Regulatory Sandbox โดยมีการทดลองหลายรูปแบบ แต่เริ่มปล่อยออกมาให้ใช้งานกันก่อนคือ QR Payment (ในตอนนี้ทางกระทรวงการคลังได้ทดลองไปถึง Face-Payment ที่ใช้การสแกนใบหน้าจ่ายเงินกันล้ว แต่ตอนนี้ยังอยู่ใน SandBox อยู่  ที่มา dailynews )

เมื่อแบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยขยับลงมาทำระบบ e-Wallet เอง จึงทำให้ทั้งตลาดต้องขยับตัวตามไปด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพของพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่มี QR Code ห้อยที่คอ พร้อมรับการจ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสดนั้น สามารถจุดกระแสได้ในชั่วข้ามคืน และทำให้ทั้งสังคมตื่นตัวกันอย่างมาก ประกอบกับการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ของทางฝั่ง SCB ก็ยิ่งทำให้กระแสข่าวโหมกระพืออย่างต่อเนื่อง แต่จุดที่น่าสนใจยังอยู่ตรง PromptPay QR ที่ยังเป็น QR Payment ที่ยังไม่เต็มรูปแบบนัก แต่ก็ต้องรีบเปิดตัวไปก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับประชาชน ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่การใช้งาน e-Payment

เนื่องจาก PromptPay นั้นมีข้อจำกัดคือ การจะโอนหากันได้ ทั้ง2ฝ่ายต้องมี PromptPay ก่อน ดังนั้น การใช้ PromptPay QR ในการรับชำระเงินจึงมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก คือต้องใช้แอปพลิเคชั่นของธนาคารเท่านั้น และผู้โอนต้องผูกบัญชีเข้ากับ PromptPay แล้วเท่านั้นจึงจะโอนได้

ซึ่งเป็นการตัด e-Wallet หรือ การจ่ายด้วยตัวแทนชำระเงินแบบอื่นออกไปเลย (เช่น Line Pay, mPay, True Wallet) จะยังไม่สามารถจ่ายให้กับ PromptPay QR ได้

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารทั้งหลายต่างก็ต้องออกมารณรงค์ให้ลูกค้าใช้ระบบ QR Payment ผ่าน PromtPay ไปก่อน  ซึ่งในอนาคตค่อนข้างหน้าแน่นอนว่าแต่ละแบงก์ก็จะต้องทำระบบ QR Payment เต็มรูปแบบเหมือนที่ K Bank ได้นำร่องทำล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากที่ e-Wallet เชื่อมต่อโดยสมบูรณ์กับระบบ QR Payment ทาง K Bank ก็พร้อมให้บริการโดยทันที

ศึกนี้ดู K Bank จะได้เปรียบอยู่นิด ๆ เพราะออกตัวนำหน้าแบงก์อื่นไปแล้ว 1 ก้าว แต่ก็ต้องดูว่า K Bank จะสามารถกวาดฐานร้านค้าไปได้มากน้อยแค่ไหน  ด้วยความได้เปรียบที่ K Plus Shop สามารถรับชำระได้ทั้ง PromptPay และe-Payment อื่น ๆ จะทำให้ร้านค้าต่าง ๆเข้าถึงและใช้งานแอปพลิเคชั่นของค่ายสีเขียวก่อน แต่หากถึงวันที่ทุกแบงก์เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว K Bank จะยังคงรักษาฐานร้านค้าไว้ได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

สรุปจุดเด่นของ QR Payment และข้อเสนอแนะทั้งผู้ขายผู้ซื้อควรปรับตัวอย่างไร

ก่อนอื่นขอ แยก PromptPay QR กับ QR Payment ออกจากกันก่อน เนื่องจากลักษณะของการรับและการจ่ายเงินจะต่างกัน

ในส่วนของ PromptPay QR มีจุดเด่นดังนี้

ผู้ขายสามารถกดสร้าง QR Code ของตัวเอง เพื่อรับชำระเงินได้เลย ผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารที่ตนเองใช้ประจำ (เบื้องต้นมี K Bank , SCB และ ธนาคารกรุงเทพที่พร้อมให้บริการ ณ ขณะนี้)

ในส่วนของผู้ซื้อ สามารถจ่ายเงินด้วยแอปพลิเคชั่นของธนาคารใดก็ได้เช่นกันที่รองรับการจ่ายเงินด้วย PromptPay QR สามารถสแกนที่ QR Code ก็จะเข้าสู่หน้าการโอนเงินทันที ผู้ซื้อตรวจสอบชื่อผู้รับโอน  และกรอกยอดที่จะโอนลงไป เท่านี้ก็สามารถโอน/ชำระเงินผ่าน PromptPay ได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์หรือเลขบัตรประชาชนเหมือนเมื่อก่อน

ซึ่งจุดเด่นของบริการนี้คือ สามารถใช้แอปพลิเคชั่นของธนาคารใดก็ได้ในการรับเงินและจ่ายเงิน ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมการโอนน้อยหรือไม่เสียเลย(ถ้ายอดโอนไม่เกิน 5000บาท)  ซึ่ง ณ ตอนนี้เป็นสิ่งที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ในเบื้องต้นได้รวดเร็วที่สุด และใช้เวลาเรียนรู้น้อยที่สุดแล้ว (พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นการโอนเงินผ่าน PromptPay นั่นเอง แค่ไม่ต้องกรอกเบอร์โทรให้ยุ่งยากเท่านั้น)

ในส่วนของ QR Payment เต็มรูปแบบที่กำลังจะเปิดให้ใช้งานภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ก็มีจุดเด่นที่ต่างกันออกไปคือ

สามารถรับชำระได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่จำกัดแค่ PromptPay เท่านั้น ยังสามารถเลือกตัดจากบัตรเครดิต/เดบิต หรือหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง หรือใช้ e-Wallet ของค่าย Non-bank ต่าง ๆ เช่น LinePay, mPayฯลฯ สแกน QR Code แล้วจ่ายเงินได้ทันที ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเปิดให้ใช้เต็มรูปแบบแล้ว ก็จะมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการต่าง ๆ ว่าจะจัดเก็บอย่างไร ทั้งฝั่งผู้รับเงิน และในฝั่งผู้โอนเงิน

ซึ่งในช่วงแรกนั้นทาง K Bank จะยังไม่คิดค่าธรรมเนียมกับร้านค้าและผู้ชำระเงินแต่อย่างใด (แถมมีโปรโมชั่นแคชแบ็กให้ด้วยในช่วงเปิดตัว / รายละเอียดสอบถามกับทาง K Bank ได้โดยตรง)

มาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะยังสับสนว่า แล้วตกลง PromptPay จำเป็นมั้ย จะต้องมีมั้ย เพราะตอนนี้ K Bank มองข้ามช็อต PromptPay ไปแล้ว ทางฝั่งผู้ขายควรทำอย่างไร?

ณ ขณะนี้เราควรเลยจุดที่ว่า ควรมีหรือไม่ควรมี PromptPay ไปแล้ว สรุปเลยว่าควรมีอย่างน้อย 1 ธนาคารที่ใช้บ่อยที่สุด เพื่อความสะดวกในการรับโอนเงิน และเป็นการค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมและเรียนรู้ระบบการจ่ายเงินด้วย E-Payment ทีละนิด ก่อนที่ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ Cashless Society อย่างเต็มตัว ทางฝั่งผู้ขายที่มีหน้าร้านควรเริ่มศึกษาการใช้งาน QR Code ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของตนเองได้แล้ว ในส่วนของฝั่งผู้ซื้อช่วงนี้ก็อาจจะกำลังสนุกกับการทดลองช็อปปิ้งผ่านการปิ๊บ ๆ จ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ผู้ขายควรคำนึงถึงในอนาคต คือความสะดวกสบายของผู้ซื้อ และค่าธรรมเนียมที่จะตามมา เพราะไม่ว่าจะเป็น Bank หรือ Non-Bank เมื่อโดดเข้ามาแข่งขันกันทำระบบนี้แล้วก็ย่อมจะต้องการรายได้จากการให้บริการด้วยกันทั้งสิ้น ที่สุดแล้วก็จะไปแข่งกันในเรื่องของค่าบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะ e-Payment จะทำให้ทุกการจ่าย เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ Cashless (ไม่ใช้เงินสด)แต่อาจจะไปถึง Cardless (ไม่ใช้บัตร) กันเลยทีเดียว เพราะเมื่อถึงจุดที่ผู้ซื้อชินกับการปิ๊บ ๆ จ่าย ก็จะไม่ต้องควักบัตรเครดิตออกมาจ่ายอีกต่อไป

ดังนั้นค่าธรรมเนียมที่จะตามมาในฝั่งของผู้ขาย ก็จะคล้าย ๆ กับที่เคยใช้เครื่อง EDC (เครื่องรูดบัตรเครดิต) ที่จะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 1.5-3.5% ซึ่งจะคิดในฝั่งของผู้ขาย ในกรณีที่ผู้ซื้อสแกน QR Code แล้วเลือกตัดจากบัตรเครดิต

แต่ถ้าผู้ซื้อเลือกตัดเงินผ่านบัญชีธนาคาร ก็จะคล้ายกับการโอนเงินข้ามธนาคารที่ตู้เอทีเอ็มหรือโอนผ่านมือถือ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ค่าธรรมเนียมจะมาคิดฝั่งผู้โอน ซึ่งหากต้องการความสะดวกสบาย บางคนก็ไม่คิดมากเรื่องค่าธรรมเนียม 10-35บาท แต่ถ้าซีเรียสค่าธรรมเนียม ผู้ซื้อก็อาจจะเลือกให้ตัดเงินผ่าน PropmtPay ซึ่งถ้ายอดไม่เกิน 5000บาทก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือถ้ายอดเกิน เกินกว่านั้นก็จะเสียค่าธรรมเนียมน้อยมาก ในกรณีนี้ฝั่งผู้ขายก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย

ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรในฝั่งผู้ขายควรมี PromptPay ไว้รอรับชำระเงินได้แล้วตั้งแต่วันนี้ และเพื่อความสะดวกสบายและประหยัดค่าธรรมเนียม ในฝั่งผู้ซื้อก็ควรมี PromptPay เช่นกัน

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมไร้เงินสดนั้นมีข้อดีมากมาย และประเทศจีนที่ตอนนี้กลายเป็นต้นแบบสังคมไร้เงินสดไปแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ทำให้การค้าขายต่าง ๆ เจริญรุดหน้าไปเร็วมาก

วันนี้แบงก์ใหญ่ที่เหมือนฟันเฟืองขนาดใหญ่ได้เริ่มหมุนออกไปแล้ว ทำให้ระบบทั้งหมดเริ่มเคลื่อนไหว  เราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้ทันกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะใช้เป็นหรือไม่ ทั้งสังคมก็จะถูกขับเคลื่อนด้วยระบบและไปถึงจุดที่เป็นสังคมไร้เงินสดแน่นอน หากเราปรับตัวไม่ทันก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และถ้าดูจากความเร็วในการหมุนของเฟืองใหญ่ทั้งสองตัวแล้ว คาดว่าประเทศไทยของเราจะเดินหน้าสู่ QR Payment เต็มรูปแบบก่อนสิ้นปีนี้แน่นอน