เส้นทาง Carl Mattiola อดีตวิศวกรบริษัทเทสล่า สู่เจ้าของธุรกิจซอฟต์แวร์ใน 120 วัน

ผมได้ติดตาม Success story ของเจ้าของธุรกิจจำนวนมากพบว่า ‘หลักคิด’ ในการสร้างธุรกิจบนพื้นฐานของ “ฉันจะให้อะไร” มากกว่า “ฉันจะได้อะไร” ทำให้ผมอยากย้ำบ่อย ๆ ว่า คนที่คิดอยากจะทำอะไรเป็นของตัวเองต้องระวังกับดักความคิดในฝั่งของ “ฉันจะได้อะไร” ให้ดี

ขยายความคือ การทำธุรกิจต้องได้ผลตอบแทนเป็นปกติ แต่อย่าคิดถึงจะเอาท่าเดียวโดยไม่คิดสร้างคุณค่าออกไปก่อน เพราะสิ่งที่ทำให้คนจ่ายเงินให้คุณคือคุณค่าที่คุณส่งมอบออกไป

ยกตัวอย่างความคิด ‘เอาแต่ได้‘ คือ ธุรกิจอะไรรวยง่ายรวยเร็ว หรือ ทำอย่างไรฉันถึงจะได้เงินจากคนอื่นง่าย ๆ เร็ว ๆ เป็นต้น เพราะธุรกิจสายขาวไม่มีอะไรที่รวยง่ายและรวยเร็ว จนกว่าคุณจะทำถูกต้องตามกระบวนการจึงจะประสบผลลัพธ์และร่ำรวยอย่างยั่งยืน และคนที่ผมนำมาเป็นกรณีศึกษาวันนี้เป็นอดีตวิศวกรบริษัทเทสล่ามอร์เตอร์ แบรนด์ระดับโลก หรูหรา และมั่นคง แต่ก็เข้าตำราเรา ลาออกมาทำอะไรก็ไม่รู้ ที่ดูไม่มีอนาคต!

Carl Mattiola คือใคร

เป็นนักธุรกิจใหม่ที่เพิ่งค้นพบทางที่ใช่ของตัวเองเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา เขามาพร้อมกับจังหวะที่ธุรกิจ Startup กำลังมา ปัจจุบันเขาเจ้าของ ซอฟต์แวร์บริการ (SaaS – Software as a Service) ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องปีละหลายแสนเหรียญ (Six-Figure Business) โดยซอฟต์แวร์ตัวแรกที่แจ้งเกิดกับเขามีชื่อว่า Clinic Metrics for Physical Therapy เป็นซอฟต์แวร์ สถิติ และ การวิเคราะห์ประมวลผล (Stats & Analytic) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจกายภาพบำบัด

ก่อนหน้านั้นเขาเป็นพนักงานประจำบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของโลก Tesla Motors แต่ ชื่อเสียงขององค์กร, ตำแหน่งหน้าที่, และ เงินเดือน ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเติมเต็มกับชีวิตและคิดหาทางออกอยู่นาน แต่เขาก็คิดไม่ออกว่าจะไปทำอะไรดี.

จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงกลางปี 2012 เขาเปิดฟัง SmartPassiveIncome.com’s Pocast ตอนที่ 46th  ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Dane Maxwell ผู้ผลิตและขายโปรแกรมของตัวเองผ่านเว็บไซต์และทำเงินเป็นแสนเหรียญต่อปีแบบเริ่มจากศูนย์ กล่าวคือ Dane M. ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม แต่สามารถศึกษาและระดมทีมนักเขียนโปรแกรมผ่านการ Outsource มาร่วมสร้างโปรแกรมในแบบที่เขาต้องการและเขาเป็นผู้ทำการตลาดและขายออกไปจนปัจจุบันกลายเป็นเศรษฐีย่อย ๆ เรื่องราวจาก Podcast ในตอนนั้นได้จุดประกายให้พบทางสว่าง เพราะเมื่อคนหนึ่งที่ไม่มีความรู้เรื่องโปรแกรมยังทำได้ แล้วทำไมเขาผู้มีความรู้ด้านโปรแกรมเป็นทุนเดิมจะทำบ้างไม่ได้

ขั้นตอนสร้างธุรกิจของ Carl

ผลลัพธ์ที่ดูเท่ห์ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ Tech-startup ทั้งหลาย หรือการเป็นเจ้าของ SaaS (Software as a Service) แต่เบื้องหลังนั้นผ่านกระบวนการสุดโหดจนถึงขั้นสร้างธุรกิจจนล้มป่วย และเกือบเลิกล้มโครงการหลายครั้ง — โครงการสร้างซอฟต์แวร์ Clinic Metrics ของ Carl ก็ไม่มีข้อยกเว้น ถึงแม้จะเป็นโครงการเล็ก ๆ แบบเจ้าของคนเดียว (และทีมงาน Outsource เล็กน้อย) แต่เขาต้องผ่านกระบวนการทำงานสุดโหดมากมาย ต่อไปนี้คือบทย่อเส้นทางที่ผมติดตามและนำมาสรุปให้เห็นภาพใหญ่ดังนี้ครับ

Carl Mattiola กับอุปสรรคที่เกือบทำให้ธุรกิจของเขาไม่เกิด

  • เกือบเลิกสร้างซอฟต์แวร์ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะตัวแทนจากบริษัทใหญ่โทรมาบอกเขาว่า “บริษัท xxx กำลังพัฒนา ซอฟต์แวร์ลักษณะนี้อยู่ จงล้มเลิกความพยายามของยูเสียเถิด รายเล็กอย่างยูสู้บริษัทอย่างเราไม่ได้หรอก”
  • เกือบจะเลิกสร้างซอฟต์แวร์หลังเริ่มต้นไปสักพัก เพราะประสบปัญหาด้านการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความเหนื่อยล้า และความเครียดในการรับมือกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่หลากหลายอุปนิสัย
  • เกือบจะเลิกสร้างซอฟต์แวร์หลังไปได้ครึ่งทาง เพราะเขาทำงานหนักกับมันอย่างไม่กินไม่นอน และพักผ่อนไม่เพียงพอจนเป็นโรคขาดอาหารและล้มป่วยอย่างหนัก
  • เกือบจะไม่ขายซอฟต์แวร์เมื่อทำเสร็จ เพราะเขาลังเลในผลงานของตัวเอง เขาคิดว่ามันอาจขายไม่ได้และคิดที่จะตั้งราคาถูก ๆ เพราะกลัวคนไม่ซื้อ

กว่าที่ Carl จะสร้างซอฟต์แวร์สำเร็จและผลักดันออกสู่ตลาดได้นั้น อาศัยเพียงความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ยังต้องอาศัยศรัทธา และ พลังใจต่อสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เพราะตลอดช่วงเวลาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เขาต้องเดินบนเส้นทางของผู้ประกอบการด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีสิ่งใดจะรับประกันได้ 100% ว่ามันจะเวิร์ค

The CEO-carl mattiola 02
Source: http://thefoundation.com/

วิเคราะห์ 4 ขั้นตอนการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Carl Mattiola

เขาเริ่มต้นคิดหาไอเดียของโครงการที่จะสร้างในเดือน พฤศจิกายน 2012, ความคิดพื้นฐานของการสร้างซอฟต์แวร์ในครั้งนี้คือ ค้นหาปมปัญหาของคนทำงานและสร้างทางออกให้เขา (Find a problem, and create a solution for sales)

a. มองหาความต้องการของผู้ใช้งาน:

โดยการมองไปยังหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เขาสนใจ โดยใช้ Google เพื่อค้นหาว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เขาสนใจมีการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปประเภทใดบ้าง ราคาค่าบริการของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เท่าไร รวมไปถึงการเข้าเว็บไซต์ซื้อขายธุรกิจอย่าง BizBen.com เพื่อดูรายได้ต่อปีของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมว่าทำเงินเท่าไร เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ว่าธุรกิจต่าง ๆ มีรายได้มากพอที่เจ้าของกิจการอยากจะลงทุนเพิ่มกับซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อธุรกิจ ฯลฯ

b. คัดกรองตลาด:

ต่อมาคือคัดกรองให้เลือกเพียง 2-3 รายการที่เขาสนใจจะทำจริง ๆ และคัดต่อจนเหลือคำตอบสุดท้ายของโครงการที่จะทำ ระหว่างเหลือตัวเลือกสองโครงการสุดท้ายระหว่าง ‘Physical Therapy’ (สถานกายภาพบำบัด) และ ‘Home Health’ (กายภาพบำบัดที่บ้าน) ณ จุดนี้ที่ Carl ใช้วิธีโทรไปพูดคุยกับคนที่ดำเนินกิจการนั้น ๆ เพื่อตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่ารู้สึกถูกจริจกับตลาดไหนมากกว่ากัน ประกอบกับสมัยวัยรุ่นตัวเขาเองเคยได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและผ่านการทำกายภาพบำบัดกับสถานปฏิบัติมาก่อน สุดท้ายเขาจึงเลือกตลาด Physical Therapy

c. ระดมข้อมูล:

ขั้นตอนนี้โหดมาก ระดมข้อมูลการทำงานจริงและปัญหาจริงที่ผู้ดำเนินกิจการประสบอยู่ซึ่ง Carl ต้องรวบรวมข้อมูลการติดต่อของผู้ประกอบการและส่งอีเมล์ไปแนะนำตัว หากมีการตอบกลับก็นัดสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อไป ซึ่งการติดต่อเขาต้องติดต่อคนเป็นพัน ๆ คนแต่อัตราการตอบกลับอย่างเป็นรูปธรรมนั้นน่าจะเหลือหลักร้อยคน และคนที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์จริง ๆ อาจจะเหลือสักหลักสิบ โดยเขาบอกว่าจากกว่าพันคน มีประมาณ 32 รายที่ให้ข้อมูลแบบได้ไอเดียเจ๋ง ๆ มาใช้ทำงาน

d. วิเคราะห์ปัญหา และสร้างทางออก:

เมื่อระดมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ไดเแล้ว ต่อมาคือการออกแบบ พัฒนา และผลิตออกมาเป็น Beta products เปิดให้บริการ โดยลูกค้ากลุ่มแรกก็คือคนที่ Carl ไล่สัมภาษณ์พูดคุยตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานั้นเอง

ระยะเวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรายได้ของ Clinic Metrics

Clinic Metrics ใช้เวลาตั้งแต่ร่างไอเดีย ระดมข้อมูล ไปจนถึงการสร้างโปรแกรม รวม 4 เดือนคือระหว่าง พฤศจิกายน 2012 ถึง เมษายน 2013 โดยเขาไม่ได้ทำการตลาดเพราะลูกค้าของเขาก็คือกลุ่มผู้ประกอบการกายภาพบำบัดที่เขาโทรไปสัมภาษณ์นั่นเอง

รายได้ในช่วง Pre-sales เป็นการเก็บเงินล่วงหน้า 3 เดือน ได้เป็นเงินก้อนจาก Pre-sales $3,800 และในปี 2013 นี้เขามีรายได้จากการเก็บค่าบริการรายเดือนเฉลี่ยเดือนละ $2,400 จากลูกค้าทั้งหมด 5 ราย โดย Software ของเขาเก็บค่าใช้บริการตามจำนวนสาขาและลูกค้าหนึ่งคนมีสถานประกอบการหลายสาขาทำให้เขามีรายได้ประมาณ $400-500 ต่อลูกค้า 1 ราย 

ปัจจุบัน Clinic Metrics สร้างรายได้หลักแสนเหรียญต่อปี เรียกว่าเป็น Six-Figure Business ได้เต็มปาก นอกจากนั้นเขายังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์อื่น ๆ ออกมาให้บริการอีกด้วยอาทิ ClinicRiseBreakthrough PT Marketing และ The Sterling Assembly 

สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของ Carl Mattiola

1. จงเรียนรู้จากงานประจำให้มากที่สุด

การเป็นพนักงานประจำบริษัท มองในอีกมุมคือมีคนลงทุนสร้างธุรกิจให้คุณไปบริหารเฉพาะส่วน หากคุณใส่ใจมากพอคุณจะเก็บเกี่ยวความรู้มากมายจากการทำงานในองค์กรทั้งเล็กและใหญ่ และที่สำคัญเป็นการเรียนรู้ที่มีคนจ่ายเงินให้คุณทุกเดือน — สมัยผมทำงานประจำในตำแหน่งบริหารสินค้านำเข้า ผมได้เรียนรู้การติดต่อต่างประเทศ การนำเข้า การทำธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ มากมายอย่างหาไม่ได้ในโรงเรียน ประสบการณ์เหล่านั้นนำมาใช้ทำธุรกิจส่วนตัวในวันนี้ครับ!

2. ออมเงินจากงานประจำไว้เป็นทุน

ถึงแม้ Carl Mattiola จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนซอฟต์แวร์อยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างซอฟต์แวร์ของเขาจะไม่ต้องใช้เงินเลย เขาต้องมีการลงทุนหลายพันเหรียญสำหรับการเอาต์ซอสงานบางชนิด หากคุณรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ลดการสร้างหนี้และเริ่มออมเงินเดือนแต่วันนี้เพื่อเป็นทุนไว้สร้างธุรกิจในวันหน้า

3. อุปสรรคของนักธุรกิจแท้จริงคือจิตใจ

เรามักคิดว่าเงินทุนและไอเดียคือปัญหาใหญ่ในการสร้างธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วความลังเลสงสัย ความหดหู่ท้อใจ ความกลัว ฯลฯ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้หลายคนเลิกตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม Carl Mattiola ต้องพบกับความคิดในแง่ลบที่อยู่ในใจตัวเองจนเกือบจะไม่ได้สร้าง Clinic Metrics ขึ้นมา เขาต้องใช้ความพยายามสูงในการเอาชนะใจตัวเอง หาใช่คู่แข่งในตลาดที่โทรมาบอกให้เขาเลิกทำ

สรุป…

ทุกคนคงคุ้นเคยกันแล้วกับคำว่า ยิ่งให้ ยิ่งได้ ในการสร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ตามแต่ อย่าเพิ่งเริ่มคำถามว่าคุณจะได้อะไรจากตลาด แต่ให้เริ่มคำถามว่าคุณจะให้อะไรแก่ตลาด คนที่จะจ่ายเงินให้คุณคือผู้ถามว่าเขาจะได้อะไรจากคุณและตลาดจะตอบสนองต่อคุณค่าที่พวกเขาได้รับ

ยิ่งสิ่งที่คุณทำเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นไปในทางที่ดีขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้นเท่าไร ตลาดก็จะตอบสนองต่อสินค้าและบริการของคุณมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่าง 

Pat Flynn เจ้าของเว็บไซต์ Smart Passive Income ที่ช่วยให้หลายคนเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้จากการอ่านบทความสอนทำธุรกิจออนไลน์ฟรีบนเว็บไซต์ของเขา แม้แต่ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะ Pat Flynn ทำให้ทุกคนต่างชื่นชมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เขาทำออกมาขาย

Tim Ferriss เขียนหนังสือ Tim Ferriss The 4-Hour-Work-Week ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไป รวมไปถึงคนไทย และเพื่อนรอบตัวผมไม่น้อยที่สามารถสร้างธุรกิจให้เป็นกึ่ง Passive income ได้เพราะวิธีวางระบบที่ Tim สอนไว้ในหนังสือครับ

ส่วนผมเองก็ได้รับผลตอบรับจากผู้คนในทางที่ดีมากมาย ให้การสนับสนุนสินค้าและบริการ ได้รับโอกาสจากหุ้นส่วนและนายทุน รวมมูลค่าแล้วหลายล้านบาทตลอดเวลาที่สร้าง Blog นี้ขึ้นมาก ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากการเขียนบทความอย่างต่อเนื่อง แต่ละบทความมีเนื้อหาเยอะมาก หากรวมแล้วคงได้หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คหลายเล่ม และขายได้เป็นเงินหลายแสนบาท แต่ทั้งหมดนี้ผมให้อ่านฟรีจนถึงจุดที่สิ่งที่ให้มันกลายเป็นผลลัพธ์ทางธุรกิจกลับมาในรูปแบบต่างๆ 

ฉะนั้น! วันนี้คุณจึงต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่คุณ อยากได้, อยากมี, อยากเป็น, และอยากทำ จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นไปในทางที่ดีกว่าได้อย่างไร ค้นหาปัญหาของผู้คนในอุตสาหกรรมที่คุณสนใจแล้วหาแนวทางออกสำหรับปัญหานั้นๆให้พวกเขาเป็นอีกวิธีสร้างธุรกิจที่จะเปลี่ยนชีวิตทั้งผู้อื่นและตัวคุณเองในระยะยาว


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content