Carl Mattiola จากวิศวกร Tesla Motors สู่เจ้าของ Tech Startup แบบเริ่มจากศูนย์

Carl

จากการที่ผมได้ติดตามเรื่องราว Success story ของบรรดาเจ้าของธุรกิจผู้ประกาศอิสรภาพทางงานของตัวเองได้สำเร็จ เป็นจำนวนมากทีเดียวที่มี วิธีคิด ในการสร้างธุรกิจบนพื้นฐานของ “What-to-give” มากกว่า “What-to-get” ซึ่งทำให้ผมอยากจะเตือนหลายๆคนที่คิดอยากจะทำอะไรเป็นของตัวเองว่าระวังกับดักความคิดในฝั่งของ What-to-get เช่น ธุรกิจอะไรทำแล้วรวยเร็ว หรือ ทำอย่างไรฉันถึงจะได้เงินจากคนอื่นง่ายๆ เร็วๆ เพราะธุรกิจสายขาวไม่มีอะไรที่รวยง่ายและรวยเร็ว จนกว่าคุณจะทำถูกต้องตามกระบวนการและ Break even คุณจึงจะประสบผลและร่ำรวยอย่างยั่งยืน

Carl Mattiola เป็นนักธุรกิจใหม่ซิงๆของปีนี้ เป็นนักธุรกิจอินเตอร์เน็ตสไตล์ Software entrepreneur หรือ ผู้สร้างและจัดจำหน่ายโปรแกรมของตัวเองผ่านเว็บไซต์ เป็นโปรแกรมชื่อ Clinic Metrics for Physical Therapy (http://www.clinicmetrics.com/)เป็นโปรแกรมเพื่องาน สถิติ และ การวิเคราะห์ประมวลผล (Stats & Analytic) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจกายภาพบำบัด

ก่อนหน้านั้นเขาเป็นพนักงานประจำบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของโลก Tesla Motors แต่ ชื่อเสียงขององค์กร, ตำแหน่งหน้าที่, และ เงินเดือน ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเติมเต็มกับชีวิตและคิดหาทางออกอยู่นาน แต่เขาก็คิดไม่ออกว่าจะไปทำอะไรดี… จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงกลางปี 2012 เขาเปิดฟัง SmartPassiveIncome.com’s Pocast ตอนที่ 46th  ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Dane Maxwell ผู้ผลิตและขายโปรแกรมของตัวเองผ่านเว็บไซต์และทำเงินเป็นแสนเหรียญต่อปีแบบเริ่มจากศูนย์ กล่าวคือ Dane M. ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม แต่สามารถศึกษาและระดมทีมนักเขียนโปรแกรมผ่านการ Outsource มาร่วมสร้างโปรแกรมในแบบที่เขาต้องการและเขาเป็นผู้ทำการตลาดและขายออกไปจนปัจจุบันกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ เรื่องราวจาก Podcast ในตอนนั้นได้จุดประกายให้ Carl M. พบทางสว่าง เพราะเมื่อคนหนึ่งที่ไม่มีความรู้เรื่องโปรแกรมยังทำได้ แล้วทำไมเขาผู้มีความรู้ด้านโปรแกรมเป็นทุนเดิมจะทำบ้างไม่ได้

ขั้นตอนการสร้างธุรกิจของ Carl Mattiola

ผมชอบที่จะนำเสนอสิ่งที่ Business-blog อื่นๆไม่ค่อยทำกันคือ Process… ข้อมูลธุรกิจส่วนมากพุ่งไปที่ Result หรือ ผลตอบแทนที่นักธุรกิจได้มา แต่ผมคิดว่า Process นั้นสำคัญเพราะ Process นำไปสู่ Result และที่สำคัญ Process ไม่ได้สวยงาม นักธุรกิจทุกคนต้องผ่าน Process สุดโหดก่อนที่จะประสบความสำเร็จดังนั้นหากคุณอยากจะประสบผลสำเร็จ คุณต้องเข้าใจว่า กว่าคนๆหนึ่งจะประสบผลสำเร็จ เขาต้องล้มมาแล้วเท่าไร

โครงการ Software ของ Carl Mattiola ก็ไม่มีข้อยกเว้น ถึงแม้จะเป็น Software เล็กๆจากผู้ผลิตตัวคนเดียว (และทีมงาน Outsource) แต่เขาต้องผ่านกระบวนการทำงานมากมาย และที่สำคัญ เขาเคยคิดจะเลิกมานับครั้งไม่ถ้วน นี่คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่ทำให้เขาเกือบจะเลิกทำตามฝันของตัวเอง

Carl Mattiola กับอุปสรรคที่เกือบทำให้ธุรกิจของเขาไม่เกิด

  • เขาเกือบจะเลิกสร้าง Software ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเพราะตัวแทนจากบริษัทใหญ่โทรมาบอกเขาว่าบริษัทฯกำลังพัฒนา Software ลักษณะนี้อยู่ ให้เขาเลิกทำเสียเถอะ
  • เขาเกือบจะเลิกสร้าง Software หลังเริ่มต้นไปสักพักเพราะประสบปัญหาด้านข้อมูลและความเหนื่อยล้าจากการเสาะหาข้อมูล
  • เขาเกือบจะเลิกสร้าง Software หลังไปได้ครึ่งทางเพราะเขาทำงานหนักกับมันอย่างไม่กิน ไม่นอนจนขาดอาหารและพักผ่อนไม่เพียงพอและล้มป่วยในที่สุด
  • เขาเกือบจะไม่ขาย Software เมื่อทำเสร็จเพราะเขาลังเลในผลงานของตัวเอง เขาคิดว่ามันอาจขายไม่ได้และคิดที่จะตั้งราคาถูกๆ เพราะกลัวคนไม่ซื้อ

ดังนั้นการที่ Carl M. สร้างธุรกิจของเขาขึ้นมาได้นั้น เพียงความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่การสร้าง ศรัทธา และ พลังใจ ในสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะตลอดช่วงเวลาของการพัฒนาโปรแกรม เขาต้องเดินบนเส้นทางของผู้ประกอบการด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีสิ่งใดจะรับประกันได้ 100% ว่ามันจะเวิร์ค

The CEO-carl mattiola 02
Source: http://thefoundation.com/

4 ขั้นตอนการสร้าง Product ของ Carl Mattiola

Carl M. เริ่มต้นคิดหาไอเดียของโครงการที่จะสร้างในเดือน พฤศจิกายน 2012, ความคิดพื้นฐานของการสร้างโปรแกรมในครั้งนี้คือ Find the pain point and create the solution หรือ หาปมปัญหาของคนทำงานและสร้างทางออกให้เขา

1. ระดมสมอง: เขาทำการระดมสมองด้วยตัวคนเดียวโดยการมองไปยังหลายๆอุตสาหกรรมที่เขาสนใจ โดยใช้ Google เพื่อค้นหาว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เขาสนใจมีการใช้ โปรแกรมสำเร็จรูป ประเภทไหนอยู่บ้าง ราคาของโปรแกรมต่างๆอยู่ที่เท่าไร รวมไปถึงการเข้าเว็บไซต์ซื้อขายธุรกิจอย่าง BizBen.com [Bizhttp://www.bizben.com/] เพื่อดูรายได้ต่อปีของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมว่าทำเงินเท่าไร เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ว่าธุรกิจต่างๆ มีรายได้มากพอที่เจ้าของกิจการอยากจะลงทุนเพิ่มกับระบบหรือไม่ ฯลฯ

2. คัดกรองตลาด: หลังจากได้ระดมสมองและทำรายการของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เขาสนใจแล้ว ต่อมาคือคัดกรองให้เลือกเพียง 2-3 รายการที่เขาสนใจจะทำจริงๆ ซึ่งสุดท้ายเขาคัดจนเหลือ Physical Therapy (สถานกายภาพบำบัด) และ Home Health (กายภาพบำบัดที่บ้าน) ณ จุดนี้ที่ Carl M. ต้องใช้วิธีโทรไปพูดคุยกับคนที่ดำเนินกิจการนั้น เพื่อดูว่าเขาถูกใจตลาดไหนมากกว่ากัน ประกอบกับสมัยวัยรุ่นตัวเขาเองเคยได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและผ่านการทำกายภาพบำบัดกับสถานปฏิบัติมาก่อน สุดท้ายเขาจึงเลือกตลาด Physical Therapy

3. ระดมข้อมูล: ขั้นตอนนี้โหดมาก ระดมข้อมูลการทำงานจริงและปัญหาจริงที่ผู้ดำเนินกิจการประสบอยู่ซึ่ง Carl M. ต้องรวบรวม Contact ของผู้ประกอบการและส่ง E-Mail ไปแนะนำตัว หากมีการตอบกลับก็นัดสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อไป ซึ่งการติดต่อเขาต้องติดต่อคนเป็นพันๆคนแต่อัตราการตอบกลับอย่างเป็นรูปธรรมนั้นน่าจะเหลือหลักร้อยคนและคนที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์จริงๆอาจจะเหลือสักหลักสิบ เพราะ Carl M. บอกว่ามีประมาณ 32 รายที่ให้ข้อมูลแบบได้ไอเดียเจ๋งๆมาใช้ทำงาน

4. วิเคราะห์ปัญหาและสร้างทางออก: เมื่อระดมข้อมูลการทำงานและปัญหาในการทำงานมาแล้วก็วิเคราะห์ว่า ว่าที่ผู้ใช้งาน ขาดอะไร และ ต้องการเครื่องมือแบบไหนมาเติมเต็มส่วนที่ขาดเพื่อให้การทำงานนั้นราบรื่นขึ้น เมื่อพบปัญหาก็จะสามารถเริ่มออกแบบเครื่องมือที่จะมาเติมเต็มการทำงานเหล่านั้นได้และนำไปสู่การสร้าง Finish-product ออกมาขาย

ระยะเวลาในการทำงานและรายได้ของ Clinic Metrics

Carl M. ใช้เวลาในการทำงานตั้งแต่ร่างไอเดีย ระดมข้อมูล ไปจนถึงการสร้างโปรแกรม รวม 4 เดือนคือระหว่าง พฤศจิกายน 2012 ถึง เมษายน 2013 โดยเขาไม่ได้ทำการตลาดอะไรเพราะลูกค้าของเขาก็คือกลุ่มผู้ประกอบการกายภาพบำบัดที่เขาโทรไปสัมภาษณ์นั่นเอง รายได้ในช่วง Pre-sales ของ Carl M. เป็นการเก็บเงินค่าใช้ Software ล่วงหน้า 3 เดือนได้เป็นเงินก้อนจาก Pre-sales $3,800 และในปี 2013 นี้เขามีรายได้จากการเก็บค่าบริการรายเดือนเฉลี่ยเดือนละ $2,400 จากลูกค้าทั้งหมด 5 ราย โดย Software ของเขาเก็บค่าใช้บริการตามจำนวนสาขาและลูกค้าหนึ่งคนมีสถานประกอบการหลายสาขาทำให้เขามีรายได้ประมาณ $400-500 ต่อลูกค้า 1 ราย

สิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของ Carl Mattiola

1. จงเรียนรู้จากงานประจำให้มากที่สุด
บริษัทใหญ่โต มั่นคง มีชื่อเสียงแค่ไหนก็ยังเป็นลูกจ้างเขา แต่ข้อดีของการเป็นลูกจ้างคือคุณพาตัวไปทำงานแลกเงินเดือนทันทีและพร้อมกันนี้ยังได้ประสบการณ์อันมีค่าจากงานที่ทำ ดังนั้นจงเรียนรู้จากงานประจำให้มากที่สุดเพื่อที่จะเป็นรากฐานสู่การทำอะไรของตัวเอง

2. ออมเงินจากงานประจำไว้เป็นทุน
ถึงแม้ Carl Mattiola จะเป็น Software expert อยู่แล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างโปรแกรมของเขาจะไม่ต้องใช้เงินเลย เขาต้องมีการลงทุนหลายพันเหรียญสำหรับการ Outsource งานบางชนิด หากคุณรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ลดการสร้างหนี้และเริ่มออมเงินเดือนแต่วันนี้เพื่อเป็นทุนไว้สร้างธุรกิจในวันหน้า

3. อุปสรรคของนักธุรกิจแท้จริงคือจิตใจ
เรามักคิดว่าเงินทุนและไอเดียคือปัญหาใหญ่ในการสร้างธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วความลังเลสงสัย ความหดหู่ท้อใจ ความกลัว ฯลฯ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้หลายคนเลิกตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม Carl Mattiola ต้องพบกับความคิดในแง่ลบที่อยู่ในใจตัวเองจนเกือบจะไม่ได้สร้าง Clinic Metrics ขึ้นมา เขาต้องใช้ความพยายามสูงในการเอาชนะใจตัวเอง หาใช่คู่แข่งในตลาดที่โทรมาบอกให้เขาเลิกทำ

บทสรุปโดย TheCEOBlogger.com

ทุกคนคงคุ้นเคยกันแล้วกับคำว่า ยิ่งให้ ยิ่งได้ ในการสร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ตามแต่ อย่าเพิ่งเริ่มคำถามว่าคุณจะได้อะไรจากตลาด แต่ให้เริ่มคำถามว่าคุณจะให้อะไรแก่ตลาด คนที่จะจ่ายเงินให้คุณคือผู้ถามว่าเขาจะได้อะไรจากคุณและตลาดจะตอบสนองต่อคุณค่าที่พวกเขาได้รับ

ยิ่งสิ่งที่คุณทำเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นไปในทางที่ดีขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้นเท่าไร ตลาดก็จะตอบสนองต่อสินค้าและบริการของคุณมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างใกล้ๆตัวคือ Pat Flynn แห่งเว็บ Smart Passive Income ที่หลายๆคนสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้จากการอ่าน Content ของเขา แม้แต่ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะ Pat Flynn

หรือไม่ว่าจะเป็น Tim Ferriss ที่เขียนหนังสือ 4-Hour-Work-Week ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไป หนึ่งในนั้นคือ Andrew Youderian เจ้าของธุรกิจ eCommece ที่ทำเงินปีละ $1,000,000 ที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานประจำบริษัท Investment banker มาสร้างธุรกิจออนไลน์แบบเริ่มจากศูนย์เพราะอ่านหนังสือของ Tim Ferriss

ในขณะที่เว็บไซต์ TheCEOBlogger.com เองก็ได้รับข้อความขอบคุณจากผู้คนจำนวนมากว่า Content ของบล็อกได้ให้ไอเดียและแนวทางกับผู้คนทำให้เขาสามารถนำไปปรับใช้ในการสร้างบล็อกหรือประยุกต์ใช้ทำงานของตนได้

วันนี้คุณจึงต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่คุณ อยากได้, อยากมี, อยากเป็น, และอยากทำ จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นไปในทางที่ดีกว่าได้อย่างไร ค้นหาปัญหาของผู้คนในอุตสาหกรรมที่คุณสนใจแล้วหาแนวทางออกสำหรับปัญหานั้นๆให้พวกเขาเป็นอีกวิธีสร้างธุรกิจที่จะเปลี่ยนชีวิตทั้งผู้อื่นและตัวคุณเองในระยะยาว